กลเกมยื้อเวลาเลิก ‘แร่ใยหิน’

india-child

 

การรณรงค์เคลื่อนไหวของเครือข่ายองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่พยายามผลักดันเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ ‘แร่ใยหิน’ ทุกชนิดในประเทศไทย ยังคงดำเนินไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน ท่ามกลางการต่อสู้กับฝ่ายผลประโยชน์ที่ดูเหมือนจะมีอำนาจการต่อรองเหนือกว่า แม้ ครม. จะมีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 เห็นชอบในมาตรการผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน แต่ในทางปฏิบัติกลับยังไม่มีการบังคับใช้ที่ชัดเจน จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า การที่รัฐยังไม่สามารถประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อาจเป็นเพราะต้องการเอาอกเอาใจภาคธุรกิจอุตสาหกรรม หรือเห็นแก่ ‘เม็ดเงิน’ และผลประโยชน์ทางการค้า มากกว่าชีวิตและความเป็นความตายของผู้บริโภคชาวไทยหรือไม่

จวบถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 7 ปี นับจากที่มีการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องแร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส (Asbestos) ในประเทศไทย เมื่อปี 2549 ซึ่งมีการจัดทำ ‘คำประกาศกรุงเทพฯ’ เพื่อยกเลิกการใช้และขจัดโรคจากแร่ใยหินชนิดแอสเบสตอส มีการทบทวนมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับอันตรายและการจัดการแร่ใยหินทั่วโลก โดยที่ประชุมมีมติสำคัญคือให้มีการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสในทุกประเทศทั่วโลก

ในเวลาต่อมา แทบทุกองคาพยพได้ขับเคลื่อนรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเพื่อต่อต้านการใช้แร่ใยหินอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2553 ได้เสนอมาตรการผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และผ่านมติเห็นชอบจาก ครม. เมื่อปี 2554 โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับเป็นเจ้าภาพจัดทำแผนยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบภายในปี 2555 แล้วนำเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป

ทว่าจนถึง พ.ศ.นี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม แม้เครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการต่างๆ ทั้งสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (T-BAN) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะพยายามรุกเร้าทุกช่องทางเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ ครม.ก็ตาม

จากการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานที่ประชุม คสช. เปิดเผยว่า การดำเนินมาตรการสังคมไร้แร่ใยหินยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ขณะนี้ต้องรอแผนการยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินที่ยังค้างคาอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทาง คสช. จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

 

เตะถ่วงเวลา…หากินบนความตาย

ตามแผนเดิมที่วางไว้ กระทรวงสาธารณสุขเคยลั่นวาจาว่า ภายในปี 2555 จะให้มีการประกาศห้ามนำเข้าแร่ใยหินอย่างจริงจัง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไร้วี่แววความเป็นไปได้
นาทีนี้ใช่ว่าคนไทยจะไม่ตระหนักถึงพิษภัยของแร่ใยหิน แต่เสียงร้องตะโกนของประชาชนอาจยังไม่ดังพอที่จะกระทุ้งรัฐบาลให้ออกมาตรการขั้นเด็ดขาดกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ยังคงแข็งขืนนำเข้าวัตถุดิบร้ายแรงชนิดนี้ได้

นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยเคลือบแคลงในความจริงใจของภาครัฐ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า ในการเดินทางเยือนประเทศรัสเซียของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 27-28 เมษายนที่ผ่านมา ยังถูกจับตาจากสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และเครือข่าย T-BAN ที่มองว่า นายกิตติรัตน์อาจถูกหมีขาวลูบหัวเหมือนไก่อ่อน เพื่อล็อคคอให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยใช้แร่ใยหินต่อไปหรือไม่ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่ามหาอำนาจรัสเซียคือประเทศผู้ผลิตและส่งออกแร่ใยหินยักษ์ใหญ่ในวงการ โดยมีประเทศไทยเป็นลูกค้าผู้ภักดีต่อผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มาตลอดหลายทศวรรษ อีกทั้งก่อนหน้านี้รัสเซียยังเคยทำหนังสือถึงรัฐบาลไทย ในทำนองขู่ถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากไทยเดินหน้าห้ามการนำเข้าแร่ใยหิน

 

Asbestos (1)

 

