การดิ้นรนบนดวงดาววิปลาส

จิรพล สินธุนาวา 01

เรื่อง : อาทิตย์ เคนมี

ภาพ : อนุช ยนตมุติ

 

 

ท้องฟ้าวันนี้ค่อนข้างวิปริตแปรปรวน แดดส่องเปรี้ยงตอนเที่ยงวัน แต่อีกฟากหนึ่งมีเมฆครึ้มทะมึนฝน

ริมฟุตบาทเล็กๆ ข้างสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ชายคนหนึ่งกำลังวุ่นอยู่กับการสอบภาคสนามของนักศึกษาชั้นปี 4 – เป็นการสอบปั่นจักรยานเพื่อออกใบอนุญาตขับขี่ มีทั้งหมด 14 ฐาน

ดูเหมือนเป็นเรื่องเล่นๆ สนุกๆ แต่สอบกันจริงจัง ใครไม่ผ่าน…ต้องซ่อม

สมัยวัยหนุ่มเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว นักวิชาการผู้นี้เคยเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ด้วยวิถีทางเช่นนี้แหละ คือหนทางเดียวที่จะช่วยต่อลมหายใจเผ่าพันธุ์มนุษยชาติให้รอดพ้นจากหายนะวันสิ้นโลกได้

เขาเคยเชื่อว่า ด้วยพลังของมนุษย์ในระดับปัจเจกบุคคลนี่แหละที่จะช่วยกอบกู้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมได้ จนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโลกได้ทั้งใบ

แต่นาทีนี้ สถานการณ์ถลำไปไกลเกินกว่าจะฉุดรั้ง…โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ไม่มีวันย้อนกลับไปสู่บรรยากาศสดใสเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ชั้นโอโซนยังไม่ทะลุเป็นแผลเหวอะเหมือนอย่างทุกวันนี้

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ เขาไม่เชื่ออีกต่อไปแล้วว่าลำพังเรี่ยวแรงมนุษย์จะสามารถกอบกู้โลกได้

เพราะตอนนี้เราทำได้อย่างมากก็แค่ ‘ปรับตัว’

การปรับตัวที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่า วิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษย์จะต้องหายใจด้วยเหงือก หรือมีปีกงอกออกมาจากแผ่นหลัง

แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ลืมตาตื่น ออกไปทำงาน จนถึงเดินทางกลับเข้าบ้าน ทุกลมหายใจต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ ไม่ฝืนธรรมชาติ แค่ลด-ละ-เลิกพฤติกรรมการบริโภคที่ล้นจนเกินพอดี

ต่อให้ ‘แกมี-แกมั่ว’ หรือ ‘พระพิรุณ’ จะโถมเข้าใส่ประเทศไทยอีกสักกี่ลูกก็ไม่ใช่เรื่องน่าหวั่นใจ หากรู้จักตั้งรับและเตรียมตัวเตรียมใจเพื่ออยู่ร่วมกับภัยพิบัติจากธรรมชาติให้ได้เสียตั้งแต่วินาทีนี้

 

จิรพล สินธุนาวา 02

 

โลกแปรปรวนขึ้นทุกวัน มนุษย์ไม่มีทางแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้แล้วใช่ไหม

ผมพูดเรื่องนี้มาหลายสิบปี เรื่องโลกร้อนและพิบัติภัยจะมีความรุนแรงเข้มข้นขึ้น และแนวโน้มกลับจะแย่ลง ไม่มีที่ท่าว่าจะดีขึ้น เพราะก๊าซเรือนกระจกมันเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ลดลงเลย ไม่มีทางที่จะทำให้ชั้นบรรยากาศโลกดีขึ้นได้

ตอนนี้พูดได้คำเดียวว่า มันสายเกินไปแล้วที่จะเริ่มต้นแก้ไข มันไม่สามารถทำให้สถานการณ์กลับมาดีเหมือนปี 2526 ซึ่งก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมีอยู่แค่ 350 ส่วน ต่ออากาศ 1 ล้านส่วน เป็นปีที่อากาศดีที่สุด แต่ตอนนี้มันเพิ่มขึ้นเป็น 396 ส่วน ถ้าจะย้อนเวลาให้เหมือนเดิมได้คงต้องกลับไปเกิดใหม่อีกหลายชาติ เราเลยจุดนั้นมานานแล้ว ตอนนี้ของจริงมันเกิดขึ้นแล้ว

