ตลาดที่ SAPA


 

เรื่องและภาพ: หนุ่ม หนังสือเดินทาง

 

ซาปาเป็นเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของเวียดนาม

มันตั้งอยู่ใกล้ชายแดนจีน ห้อมล้อมด้วยเทือกเขาและสายหมอก อากาศหนาวเย็นเกือบตลอด บางปีถึงกับมีหิมะ และเป็นเมืองที่น่าจะมีชาวเขาอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยเผ่า

บางคนอาจเคยมาเยือน บ้างอาจได้ฟังคนอื่นพูดถึง แต่จำนวนไม่น้อยแม้แต่ชื่ออาจไม่เคยได้ยิน

ใช่…ถนนหนทางที่ยากลำบากนั้นเหตุผลหนึ่ง แต่สงครามหลายสงคราม ทั้งสงครามกู้ชาติจากฝรั่งเศส สงครามในประเทศ และสงครามกับอเมริกาก็ทำให้ซาปาเป็นชื่อที่เกือบเลือนหาย ทั้งที่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งครั้งที่ยังมีการล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสถึงกับเคยเลือกซาปาไว้เป็นเมืองตากอากาศ

15 ปีก่อน ผู้ที่มาเยือนซาปาก็เห็นจะมีแต่นักเดินทางประเภทเลือดผจญภัยฝังแน่น และวิธีเดียวที่ไปได้ก็คือการนั่งมอเตอร์ไซค์กันก้นระบม

แต่สงครามเลิก วันเวลาเปลี่ยน เดี่ยวนี้เขาพัฒนาแล้ว จากฮานอยหลับมาในตู้รถไฟชั่วข้ามคืนก็ถึงซาปา

จากที่เคยมีโรงแรมอยู่แห่งเดียว ตอนนี้ซาปามีโรงแรมไม่น้อยกว่า 70 แห่ง มีพิพิธภัณฑ์รวบรวมความเป็นมาของชุมชน มีการฝึกอบรมเยาวชนขึ้นมาเป็นไกด์นำชมหมู่บ้าน Dragon’s Jaw Mountain ซึ่งเป็นเนินเขาอยู่กลางเมืองก็ถูกจัดภูมิทัศน์จนเดินขึ้นไปชมได้สบาย ใครขึ้นไปบนนั้นจะได้เห็นโบสถ์กลางเมือง เห็นอาคารทรงยุโรปและแนวทิวสนถูกปกคลุมไว้ด้วยม่านหมอกจนอาจไม่เชื่อสายตาว่าที่เห็นอยู่นั่นมันใช่เวียดนาม

จากสภาพแวดล้อมดังกล่าว แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนซาปากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

ไม่แค่คนต่างชาติ แต่ละวันคนเวียดนามเจ้าของประเทศเองจำนวนไม่น้อยต่างพากันมาถึงไม่ชอบธรรมชาติ ซาปายังมี ‘ตลาด’ เป็นเสน่ห์อันร้ายกาจอีกอย่างหนึ่ง ใครคิดว่าพี่น้องชนเผ่าค้าขายไม่เป็นนั้นอาจคิดผิด ใครคิดว่าแม่ค้าจากหมู่บ้านบนเขาใช้ภาษาอังกฤษไม่ดี พูดฝรั่งเศสไม่ได้ ตลอดจนไม่รู้จักยูเอสดอลลาร์นั้นคงต้องคิดเสียใหม่ ณ ตลาดแห่งนี้หลายสิ่งสลับที่กันจนน่าแปลกใจ

แม่ค้าทุกคนของที่นี่ใช้ภาษาต่างประเทศกันได้ ทั้งยังมีลีลาการขายที่ผู้ไปเยือนน้อยรายยากจะลืม บางทีนี่อาจเป็นตลาดเพียงไม่กี่แห่งบนโลกนี้ที่การซื้อขายต่อรองเป็นไปอย่างจริงจังจนถึงขั้นวิ่งไล่กันเสียด้วยซ้ำ