หันกลับมาดูที่ภาคอุตสาหกรรมของไทย แม้จะมีการส่งสัญญาณตอบรับที่ดีจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ได้ออกมาร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาคธุรกิจให้ตระหนักถึงอันตรายจากแร่ใยหิน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ก็ยังมีภาคอุตสาหกรรมอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงดึงดันใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบต่อไป โดยพยายามหยิบยกผลงานวิจัยบางชิ้นที่อ้างถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อนำมาหักล้างหลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยทั่วโลกที่ชี้ชัดเป็นเสียงเดียวกันว่า แร่ใยหินเป็นตัวการสำคัญของมะเร็งปอดแน่นอน

การดิ้นรนของภาคอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จึงเป็นการซื้อเวลาในการแสวงหากำไรทางธุรกิจที่หากินอยู่บนความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของผู้บริโภค โดยหวังจะต่อรองให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวออกไปอย่างน้อย 5 ปี ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อให้บริษัทเอกชนที่ยังผลิตสินค้าที่ใช้แร่ใยหินอยู่ได้มีเวลาในการปรับตัว

ก่อนหน้านั้นบริษัทเอกชนผู้ผลิตกระเบื้อง ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อ้างว่าได้รับผลกระทบจากมติ ครม. ที่เร่งรัดให้ยุติการใช้แร่ใยหิน เป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขต้องตั้ง ‘คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากแร่ใยหิน’ โดยมีนายชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ที่ผ่านมามีการประชุมมาไปแล้ว 3 ครั้ง และจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 20 มิถุนายนนี้

อย่างไรก็ดี การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเหมือนการถอยหลังกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อย่างมีนัยยะซ่อนเร้น และยังมีแนวโน้มด้วยว่าคณะกรรมการชุดนี้อาจมีท่าทีโอนอ่อนให้ผ่อนผันมาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหินแก่ภาคเอกชน

18 มิถุนายน 2556  พญ.พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์ในมติชนออนไลน์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2549 น่าแปลกใจที่กระทรวงสาธารณสุขยอมตกเป็นเบี้ยล่าง ทั้งที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนหลักการยกเลิกแร่ใยหินมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับ นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้แทนสมาคมวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และนักอาชีวสุขศาสตร์ กล่าวว่า หากการประชุมของกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 20 มิถุนายน มีมติว่าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ (Chrysotile) ไม่มีอันตรายต่อคนไทย หรือไม่มีมาตรการยกเลิกแร่ใยหิน กลุ่มนักวิชาการมีจุดยืนร่วมกันว่าจะไม่ยอมตกเป็นตรายาง โดยพร้อมจะวอล์คเอาท์จากที่ประชุมทันที

 

Asbestos

 

‘ไครโซไทล์’ มัจจุราชในฝุ่นผง

เวลานี้หลายประเทศทั่วโลกต่างมีความตื่นตัวต่อพิษภัยของแร่ใยหินในระดับสูง ยกเว้นแต่ประเทศไทยที่ยังคงมีการนำเข้าอย่างไม่สะทกสะท้าน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2518 ประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินครั้งแรกโดยบริษัทเอกชนเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้าง อันเป็นผลพวงจากการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อถีบตัวให้พ้นจากการเป็นประเทศล้าหลัง แต่หารู้ไม่ว่าหนทางการพัฒนาตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี ได้นำพา ‘มัจจุราชใยหิน’ ติดสอยห้อยตามมาด้วย และกว่าที่มันจะสำแดงฤทธิ์ต้องใช้เวลานานนับ 15-30 ปี

แต่ละปีประเทศไทยนำเข้าแร่ใยหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังเห็นได้จากปี 2540 ซึ่งเป็นยุคที่อสังหาริมทรัพย์ฟูฟ่อง มีการนำเข้าสูงเกือบ 2 แสนตัน แต่พอปีถัดมาหลังถูกมรสุมจาก ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ปริมาณการนำเข้าจึงลดลงเหลือ 5-6 หมื่นตัน ต่อมาปี 2549 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1.5 แสนตัน จากนั้นก็เพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไป ล่าสุดปี 2553-2554 นำเข้าสูงถึงปีละ 80,000 ตัน

 

สถิติที่น่าภูมิใจคือ ไทยนำเข้าแร่ใยหินสูงสุดติดอันดับ 1-5 ของประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก ส่วนประเทศที่ได้ประโยชน์จากการขายแร่ปีศาจให้ไทยมากที่สุดคือ รัสเซีย แคนาดา บราซิล คาซัคสถาน และซิมบับเว ตามลำดับ

 

