‘ญารินดา’ เมโลดี้สีชอกกิ้งพิงค์

ญารินดา่ บุนนาค

เรื่อง :  วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ภาพ :  อนุช ยนตมุติ

1.

เรือด่วนเจ้าพระยาพาเรามุ่งหน้าจากลาดพร้าวไปเอกมัย บนถนนคอนกรีตอันคุ้นชินคงไม่สามารถอำนวยความสะดวกได้ในเวลาคับขัน เราจึงนึกถึงคลองเเสนแสบ เส้นทางอีกสายที่ไม่คุ้นเคย (รวมถึงกลิ่นของมันด้วย) แต่มันก็พาเราถึงปลายทาง

ที่สมอลล์รูม…

ถ้าจำไม่ผิด นั่นมือกลองวง Tattoo color นั่งรวมอยู่กับสมาชิกของวงต่างๆ ในสังกัดสมอลล์รูม รู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง แต่ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของพวกเขาชวนมองในระดับเท่ๆ เก๋ๆ กันทั้งนั้น บ่ายวันนี้พวกเขาคงเข้าออฟฟิศมาทำงาน แม้จะดูอิสระไร้ตะเข็บของกฎเกณฑ์

แต่งานที่ให้อิสระที่สุด ยังต้องมีกฎเกณฑ์คอยควบคุมในนามของ ‘วินัย’

ถ้านักดนตรีไม่ซ้อมดนตรีก็ไม่ต่างจากตำรวจไม่จับผู้ร้าย

บ่ายนี้ นินา – ญารินดา บุนนาค มีคิวซ้อมดนตรี และเรามีนัดกับเธอ

เมื่อนึกถึงคลองแสนแสบก็อดภูมิใจในการตัดสินใจ ‘เลือก’ เส้นทางสายนี้ไม่ได้ เพราะเส้นทางสายนี้ไม่ได้ทำให้เรามาสาย

คงคล้ายญารินดา ในวันนี้ เธอ ‘เลือก’ เดินบนทางอีกสายที่ไม่ใช่ทางสายหลัก

ความคิดหนึ่งผุดขึ้น… หรือเพลงแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเดินไปหาคนฟัง หากแต่คนฟังต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายเดินเข้าหา มันเป็นความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นขณะที่เท้าของเราก้าวเดินไปหาเธอ

“ไม่ใช่” เธอไม่เห็นด้วยกับความคิดแวบนั้น

“นาไม่ได้มองอย่างนั้น นามองว่ามีเดียที่นำเสนองานออกไป มันมีผลมากกับค่านิยมของคนฟัง ซึ่งถ้าให้เราไปวิ่งตามตรงนั้น เรารู้สึกว่ามันผิดจุดประสงค์ เราไม่ได้ทำเพลงเพื่อไปวิ่งตามค่านิยม แต่เราทำเพลงเพื่อนำเสนอกลุ่มคนที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง”

ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ญารินดาไม่แน่ใจ

“นารู้สึกว่าเพลงแมสถููกบังคับโดยมีเดียเยอะมาก นาไม่รู้ว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่มันก่อให้เกิดวัฒนธรรมการฟังหรือค่านิยมที่ไปในทางหนึ่ง แล้วค่านิยมในตอนนี้ เพลงของเราก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในนั้นซะทีเดียว แล้วมันก็เป็นการตัดสินใจส่วนตัวด้วยว่าเราไม่ได้ต้องการเอาใจค่านิยมตรงนั้น จุดประสงค์ในการทำเพลงของนาคือทำสิ่งที่คิดว่าเพราะที่สุด ปล่อยออกไป แล้วถ้าคนไหนมีค่านิยมที่ใกล้เคียงกับเราเขาก็อาจจะรู้สึกว่ามันไพเราะ”

บนทางสายนี้ ผู้คนเหล่านี้รวมถึงญารินดา ไม่ได้ทำเพลงมาเพื่อ ‘ฆ่า’ ค่านิยม

ญารินดาบอกว่า เราต่างอยู่ในโลกทุนนิยม

“เราต้องยอมรับตรงนั้น” เธอว่า

จริงอยู่ว่าต้องยอมรับ แต่หากไม่เต็มใจ แล้วมีวิธีใดบ้างหากเราคิดจะดื้อ

2.

