WAY Dialogue 03: วิถีคราฟท์เบียร์ วิถีแห่งศิลปะ

img_3688stonehead

เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

เคยสงสัยหรือไม่ว่า เหล้า เบียร์ และสุรายาเมา ที่นักดื่มทั้งหลายนิยมชมชอบกัน กว่าจะเข้าประเทศไทยมีเส้นทางมาอย่างไร ความจริงแล้วการจะเป็นผู้ผลิตเบียร์ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเดิมทีเบียร์หรือสุราห้ามชาวบ้าน (ชุมชน) เป็นผู้ผลิต

ปกติกฎหมายไทยอนุโลมให้ผลิตและนำเข้าสุราจากต่างประเทศได้ หากจะขอใบอนุญาตผลิตเบียร์ก็มีสองวิธีคือ หนึ่ง-ทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรมชัดเจน ซึ่งโรงงานประเภทนี้มักมีเงินทุนระดับพันล้าน และสอง-คุณอาจเป็นองค์กรขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร แต่คุณต้องมีเครื่องผลิตเบียร์ที่ได้มาตรฐาน และมียอดจำหน่ายขั้นต่ำวันละ 300 แก้วแบบไม่ต้องเว้นวันหยุด และเมื่อรวมทั้งปีคุณต้องผลิตได้หนึ่งแสนลิตรต่อปี ซึ่งในแบบที่สองเราเรียกว่า ‘brewpub’ ทว่าการเป็นผู้ผลิตในประเทศไทยก็ยังมีช่องว่างอยู่ ในต่างประเทศจะมีผู้ผลิตรายเล็กกว่า brewpub เป็นโรงเบียร์ขนาดเล็กหรือเรียกกันว่า ‘microbrew’

การผลิตเบียร์ในนามโรงเบียร์ขนาดเล็กแบบ microbrew มีคนไทยทำสำเร็จมาแล้ว แต่ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดในเมืองไทยเสียทีเดียว ฟาง-ปณิธาน ตงศิริ หนึ่งในผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทย Stone Head จัดจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไป เล็งเห็นอุปสรรคและโอกาสพร้อมกัน จึงตัดสินใจย้ายการผลิตไปอยู่กัมพูชาหนึ่งปีเต็ม เขาและทีมมุ่งมั่นผลิตเบียร์ที่นั่นแล้วจึงนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

นอกจากเป็นเจ้าของโรงเบียร์ขนาดเล็กแล้ว ปณิธานยังรับให้คำปรึกษาผู้สนใจเรื่องการผลิตเบียร์ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ขบวนการเสรีเบียร์’ ที่เชื่อว่า ถ้าเราเริ่มทำให้คนถามคำถามที่ถูกต้องได้ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายจะตามมาเอง

คนดื่มคราฟท์เบียร์แตกต่างจากนักดื่มทั่วไปยังไง

คนดื่มคราฟท์เบียร์จะไม่เหมือนคนดื่มทั่วไปคือ อันดับแรกคราฟท์เบียร์ขวดหนึ่งราคาตั้งแต่ 180-200 ไปจนถึงพันสองพันก็มี ขวดเล็กๆ น่ะ ฉะนั้นถ้าเขาซื้อทีหนึ่งเขาจะหาข้อมูลมาก จะไปตามอ่านว่าขวดนี้ผลิตปีไหน ใช้ฮอพส์พันธุ์อะไร เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ ใครต้ม จะซื้อขวดหนึ่งเขาจะหาข้อมูลพอสมควร มีกลุ่มในเฟซบุ๊ค ในเว็บไซต์ มีแอพพลิเคชั่นแชร์ข้อมูลพวกนี้

เพราะฉะนั้นกว่าจะดื่มแต่ละขวดเขาซึมซับเรื่องราวของท้องถิ่นนั้นๆ ที่ผลิตเบียร์ตัวนี้ไปเยอะมากแล้ว แล้วหนึ่งขวดสมมุติแอลกอฮอล์ 6 เปอร์เซ็นต์ มันคือของจริง ไม่ใช่ 6 เปอร์เซ็นต์ แบบติดแค่ฉลากอยากให้คนซื้อมาดื่มเยอะๆ เพราะฉะนั้นดื่มได้สักสองสามขวด หรือสามแก้วจะรู้สึกพอแล้ว มันจะรับรสรับกลิ่นอะไรไม่ได้เกินนั้นแล้ว ดังนั้นเขาจะไม่ดื่มมากขึ้น แต่เขาจะดื่มแบบมีคุณภาพมากขึ้น และเขาจะได้ความรู้ ได้สังคมไปด้วย ลักษณะมันเหมือน fine dining คนทานอาหารดีๆ มันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