ผมไม่ได้กลัวว่าน้ำจะท่วมโลก แต่ภัยพิบัติรุนแรงที่ผมเป็นห่วงมีอยู่ 2 เรื่องเท่านั้นคือ อาหารกับโรคระบาด ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายโดยตรง ในอนาคตอาหารจะขาดแคลน น้ำสะอาดจะไม่พอดื่ม โรคระบาดหลายอย่างที่หมอไม่รู้จักจะเริ่มมีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มันเข้ามาประชิดตัวเราแล้ว

 

ยังมีวิธีการให้คนกลับมาตระหนักเรื่องนี้กันจริงจังอีกไหม หรือต้องรอให้เห็นโลงศพจึงจะหลั่งน้ำตา

มีอยู่ 4 ขั้นตอนที่จะทำให้เขาลงมือทำ หนึ่ง-ต้องรู้ว่าปัญหาคืออะไร สอง-เมื่อรู้แล้วต้องเข้าใจ ไม่ใช่แค่จำ ซึ่งจะนำมาสู่ข้อสาม-คือความตระหนัก รู้ว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุและอยากที่จะแก้ไขปรับปรุงตัว ข้อสุดท้าย-ต้องสร้างแรงจูงใจให้ลงมือทำ

การสร้างแรงจูงใจมีอยู่ 2 วิธี คือแรงจูงใจด้วยความรักและความกลัว แรงจูงใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมันเกิดผลกระทบแรงๆ กับสิ่งที่ตัวเองรัก ลูกหลาน หรือคนใกล้ชิด เช่น ต้องรอให้ลูกตัวเองป่วยหรือเดินขากะเผลกเพราะเป็นโรคน้ำกัดเท้า พ่อแม่จึงจะยอมลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

คนเราชอบประมาท ชอบลองดี ไม่รอบคอบ บริโภคสิ้นเปลือง ไม่สนใจอนาคต เอาแต่หาความสุขเฉพาะหน้า มีความสุขไปวันๆ ยังขับรถไปทำงานกันจนเต็มถนน ทั้งที่รู้ว่ายิ่งใช้รถยิ่งทำให้โลกร้อนขึ้น รัฐบาลเองก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาด้วยนโยบายรถคันแรก มีรถป้ายแดงออกใหม่ทุกวัน เวลาจัดงานมอเตอร์โชว์คนแห่ไปจองเป็นหมื่นๆ คัน ขณะที่ต่างประเทศเขาล็อคกุญแจรถแล้วหันมาขี่จักรยานแทน

 

มันเป็นแนวคิดโรแมนติกเกินไปไหมที่จะเรียกร้องให้ผู้คนปรับตัวด้วยการย้อนกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายสมถะ

ตอนนี้มันทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว ดีที่สุดก็คือการปรับตัว ถ้าเรารู้ว่าน้ำต้องท่วมแน่ๆ ก็ต้องสร้างบ้านที่อยู่กับน้ำท่วมได้ ไม่ใช่ปูไม้ปาร์เก้ชั้นล่าง ติดวอลล์เปเปอร์ ปลั๊กไฟอยู่ต่ำ คนสมัยก่อนเวลาสร้างบ้านต้องเปิดใต้ถุนโล่ง ให้น้ำมาเร็วไปเร็ว พอน้ำแห้งก็เอาผ้าเช็ด ก็อยู่กันต่อได้ตามปกติ

พูดอย่างแรงๆ ก็คือ ถ้าจะให้รอดกันจริงๆ ไฟ 10 ดวง ต้องเหลือไม่เกิน 2 ดวง รถ 10 คัน ต้องให้เหลือ 2 คัน คือรถพยาบาลกับรถดับเพลิง แต่ก็มีคำถามขึ้นมาอีกว่าแล้วใครจะยอมจอดรถไว้ที่บ้านก่อน