ซาปามีตลาดทุกวันก็จริง แต่เสาร์อาทิตย์นั้นถือเป็นวันสำคัญสุด

นี่เป็นวันที่สาวรุ่นจากบางชนเผ่าตั้งใจแต่งตัวมาตลาดราวกับเป็นดอกไม้ ในวันนี้ผู้คนจากหลายหมู่บ้านจะเอาสินค้าลงมาขายมากเป็นพิเศษ เป็ด ไก่ ขิง ข่า มีดพร้า สีย้อมผ้า ฯลฯ คือสิ่งที่พวกเขาเอามาขายหรือแลกเปลี่ยนเอาไปใช้กัน ในวันนี้อีกเช่นกันที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมายังซาปามากกว่าวันอื่นๆ การเร่ขายสินค้าที่ระลึกจำพวก ผ้าห่มทอมือ กระเป๋า กำไรเงิน สร้อยคอ และอะไรอีกหลายอย่างจึงคึกคักตามไปด้วย

การตื๊อ ห้อมล้อม คนนี้ออก คนนี้เข้าจนบางครั้งถึงขั้นวิ่งไล่ คือสไตล์การขายของที่นี่

หลายครั้ง เดินอยู่เฉยๆ ก็มีคนชูผ้าห่มพรวดเข้ามาประชิดพร้อมคำว่า “You buy from me, OK? ”

ใครขวัญอ่อน คิดช้า อาจเผลอตอบ “yes” เอาง่ายๆ เป็นอย่างนี้รับรองว่าได้ควักเงินแน่ ซื้อแล้วอาจต้องช่วยซื้ออีกจากหลายคน เพราะคนอื่นจะห้อมล้อมเข้ามาทั้งที่สิ่งที่เราต้องการนั้นแค่ชิ้นเดียว

หากแปรเจตนาของการพยายามขายของให้ได้เป็นอื่นไป แน่นอนว่าหลายคนคงได้รำคาญ

นักท่องเที่ยวยุโรปสูงวัยคู่หนึ่งถึงกับเปรยขึ้นในร้านอาหารบางแห่งว่า “ซาปา ก็เหมือนพล็อตนิยายคลาสสิกที่เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย พอคนจากประเทศเจริญกว่าเข้ามาคนท้องถิ่นก็รีบพุ่งเข้าใส่”

ไม่รู้ทนเห็นฝรั่งด้วยกันโดนแม่ค้าพื้นเมืองวิ่งไล่หรือเพราะอะไร แต่ได้ยินคำพูดของนักท่องเที่ยวคู่นี้แล้ววันนั้นใครหลายคนรู้สึกบอกไม่ถูก

อันที่จริง ตลาดที่ซาปาแทบไม่มีอะไรซับซ้อนเลย

ท้องถนนคือสถานประกอบการ พ่อค้าคนกลางนั้นไม่มี และเป็นเรื่องของผู้ผลิตพบผู้บริโภคล้วนๆ ถ้าคิดว่าผู้ขายก็พยายามทำหน้าที่ขาย ผู้ซื้อไม่อยากซื้อก็ปฏิเสธไป ง่ายๆ แค่นี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรต้องกังวล

เพราะอยู่ซาปานานหลายวัน ชายหนุ่มคนหนึ่งเลยพอควบคุมจิตใจได้ เขาพบว่าหากที่สุดแล้วไม่รู้จะปฏิเสธเหล่าแม่ค้าอย่างไรก็ให้ชวนพวกเธอสนทนา เบื่อเข้าพวกเธอจะลุกไป แต่ก่อนจากรับรองได้ว่ามักมีอะไรดีๆ ถูกทิ้งไว้ให้นึกถึงเสมอ

“If you don’t buy from me, I will follow you. I follow you to Hanoi. ”

นี้คือถ้อยคำของแม่ค้าสาวใหญ่ที่คุ้นหน้ากันคนหนึ่ง เธอเอ่ยขึ้นกับชายหนุ่มหลังจากคุยกันเนิ่นนานแล้วชายหนุ่มยังไม่ซื้ออะไร ครั้นบอกว่าจะกลับประเทศไทย เธอก็ว่า “I will follow you to Thailand then. ”

“You buy blanket from me, 150,000 dong. Cheap, cheap! Mama, no money no eat, eat. ” อีกครั้งเป็นถ้อยคำของแม่ค้าสูงวัยอายุ 70 กว่าๆ ซึ่งเรียกตัวเองว่ามาม้า

ภาษาอังกฤษของมาม้านั้นสั้นและง่าย วันนั้นบนเก้าอี้เล็กๆ มาม้ามีสินค้ามาให้เลือกหลายอย่าง