เบียร์เป็นศิลปะอย่างไร

ในเชิงผู้ผลิต เราต้องเข้าใจทุกวัตถุดิบที่เราหยิบมา สมมุติถ้าคุณอยากทำเบียร์มะม่วง (เบียร์กลิ่นมะม่วงแบบที่ทำอยู่คือแบรนด์ลำซิ่ง) เราไม่สามารถใช้มะม่วงจริงๆ มายัดลงไปในเครื่องได้ เครื่องผลิตเบียร์มูลค่าประมาณ 700 กว่าล้านบาท ระบบนั้นจะพังด้วยมะม่วงลูกเดียว ก็ต้องรู้ว่าฮอพส์พันธุ์ไหนให้กลิ่นมะม่วงได้ อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์และศิลปะด้วย เพราะการที่คุณรู้ว่าฮอพส์นี้ให้กลิ่นมะม่วง คุณต้องรู้อีกว่าต้องสกัดที่อุณหภูมิเท่าไหร่ นาทีที่เท่าไหร่ของการต้ม มันปนกันทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ

ฮอพส์ก็มีเป็นร้อยๆ สายพันธุ์ ให้กลิ่นหลากหลายมากเกินที่เราจะจินตนาการกัน ให้กลิ่นเกรปฟรุตได้ ให้กลิ่นหญ้า กลิ่นใบสน ให้กลิ่นอะไรหลากหลายมาก ที่มันต้องใช้สัมผัสของเราเอง ไปลอง ไปดู ไปดม เราถึงจะรู้ อันนี้เป็นเชิงศิลปะ

แล้วมันต้องไปรวมกับมอลต์ มอลต์ที่ให้ความมันความหอม Pilsner malt ตัวนี้ มอลต์ต่างๆ จากฮอพส์ตัวนี้จะออกมาเป็นอะไร ส่วนนี้เป็นศิลปะแล้วต้องใช้วิทยาศาสตร์ทำมันออกมาว่าจะออกมาตามจินตนาการเราได้ไหม เสร็จแล้วไม่พอ ทำเบียร์ได้อย่างที่ต้องการแล้วเราจะถ่ายทอดเรื่องราวของมันยังไงให้คนดื่มเข้าใจ

img_3785stonehead

อยากให้ยกตัวอย่างเรื่องราวของเบียร์ที่ทำให้ฟัง

อย่างของสโตนเฮด มีเบียร์ตัวหนึ่งชื่อ เกาะกงเพลเอล (Koh Kong Pale Ale) ตัวนี้คนก่อตั้งสามคนแรกเป็นคนสกลนครหมดเลย คือผมกับญาติพี่น้องที่โตมาด้วยกัน เราใช้เวลาปีแรกหอบข้าวของที่เรามีทั้งหมดย้ายไปอยู่กัมพูชาปีหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่เราคิดถึงคือ ‘ข้าวเม่า’ หรือข้าวเขียวๆ ที่เป็นขนมน่ะครับ เรารู้สึกว่าเราอยากทานข้าวเม่ามาก เพราะเราห่างมันมานาน แล้วก็บังเอิญคิดว่า เฮ้ย มันทำเบียร์ได้ไหม นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้น

เราอยากเล่าเรื่องหนึ่งปีที่มันขมขื่นของเรา ที่มันทรมานกับการไปอยู่ คือกัมพูชาที่ผมไปอยู่ไม่ใช่พนมเปญนะ ผมอยู่จังหวัดเกาะกง ทางใต้ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ไม่มีสิ่งบันเทิงทั้งสิ้น เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แล้วก็มีแค่โรงเบียร์ของผมเท่านั้นเอง เราเหงาเราคิดถึงบ้าน มันทรมานน่ะ แต่ว่าความหวังที่เราจะทำเรื่องเบียร์มันหอมหวานน่ะ ก็เลยตรึงเราไว้ตรงนั้นได้

