น้ำใจสาวชัยภูมิ

เรื่อง/ภาพ : ’พงษ์ วงษ์แสวง

เคยฟังเพลงหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวสาวเมืองชัยภูมิด้วยน้ำเสียงชอกช้ำของประทีป ขจัดพาล

เนื้อเพลงบอกเล่าบทเรียนกลัดหนองฝังอกหนุ่มบ้านนา เหตุจากน้ำใจมากล้นเผื่อแผ่ไปยังชายหนุ่มมากหน้าหลายตาเกินงามของสาวชัยภูมิ

ดูจากลวดลายสาวเมืองพระยาแลนางนี้ เข้าขั้นคาสโนวีเลยทีเดียว นางเดินสายหักอกบรรดาหนุ่มๆ ตั้งแต่ขอนแก่น อุบล อุดร หนองคาย

ฟากอีสานใต้ก็โดนไม่ใช่น้อย เริ่มต้นจากโคราช สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ หลอกจนสุดเขตทั่วแคว้นแดนอีสาน

นี่ยังไม่ได้เอ่ยถึงหัวอกหนุ่มจัตุรัส หนองบัวแดง เกษตรสมบูรณ์

คนหนุ่มน่าหมายตาจึงควรระวังเนื้อระวังตัว และเมื่อมายืนอยู่ตำบลโพนทอง จังหวัดชัยภูมิ บทเพลงดังกล่าวเป็นคล้ายอนุสติสำหรับคนภูมิต้านทานไม่ค่อยดีอย่างผม

1.

วันแรก ผมเดินทางมาที่ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ได้อ่านข้อมูลกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลโพนทอง ไตรมาสแรกปี 2552 ระบุตัวเลขผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงรวม 193 ราย ผู้ป่วยบางรายมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต 12 ราย ขณะผู้พิการมี 30 ราย
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนทองมาดนักเลงใจดีอย่าง ศานิตย์ กล้าแท้ เล่าให้ฟังถึงสาเหตุความพิการ และแนวทางการช่วยเหลือผู้พิการในตำบลโพนทอง ว่าสัดส่วนผู้พิการโดยกำเนิดและอุบัติเหตุรวมกัน มีน้อยกว่าผู้พิการจากโรคภัย สาเหตุหลักมาจากอาหารการกิน

เมื่อปลายทางของผู้ป่วยคือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต นายก อบต.โพนทอง จึงมองย้อนไปยังต้นเหตุ ด้วยการรณรงค์ตั้งแต่การใช้ปุ๋ยชีวภาพในการผลิตพืชผล หรือโครงการรับซื้อน้ำมันพืชที่ผ่านการใช้เกิน 2 ครั้ง มาผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ช่วยเรื่องสุขภาวะในครัวเรือนอย่างอ้อมๆ

ขณะที่การให้ความช่วยเหลือแบบต่อท่อสายตรงจาก อบต.โพนทอง อยู่ในรูปกองทุนหลักประกันสุขภาพ อย่างการสนับสนุน ‘กลุ่มคนสู้ชีวิตตำบลโพนทอง’ ทำผลิตภัณฑ์จักสานจากเส้นพลาสติกรีไซเคิลวางขายท้องตลาด

มนูญ รักมณี ประธานกลุ่มคนสู้ชีวิต และเจ้าของร้านตัดผม ขาของพี่มนูญลีบฝ่อทั้งสองข้างตั้งแต่เด็ก ต้องใช้ไม้ค้ำยันพื้นช่วยพยุงเดิน

พี่มนูญเล่าให้ผมฟังว่ารายได้ส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายผลิตภัณฑ์จักสานของกลุ่มคนสู้ชีวิต จะถูกเก็บไว้เป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้พิการที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้

“เราเอาเส้นพลาสติกที่เขารัดกล่อง เห็นว่ามันมีประโยชน์ที่เราจะเอามารีไซเคิลกลับมาทำผลิตภัณฑ์ได้ แล้วขายสร้างรายได้แก่คนพิการ เรายังนำเงินมาช่วยเหลือคนพิการอีกต่อหนึ่งได้ เพราะบางคนก็ไปไหนมาไหนไม่ได้”

ระหว่างพูดคุยกับพี่มนูญ ผมเหลือบเห็นเส้นพลาสติกกองระเกะระกะพื้น จึงเกิดไอเดียเก๋ๆ จึงถามพี่แกออกไปแบบเท่ๆ

“พี่มนูญคิดว่า ชีวิตคนเราสามารถรีไซเคิลเหมือนพวกเส้นพลาสติกได้ไหมครับ”

“แน่นอนครับ ชีวิตรีไซเคิลได้ อย่างคนติดยา เขาไม่ได้พิการทางร่างกาย แต่พิการทางจิตใจ คนที่พิการทางจิตใจหนักกว่าร่างกายนะครับ แต่ไม่ว่าจะพิการทางจิตใจหรือร่างกาย ก็สามารถเอามารีไซเคิลได้ทั้งนั้น ใช่ไหมครับ” พี่มนูญตอบ

ใช่แน่นอน และเท่มากๆ นอกจากรายได้ที่ทางกลุ่มคนสู้ชีวิตได้จากการขายขายผลิตภัณฑ์จักสานของกลุ่มคนสู้ชีวิตจะนำมาหล่อเลี้ยงสมาชิกกลุ่ม รายได้ส่วนหนึ่งยังคงปันไปสู่ผู้พิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และหากใครได้มาเห็นพี่มนูญของผมใช้ไม้ค้ำยันเตะตะกร้อแล้วละก็ คงต้องนับถือ
ไม่ใช่ความสามารถทางร่างกาย หากแต่เป็นความแกร่งของจิตใจ

 

2.

