ละเมิดสิทธิ์บังคับตรวจเลือด ขอให้เป็นครั้งสุดท้าย

lab-1

ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความเชื่อเกี่ยวกับภาวะและการติดเชื้อ HIV/AIDS ยังคงฝังหัวคนไทยหลายๆ คน ลามไปถึงบุคลากรในสถานศึกษาบางแห่งที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเด็กนักเรียนวัย 4 ขวบในจังหวัดนครพนม ด้วยการบังคับให้มีการตรวจเลือดก่อนรับเข้าเรียนชั้นอนุบาล ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการไม่มีนโยบายตรวจเลือดทั้งก่อนและระหว่างการเรียน

หลังการยื่น หนังสือเรียกร้องขอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการมีมาตรการเด็ดขาดกับสถานศึกษาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน บังคับตรวจเลือดก่อนเข้าเรียน โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา

จากนั้น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ออกแถลงข่าวในบ่ายวันเดียวกัน ว่าได้รับนักเรียนคนดังกล่าวเข้าศึกษาแล้ว แต่ในแถลงการณ์อาจมีความลักลั่นบางอย่างด้านข้อมูล ในวันที่ 15 มีนาคม เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯจึงออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันอีกครั้ง

4 มาตรการเด็ดขาด กับสถานศึกษาละเมิดสิทธิ์

จากหนังสือเรียกร้องขอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการมีมาตรการเด็ดขาดกับสถานศึกษาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน บังคับตรวจเลือดก่อนเข้าเรียน เครือข่ายฯเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในเรื่องป้องกันและแก้ไขปัญหา HIV/AIDS ของประเทศ เป็นตัวกลางเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ประสานงานเร่งด่วนกับกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง มีการลงโทษทางวินัยโรงเรียนที่บังคับตรวจเลือดเด็กนักเรียน และชดเชยเยียวยาผู้เสียหายจากการละเมิด ในกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครพนม
  2. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการประกาศแนวทางการปฏิบัติเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติเรื่อง HIV ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา โดยมีคำสั่งห้ามสถาบันการศึกษาทุกแห่งบังคับตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อเข้ารับการศึกษา หากสถาบันใดฝ่าฝืนให้มีบทลงโทษทางวินัยที่ชัดเจนแก่ผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องมีมาตรการชดเชยและเยียวยานักเรียน นักศึกษาที่ถูกละเมิดสิทธิ์ และให้มีการประกาศนโยบายผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้โดยทั่วกัน
  3. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย เปิดแผนงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่องในการสร้างความเข้าใจเรื่อง HIV/AIDS ให้กับผู้บริหารและครูในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน และผู้นำชุมชนให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง และมีทัศนคติที่ดีต่อการมีเชื้อ HIV เพื่อไม่ให้เกิดการรังเกียจ การเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิ์เด็กเกิดขึ้นอีกในอนาคต
  4. แต่งตั้งผู้รับผิดชอบหลักหรือมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบุภารกิจให้ชัดเจนในการรับเรื่องร้องเรียนและพร้อมจะประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการและติดตามลงพื้นที่ที่เกิดปัญหาอย่างทันท่วงที โดยร่วมมือกับเครือข่ายฯหรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อดำเนินการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ์อย่างเร่งด่วนเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ์โดยโรงเรียนหรือสถานศึกษา
Thaiplus-1
ที่มา: thaiplus.net

บังคับตรวจเลือด ละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับความคืบหน้าหลังจากยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้มีมาตรการเด็ดขาดกับสถานศึกษาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นิมิตร์ เทียนอุดม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการรับเด็กเข้าเรียนเรียบร้อยแล้ว ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการต้องมีการจัดการภายใน และควรออกเป็นประกาศว่า ห้ามโรงเรียนเลือกปฏิบัติในการขอตรวจเลือดนักเรียน ทั้งก่อนและระหว่างการศึกษา

หนึ่ง-กระทรวงศึกษาธิการยอมรับว่า โรงเรียนกระทำแบบนี้ไม่ได้ ที่กระทำแบบนี้ผิด และกระทรวงฯก็จะออกแนวปฏิบัติขึ้นมา ซึ่งเราก็ต้องรอดูต่อไปว่า แนวปฏิบัติที่กระทรวงฯจะออกคืออะไร