เราอยากถ่ายทอดความขมและหวานตรงนั้นมาในเมสเสจเดียว เราก็เลยเลือกสิ่งที่เราคิดถึงที่สุดคือข้าวเม่า เอาข้าวเม่าใส่ลงไปในเบียร์ ซึ่งผิดนะครับ (หัวเราะ) ไม่ควรเอาข้าวใส่ลงไปในเบียร์ เพราะว่ากลิ่นแอลกอฮอล์ที่ออกมาจะเป็นเหมือนสาโท แต่ว่าเราก็มีวิธีแก้แล้วออกมาเป็นเบียร์ซิกเนเจอร์ของสโตนเฮดคือ Koh Kong Pale Ale ซึ่งทำมาล็อตเดียว แล้วก็ไม่ได้ทำอีก เพราะเราไม่ได้เช็คว่าข้าวเม่ามันมีฤดู พอหมดก็ต้องรอปีหน้า นี่คือศิลปะตั้งแต่จินตนาการจนถึงการเล่าเรื่องเลย จนถึงแก้วถึงปาก ไปถึงลิ้นของผู้ดื่ม เขาจะได้รับข้อความตรงนี้ไหม

เล่าความเป็นมาที่ก่อตั้งสโตนเฮดได้ไหม

สามปีที่แล้ว นั่งดื่มที่ร้านร้านหนึ่งใต้โรงแรม ร้านที่เขาบอกว่านำเข้าเบียร์จากทั่วโลก ก็ชิมไปเรื่อยๆ อันดับแรกคือเบียร์ที่ได้ดื่มมันไม่เหมือนเบียร์ที่เคยดื่มมาตั้งแต่ช่วงเป็นวัยรุ่น รสชาติมันแตกต่างจากที่เราเคยดื่มมา

อย่างที่สองคือมีเยอะมาก เป็นร้อยๆ รายการ เบียร์ชื่ออะไร แอลกอฮอล์เท่าไหร่ จากประเทศไหน เบียร์จากสี่ร้อยรายการนั้นมีของไทยอยู่ประมาณสี่รายการ ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไป ก็เลยเกิดสองคำถามว่า ทำไมเราเพิ่งเคยได้กินเบียร์เหล่านี้ และทำไมไม่มีของคนไทย เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราไปศึกษาดูว่าตรงไหนที่เป็นอุปสรรค ก็เลยพบว่าเป็นข้อกฎหมายนี่เอง

เราอยากเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่วิธีที่ถูกต้องก็ต้องทำภายใต้กฎหมาย ทางออกก็คือไปเปิดโรงงานที่ประเทศอื่น ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็กแบบที่เราอยากได้ 1,500 ลิตร ไม่ได้ใหญ่อะไรมาก ก็ไปเปิดที่กัมพูชา เพราะขับรถจากกัมพูชามากรุงเทพฯห้าชั่วโมง เบียร์ที่เอามาส่งก็ยังเย็น ยังสด ยังอร่อยอยู่ ค่าใช้จ่ายค่าครองชีพไม่สูงมาก สิ่งต่างๆ พวกนี้เป็นปัจจัยให้เราเลือกกัมพูชา

กฎหมายไทยตอนนี้ไม่ได้นับผู้ผลิตรายเล็กเข้ามาตามกติกาของกฎหมาย?

ผมเริ่มศึกษาดูว่าแล้วยังไงต่อ มีคนเคลื่อนไหวเรื่องแบบนี้อยู่บ้างไหม ก็ไปเจอคนกลุ่มหนึ่งที่เขาก็ทำมาก่อนเราอีกแต่ก็ยังไม่ถึงไหน คือเขาเริ่มให้ความรู้กันเองว่ามันผลิตยังไง เบียร์มีกี่ประเภท อะไรแบบนี้ เราก็เลยเริ่มเข้าไป join ตรงนั้น ก็ได้ความรู้ใหม่ เริ่มมาวางแผนว่าเราจะทำอะไรสักอย่างดีไหม ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือเป็นแรงบันดาลใจคนอื่นต่อได้

