What We Need to Know: เลือกตั้งอังกฤษ เมื่อประชาธิปไตยต้องมาก่อน

ภาพประกอบ: Antizeptic

 

TAKEAWAYS:

  • ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องลงทะเบียนเพื่อไปใช้สิทธิ์ลงคะแนน ต้องเป็นพลเมืองสหราชอาณาจักร และมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง
  • พ.ร.บ.กำหนดวาระรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร ได้กำหนดไว้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปต้องจัดขึ้นทุกห้าปี แต่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีสิทธิ์ที่จะประกาศเลือกตั้งก่อนครบวาระได้ หากมีการลงคะแนนไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดปัจจุบัน และหากมี สส. เห็นชอบให้จัดการเลือกตั้ง ซึ่ง เธเรซา เมย์ ได้ใช้ข้อสุดท้าย  
ชวนอ่าน: ‘ทำไมต้องเลือกตั้ง‘ และ ‘ทำไมสก็อตแลนด์ถึงต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ ณ เวลานี้

คือคำพูดที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) เธเรซา เมย์ ประกาศก้องหลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมาบริเวณ London Bridge มีผู้เสียชีวิตเจ็ดราย และบาดเจ็บราว 48 คน – นับเป็นการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นสามครั้งภายในสามเดือน ชาวอังกฤษต้องเผชิญกับความรุนแรงและความหวาดกลัว โดยไม่รู้ว่าต้นตอที่แท้จริงมาจากไหน และทำไมจึงเกิดขึ้น

เมื่อความรุนแรงไม่สามารถขัดขวางประชาธิปไตยได้ เธเรซา เมย์ จึงยืนยันจัดการเลือกตั้งวันที่ 8 มิถุนายนที่จะถึงนี้เช่นเดิม แม้ก่อนหน้านี้จะมีหลากหลายเสียงออกมากล่าวว่า ควรจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่เธอก็ประกาศชัดเจนว่า จะไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับศัตรูที่มองไม่เห็นอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกัน เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) ผู้นำพรรคแรงงาน (Labour Party) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “หากเราปล่อยให้การโจมตีดังกล่าวขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยของเรา นั่นก็หมายถึงว่าพวกเราทุกคนกำลังพ่ายแพ้”

ด้านพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democrat Party) นำโดย ทิม ฟาร์รอน (Tim Farron) แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดขึ้นว่า “เราต้องสร้างความมั่นใจว่าเราสามารถปกป้องประเทศชาติได้ – นั่นไม่ได้หมายถึงว่า เราจะปล่อยให้คนขี้ขลาดเหล่านั้นเอาชนะเรา หรือละทิ้งเสรีภาพหรือประชาธิปไตยของเรา”

ดูเหมือนว่า จะไม่มีอะไรทำลายความเป็นประชาธิปไตยในใจที่แข็งแกร่งของชาวอังกฤษได้

พรรคไหนเด่น พรรคไหนดัง  

พรรคหลักๆ ที่สำคัญของสหราชอาณาจักรมีอยู่สองพรรค คือ พรรคอนุรักษนิยมที่เป็นฝ่ายขวา และพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายซ้าย

ปัจจุบันพรรคอนุรักษนิยมถือเป็นพรรคใหญ่ที่สุด มีที่นั่งในรัฐสภา 330 ที่นั่ง จากชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2015 ส่งผลให้ เดวิด คาเมรอน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่เขาจะสละตำแหน่งและยกให้ เธเรซา เมย์ แทน หลังจากผลประชามติโหวต ‘Yes’ ให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับคะแนนสูงสุด นำมาสู่กระบวนการ Brexit ในปัจจุบัน

รองลงมาคือ พรรคแรงงาน มีที่นั่งในรัฐสภา 229 ที่นั่ง โดยการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 เอ็ด มิลลิแบนด์ (Ed Miliband) คือคู่แข่งที่สูสีกับคาเมรอน แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งนั้น ปัจจุบัน ผู้นำพรรคแรงงาน เจเรมี คอร์บิน เชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งในปี 2017 จะเปิดโอกาสให้พรรคแรงงานอีกครั้ง

