จักรยานลอยฟ้า

เรื่อง  : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

 

ทุกครั้งที่รถติด เย็นดีภาวนาให้รถบินลอยหนีจากสภาพจราจรเหมือนที่ เจนี เคอร์แรน เคยคุกเข่าอธิษฐานให้เธอและเด็กชายฟอร์เรสท์ กัมพ์ บินหนีไปจากชีวิตกลางไร่ข้าวโพดในอลาบามา

แต่เจนีบินไม่ได้ เช่นเดียวกับรถที่เย็นดีนั่งบนถนนกรุงเทพมหานคร

โบโกตาเป็นเมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย มีประชากรกว่า 8 ล้านคน มีอาคารสูงย่านใจกลางเมือง รอบนอกเมืองเต็มไปด้วยอาคารพักอาศัยอยู่ติดกันหนาแน่น ประชากรในเมืองส่วนใหญ่มีฐานะยากจน การจราจรติดขัดเยี่ยงลานจอดรถขนาดใหญ่ ยวดยานเริงร่าบนถนน แต่ไม่ใช่คนที่อยู่ในนั้น

ประชากรแห่งโบโกตาไม่มีทางเลือกในการเดินทาง แม้มีระบบขนส่งสาธารณะแต่ส่วนมากด้อยประสิทธิภาพ สาธารณูปการของเมืองก็ล้วนแล้วแต่บิดเบี้ยวไร้ระบบ ฝนตกลงมาน้ำก็ท่วมถนน รถก็ติด ปัญหามลพิษจากการจราจร หมอกควันคลุมพื้นที่เมือง ปัญหาลักเล็กขโมยน้อย รวมถึงปัญหาคอรัปชั่นและการค้ายาเสพติด

ในปี 1998 นายเอนริเก พินาโลซา ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองโบโกตาเขาค่อยๆ พลิกฟื้นเมืองโบโกตา

การวางแผนจราจรสำหรับเมืองอื่นอาจทำให้เกิดการเดินทางที่สะดวกสบาย แต่สำหรับโบโกตา การวางแผนจราจรคือการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชาวเมือง ทำอย่างไรที่ประชากรเมืองจะไม่อ้วน ไม่ขี้โรค และมีความสุข  ดังนั้นในแนวคิดของพินาโลซาจึงให้ความสำคัญกับคนเป็นหลัก ไม่ใช่รถยนต์

เขาสร้างระบบ BRT จนกลายมาเป็นระบบขนส่งมวลชนต้นแบบของเมือง จากนั้นทำทางจักรยานให้เมืองด้วยเชื่อว่ามันดีกับประชาชนทั้งหมด โครงการลักษณะนี้คือการพัฒนาระบบเส้นทางสิ่งแวดล้อม (Greenway) แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเส้นทางจักรยาน

ทางจักรยานในเมืองโบโกตามีหลายแบบ เช่น ทางจักรยานที่อยู่ระหว่างทางเท้ากับถนน มีเสาไฟฟ้าคั่นระหว่างทางจักรยานกับถนนเพื่อให้ความรู้สึกปลอดภัยสำหรับคนขี่จักรยาน ในโบโกตาเส้นทางจักรยานส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบนี้ คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ ของทางจักรยานทั้งหมด

ทางจักรยานโดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนน เส้นทางจักรยานในเกาะกลางเช่นนี้ผู้ขี่จักรยานจะเข้าออกเส้นทางได้เฉพาะบริเวณที่เป็นทางแยกทางร่วมที่มีสัญญาณไฟจราจรเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกัน

ทางจักรยานที่ใช้ทางเดินเล็กๆ ที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงพื้นผิว ตรงไหนไม่สะดวกก็ปรับปรุงให้เกิดความสะดวก จนกลายเป็นเส้นทางจักรยานได้ เส้นทางจักรยานแบบนี้มีอยู่ 11 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

ทางไหนที่เป็นทางข้ามตัดกับถนนสายใหญ่ คนขี่จักรยานข้ามลำบาก ก็ทำเป็นทางข้ามยกลอยฟ้า ตรงไหนเป็นทางแยกทางข้ามเพื่อความปลอดภัยก็มีตาแมวติดที่พื้น มีทางม้าลายให้เห็นอย่างชัดเจน

ข้อมูลเมื่อปี 2005 ระบุว่า การสร้างเส้นทางจักรยานในเมืองโบโกตาเป็นโครงข่าย ทำให้มีคนใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 0.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 5 เปอร์เซ็นต์

ในชั่วโมงเร่งด่วน นครราชสีมาก็มีการจราจรติดขัด ระบบอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ มีปัญหาอุบัติเหตุ และมลพิษสูงกว่าค่ามาตรฐาน และสภาพคงเป็นเช่นนี้ตลอดกาลหากยึดเอากรุงเทพมหานครเป็นต้นแบบแห่งการจัดการจราจรและการพัฒนา

นครราชสีมาเป็นเมืองที่มีถนนมิตรภาพเป็นเส้นเลือดใหญ่ทอดยาวผ่าเมือง ตั้งแต่ช่วงโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยไปจนกระทั่งถึงแยกท่าช้าง มีอาคารและกิจกรรมเกี่ยวกับธุรกิจ การศึกษา ขนาบข้างสองฝั่งถนนไปตลอดแนวระยะทางทั้งหมดประมาณ 8 กิโลเมตร ในชั่วโมงเร่งด่วนทำให้โคราชมีสภาพการจราจรไม่ต่างจากถนนสายหลักในกรุงเทพฯ