คือเรามองว่าสิ่งที่เขาห้ามอยู่เป็นเชิงสัญลักษณ์ ก็คือมันแสดงความเป็นไทย เราอยากได้ความเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเราเลือกจะทำเบียร์แล้วก็ต้องพ่วงมาด้วยความรับผิดชอบก็คือต้องจริงจัง ถ่ายทอดข้อมูลและเรื่องราวเยอะมาก ในเบียร์ของเรา ตั้งแต่ผู้นำไปจำหน่าย เขาต้องรู้ข้อมูลเราทุกอัน แล้วก็ต้องรู้ลิมิตว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะกับใครแบบไหน แล้วทุกๆ ร้านที่ขายของเราและขบวนการเสรีเบียร์ เราจะใช้แบบเดียวกับต่างประเทศหมดเลยก็คือ ถ้าผู้ดื่มเมาแล้วเขาจะไม่เสิร์ฟให้ คือดูแล้วว่าคุณพูดไม่รู้เรื่อง เดินไม่ตรง เราก็จะเชิญออกจากร้านเลย เราก็งดเสิร์ฟให้ดื่มน้ำไปก่อน

เรื่องพวกนี้คือกำไรมันก็ไม่ได้เยอะหรอก แต่ว่าเราไม่อยากให้สิ่งที่เราพยายามใช้ทรัพยากร ใช้เวลาทุ่มเท เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงพังเพราะเรื่องแค่นี้ แบบนี่ไงมีคนเมาอาละวาดวุ่นวายเพราะเบียร์คุณ นี่เป็นจุดที่เรากังวลมากๆ

ขบวนการเสรีเบียร์ เรียกร้องเสรีแค่ไหน

มีสามอย่าง เสรีภาพ คือเสรีในการคิด จินตนาการ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สองคือความเสมอภาค ข้อหลักๆ เลยก็คือ ทำไมเบียร์ถึงถูกปฏิบัติไม่เท่ากันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น อันนี้คือพอยต์ที่เราอยากเรียกร้องที่สุด และสามคือเรื่องความรับผิดชอบ เราผลิตสินค้าที่มีทั้งประโยชน์และโทษในอันเดียวกันอย่างชัดเจน เราต้องรับผิดชอบในแง่การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้บริโภครวมถึงในแง่คุณภาพต่างๆ นานาทั้งหมด

เสรีแค่ไหนที่ต้องการ

คำว่า ‘เสรี’ ส่วนมากที่คนเข้าไทยฟังจะเข้าใจว่าให้ผลิตเท่าไหร่ก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ อันนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ คำว่าเสรีก็คือผลิตได้แต่มีข้อจำกัด มีข้อบังคับแล้วก็บทลงโทษที่เหมาะสม เช่นที่สิงคโปร์อนุญาตให้หนึ่งครัวเรือนผลิตได้สามสิบลิตร เพื่อบริโภคอย่างเดียวห้ามจำหน่าย หรือถ้าคุณจะผลิตเพื่อจำหน่าย คุณต้องมีพื้นที่ประมาณนี้ มีระบบประมาณนี้ ดูแลของเสียอย่างไร ซึ่งมันสมเหตุสมผล

มีเคสต่างประเทศไหมที่มีปัญหาเหมือนเราบ้างไหม

ล่าสุดก็เป็นเกาหลีใต้ เมื่อประมาณสามปีที่แล้วเขาเพิ่งเปลี่ยนกฎหมายให้รายเล็กหรือประชาชนทำเบียร์ดื่มเองได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาก็คล้ายๆ เราคือไม่มีคราฟท์เบียร์ มีแต่เบียร์นำเข้า แล้วก็เบียร์บริษัทยักษ์อยู่ไม่กี่บริษัทที่ดูแลตลาดทั้งหมด เพียงแต่ว่าในประเทศที่เจริญแล้วการเรียกร้องอะไรพวกนี้ที่เกี่ยวกับสุนทรียภาพหรือศิลปะจะง่ายกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนมีความสุข

ย้อนกลับไปที่คำถามว่าถ้ามองมาในอนาคตเมืองไทยจะเป็นยังไง ผมมองว่ายังไม่มีอนาคต เพราะว่าเรื่องพื้นฐานการศึกษา สุขภาพ การเอาภาษีไปใช้ต่างๆ ยังไม่แม่นเลย ไม่ใช่เวลาที่เขาจะมาเห็นคุณค่าของสุนทรียภาพหรือศิลปะ แต่ว่าโอเคแหละรู้ทั้งรู้ว่าต้องใช้เวลา เราก็ใช้เวลานี้ให้ดีที่สุดก็คือช่วยให้ความรู้ ให้ความเข้าใจกับการดื่มอย่างถูกต้อง แล้วก็มีคุณภาพไปเรื่อยๆ