สอง-กระทรวงฯบอกว่าจะออกประกาศแจ้งให้ทุกโรงเรียนทราบว่า โรงเรียนไม่สามารถบังคับให้เด็กมาตรวจเลือดเพื่อจะใช้เป็นหลักฐานในการศึกษา เพราะกระทรวงฯไม่มีระเบียบที่จะต้องตรวจเลือด HIV/AIDS ของเด็กทุกคนที่จะเข้าเรียน

ในส่วนกลไกการร้องเรียน นิมิตร์ให้ข้อมูลว่า หากพบปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ สามารถร้องเรียนไปได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯประจำภาคต่างๆ

ฟังความรอบด้าน กรณีตรวจเลือด

ก่อนการแถลงข่าวโดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ทางเครือข่ายฯประจำภาคอีสาน ทราบว่าในพื้นที่มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เข้าไปคุยที่โรงเรียน ตอนแรกมีการเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าพบก่อน

ต่อมา เมื่อเครือข่ายฯและตัวแม่เด็กไปร้องเรียนที่ สพป. ก่อนจะไปศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ก็มีการเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าพบอีกครั้ง ครั้งนี้มีความพยายามติดต่อกับแม่ของเด็ก

อนันต์เพิ่มเติมว่า ในวันที่ 13 มีนาคม ครูที่โรงเรียนดังกล่าวพาแม่เด็กไปทำหนังสือ ตอนที่ขอและออกหนังสือเพื่อให้โรงพยาบาลช่วยตรวจเลือด และครูท่านนั้นได้ขอให้แม่เด็กเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ยืนยันว่าแม่เด็กเป็นผู้ประสงค์จะพาลูกไปตรวจเลือดเอง โดยหนังสือที่ให้แม่เด็กทำลงวันที่ 13 มีนาคม ขณะที่หนังสือที่ต้องนำลูกไปตรวจเลือดคือวันที่ 2 มีนาคม 2559

ขณะที่ทุกวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ถือเป็นวันยุติการเลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination Day) ต่อผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS

ทางเครือข่ายฯแจ้งว่า มีการตรวจสอบข้อมูล ทั้งจากผู้ให้บริการและแม่เด็ก โดยอนันต์เรียกร้องให้มองปัญหาที่เกิดขึ้นจริงว่าสิ่งใดควรปรับปรุงแก้ไข หรือควรทำให้ชัดเจน โปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่า ระบบราชการนั้นเชื่อถือได้

tnp-2
ที่มา: thaiplus.net

ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

ในฐานะประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทย อนันต์ เมืองมูลไชย เห็นว่า เรื่องนี้คือเรื่องสำคัญที่เครือข่ายฯต้องตามต่อ

“เมื่อวานนี้ ที่ประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่รับผิดชอบเรื่องเขตพื้นที่การศึกษา บอกว่า ต่อไปนี้จะไปออกระเบียบ ซึ่งต้องทำร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นหลักการให้ทุกโรงเรียนทำเหมือนกัน

ทั้งสองกระทรวงบอกว่าไม่มีการตรวจเลือดก่อนเข้าเรียน หรือก่อนทำงานอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มีเอกสารหรือหลักฐานชัดเจน เพื่อจะส่งไปถึงทุกโรงเรียน ทุกสถานศึกษา ภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วทำให้ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

หลังจากยื่นหนังสือและออกแถลงการณ์ชี้แจงไปแล้ว ทางเครือข่ายฯก็ต้องเกาะติดว่า เมื่อไหร่เอกสารเหล่านี้ จะได้รับการร่างและถูกส่งต่อไปให้สถานศึกษาทั่วประเทศ

ทั้งนี้ อนันต์ยืนยันอีกครั้งว่า ต้องทำให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรังเกียจหรือกลัวว่าเด็กๆ จะอยู่ด้วยกันไม่ได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการอาจจะต้องมาเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาและข้อมูลด้านสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุขที่ทำเรื่องนี้อยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องแก้ความคิดเก่าๆ ที่คนเคยคิดกันร่วมด้วย