ด้านพรรคเสรีประชาธิปไตย แม้จำนวน สส. ที่นั่งในสภามีเพียงเก้าคน แต่ฟาร์รอนก็คาดหวังว่า จะสามารถเอาชนะใจชาวอังกฤษรุ่นใหม่กว่า 48 เปอร์เซ็นต์ที่โหวตไม่เห็นด้วยกับการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ด้วยการชูนโยบายหาเสียงให้จัดประชามติ Brexit ใหม่อีกครั้งและมองว่า สหราชอาณาจักรไม่ควรออกจากการเป็นตลาดเดี่ยวและสหภาพศุลกากร

ส่วนพรรคอื่นที่มีอิทธิพลในสภาไม่แพ้กันคือ พรรคชาตินิยมสก็อตแลนด์ (Scottish National Party) ที่เสนอให้จัดประชามติให้สก็อตแลนด์เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร และพรรคไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland’s Democratic Unionist Party)

 

5 นโยบายสำคัญของสามพรรคเด่น

 

ทำไมอะไรก็เกี่ยวกับ Brexit?

หากจะกล่าวแบบนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดเสียทีเดียว ในเมื่อ เธเรซา เมย์ ทุ่มสุดตัวเพื่อหาเสียงข้างมากจากรัฐสภาอังกฤษอยู่ในขณะนี้ จนถึงขั้นประกาศกร้าวว่าจะจัดการเลือกตั้ง อีกทั้งประชาชนอังกฤษส่วนใหญ่ที่มาลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ต่างก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองต่อจากนี้ แม้ว่าผลโพลจากหลายสำนักเมื่อเดือนที่ผ่านมาต่างคาดการณ์ว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคงเป็นของเธออีกเช่นเคย

ปัจจุบันมีชาวอังกฤษออกมาลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วมากกว่า 3 ล้านคน และมากกว่าหนึ่งในล้านเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีทั้งสิ้น ซึ่งต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ กลุ่มคนเหล่านั้น ไม่เห็นด้วยให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ฉะนั้น ผลที่คาดการณ์เอาไว้อาจไม่ใช่อย่างที่คิดก็เป็นไปได้

ประเด็น Brexit สามารถเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ ขึ้นอยู่กับว่า พรรคใดจะสามารถทำให้ชาวอังกฤษเชื่อใจได้ว่า พวกเขาจะรักษาผลประโยชน์ชาวอังกฤษได้มากที่สุด ในการเจรจาต่อรองการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ล่าสุด ผลโพลจาก YouGov เปิดเผยว่า ชาวอังกฤษ 34 เปอร์เซ็นต์เชื่อมั่นว่า พรรคที่สามารถจัดการและรับมือกับ Brexit ได้ยังคงเป็นพรรคอนุรักษนิยมอยู่ดี หากเทียบกับพรรคแรงงานที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นแค่ 9 เปอร์เซ็นต์และพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย 7 เปอร์เซ็นต์

สำหรับพรรคอนุรักษนิยม เธเรซา เมย์ ต้องการให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอย่างหมดจด กล่าวคือ ออกจากการเป็นตลาดเดี่ยว ออกจากการเป็นสหภาพศุลกากร และควบคุมการตรวจคนเข้าเมืองให้เข้มงวดขึ้น แม้จะยังคงรักษาสิทธิ์ให้แก่พลเมืองชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร รวมถึงชาวอังกฤษในยุโรปเช่นเคย ส่วนประเด็นเรื่องการเจรจากับสหภาพยุโรปนั้น เธเรซา เมย์ กล่าวไว้ว่า เธอจะยุติการเจรจาทันที หากข้อตกลงดังกล่าวส่งผลเสียให้แก่อังกฤษมากกว่า

อย่างไรก็ตาม จุดยืนระหว่างพรรคแรงงานและพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ค่อนข้างคล้ายกัน กล่าวคือ ไม่เห็นด้วยกับจุดยืน Brexit ของพรรคอนุรักษนิยม ทั้งสองต่างเชื่อมั่นว่า สหราชอาณาจักรควรรักษาสถานะการเป็นตลาดเดี่ยวและสหภาพศุลกากรเช่นเดิม โดยพรรคแรงงานยังชูนโยบายยืนยันที่จะรักษาสิทธิพลเมืองยุโรปในสหราชอาณาจักร และชาวอังกฤษในประเทศสหภาพยุโรป ส่วนพรรคเสรีประชาธิปไตย ฟาร์รอนเสนอให้จัดประชามติใหม่อีกครั้งก่อนที่จะออกอย่างเป็นทางการ หลังจากได้ข้อสรุปจากการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปแล้ว

ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย: ประเด็นที่เลี่ยงไม่ได้

สำหรับพรรคอนุรักษนิยม ประเด็นเรื่องผู้อพยพและผู้ลี้ภัยถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง โดยนโยบายที่ชูคือ ลดจำนวนผู้ลี้ภัยในสหราชอาณาจักรให้เหลือเพียง 100,000 คนต่อปีเท่านั้น จากเดิมที่มีมากกว่า 248,000 คนต่อปี รวมถึงเสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมแรงงานฝีมือชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงถึง 1,000 ปอนด์ หรืออยู่ที่ 1,300 ดอลลาร์ รวมถึงเพิ่มจำนวนการเก็บเงินบริการด้านสุขภาพของแรงงานต่างชาติอีกสามเท่า จากเดิม 200 ปอนด์เป็น 600 ปอนด์แทน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังจำกัดให้นักเรียนและนักศึกษาต่างชาติอยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้อพยพ โดยจะเพิ่มกฎระเบียบและเงื่อนไขในการทำวีซ่าศึกษาต่อในสหราชอาณาจักรให้มีความเข้มงวดขึ้น

ตรงกันข้ามกับพรรคแรงงาน ที่ไม่เหมารวมนักเรียนและนักศึกษาต่างชาติอยู่ในกลุ่มผู้อพยพ แม้จะยอมรับว่า Brexit คือ การสิ้นสุดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนอังกฤษในยุโรป โดยคอร์บินกล่าวว่า “เขายินดีที่จะปกป้องทุกคนที่เข้ามาทำงานอยู่ในสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นชาติใด” แต่เขาก็ยังเสนอให้เพิ่มจำนวนทหารป้องกันชายแดนอีก 500 คน   

แต่ที่แตกต่างที่สุดเลยเห็นจะเป็นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่สนับสนุนให้คงการเดินทางอย่างเสรีระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปไว้เช่นเดิม อีกทั้งยังชูนโยบายที่ต่างจากสองพรรคแรก โดยต้องการขยายพื้นที่หลบภัยให้กับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียสูงถึง 50,000 คน รวมถึงวางแผนที่จะนำเด็กผู้ลี้ภัยที่ไร้ผู้ปกครองเข้ามาเพิ่มอีก 3,000 คน

ผลโพลว่าอย่างไร

แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคอนุรักษนิยมมีท่าทีว่าจะได้รับความนิยมมากกว่าพรรคแรงงานเกือบสองเท่า แต่ไม่นานความนิยมของพรรคแรงงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผลสำรวจความนิยมของแต่ละพรรคจากสำนักข่าว Telegraph ซึ่งเริ่มทำการสำรวจวันแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ชี้ให้เห็นว่า พรรคอนุรักษนิยมได้รับความนิยมสูงถึง 42.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พรรคแรงงาน 26.8 เปอร์เซ็นต์ และพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แต่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ระยะห่างระหว่างพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงานเริ่มแคบลงเรื่อยๆ กล่าวคือ แม้พรรคอนุรักษนิยมจะมีคะแนนนำมากที่สุดอยู่ที่ 43.4 เปอร์เซ็นต์ แต่ความนิยมของพรรคแรงงานภายในไม่กี่เดือนกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 36.5 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่า ตำแหน่งของ เธเรซา เมย์ ในขณะนี้กำลังตกอยู่ในอันตราย

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ YouGov Poll ได้ทำการสำรวจว่าช่วงอายุใดที่สนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงานมากที่สุด ซึ่งผลออกมาว่า กลุ่มอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปให้การสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 50-64 ปี สวนทางกับพรรคแรงงานที่กลุ่มคนอายุ 18-24 ปีให้การสนับสนุนมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25-49 ปี จึงไม่น่าแปลกใจสักเท่าไรว่า ทำไมทั้ง เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานและ ทิม ฟาร์รอน ผู้นำพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยจึงพากันหันไปชูนโยบายเพื่อดึงดูดใจคนรุ่นใหม่กันขนาดนั้น

ไม่มีใครรู้ได้ว่า ใครกันแน่ที่จะได้ขึ้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ที่แน่นอนคือ เมื่อการเลือกตั้งจบลง เราคงจะได้รู้กันว่า อังกฤษจะเดินหน้าไปในทิศทางใด จะส่งผลต่อสหภาพยุโรปและเวทีนานาชาติอย่างไร และนี่ยังคงเป็นประเด็นที่ชวนติดตามต่อ

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com
bbc.com
bbc.com
telegraph.co.uk

 

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า