ไม่ซื้อผ้าห่มมาม้าโชว์กำไลข้อมือ ไม่ซื้อกำไลข้อมือมาม้าโชว์สร้อยคอ ไม่ซื้อสร้อยคอมาม้าโชว์หมวก ไม่ซื้อหมวกมาม้าโชว์ปลอกหมอน ไม่ซื้อปลอกหมอนมาม้าไม่มีอะไรในกระเป๋าแล้ว ทว่ายังไม่อยากไปไหน หลังจากลังเลอยู่พักหนึ่ง มาม้าล้วงเข้าไปในชายเสื้อด้านหนึ่ง แล้วจึงคว้ากัญชากำใหญ่ออกมา

ไม่ซื้อกัญชา วันนั้นมาม้าเลยตัดสินใจเดินจากไปก่อนจะหันหน้ามายิ้มแล้วก็ค้อนให้เบาๆ

จะว่าการซื้อขายแบบนี้เป็นเสน่ห์ก็ไม่ถูก แต่จะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่เสน่ห์ก็ไม่ใช่ หากได้คุยกันมากขึ้นและไปให้พ้นจากเรื่องซื้อขายเสียบ้างจะพบว่า สิ่งน่าสนใจอีกอย่างของแม่ค้าเหล่านี้คือการที่พวกเขาเป็นมิตรและมีความภูมิใจในความเป็นเย้า (Dao) เป็นม้ง (Hmong) ของแต่ละคน

“มามี้” เป็นอีกคนหนึ่งที่ชายหนุ่มไม่เคยลืม

ตอนที่นั่งอยู่หน้าโบสถ์ใจกลางเมือง มามี้ตั้งใจเดินมาขายของ

แต่เมื่อเข้ามาใกล้ ชายหนุ่มกลับชิงออกปากชมฟันเลี่ยมทองสองซี่ของเธอเสียก่อน เท่านั้นมามี้ก็มีความสุขอยู่กับการเขินอายและลืมการซื้อขายไปสนิท ที่เหลือจากนั้นกลายเป็นการคุยกันเรื่องอะไรก็ไม่รู้

ถามว่า “บ้านอยู่ไหน” มามี้บอกว่าบ้านอยู่บนเขาไกลจากซาปาราว 3  ชั่วโมงโดยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ถามว่า “ฟันนี่ทำเองหรือ” มามี้ยิ้มอย่างมีความสุขแล้วบอกว่า ลงมาทำที่ซาปาและจ่ายไป 100,000 ดองสำหรับฟันทองสองซี่

“พูดภาษาอังกฤษเก่ง เรียนจากไหน” มามี้บอกว่าฝึกเอง พูดฝรั่งเศสได้ด้วย แต่อ่าน เขียนไม่ได้

“คนมาจากฮานอยรวยนะ” มามี้พยักหน้าแล้วบอกว่าคนเวียดนามทั้งจากฮานอยและไซ่ง่อนมากมายมาเที่ยวซาปากัน

“มามี้อยากแต่งตัวเหมือนเขาไหม” มามี้ส่ายหน้าแล้วบอกว่าไม่ จากนั้นก็ยิ้มแล้วชี้ไปที่กระโปรงตัวเอง

ถามว่า “ถ้ามีเงินมากๆ มามี้จะซื้ออะไร”

มามี้ตอบอย่างกับกำลังมีความสุขที่สุดในชีวิตว่า

“Mami don’t buy television or motorbike. Mami buy apple and banana and go back to the village. When my children see me they say ‘Mami come to Sapa, and they have something to eat’ . When they happy, I happy”

ได้พูดตรงนี้ วันนั้นมามี้แทบไม่คิดจะขายอะไรแล้ว

เธอยังเล่าเรื่องลูกๆ ของเธอให้ชายหนุ่มฟังอีกยกใหญ่ ก่อนจากเธอยื่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองทำจากแผ่นทองแดงและไม้ไผ่เล็กๆ ที่เธอมีไว้ขายให้ชายหนุ่มหนึ่งอัน ทั้งยังบอกให้ถ่ายรูปเธอไว้ ซ้ำกำชับว่าปีหน้าหากชายหนุ่มมาซาปาอีกให้เอารูปถ่ายมาด้วย แล้วให้ถือรูปไปถามหาเธอจากใครก็ได้ที่ตลาด

หากเจอกันอีก เธอรับปากว่าจะพาขึ้นไปเที่ยวที่หมู่บ้านบนเขา

 

*************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์เมื่อ กันยายน 2550)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า