What We Need to Know: ครบรอบ 100 วัน การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์

TAKEAWAYS:

By Gage Skidmore from Peoria, AZ, United States of America (Donald Trump) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons
วันศุกร์ที่ 28 เมษายนนี้ จะครบ 100 วันของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยเมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็น 100 วันแรกของเขาที่สื่อทั่วทุกมุมโลกต่างพากันจับตามอง ผ่านสำนักข่าว AP ว่า

หนึ่งร้อยวันนั้นมันก็เป็นแค่กำแพงแบริเออร์ปลอมๆ นั่นแหละ ทุกสื่อต่างก็พยายามที่จะเล่นประเด็นเกี่ยวกับหนึ่งร้อยวัน แต่ผมมีเรื่องต้องทำมากกว่านั้นอีกเยอะ

ทำไมทรัมป์ถึงกล่าวแบบนั้น แล้วทำไมสื่อทั่วโลกต้องให้ความสนใจขนาดนี้

และเรื่องราวต่อจากนี้คือ สิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ 100 วัน (ที่ใกล้จะครบกำหนด) ของเขา

อะไรคือคอนเซ็ปท์ 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในสมัย ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ หรือ ‘FDR’ เมื่อปี 1933 เพื่อตรวจสอบการทำงานของเขาเอง และใช้เพื่อสร้างความเร่งด่วนในการบริหารงาน หลังรูสเวลต์เข้ามารับตำแหน่งท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Depression) เมื่อธนาคารพาณิชย์ต่างพังพินาศ อัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าวิตก เขาจึงจำเป็นต้องจัดการกับความทุกข์ทรมานทางเศรษฐกิจที่แพร่ขยายไปทุกพื้นที่

การวัดผลจาก 100 วันแรกของประธานาธิบดีเริ่มต้นจากแรงกดดันจากนักข่าว นักวิเคราะห์ และนักวิชาการต่างๆ ที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลใหม่ รวมถึงตัวประธานาธิบดีเอง ที่แถลงแผนการณ์โรดแม็พ 100 วัน ประกาศคำมั่นสัญญาต่อพี่น้องประชาชนว่าจะทำให้ได้ – ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยเป็นอย่างใจคิดสักเท่าไร

100 วันแรกของประธานาธิบดีคนอื่นเป็นอย่างไร

 

Harry S. Truman By Unknown or not provided (U.S. National Archives and Records Administration) [Public domain], via Wikimedia Commons

แฮร์รี เอส. ทรูแมน

100 วันแรกของเขามุ่งเน้นไปที่การยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนียอมยกธงขาวหลังจากที่เขาเข้าไปดำรงตำแหน่งเพียงหนึ่งเดือน

Dwight D. Eisenhower By Presumably a White House photographer, since it is in the Presidential years collection and no assertion of copyright is made. (Metadata – High res) [Public domain], via Wikimedia Commons

ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์

ให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดทิศทางของสหรัฐหลังการเสียชีวิตของผู้นำสหภาพโซเวียตที่ยิ่งใหญ่อย่าง โจเซฟ สตาลิน รวมถึงหาแนวทางเจรจาเพื่อยุติสงครามเกาหลี

John F. Kennedy By White House Press Office (WHPO) [Public domain], via Wikimedia Commons

จอห์น เอฟ. เคนเนดี

เคนเนดีชูนโยบายสันติภาพมาโดยตลอด แต่ 100 วันแรกกลับเป็นที่จดจำไปทั่วโลกในฐานะบุคคลผู้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและคิวบาที่รู้จักกันว่า ‘Bay of Pigs’ เป็นปฏิบัติการล้มเหลวที่ดำเนินการโดย CIA ซึ่งต่อมาได้นำมาสู่เหตุการณ์วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาปี 1962

Richard Nixon By Unknown or not provided (U.S. National Archives and Records Administration) [Public domain], via Wikimedia Commons

ริชาร์ด นิกสัน

นิกสันกล่าวกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับแผนโร้ดแม็พ 100 วันแรกของเขาว่า “จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดถึงเกี่ยวกับช่วง 100 วันแรกสักเท่าไหร่ เพราะผมแพลนทุกอย่างเป็นแผนระยะยาว” แต่หลังจากนั้นไม่นาน มีการเปิดเผยว่า ในช่วง 100 วันแรกเขาได้ปล่อยระเบิดใส่กัมพูชา

Ronald Reagan By Unknown or not provided (U.S. National Archives and Records Administration) [Public domain], via Wikimedia Commons