“มาทำอย่างนั้นกับนาไม่ได้หรอก นาดื้อ”

ปี 2544 ญารินดาออกอัลบั้มแรกในสังกัดใหญ่อย่างแกรมมี่ ในตอนนั้น เธออายุ 19 และเขียนเพลงพร้อมทำเดโมไปยื่นให้ พี่ดี้ – นิติพงศ์ ห่อนาค ฟัง

อัลบั้มแรกของเธอจึงปรากฏเพลงที่เขียนเองถึง 5 เพลง ถามเธอว่าพอใจไหมกับสิ่งที่เด็กคนหนึ่งต้องการนำเสนอ เธอบอกว่า

“มากกว่านี้คงทำไม่ได้แล้วล่ะ เพราะตอนนั้นเรามีความสามารถอยู่แค่นั้น เราไม่มีประสบการณ์พอที่จะไปเป็นโปรดิวเซอร์เอง เพราะเราก็อายุแค่ 19 ในแง่ของความรับผิดชอบที่เขาให้เรา เขาเชื่อใจเรา แค่นั้นก็โชคดีมากแล้วที่พี่ดี้อนุญาตให้นามีเพลงที่เขียนเองถึง 4-5 เพลง”

เพลงเพราะ ภาพลักษณ์เท่ อาจเป็นสูตรสำเร็จของการแชร์พื้นที่ในหัวใจวัยรุ่น ญารินดาใน พ.ศ. นั้น ก็เท่เสียด้วย บ็อบเทอาบด้วยสีช็อกกิ้งพิงค์

วัยรุ่นบางคนในเวลานั้นยกย่องเธอว่า : ‘แสบสุดๆ’

ในช่วงเวลาที่วงการเพลงไทยแข่งกันแสบมากกว่าอะไรทั้งนั้น ใครๆ ในค่ายไหนๆ ก็แสบได้ทั้งนั้น แต่สีช็อกกิ้งพิงค์บนเรือนผมเธอไม่ได้มาจากกระบวนการจัดตั้งจากช่างผม ช่างแต่งหน้า คอสตูม ฯลฯ

“ไม่หรอก มาทำอย่างนั้นกับนาไม่ได้หรอก นาดื้อ” เธอย้ำชัดเจน 2 พยางค์สุดท้าย

“ไม่ใช่ว่าดื้อแบบไม่ยอมทำ แต่นาชอบเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกอย่าง ในเมื่ออัลบั้มมันเป็นของเรา การแต่งตัว เสื้อผ้าหน้าผม ปกอัลบั้ม หรือว่าเพลงไหนเป็นเพลงโปรโมทก่อน เราก็ควรมีโอกาสร่วมในการตัดสินใจด้วย ไม่ใช่ว่าแบะๆ เข้าไป แค่เข้าห้องอัดแล้วเขาจะเอาเพลงอะไรมาให้เราร้องก็ได้ มันเป็นไปไม่ได้ มันขัดกับธรรมชาติ”

ญารินดา บุนนาค

ในหนัง Eternal Sunshine of the Spotless Mind จิม แคร์รี ได้เข้าสู่กระบวนการลบความทรงจำเมื่อไม่พอใจในอดีตบางส่วน

ในยุคที่วงการเพลงไทยกระแสหลักขยันสร้างงานลูกกวาดออกมาเกลื่อนตลาด เมื่อถึงวันนี้ ‘ลูกกวาด’ เหล่านั้นได้ทยอยออกมาจากโรงงานเพื่อหาอาภรณ์ใหม่ให้ตัวเอง

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ใช่หรือไม่ว่ากระบวนการสร้างที่ขัดแย้งธรรมชาติของตัวแบบ ย่อมไม่ใช่หนทางที่ถูกนัก