วันที่สอง ผมยังคงระวังสายตาไม่ให้ไปคล้องจองสายตาสาวเมืองพระยาแล แต่ด้วยหน้าที่การงานทำให้ผมหนีไม่พ้นดวงตาพนักงานสาว อบต.โพนทอง
“น้องก้อย” สาวผมม้า หน้าตาเทรนด์ญี่ปุ่น พาผมลงพื้นที่ร่วมขบวนติดตามคนทำงานจิตอาสาดูแลผู้พิการอัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งพี่ๆ เหล่านี้ต้องลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต ตามบ้านสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ดูแลด้านร่างกายด้วยการทำกายภาพบำบัด ดูแลด้านจิตใจด้วยไมตรีของความเป็นเพื่อน

ระพีพรรณ พิมพ์ชัย เจ้าหน้าที่จิตอาสาดูแลผู้พิการอัมพฤกษ์-อัมพาต ตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนึ่งในผู้มีจิตใจดีแห่งตำบลโพนทอง ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ต้องผ่านการฝึกอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 160 ชั่วโมง

“ตอนแรกก็มีคนทำงาน 40 คน แต่เหลือที่ทำงาน 3-4 คน เป็นงานจิตอาสาค่ะ” เธอว่า

“รู้สึกดีใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ถึงช่วยเขาได้ไม่มาก แต่เราก็ภูมิใจ คิดว่าทำแล้วได้บุญกุศล เราก็ชอบด้านนี้” ระพีพรรณ คนจิตใจดีกล่าว

ในบ้านหลังน้อยของ บัญชา พงษ์สมบูรณ์ ผู้ป่วยโรคอัมพาต จากอุบัติเหตุเมื่อ 7 ปีก่อน ทำให้ผมรู้สึกสลดใจ เมื่อชายหนุ่มนอนอยู่บนเตียงนอน ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้
สิ่งแรกที่เขาเห็นก่อนหลับตาและหลังลืมตา คือหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์
เขาพูดถึงพี่ระพีพรรณ เมื่อใครคนหนึ่งในบ้านถามถึงความรู้สึกที่มีต่อเธอ
“โลกนี้ – ผมมีแม่ น้อง พ่อ ผมไม่เคยไปไหนเลย โลกผมมีอยู่แค่นี้ครับ แต่ช่วงหลังๆ มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมเรา มาทำกายภาพบำบัด แม้ว่าร่างกายจะไม่ดีขึ้น แต่จิตใจผมก็ดีขึ้น เขามาหาสัปดาห์ละ 2 หน เหมือนมีคนเพิ่มเข้ามาในโลกของผม ผมรู้สึกอย่างนั้นนะ”
ถ้าถามว่าเหตุใดสาวหน้าตาน่ารักอย่างน้องก้อย หรือสาวใหญ่จิตใจดีอย่างพี่ระพีพรรณ ไม่หันไปทำอย่างอื่นที่ทำรายได้มากกว่านี้ ไม่ต้องคลุกคลีอยู่กับภาพชวนหดหู่จิตใจ
คำตอบที่ได้จากพี่ระพีพรรณ คือ เธอไม่ได้ยึดเอาตัวเลขทางการเงินเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต หากแต่อาการผู้ป่วยที่ดีขึ้นผ่านสีหน้า-แววตา นั้นต่างหากที่ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจของเธอ คงคล้ายการได้กินอาหารดีๆ และได้ฟังเพลงเพราะๆ  – ทำนองนั้น
ผมไม่ได้ถามน้องก้อย สาวเมืองพระยาแล แต่นายก อบต. มาดนักเลงใจดี เล่าให้ฟังก่อนผมเดินทางกลับ ว่าน้องก้อยป่วยด้วยโรคที่หมอไม่สามารถระบุอาการได้ อาการของเธอคือการหลุดร่วงของขนบนร่างกาย ไม่มีทางรักษา
และผมหน้าม้ารับใบหน้า นายก อบต. บอกว่า เธอสวมวิก

นายก อบต. จึงรับเธอเข้าทำงานใน อบต. โดยให้ดูแลงานในส่วนที่ช่วยเหลือผู้พิการในตำบลโพนทอง

ไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกหรือไม่ ด้วยน้ำใจที่น้องก้อยได้รับ เธอจึงถ่ายทอดสู่ผู้อื่น ที่ลำบากมากกว่าเธอ แต่เวลา 2 วันที่นี่ ผมไม่ได้ยินเสียงเธอพูดเลย นอกจากแววตาที่มองผู้พิการอัมพฤกษ์-อัมพาต ที่เธอพาลงพื้นที่

หรือนี่เป็นวิธีสื่อสารของเธอ – สาวชัยภูมิ

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า