โรนัลด์ เรแกน

แผนโรดแม็พ 100 วันแรกประธานาธิบดี เรแกนให้ความสำคัญกับนโยบายภายในมากกว่า เช่น เสนอแผนลดภาษี ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และต้องการนำรัฐสวัสดิการกลับมาใช้อีกครั้ง นอกจากนั้นแล้วเขายังถูกจดจำว่าเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่รอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหาร

George W. Bush By White house photo by Eric Draper. [Public domain], via Wikimedia Commons

จอร์ช ดับเบิลยู. บุช

บุชเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมปี 2001 โดยแผนการช่วงแรกของเขา ดูเหมือนจะพยายามหลีกเลี่ยงการโต้แย้ง และพยายามสร้างต้นทุนทางการเมือง ยุทธศาสตร์ของบุชจึงเป็นการฏิรูปการศึกษา และเสนอให้มีการลดภาษี (Bush Tax Cuts) เพื่อพยุงภาวะเศรษฐกิจในชวงนั้นของสหรัฐ ซึ่งต่อมาได้ส่งผลต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีครั้งใหญ่ของสหรัฐ

Barack Obama: Official portrait of President-elect Barack Obama on Jan. 13, 2009.
(Photo by Pete Souza)

บารัก โอบามา

ในช่วง 100 วันแรกของโอโบมา เขาวุ่นวายกับการกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ย่ำแย่อยู่ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาได้ออกมาเป็นกฎหมาย American Recovery and Reinvestment Act เพื่อลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลส่วนกลาง ขยายเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ว่างงาน และขยายการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล

คำบ่นของเด็กชายทรัมป์ “ไม่เคยคิดมาก่อนว่า การเป็นประธานาธิบดี หนักกว่าที่คิด”

…ถ้าจะให้พูดจริงๆ นะ แล้วผมก็อยากจะพูดกับประชาชนทุกคนว่า ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าตำแหน่งนี้มันจะหนักขนาดนี้ ทุกอย่างมันช่าง…ไม่รู้สิ ทุกคำสั่งมันมีขนาดใหญ่เสมอ

ทรัมป์ตอบคำถามสำนักข่าว AP เกี่ยวกับการครบรอบ 100 วันที่จะมาถึงของการนั่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสรัฐ

งบประมาณทุกอย่างมันมหาศาลมาก ทุกหน่วยเลย สหรัฐเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก และบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็คือกระทรวงกลาโหมสหรัฐ รองลงมาเป็นอันดับสามคือ สวัสดิการสังคมของบ้านเรา คือทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงใหญ่กว่าทุกบริษัทบนโลกใบนี้ และคุณรู้มั้ย ผมเพิ่งเคยเห็นความมโหฬารและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่อยู่คู่กับมันด้วย

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังกล่าวเปรียบเทียบการบริหารประเทศกับบริหารบริษัทต่อว่า

ทุกอย่างที่เราต้องดำเนินการบริหารในรัฐบาล ต้องเอาใจใส่เข้าไปด้วย แต่ในวงการธุรกิจแล้ว หัวใจไม่จำเป็นเลยสักนิด ไม่ต้องใส่ใจเข้าไปก็ได้ และพูดกันตรงๆ นะ การทำธุรกิจไม่ต้องใส่ใจลงไปทุกอย่างจะดีมากกว่า

ดูเหมือนว่าคำให้สัมภาษณ์ของทรัมป์จะแสดงให้เห็นว่า นอกจากเขาจะไม่เข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว เขามีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเมืองหรือระบบรัฐบาลอยู่ในระดับไหน

รายงานประเมินผลการเรียนของ เด็กชายโดนัลด์ ทรัมป์

สำนักข่าว The POLITICO ร่วมกับ Morning Consult โพล ได้ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ‘ความพึงพอใจของประชาชนสหรัฐต่อแต่ละนโยบายของทรัมป์’ โดยสอบถามชาวสหรัฐที่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จำนวน 1,992 คน เมื่อวันที่ 13-15 เมษายนที่ผ่านมา และนี่คือ รายงานประเมินผลการเรียนของเด็กชายทรัมป์

 

ประเด็นที่ทรัมป์จะต้องสู้ต่อไป

ทรัมป์แคร์

ความพยายามก่อนหน้านี้ของทรัมป์ที่ต้องการจะยกเลิกกฎหมาย Affordable Care Act (โอบามาแคร์) นั้นไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังคงยืนยันอย่างมั่นใจว่า ‘ทรัมป์แคร์’ หรือสวัสดิการสุขภาพแบบของเขายังคงเป็นลำดับสำคัญที่สุดที่เขาจะทำ