“ไม่รู้ เพราะว่าไม่ใช่เรา” เธอว่า

“สาเหตุที่นาออกจากแกรมมี่ไม่ใช่เรื่องนั้น ที่นาออกจากแกรมมี่เพราะว่าพอนาเรียนจบกลับมาแล้ว นาทำหลายอย่าง ทั้งเป็นอาจารย์แล้วทำเพลงของตัวเองด้วย แล้วตอนนั้นเรามีความมั่นใจมากพอที่อยากจะทดลองโปรดิวซ์อัลบั้มเอง ก็เข้าไปปรึกษาพี่ดี้ พี่ดี้ก็แนะนำว่า ถ้าอยากได้เพลงในแบบของเรา ไปทำเองดีกว่า อย่ามาโดนจำกัดกับข้อจำกัดของธุรกิจเลย

“มันเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องยอมรับอยู่แล้วว่าบริษัทใหญ่ๆ อย่างอาร์เอส แกรมมี่ เขาต้องเลี้ยงปากท้องพนักงานตั้งกี่ร้อยกี่พันคน การที่เขาจะเอาเงินมาลงทุนกับการทดลอง มันมีโอกาสเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น ณ จุดนั้น ด้วยระยะเวลาของเราที่ไม่เอื้อให้ตรงกับดีมานด์ของบริษัท หรืออะไรหลายๆ อย่าง มันจะดีกว่าถ้าเรามาทำเอง มาจัดการเวลาของเราเองได้”

“อย่ามาขับรถคันใหญ่บนทางด่วนเลย ไปเป็นจิ๊กโก๋ปากซอยดีกว่า” พี่ดี้บอกเธออย่างนี้

3.

“ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นจิ๊กโก๋ แต่ว่ามีความสุขมากกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ตอนนี้” ญารินดาบอก

1.สถาปนิก 2.นักดนตรี 3.นักแสดง 4.อาจารย์

ถ้าพระเจ้าให้เลือกเพียงข้อเดียว ห้ามกากบาทเกินหนึ่งข้อ

ถ้าพระเจ้าเล่นอย่างนี้จริงๆ ญารินดาคงยอมสอบตก เพราะเธอ ‘เป็น’ และ ‘ทำ’ ทุกอย่าง

สถาปนิก เธอเป็นสถาปนิกแห่งบริษัท ดวงฤทธิ์บุนนาค จำกัด แต่ตอนนี้ลาพักยาว เพื่อทำงานเพลงอัลบั้มใหม่ Schools และงานแสดงในหนังเรื่องที่ 2 อินทรีแดง และพอใจกับการเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ใช่หรือไม่ว่าอย่างน้อยที่สุดความสุขน่าจะเกิดจากการที่เรามีสิทธิ์เลือก

“แต่ไม่ได้หมายความว่าใช้ความสุขนำทางแล้วมันง่ายนะ มันก็ไม่ใช่แบบนั้น” เธอว่า

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เงื่อนไขต่างๆ ทางสังคมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทางเดินให้ตัวละครอย่างมนุษย์หดแคบลง เราจึงพยายามมีความสุขกับอะไรๆ ให้ง่ายเข้าไว้ เราจึงมองอะไรๆ ให้เล็กลง ตั้งเป้าหมายให้ใกล้เข้ามาหน่อย หรืออาจพูดได้ว่า เรานิยามความสุขให้หดเล็กลงในพื้นที่ที่แคบลง เพื่อกุมความสุขได้ง่ายขึ้น

