ปมกฎหมาย สิทธิและเสรีภาพใต้เงื้อมมือ คปค.

คอลัมน์ปมกฎหมาย : เจษฎ์ โทณะวณิก

Q: หลายคนสงสัยว่าภายใต้การบริหารประเทศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นั้น ประชาชนอย่างเราๆ ยังมีสิทธิและเสรีภาพอันจำเดิมมีอยู่หรือไม่

A:    ข้อสงสัยประการแรกของหลายๆ คน รวมทั้งของผมก็คือ จริงๆ แล้วก่อนที่เราจะมี คปค. นั้นเรามีสิทธิและเสรีภาพในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนหนึ่ง หรือกลุ่มประชาชนมากน้อยแค่ไหน แม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หรือฉบับอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านั้นได้บัญญัติรับรองไว้ เราได้มีโอกาสใช้มันจริงๆ หรือได้มีโอกาสสัมผัสถึง ‘ความมีอยู่’ ของมันหรือไม่ นั่นก็คงเป็น
สิ่งที่ต้องช่วยกันขบคิด และแก้ไข-ปรับปรุง-เปลี่ยนแปลง-เพิ่มเติม กันต่อไป

แต่ตอนนี้ เราลองดูปัญหาเฉพาะหน้ากันก่อน

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในแต่ละประเทศนั้นมีอยู่ตามทฤษฎีหลักๆ 2 ทฤษฎี ซึ่งผมก็จำชื่อทฤษฎีไม่ได้ เอาเป็นเนื้อหาก็แล้วกันว่า ทฤษฎีหนึ่ง เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นมีติดตัวมาแต่กำเนิด รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นใดเพียงแต่ออกมารับรองสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นเท่านั้นเอง ในทำนองนี้เราจะเห็นว่าหากจะมีกฎหมายใดที่ล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเรา แม้ตัวรัฐธรรมนูญเองก็ต้องสามารถอธิบายได้ว่าเป็นไปเพื่อความสงบสุขของผู้คน ส่วนรวม เช่น การที่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นโจร แล้วถูกจับไปขังคุกนั่นเอง

ส่วน อีกทฤษฎีหนึ่งมองกันแบบพวกสายบทบัญญัติ หากสิทธิและเสรีภาพใด  ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด ก็ถือว่าสิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ได้มีมอบไว้ให้แก่ประชาชน

ทฤษฎีทั้ง 2 นำมาปรับใช้ได้กับหลายๆ เรื่อง ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินการนำมาปรับใช้กับเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่เนืองๆ

ว่าไปแล้ว ทฤษฎีแรกก่อเกิดบนพื้นฐานของสำนักกฎหมายธรรมชาติ ส่วนทฤษฎีหลังอาศัยรากฐานแนวความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมือง หรือที่บางทีผู้คนก็เรียกกันว่า ‘นิติรัฐ’ นั่นเอง

ถ้ามองแบบ ทฤษฎีแรก เราก็จะเห็นว่า แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรของสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ นั้นถูกต้องที่สุด เพราะสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงธรรมนูญแห่งรัฐนั้นอยู่กับประชาชน หรือมองกันกว้างๆ เลยก็คือ มันเป็นสิ่งที่ได้รับมาจากธรรมชาติ ไม่ใช่มนุษย์คนใดคนหนึ่ง หรืออาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งมอบให้ เมื่อมองแบบนี้จะมี คปค. มาอีกกี่ชุด หรือจะยกเลิกรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ พวกเราก็ยังมีสิทธิและเสรีภาพทุกอย่างที่เราจะพึงมีพึงได้ และสามารถใช้มันได้เสมอ ตราบเท่าที่เราไม่ได้ใช้เพื่อล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

หาก มองตามทฤษฎีที่สอง เมื่อมีรัฐ-ธรรมนูญ และกฎหมายเราจึงมีสิทธิและเสรีภาพ หากไม่มีเราก็ไม่มีสิทธิและเสรีภาพ เพราะไม่มีอะไรมารับรองความมีอยู่ของสิทธิและเสรีภาพต่างๆ ที่เราจะพึงมีพึงได้ ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว ตามทฤษฎีนี้ก็เท่ากับว่าสิทธิและเสรีภาพของเราหายไปด้วยเหมือนกัน เมื่อมองผนวกกับทฤษฎีที่ว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร ปฏิรูป หรือยึดการปกครอง ผู้ที่กระทำการสำเร็จย่อมมีอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือ ดังนั้นอะไรที่คณะผู้ก่อการประกาศออกมาก็ล้วนเป็นกฎหมายใช้ได้เลย จะเป็นระดับรัฐ-ธรรมนูญ หรือระดับพระราชบัญญัติ ประกาศของคณะผู้ก่อการก็ขึ้นเทียบชั้นได้เลย

หลายคนอาจจะกำลัง รู้สึกสิ้นหวังมาก หากว่า คปค. คิดจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิทธิและเสรีภาพของเราก็ทำได้เลยหรือ โดยเฉพาะพี่น้องสื่อมวลชนอาจจะกำลังรู้สึกว่า ไม่ยอมรับนับถือวิถีทางเช่นว่านี้เลย

แต่ถ้าเราจำกันได้ มีประกาศ คปค. ฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นฉบับแรกๆ เลยที่ให้การรับรองว่าประเทศไทย และ คปค. จะปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ และบรรดา
ข้อตกลงระหว่างประเทศ ต่างๆ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็อยู่ในบรรดาข้อตกลง ระหว่างประเทศเหล่านี้หลายฉบับอยู่เหมือนกัน อันที่ผู้คนกล่าวถึงอยู่เป็นประจำก็คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีเนื้อหาหลายๆ อย่างที่เคยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และฉบับอื่นๆ ด้วย

เมื่อ คปค. ให้การรับรอง และออกประกาศมาเช่นนี้ แม้มองในรูปแบบของทฤษฎีที่สอง ก็เท่ากับว่าเรามีกฎหมายที่ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชระนาบเดียว กับที่นานาอารยประเทศเขาใช้กันอยู่ ดังนั้นเราจึงยังมีอิสรภาพทางความคิด ที่จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดๆ ในบ้านในเมืองของเรา เราจะถูกจับกุม คุมขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพลการ หรือโดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมไม่ได้ เราจะถูกสอดแทรกในการสื่อสาร การติดต่อถึงกันโดยพลการไม่ได้

พูด ง่ายๆ สิ่งเหล่านี้ต้องผ่านขั้นตอน ซึ่งบางทีอาจจะต้องเป็นองค์กรด้านตุลาการ หรือศาลเป็นผู้อนุญาตให้ทำได้ เรายังสามารถรับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็นโดยวิถีอันเหมาะสมได้อยู่ 

อย่ากังวลมาก เพราะพวกเราประชาชนเป็นพื้นฐาน และเจ้าของอำนาจทุกรูปแบบ อย่างไรเสีย คำตอบสุดท้ายก็ยังอยู่ที่เราอยู่ดี

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า