โดยสำนักข่าว CNN ได้รายงานว่า การยื่นเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการสุขภาพของทรัมป์รอบสอง ยังคงมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับฉบับก่อนหน้านี้อยู่ดี

สำนักงานวิเคราะห์งบประมาณของสหรัฐ ได้รายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว อาจทำให้ชาวอเมริกันกว่า 24 ล้านคน ต้องสูญเสียการใช้สิทธิบริการทางการแพทย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

แผนการปฏิรูปภาษี

แผนการปฏิรูปภาษีของทรัมป์ยังคงไม่แน่นอน แต่มีความเป็นไปได้ว่า ทรัมป์อาจเพิ่มการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35 เปอร์เซ็นต์เหลือ 15 เปอร์เซ็นต์แทน

“เราไม่ควรพูดหรอกนะ แต่เรากำลังจะแถลงมันเร็วๆ นี้แหละ อาจเป็นวันพุธนี้ (26 เมษายน) เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปภาษี เราตั้งใจทำงานอย่างหนัก และคุณคงเข้าใจ ตอนนี้ผมก็อยู่ในตำแหน่งนี้มา 93 วันแล้ว” ทรัมป์กล่าวถึงแผนการปฏิรูปภาษี กับสำนักข่าว AP

Climate Change

จากนโยบายชูหาเสียงของทรัมป์ ส่งผลให้ทรัมป์ยกเลิกที่จะเป็นหนึ่งในสมาชิกความตกลงปารีส (Paris Agreement) การประชุมสุดยอดผู้นำในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา และอีก 194 ประเทศทั่วโลกพร้อมใจทำตามข้อตกลงดังกล่าว เพื่อจำกัดอัตราอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาทรัมป์ได้ออกมาแถลงว่า ได้เลื่อนการประชุมเพื่อหารือเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา แม้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะเรียกร้องให้สหรัฐยังอยู่ในความตกลงปารีส แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน

มีนาคมที่ผ่านมา ทรัมป์มีคำสั่งให้ตัดเงินทุนสนับสนุนของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมออกเป็นสามส่วน และเงินทุนสำหรับโครงการพลังงานสะอาดและโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะถูกตัดทิ้งไป จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเดินขบวน March for Science เมื่อวันที่ 22 เมษายน

ทรัมป์อยากชัตดาวน์รัฐบาลจริงหรือเปล่า

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์พยายามอย่างหนักที่จะผลักดันให้สภาเห็นชอบร่างแผนงบประมาณโครงการก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก แม้ทรัมป์จะยืนยันว่า รัฐบาลเม็กซิโกจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ท้ายสุดแล้ว สภาคองเกรสก็ยังไม่เห็นชอบกับไอเดียนี้

หากทรัมป์พยายามผลักดันแนวคิดของตัวเองสุดฤทธิ์ จนถึงขั้น ‘ชัตดาวน์รัฐบาล’ หรือสั่งให้รัฐบาลทั้งระบบรวมถึงสภาคองเกรสหยุดการทำงานจริง ความนิยมในตัวทรัมป์ก็มีแนวโน้มตกลงมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของสหรัฐ เพราะครั้งล่าสุดมีการหยุดการทำงานของรัฐบาลมาแล้วในสมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามา ข้าราชการอย่างน้อย 800,000 คนต้องหยุดงาน ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ในอุทยานหรือพิพิธภัณฑ์ เพราะเจรจาตกลงในประเด็นเรื่องจัดสรรงบโอบามาแคร์ไม่ได้ จึงนำมาสู่การชัตดาวน์ตั้งแต่วันที่ 1-17 ตุลาคม 2013

นิตยสาร The Atlantic กล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่ทรัมป์จะต้องตัดสินใจว่า เขาจะสู้หรือจะถอย ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ทรัมป์อาจจะตั้งโต๊ะเจรจาตกลงระหว่างรีพับลิกันกับเดโมแครตซึ่งมีที่นั่งอยู่ในสภาฯ ก็ได้

หรือทรัมป์อาจอยากสู้กับเสียงของเดโมแครตในสภาคองเกรสอีกรอบ และเสี่ยงที่จะชัตดาวน์รัฐบาลตัวเองลง ซึ่งหากเขาเลือกทำแบบนี้จริงๆ ต้องไม่ลืมว่า หากต้องหยุดการทำงาน พรรครีพับลิกันเองก็จะขุ่นเคืองใจกับการกระทำของเขาเช่นกัน และท้ายที่สุด เดโมแครตคงเป็นฝ่ายยิ้มดีใจอย่างแน่นอน


 อ้างอิงข้อมูลจาก: theconversation.com
theguardian.com
theguardian.com
theatlantic.com

 

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า