สโตนเฮดเป็นยี่ห้อเดียวหรือเปล่าที่ทำแบบนี้

ตอนนี้เราน่าจะเป็นเจ้าเดียวที่มีโรงเบียร์แบบ microbrew ของตัวเอง ถ้าเป็น thai craft แบรนด์อื่นๆ ที่ถูกกฎหมายก็จะใช้วิธีจ้างโรงอื่นผลิตให้แล้วนำเข้ามา แต่ว่าเราเป็นเจ้าเดียวที่มีโรงของเราเองเลย

ถ้ามีคนอยากทำแบบสโตนเฮดบ้าง เราจะให้คำปรึกษาอย่างไร

พอทำสโตนเฮด หลายคนที่อยากมีเบียร์เป็นของตัวเอง ถามหาวิธีอื่นๆ ว่าลงทุนน้อยกว่าที่ผมทำได้ไหม ก็เลยแนะนำว่าให้ไปติดต่อโรงเบียร์ในต่างประเทศที่มีคุณภาพแล้วส่งมาที่ไทยได้ หลังจากเริ่มมีสองสามรายเข้ามาเราก็เลยเอางี้ดีกว่าไหนๆ เราจะเริ่มพร้อมกันอยู่แล้ว ข้อมูลที่มีเราก็เอามาแบ่งปันกัน เราก็ตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมาชื่อว่า ‘ขบวนการเสรีเบียร์’ ตอนนี้มีอยู่ประมาณสามแบรนด์ แบรนด์ที่สี่แบรนด์ที่ห้ากำลังคุยอยู่ว่าจะเอายังไง ไปทำที่ไหน แล้วขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขของแต่ละแบรนด์อยากได้เบียร์อะไร

เราจะแนะนำว่าโรงนี้เขาชำนาญเรื่องนี้ มีฮอพส์อันนี้ที่เหมาะกับเบียร์ของคุณ ก็จะแบ่งปันข้อมูลแล้วก็ช่วยดูแลเรื่องการนำเข้า ภาษีทุกอย่าง ทำให้มันผ่าน แล้วก็ใช้เงินน้อยที่สุด ด้วยจุดประสงค์เดียวก็คือทำให้มีคราฟท์เบียร์เยอะที่สุดในตลาดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วในขณะเดียวกันถ้าคนอื่นได้ดื่ม เขาอาจจะเกิดคำถามเหมือนที่ผมถามวันนั้น ห้าปีหรือสิบปีจากนี้ถ้าเขามีผู้บริโภคที่มากพอเราอาจจะมีคนมาร่วมเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กับเรา

img_3749stonehead

แนวโน้มที่น่าจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ไม่มีอนาคตเลย ไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะมันเป็นเรื่องไร้สาระในสายตาผู้ใหญ่ ในสายตาคนที่ดูแลบ้านเมืองอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวกับเบียร์ เพราะว่าประเทศเรา treat ประชาชนแบบไม่ให้เกียรติมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คือเรารู้แหละว่าเบียร์มันไม่ดีในปริมาณที่มากเกินไป เหล้าก็ไม่ดีในปริมาณที่มากเกินไป แต่ในความเป็นจริงแล้วในปริมาณที่เหมาะสมมันก็มีประโยชน์บางอย่าง

ในประเทศที่ห้ามโฆษณาเหล้า แอลกอฮอล์ ห้ามโฆษณาบุหรี่ ทั้งๆ ที่มี fact บอกอยู่แล้วว่าเท่าไหร่ถึงไม่ดี แล้วมันไม่ดียังไง ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือกตัดสินใจเองได้ว่าเราจะเลือกบริโภคหรือเปล่า แต่เขาห้ามไม่ให้โฆษณา ไม่ให้พูดถึง แล้วก็รุนแรงขึ้นทุกปี ในขณะที่เราทำบิลล์บอร์ดโฆษณาประมูลทะเบียนรถเลขสวยใช้แล้วรวยได้ ปลุกเสกด้วยหลวงพ่อคนโน้นคนนี้ เราขึ้นโฆษณาได้แบบไม่มีอะไรควบคุม ผมเลยมองว่าเขา treat ประชาชนไม่โอเคสำหรับผม มันมีจุดอะไรบางอย่างที่ต้องคุยกันน่ะ