ผศ.นิคม บุญญานุสิทธิ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน และประธานสถาบันพัฒนาเมืองนครราชสีมานำเสนอโครงการ ‘โคราช เมืองจักรยาน’ ด้วยความร่วมมือกันของหลายฝ่าย หลายกลุ่ม ทั้งสถาปนิก นักจักรยาน นักผังเมือง นักธุรกิจในท้องถิ่น ร่วมกันคิดนวัตกรรมใหม่

องค์ประกอบสำคัญของระบบคือเส้นทางที่เป็นทางยกระดับและตัวสถานี ซึ่งใช้การปรับปรุงโครงสร้างของสะพานลอยคนข้ามทุกสะพานตลอดแนวโครงการ มีระบบควบคุมด้วยกล้องวงจรปิด ทั้งที่เส้นทางและตัวสถานีและตัวยานพาหนะของระบบคือจักรยานไฟฟ้า ซึ่งมีจอดให้บริการที่สถานี ส่วนใครคิดจะเอาจักรยานส่วนตัวมาใช้ก็ตามความสะดวก

สถานที่สำคัญๆ ในเส้นทางจะทำตัวสถานีโดยการดึงเส้นทางเข้าไปในโครงการก็ได้ เช่น โรงเรียนอนุบาลเมืองอาจจะมีสถานีเฉพาะของโรงเรียนเอง เวลาเด็กมาเรียนก็มาออกที่สถานีนี้ เวลาจะกลับบ้านก็ผ่านเข้าตัวสถานีของโรงเรียนเอง โรงเรียนก็ควบคุมการเข้าออกได้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็แทบไม่ต้องมารับส่งอีกต่อไป เพราะเด็กๆ สามารถรวมกลุ่มขี่จักรยานไปและกลับกันได้เอง

แปลนของสถานีจักรยานลอยฟ้าในฝันนี้ประกอบไปด้วยจุดจ่ายค่าเข้าใช้เส้นทาง ผศ.นิคมระบุว่าทดลองศึกษาไว้แค่คนละ 5 บาท ตลอดสายเพื่อให้ราคาถูกกว่าค่ารถโดยสาร เข้าสู่สถานีใดก็จ่าย 5 บาท เมื่อเข้ามาแล้วจะไปออกที่สถานีไหนก็ตามสะดวก ถ้าปริมาณผู้ใช้วันละ 3 หมื่นคน โครงการจะมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 100 ล้านบาท

ในบริเวณสถานีก็จะมีจักรยานให้ยืมจอดไว้ บริเวณด้านทางเข้าสู่สถานีจะมีโอเปอเรเตอร์นั่งคอยเก็บค่าบริการ หรือเอาเหรียญ 5 บาท หยอดเข้าไปในเครื่องควบคุมการผ่านเข้าออกคล้ายการใช้รถไฟฟ้า BTS

ทางขึ้นลงของสถานีมีทางลาดอยู่ตรงบันไดสำหรับให้ใช้จูงจักรยานขึ้นลง ทางขึ้นทางลงก็แยกกันคนละทาง บริเวณใต้บันไดก็ทำเป็นที่จอดจักรยานสำหรับคนทั่วไปที่จะเอาจักรยานของตนเองมาจอด แล้วก็เดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

ผศ.นิคม ระบุว่า ประสบการณ์ของประเทศที่เกิดทางจักรยานยากๆ ทั้งหลายพบว่า การทำทางจักรยานในพื้นที่ที่ทำได้ง่ายๆ ก่อนนั้น ปรากฏว่าไม่ค่อยมีคนใช้ แล้วในที่สุดก็จะกลายเป็นล้มเหลว เพราะประชากรไม่มีวัฒนธรรมการใช้จักรยานอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของประเทศบราซิล เมืองอากาศร้อน

“ถ้าจะทำทางจักรยานให้สำเร็จในประเทศที่ผู้คนยังมีทัศนคติลบต่อการใช้จักรยานอยู่นั้น ต้องทำโครงการใหญ่ คือโครงการที่เปรี้ยงมาก็เกิดการถกเถียงกันเลยว่ามันจะเป็นได้หรือ

“ดังนั้นเราต้องทำ BRT ก่อน ใครยังไม่เห็นภาพ ยังไม่เห็นด้วย ต้องคุย ต้องเผยแพร่ ต้องทำจนกระทั่งได้สร้าง แล้วต่อจากนั้นวัฒนธรรมจักรยานมันจะสร้างตัวของมันเอง จนทำให้คนทั้งเมืองอยากได้ทางจักรยานเพิ่ม” ผศ.นิคม กล่าว

โครงการโคราช เมืองจักรยาน ยังเป็นเพียงความฝัน ซึ่งแน่นอนมันกำลังอยู่ในขั้นตอนชั่งน้ำหนักโดยพื้นฐานความจริง

เมื่อรถไม่สามารถบินได้ เมื่อเจอปัญหาในชีวิตไม่อยากไปโรงเรียน เย็นดีก็ไม่เคยหายตัวได้สักครั้ง ฟอร์เรสท์ กัมพ์ ไม่เคยบินหรือหายตัวหนีปัญหา เขาเพียงแต่ ‘วิ่ง’

เย็นดีรู้ว่าฟอร์เรสท์ กัมพ์ ไม่ได้วิ่งหนี หากแต่ไปในทิศตรงกันข้าม

 

(หมายเหตุ : ดูแบบแปลน ‘จักรยานลอยฟ้า’ เมืองโคราช ได้ที่ http://inud.org  และบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์  พฤศจิกายน 2553)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า