เป็นไปได้หรือไม่ว่าความสุขของคนยุคเราไม่ได้ใหญ่โตเหมือนในคนรุ่นก่อน

“พื้นที่ที่มันแคบลงๆ” เธอทวนคำก่อนบอกว่า

“ก็เป็นไปได้นะ อย่างนาสุขกับอะไรเล็กๆ น้อยๆ กับสเต็ปเล็กๆ ที่ได้ทำ หรือนู้นนิดนี่หน่อย สมมติ ซ้อมดนตรีแล้วเสียงมันลงตัวและเข้าที่ หรือรถติดอยู่แล้วหันไปเจอบรรยากาศดีๆ หรือเห็นโปสเตอร์ทุเรศๆ ข้างทางด่วนแล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย จริงหรือวะ เจ๋งดีถ่ายรูปเก็บไว้ มันเป็นโมเมนต์เล็กๆ น้อยๆ มากกว่าเป็นการตั้งเป้าว่าสักวันหนึ่งถ้าทำอย่างนี้ได้ถึงจะมีความสุข”

หรือทฤษฎีที่ว่าโลกนี้โหดร้ายจะจริง…

“นาไม่คิดแบบนั้นเลย นาคิดว่ายุคสมัยนี้ให้โอกาสเยอะมากกับทุกคน เทคโนโลยีมันช่วยให้ทุกคนมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบง่ายขึ้น สมมติ ตัวเองอยากเป็นนักเขียน เขียนลงบล็อกก็ได้ ไม่จำเป็นที่ต้องไปตะบี้ตะบันหาสำนักพิมพ์มาพิมพ์หนังสือให้ใช่มั้ยคะ คือมันมีกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด

“ด้วยความที่โลกเรามันใกล้กันมากขึ้น อินเทอร์เน็ตมันช่วยสิ่งเหล่านี้ได้เยอะมาก นาไม่ได้รู้สึกว่าโลกมันโหดร้าย แต่นากลับรู้สึกว่าเทคโนโลยีมันช่วยให้คนมองไปไกลขึ้น แล้วมันสามารถดึงโยงหรือสื่อกับคนในพื้นที่ที่กว้างไกลขึ้นได้ มันทำให้การที่เราจะสร้างความฝันแล้วมุ่งหวังอะไรที่มันยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเราสามารถทำได้เลยด้วยความสะดวกสบายง่ายขึ้น”

ฉะนั้น เมื่อเธอรู้สึกว่าสิ่งนี้มอบความสุขให้เธอ เธอจึงไม่ลังเลที่จะทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ญารินดาตั้งข้อสังเกตว่า ที่คิดแบบนี้ อาจเพราะตัวเองเป็นคนคิดสั้น!

“เมื่อเราชอบอะไร ช่วงเวลาที่คิดไตร่ตรองจะมีสั้นมากเลย เราจะคิดว่าข้อดีคืออะไร ข้อเสียคืออะไร แล้วถ้ามันไม่ได้ทำร้ายใคร เออ แล้วมันไม่ได้ทำให้เราเจ็บตัว ก็จะทำไปเลย แต่คนอีกหลายคนที่น่าชื่นชมในแง่ที่ว่าเขาจะคิดไตร่ตรองข้อดีข้อเสียเยอะกว่านาเยอะมาก เออ ถ้าทำอย่างนี้มันต้องใช้เวลาเท่านี้นะ มันอาจจะไม่คุ้ม คือคิดเยอะมากเลย ก็หลายๆ ครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาก็มัวแต่คิดน่ะ

“ซึ่งนาไม่ได้บอกว่าเป็นข้อเสียนะ มันอาจจะดีกับเขาก็ได้ เพราะมันเป็นการป้องกันตัวเองในระดับหนึ่ง แล้วมันก็เป็นการวางแผนคือมีแปลน ต้องให้พร้อมก่อน

“สมมติ จะร้องเพลงก็ควรจะเสียงเพราะก่อน (หัวเราะ) หรือจะขึ้นเวทีเล่นกีตาร์ อย่างน้อยต้องเล่นเก่งระดับหนึ่งแหละ แต่นาจะไม่อย่างนั้นไง ของนาจะแบบ เฮ้ย เพิ่งซื้อเครื่องดนตรีชิ้นใหม่มาชิ้นหนึ่ง อยากเล่นวะ แต่เล่นไม่เป็นหรอก ลองเล่นวันสองวัน พอมีคอนเสิร์ตก็เอาขึ้นไปเล่น อาจจะโดนด่าบ้าง แต่มันสนุกไงที่ตัวเองได้เล่น ด้วยความคิดสั้นตรงนั้นด้วยมั้ง เลยทำให้เราลุยทำเยอะ เพราะไม่ได้ไปคิดข้อบวกข้อลบอะไรขนาดนั้น”