คือวันที่ผมมีคำถามเรื่องเบียร์มันโยงมาเรื่องพวกนี้หมดเลย และเคสของเบียร์เป็นเคสที่สะท้อนความเป็นไทยที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือการคุยกันไม่ได้ การที่ผู้ใหญ่บอกว่าก็มันเป็นอย่างนี้… ไม่มีคำตอบให้ และก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป สิ่งที่ผมอยากแก้คือเรื่องนี้ ไม่ได้อยากให้คนดื่มเบียร์มากขึ้น แต่มันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน มันต้องเริ่ม ถ้าเรื่องนี้มันเริ่มมีคนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ มันก็จะมีเรื่องอื่นๆ ต่อมา

คิดว่าวาทกรรมเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เป็นสิ่งที่ทำให้เบียร์ = บาป?

คืออย่างนี้ครับ ผมเรียนการตลาดมานิดหน่อยไม่ได้เรียนเป็นหลัก ผมมองว่าสินค้าแบรนด์เนมอะไรหลายๆ อย่างเลย อันตรายกว่าเบียร์อีกในเชิงพุทธ เพราะเบียร์มีบอกไว้ทุกอย่างเลยว่าจะทำให้คุณขาดสติ มีป้ายบอก มีคนเตือน คนข้างๆ ด่า พ่อแม่ห้าม แต่ในขณะเดียวกันกระเป๋าแพงๆ รถแพงๆ ไม่มีใครบอกนะว่าทำให้คุณขาดสติได้ ไม่มีคนเตือนคุณนะว่าทำให้คุณโกงได้ คุณอาจผิดลูกผิดเมียคนอื่นไปเป็นเมียน้อยเขาได้ คุณโกหกพ่อแม่ได้เพื่อเอาเงินมาซื้อ นั่นขาดสติอย่างยาวนานเลย เป็นเดือนเป็นปีเลย คุณทำชั่วอย่างไม่รู้ตัวเลย ไม่มีใครห้ามคุณด้วย เพราะใครๆ ก็ทำกัน

ถ้าผมได้ตอบคำถามแบบนี้คนจะเริ่มคิดแล้วว่า เออ เบียร์มันเลวหรือเราทำให้มันเลวกันแน่ แล้วคำว่าเป็นเมืองพุทธ มันก็เกลียดเบียร์อย่างเดียวเหรอ แล้วสติมันตัดสินอย่างอื่นไม่ได้เลยเหรอ เราจะเริ่มถามอะไรแบบนี้ล่ะครับ แล้วผมก็ยินดีจะตอบคำถามแบบนี้เป็นพันเป็นล้านครั้ง ผมอยากตอบให้ทุกคนฟังว่าเบียร์ไม่ได้เลว ถ้ามันจะเลวมันเลวด้วยคนกิน รู้ว่าเมาแต่ไม่หยุดตัวเอง อย่างนี้คุณผิด เช่นเดียวกัน ถ้าคุณเริ่มโกหก คุณเริ่มทุจริต เพราะอยากได้ของที่ไม่ควรจะได้ อันนี้ผมว่าเลวกว่า

คุณเคยท้อมากๆ บ้างไหม

ท้อมากๆ ก็ร้องไห้ครับ แต่ร้องคนเดียวนะไม่ให้ใครเห็น ก็คุยกับแม่ แม่จะคอยให้กำลังใจเรา สุดท้ายแล้วก็คือเราคิดถึงอนาคตว่าลูกหลานเรา…

ประเทศที่เจริญแล้วควรมีเบียร์ที่ดีดื่ม?

ไม่ใช่สิ เขามีเบียร์ที่ดีดื่มอยู่แล้ว คือผมเป็นคนที่มองแล้วรู้สึกว่ามีอะไรขัดใจหลายๆ อย่างในประเทศที่ผมรักน่ะ อย่างน้อยๆ ถ้าเราได้เริ่มทำให้คนถามคำถามที่ถูกต้องได้ มันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงบางครั้งมันคือพัฒนาการ สุดท้ายเราก็ตาย ผมคิดอย่างนี้จริงๆ ท้อไปเดี๋ยวก็หาย แต่ว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันสำคัญกว่าอะไรในความคิดของเรา คือเราเชื่อว่ามันจะทำได้ ปัญหาแค่นี้เดี๋ยวมันก็มีทางออก

ปัญหามันมีสองอย่างใช่ไหม แก้ได้กับแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องแก้ช่างมัน สุดท้ายมันก็หายท้อ หายเครียดครับ

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า