แร่ใยหินเป็นแร่ที่เกิดในธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบลและเซอร์เพนไทน์ ในกลุ่มแอมฟิโบลยังแบ่งย่อยออกเป็น 5 ชนิด คือ ครอซิโดไลท์ อะโมไซท์ ทรีโมไบท์ แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ ส่วนกลุ่มเซอร์เพนไทน์แบ่งย่อยออกเป็นไครโซไทล์ หรือไวท์ แอสเบสตอส

ด้วยคุณสมบัติทนความร้อน ทนไฟ ทนทานต่อสารเคมี มีเส้นใยที่แข็งและเหนียว แร่ใยหินจึงได้รับความนิยมใช้ในอุตสาหกรรมหลายแขนง ผลิตภัณฑ์ที่พบได้ทั่วไป เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรค คลัตช์ ท่อน้ำซีเมนต์ กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

ทว่าด้วยคุณสมบัติที่เยี่ยมยอดทางอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งพากันปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้ว่า แร่ชนิดนี้คือมหันตภัยร้ายคร่าชีวิตคน โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง รื้อถอนอาคาร ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสหรือสูดดมละอองใยหิน

ปัจจุบันแม้ไทยจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินชนิดต่างๆ ไปหมดแล้ว คงเหลือเฉพาะแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ที่ยังมีการอนุญาตให้ใช้อยู่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแร่ใยหินชนิดนี้จะปลอดภัยอย่างที่ภาคอุตสาหกรรมพยายามเอ่ยอ้าง เพราะจากหลักฐานวิชาการเชิงประจักษ์ต่างยืนยันว่า แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งและมีอันตรายเช่นเดียวกัน หากมันกระจายเป็นอนุภาคเข้าสู่ปอดจะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด โรคปอดอักเสบจากแร่ใยหิน และโรคมะเร็งปอด ก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง ไม่มีทางรักษาหาย ตายสถานเดียว

เวลานี้ 52 ประเทศที่เจริญแล้ว อาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ประกาศมาตรการเข้มข้นห้ามใช้แร่ใยหินโดยเด็ดขาด และหันไปใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากสาร Polyvinyl alcohol (PVA) ซึ่งมีราคาที่ไม่แตกต่างจากแร่ใยหิน จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ยกเว้นประเทศไทยที่ยังนำเข้าอย่างไม่สะทกสะท้าน

 

Lung-Cancer

 

เดิมพันชีวิตผู้บริโภคบนเส้นด้าย

องค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO: International Labor Organization) ต่างสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิด โดยเฉพาะไครโซไทล์ เพราะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทุกกลุ่มต่างเห็นตรงกันว่า ไครโซไทล์เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดแน่นอน และมีหลักฐานใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าไครโซไทล์เป็นสาเหตุของมะเร็งเยื่อหุ้มปอดด้วยเช่นกัน

ในที่สุดสังคมไทยก็ต้องตาสว่าง เมื่อค้นพบผู้สังเวยชีวิตจากแร่ใยหินเป็นรายแรกเมื่อปี 2551 โดย นพ.สุทธิพัฒน์ วงศ์วิทย์วิโชติ และ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ ได้รายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma) เป็นรายแรก จนมีการคาดการณ์ว่า หากไทยยังดึงดันนำเข้าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ จะมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดอย่างน้อย 1,295 คนต่อปี

ในขณะที่ยังไม่มีการห้ามใช้อย่างเป็นทางการ มาตรการเดียวที่พอจะทำได้ก็คือการป้องปราม โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศให้ติดฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์ว่า ‘ระวังอันตราย สินค้านี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดมะเร็งและโรคปอด’ ทว่ามาตรการนี้ก็ไม่อาจตัดปัญหาได้ครบวงจร ตราบใดที่ยังมีการนำเข้าวัสดุปนเปื้อนแร่ใยหินในประเทศไทย

เกมการต่อสู้ต่อรองระหว่างเครื่อข่ายผู้บริโภคกับผู้มีอำนาจและฝ่ายผลประโยชน์คงต้องรบกันอีกยาวไกล สุดท้ายต้องวัดใจภาครัฐในการตัดสินใจเชิงนโยบายว่าจะเห็นแก่ผลกำไรของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมากกว่าคุณค่าชีวิตคนหรือไม่ หรืออาจต้องรอให้มีผู้สังเวยชีวิตรายแล้วรายเล่า

 

สนับสนุนโดย

 

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า