หากว่าสิ่งที่ทำไปนั้นบังเอิญพลาดขึ้นมา เธอบอกก่อนเดินเข้าห้องซ้อมว่า คราวหน้าเจอกันใหม่

4. ญารินดา บุนนาค

เรือด่วนเจ้าพระยาพาเราจากเอกมัยไปลาดพร้าว นอกจากลำคลองสายหลัก ยังมีคลองเล็กคลองน้อยแยกไปทางซ้ายที แยกไปทางขวาที

ระลอกน้ำกระเพื่อมไปชนตลิ่ง ละอองน้ำกระเซ็นเข้ามาพรมตามใบหน้าและไรผมเมื่อมีเรืออีกลำวิ่งสวนมา

ในจังหวะที่แสงแดดยามบ่ายกระทบผิวน้ำ มีศพหมูตัวหนึ่งลอยอืดบนผิวน้ำ มีกระป๋องน้ำอัดลมลอยมาส่งแสงระยิบวิบวับ – เราคิดถึงญารินดา

คิดถึงช่วงตอนหนึ่งที่เราคุยกัน

“ถ้ามีเพลงโฆษณามาให้ร้องล่ะ ร้องมั้ย”

“ก็แล้วแต่ ก็เคยร้องนะคะ” เธอตอบ

“ถ้ามันเป็นเพลงโฆษณา วัตถุประสงค์เขาคือต้องการขายโปรดักส์ มันไม่เกี่ยวกับเราเลย ทำตามลูกค้าต้องการ เพราะมันเป็นงานพานิชย์ มันเกี่ยวข้องกับเขา ไม่ได้เกี่ยวกับเรา ในทางกลับกัน ถ้ามาสัมภาษณ์นามันเกี่ยวกับนา ถ้าเตรียมชุดมาให้นาถ่ายเป็นชุดเกาะอก มันก็ไม่ใช่นาแล้ว ซึ่งนาก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนั้น ซึ่งแบบนั้นเราจะรู้สึกอึดอัดมากๆ แล้วเราพยายามจะออกจากสถานการณ์นั้นให้ได้ ถ้าไม่ได้จริงๆ เราก็จำใจ แต่ต้องบอกเขาบ้างว่าเรามีลิมิตของเรานะ

“แต่ในทางกลับกันมันมีแฟชั่นเซ็ต ถ่ายแฟชั่นนะ ยี่ห้อเสื้อผ้าแบบนี้ สไตล์แบบนี้นะ เขาต้องการจะขายของเค้า มันไม่ได้เกี่ยวกับเรา เขาไม่ได้มาสัมภาษณ์ หรือมาบอกว่าญารินดาเป็นอย่างนั้นญารินดาเป็นอย่างนี้ เราไปเป็นนางแบบ อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่งแล้ว ถูกมั้ย”

บนเส้นทางสายรอง หากเราเลือกแล้ว แต่ ‘เล่น’ มันไม่เป็น คงไม่ต่างจากหมูตัวนั้นในคลองแสนแสบ ในทางกลับกัน หากเรา ‘เล่น’ จนรอบจัด คงไม่ต่างกระป๋องน้ำอัดลมที่ผู้บริโภคดื่มหมดแล้วโยนทิ้ง

อาจจริงอย่างที่ญารินดาว่า หากเราเห็นว่าข้อดีคืออะไร ข้อเสียคืออะไร

และมันไม่ได้ทำร้ายใคร และมันไม่ได้ทำให้เราเปลืองเนื้อตัว

บางวันเราอาจนั่งรถไฟฟ้า หรือบางวันอาจปั่นจักรยาน

***********************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ ธันวาคม 2552)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า