เรื่องแบบนี้ถ้าใครทำคนนั้นก็ได้ประโยชน์เอง หากวันหนึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้ คนที่รู้จักปรับตัวก็จะเดือดร้อนน้อยกว่าคนที่ไม่เคยประหยัดไฟเลย ส่วนคนที่ไม่ยอมปรับตัวก็จะกลายเป็นภาระให้สังคมอีก ฉะนั้นจึงเป็นเงื่อนไขที่ทุกคนต้องทำ และเป็นเงื่อนไขสุดท้ายที่เหลืออยู่

จิรพล สินธุนาวา 03

แทนที่จะตะโกนบอกให้คนตัวเล็กตัวน้อยปรับตัว สู้ไปกดดันคนที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบายน่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลมากกว่า

เราผลักดันเรื่องมาจนเหนื่อย แต่ทุกรัฐบาลหูหนวก รัฐบาลได้ยิน แต่ไม่เข้าใจ ไม่เกิดความตระหนัก ไม่เกิดแรงจูงใจ แค่เรื่องการขุดลอกคูคลองถึงกับต้องติดป้ายใหญ่โต ทั้งที่มันเป็นหน้าที่คุณอยู่แล้ว คุณต้องทำตั้งนานแล้ว และต่อให้ขุดจนเกษียณก็ไม่มีวันสำเร็จหรอก เพราะคุณไม่ได้บอกชาวบ้านว่าอย่าทิ้งเศษอาหารลงท่อระบายน้ำ ต่อให้ขุดวันนี้ พรุ่งนี้เขาก็ทิ้งลงมาจากห้องแถวอยู่ดี

น้ำท่วมปี 2554 เป็นบทเรียนราคาแสนล้าน ซึ่งไม่ใช่เกิดจากปัญหาภัยพิบัติอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการถอดรหัสออกมาว่าต้นเหตุอยู่ที่ใคร การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ต้องบอกทุกฝ่ายรู้และเข้าใจ เผื่อว่าวันหนึ่งรัฐบาลอาจจะฉุกคิดขึ้นมาได้บ้าง แต่ประชาชนอย่างเราๆ นี่ต้องบอกกันทุกวัน ประโยคเดียวที่บอกได้ง่ายที่สุดก็คือ ซื้อใกล้บ้าน กินใกล้บ้าน ซื้อของที่หาได้ในท้องถิ่นตามฤดูกาล ไม่ต้องขับรถไปกินอะไรไกลๆ แล้วถ่ายรูปมาอวดเพื่อนฝูง ถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็จอดรถทิ้งไว้ที่บ้าน แล้วเดินให้มากขึ้น ขี่จักรยานให้มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายมาก และดูเหมือนว่าง่ายเกินกว่าที่จะลงมือทำด้วยซ้ำ

 

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ ฟังดูแล้วต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมากที่จะสลัดตัวเองออกมาจากรูปแบบชีวิตที่เป็นอยู่

เรามีคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่เราไม่ทำ ถ้าเราทำได้เราจะเป็นประเทศเดียวที่จะสาธิตให้ทั้งโลกได้รับรู้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำที่ตอบโจทย์ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะไคลเมทเชนจ์ได้ดีที่สุด แต่อะไรล่ะที่จะเป็นรูปธรรม ไหนล่ะที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่รัฐบาลก็ไม่รัดเข็มขัด แล้วผู้นำรัฐบาลได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างหรือเปล่า

ฉะนั้นทุกอย่างมันต้องเริ่มที่คน ต้องหยุดยั้งการเสพติดวัตถุ ลดการบริโภคที่ไม่จำเป็น ลดการเรียกร้องที่จะเอาประโยชน์จากสังคม แต่ต้องเรียกร้องว่าตัวเองจะทำอะไรให้สังคมได้บ้าง

ที่สำคัญต้องอย่าลืมด้วยว่า ไม่มีใครเอาปืนมาจ่อขมับบังคับให้เราต้องใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย มันอยู่ที่เรารู้ เข้าใจ และตระหนักจริงหรือเปล่า

 

*******************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ 5Qs  ตุลาคม 2555)  

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า