‘จิตตปัญญา’ ศึกษาอะไร

ธนิษฐา แดนศิลป์

หากคนที่สนใจเรื่องการพัฒนาสภาวะข้างในอยู่แล้ว จิตตปัญญาศึกษาก็ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นการให้นิยามใหม่ หรือการนำเอาสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่าใหม่ให้ผู้คนได้ตระหนัก และได้นำไปใช้ให้สอดคล้องกับวิถีที่เป็นอยู่ ทั้งในหน้าที่การงาน การศึกษาและชีวิต

เรียกได้ว่าแทบทุกแนวทาง ทุกกระบวนการที่จะเอื้อ หรือ นำพา ผู้คนได้กลับเข้าไปสำรวจหัวจิตหัวใจของตัวเอง เผชิญหน้ากับความเป็นตัวตน และใบหน้าที่แท้จริงของตัวเอง หรือการเรียนรู้ที่จะกล้า…กล้าที่จะเผชิญกับความกลัวลึกๆ ข้างในตัวเอง หรือกล้าที่จะก้าวออกจากความคุ้นชิน ความปลอดภัย ไปสู่สภาวะใหม่ ไปสู่สภาวะที่เราเองก็มิอาจคาดเดาได้ว่ามันคืออะไร หรือจะเป็นเช่นไร

คำว่าจิตตปัญญาศึกษา ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เคยให้นิยามไว้ว่า “คือการศึกษาที่ทำให้เข้าใจด้านในของตัวเอง รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น เกิดความเป็นอิสระ ความสุข ปัญญา และความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยเน้นการศึกษาจากการปฏิบัติ เช่น จากการทำงานศิลปะ โยคะ ความเป็นชุมชน การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม สุนทรียสนทนา การเรียนรู้จากธรรมชาติ และจิตตภาวนา”

เช่นเดียวกับที่ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ หนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า

“จริงๆ แล้ว กระบวนการทางจิตตปัญญาก็เป็นการนำคนมาทำเรื่องง่ายๆ เช่น เอาคนมานั่งคุยกัน เอางานศิลปะมานั่งขีดๆ เขียนๆ ไม่มีกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์แพงๆ เลย และมันอยู่ในทุกๆ กิจกรรมของชีวิต พูดคุยกันสองคน เล่าเรื่องราวให้กันฟังก็เป็นจิตตปัญญาศึกษา แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าเราตระหนักรู้กับสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า หรือรู้จักการรับฟังอย่างลึกซึ้งหรือไม่”

แม้ว่ากระบวนการต่างๆ ดูจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่การตระหนักรู้ภายในคงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ดังที่ ดร.สรยุทธ อธิบายให้เห็นว่า

“ยากเหมือนกันที่จะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่เข้าเวิร์คช็อปต่างๆ เพราะในเวิร์คช็อปมันเป็นการให้ความหมายใหม่กับสิ่งเดิมๆ ที่เราทำไปโดยไม่ตระหนัก หรือสิ่งเดิมๆ ที่เราทำไปเป็นอัตโนมัติ”

“ในการมาเข้าเวิร์คช็อป กิจกรรมจะเป็นตัวสะท้อนความเป็นตัวตนของเขา สิ่งที่เขาทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน เช่น การคุยหรือไม่คุยกับคนที่บ้าน การตอบสนองต่อคนรอบข้าง ความเชื่อหรือสมมุติฐานที่เขามีคืออะไร ทำให้เขาได้มีโอกาสตั้งคำถามกับชุดความเชื่อเดิมว่ามันคืออะไร มีสถานการณ์ให้เข้ามาเรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาทำโดยอัตโนมัตินั้นส่งผลอย่างไรต่อการเรียนรู้ของเขาและผู้อื่น และเขาจะสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ชีวิตประจำวันของเขาได้อย่างไร”

หากลองพิจารณาดู ก็เห็นจะจริงอย่าง ดร.สรยุทธว่าไว้ เพราะแค่ตัวเรา เราก็ยังไม่เคยรู้เลยว่า ‘ฉันคือใคร’ ขนาดยังไม่ต้องล้วงลึกไปถึงเรื่องที่สลับซับซ้อนของเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังในการที่เราตัดสินใจทำหรือไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ลงไป เพราะการจะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ต้องอาศัยกระบวนการต่างๆ ที่ช่วยพาใจเราให้มีสติ ละเอียด รวมถึงไวพอที่จะเห็นสภาวะจิตใจเราอย่างทันท่วงทีก่อนที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปธรรมอย่างอื่น ขณะเดียวกันก็ต้องมีใจที่เปิดกว้างพร้อมยอมรับกับสภาวะต่างๆ ที่เราจะพบเจอข้างในตัวตนของเราด้วย

กระบวนการเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ศิลปะ จิตอาสา ดนตรีบำบัด สวดมนต์หรือว่าวิปัสสนา ก็ล้วนแล้วแต่จะช่วยนำพาเราไปค้นเจอรากแห่งสภาวะต่างๆ ที่เกิดดับในเราได้

เมื่อเราค้นพบ เมื่อนั้นไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความวิตกกังวล หรือความต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ความต้องการให้ผู้อื่นยอมรับ มันจะสลายดับสิ้นไปทันที หรืออีกทีก็คือ มันจะไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อใจและการกระทำของเราอีก และที่สำคัญมันก็เพียงพอแล้วต่อการค้นพบว่ามันคืออะไร โดยที่ไม่ต้องไปหาอะไรมาเติมเต็มหรือตอบสนองสภาวะนั้นอีก

สภาวะการตระหนักรู้ใคร่ครวญตรวจสอบข้างในก็ไม่ต่างไปจากการส่องกระจก แต่เป็นกระจกที่ต้องเริ่มติดตั้งมันด้วยตัวเอง เพื่อจะใช้กระจกนั้นสะท้อนตัวตนของเราในทุกๆ มิติ นำพาเราไปสู่การปลดเปลื้องความจอมปลอมและความเชื่อบางอย่างที่เป็นส่วนเกินของความดี ความงาม และความจริงออกไป

ยิ่งเราส่องกระจกบานนั้นมากเท่าไร ความกระตือรือร้นที่อยากจะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ก็จะมีมากขึ้น แต่ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนให้เหมือนใคร หรือเพื่อเป็นใคร แต่เป็นการปรับเปลี่ยนจากตัวเรา เพื่อเป็นเรานั่นแหละ

แต่เป็นเราในแบบที่จริงขึ้น ดีขึ้น สุขขึ้น และเห็นความจริงแห่งชีวิตมากขึ้น เข้าถึงคำว่า ‘สุขภาวะทางปัญญา’ อย่างที่จิตตปัญญาเขาว่าไว้

และเมื่อเข้าสู่สภาวะเช่นนั้นได้ กระบวนการต่างๆ หรือเวิร์คช็อปที่ว่าก็คงจะไม่ได้มีความหมายอะไรอีกต่อไป เพราะคำว่า จิตตปัญญา ได้ ’เป็น’ และ ’อยู่’ ในเนื้อในตัวไปเรียบร้อยแล้ว และไม่ว่าจะหยิบจับทำสิ่งใด ทำหน้าที่การงาน หรือประกอบอาชีพอะไร มันก็จะเป็น ’ของจริง’ แบบที่ไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยชื่อเรียก หรือเทคนิคใดๆ อีก

เพราะจริงๆ แล้วเรื่องการพัฒนาข้างในแบบนี้ กระบวนการภายนอกเป็นเพียงแต่สิ่งที่ช่วยปลุกเร้าตัวเรา หรือเมล็ดพันธุ์ที่ดีงามข้างในเราให้ตื่นขึ้นเท่านั้น ว่าไปก็ไม่ต่างจากเรือจ้าง เรือพาย ที่มีไว้แค่ส่งเราข้ามฟาก หากอยากจะแบกเรือขึ้นฝั่งไปด้วยก็คงจะไม่ได้ช่วยอะไร

ที่สำคัญ แต่ละที่ทาง ท้องน้ำล้วนแตกต่างกัน พื้นน้ำแบบไหนเหมาะกับเรือชนิดใดคงต้องเลือกใช้กันตามถนัดและความเหมาะสมกับสภาพกาล สถานที่ และฝีพาย มันถึงจะอยู่กับคนตรงนั้น หรือสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างเข้าใจ

ขอจบง่ายๆ ด้วยข้อความ 4-5 ประโยคของ ประสาท ประเทศรัตน์ นักดนตรี กวี ศิลปิน ที่แลกเปลี่ยนไว้ในกลุ่มศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนา ของอาจารย์ไพบูลย์ ฐิติมโน ที่ชื่อ ‘กลุ่มตกแล้วตั้งใหม่’ ซึ่งก็น่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่สนใจเรื่องจิตตปัญญาศึกษาด้วยเช่นกัน เขาเขียนไว้เช่นนี้…

รู้แบกหาม หนัก

รู้แล้วละเสีย เบา

ตกตั้งใหม่ แบก หรือ ละ

ผู้เดินบนทางกลับไปนอนกลางทางเดิน

ไม่ต่างพายถึงฝั่งแบกเรือเดินไปด้วย

กระบวนกร ‘ตัวตน’

กระบวนการ ‘ดำเนินอยู่กับ’

กระบวนทัศน์ ‘เห็นไหม อะไรเกิดขึ้นอย่างไร’

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า