“ถ้ากระทรวงสาธารณสุขบอกว่า โอเค สามารถเข้าถึงการรักษาได้ สุขภาพแข็งแรง ขณะที่เด็กที่ติดเชื้อฯก็สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ และมีโอกาสที่จะไม่ติดเชื้อจากแม่ เรื่องพวกนี้เป็นข้อมูลทางการแพทย์ กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องเรียนรู้ร่วมกัน แล้วออกแนวปฏิบัติ หรือร่างนโยบายเพื่อให้ระดับปฏิบัติการในพื้นที่สามารถปฏิบัติได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อผู้ติดเชื้อ หรือเด็กที่ได้รับผลกระทบจาก HIV/AIDS

“ในสถานการณ์นี้ เราคิดว่าต้องเคลื่อนประเด็นนี้ให้ชัดเจน เราเริ่มจากสถานศึกษาก่อน กรณีของเด็กคนนี้ เจอมาตั้งแต่ปี 2557 รอบหนึ่ง คือรับเข้าเรียน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปเรียน เพราะพ่อแม่บางคนกลัวว่าลูกจะติดเชื้อ หรือมีความคิดว่า ลูกอาจจะไม่ติด แต่อยู่กับพ่อแม่ เดี๋ยวก็คงติด คือเป็นความเชื่อที่ยังไม่มีใครไปแก้ให้”

ขณะเดียวกัน เมื่อวานก็เห็นว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องมีบทบาทที่จะต้องไปพัฒนา จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ครู เพื่อให้เข้าใจเรื่อง HIV เสียใหม่ ก็เป็นทางที่สองกระทรวงนี้ต้องทำงานร่วมกันต่อ

ลดอคติ สร้างอนาคต

สำหรับเด็ก นี่ไม่ใช่แค่โรค แต่มันคือสังคมของเขา คือโอกาสทางการศึกษาของเขา คืออนาคตที่เขาจะต้องไปมีอาชีพ มีการสร้างรายได้

อนันต์ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราเลือกมองเฉพาะเรื่องความเจ็บป่วย หรือเรื่องการติดต่อของโรค ในเวลาเดียวกัน เราได้ตัดมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องออกไปจนหมด ซึ่งเท่ากับการตัดโอกาสของเยาวชนของชาติ ทั้งโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ

วันนี้ HIV ไม่ใช่ความน่ากลัว แต่เป็นความเจ็บป่วยที่เราทุกคนสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ แน่นอนว่าสำหรับผู้ติดเชื้อ ก็ต้องได้รับยาและการรักษาพยาบาล ไม่ต่างจากผู้ป่วยด้วยอาการเรื้อรังอื่นๆ

“เหมือนเวลาเป็นเบาหวาน ความดัน คือต้องมีการใช้ยาบางตัวไปกดเพื่อให้มันนิ่ง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้”

เมื่อทำให้เห็นว่า HIV/AIDS ก็ไม่ต่างจากโรคติดต่อทั่วๆ ไป ที่มีการจัดการได้ ในขณะที่มิติทางสังคม ผู้ติดเชื้อก็จะต้องมีโอกาสสร้างรายได้ สร้างอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้เหมือนกัน

ขณะที่เด็กก็ควรมีโอกาสในการศึกษาเหมือนเด็กทั่วๆ ไป แล้วเราถือว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งประเทศเราก็ต้องดูแลให้เด็กทุกคนได้รับพัฒนาการทุกด้าน ได้รับการศึกษาทุกคน มีโอกาสที่จะเติบโต

วันนี้ HIV เริ่มสอนให้เรารู้ว่า มันไม่ใช่โรค แต่มันคือมิติสังคมวัฒนธรรม ฉะนั้น วันนี้เราอาจจะต้องพลิกกระบวนการคิด แล้วมาเรียนรู้เรื่อง HIV แบบใหม่ ว่ามันไม่ใช่แค่โรคอย่างเดียว ยังมีมิติของความเหลื่อมล้ำ อำนาจของการจัดการ โอกาสทางการศึกษา โอกาสทางการมีรายได้ การสร้างอาชีพ ไปจนถึงความมั่นคงของชีวิตด้วย

มิติทางสังคมเป็นเรื่องที่ทางเครือข่ายฯต้องขอแรงทุกคนร่วมกันทำความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนมุมมองที่ยังมีอคติหรือความรับรู้ที่ไม่ชัดเจน เพื่อให้เห็นว่า คนคนหนึ่งควรมีโอกาสจะก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่อยู่กับที่หรือถอยหลัง ซึ่งมีส่วนมาจากการกระทำของสังคมที่ขาดความรู้ความเข้าใจพวกเขาอย่างจริงจัง

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า