ประวัติศาสตร์นิพนธ์ในประวัติศาสตร์นิธิ

 

niti copy

 เรื่อง/ภาพ: ชมพูนิกข์ ณ นคร

ด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่าเด็กไทยมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์จำกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงมีนโยบายปรับเพิ่มชั่วโมงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง คำถามที่ตามมาก็คือ จริงหรือที่เด็กไทยหรือคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ไม่เพียงพอ คำถามที่อุกอาจกว่านั้นก็คือ หรือความจริงแล้วความรู้นั้นไม่ตรงตามโจทย์ของ คสช.

WAY เรียบเรียงบางประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่มีการเสวนากันภายในงาน ‘นิธิ 20 ปีให้หลัง’ ประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ได้แก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เกษียร เตชะพีระ และประจักษ์ ก้องกีรติ

 

ประวัติศาสตร์คือความไม่สิ้นสุด

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ชวนมองไปยังประวัติศาสตร์นิพนธ์ในสังคมไทยว่ายังไม่สามารถสร้างบทสนทนาระหว่างอดีตกับปัจจุบันอย่างต่อเนื่องได้ เขาได้อ้างถึงความหมายประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์อย่าง E.H.Carr ว่า

“ประวัติศาสตร์คือขบวนการอันต่อเนื่องของกริยาตอบโต้ระหว่างนักประวัติศาสตร์กับข้อเท็จจริง เป็นบทสนทนาที่ไม่รู้จบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน”

ขณะที่ความหมายของคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทย พ.ศ. 2542 คือ “วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเรื่องราวของประเทศชาติเป็นต้นตามที่บันทึกไว้เป็นหลัก” ธเนศชวนมองถึงความแตกต่างของเป้าหมายการศึกษาประวัติศาสตร์ บริบทในสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างพอในการแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งสังคมไทยยังมีความเชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้’

“บริบทของการสร้างและเขียนประวัติศาสตร์ตะวันตกกลายเป็นศาสตร์ที่กระจายไปทั่วโลก แต่ว่าการสนทนาอย่างไม่สิ้นสุดที่ E.H.Carr พูดไว้นั้น ในประเทศโลกที่สามส่วนใหญ่มันเกิดยากมาก แม้จะฟังดูดีแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะบริบทของสังคมตะวันตกเมื่อเขาเข้าสู่ความเป็นยุคสมัยใหม่ เศรษฐกิจทุนนิยม ระบบการเมืองเสรีประชาธิปไตย รวมถึงระบบวัฒนธรรมแบบที่หลากหลาย ทำให้เกิดการสนทนาที่ไม่สิ้นสุดโดยตัวมันเอง แต่ประเทศไทยแค่จะสนทนาก็ยังทำไม่ค่อยได้” ธเนศกล่าว

 

ค้นหาประวัติศาสตร์นิพนธ์

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าการสอนประวัติศาสตร์ในเมืองไทยเป็นเพียง ‘ข้อเท็จจริง’ ที่มากับจารีตการเขียนพงศาวดาร เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ไทยที่เรียนจากพงศาวดารจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีชีวิต ไม่ได้เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาจากบริบทและความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง การเรียนประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นเรื่องของท่องจำตัวเลข วันที่ เวลา เหตุการณ์ ดังนั้นประวัติศาสตร์ไทยจึงต้องเรียนด้วยการจำ แต่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้

ซึ่งธเนศมองว่า “อันนี้ไม่ใช่ความผิดของครูหรืออาจารย์ที่สอน เพราะการให้เขาสอนพงศาวดารก็ไม่รู้จะสอนยังไง ก็ต้องสอน วัน เวลา ชื่อ และเหตุการณ์ ก็ได้ข้อเท็จจริงว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร เพื่ออะไร ซึ่งมันไม่สนุก เพราะว่าอ่านกี่ครั้งก็เหมือนเดิมทุกครั้ง ป.4 ถึงปี 4 ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ นอกจากชื่อเรื่องยาวขึ้นเท่านั้น”

การศึกษาประวัติศาสตร์ในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์ฉบับทางการ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศและโครงสร้างต่างๆ นั้น ต่างไม่เอื้อให้เรารับรู้ประวัติศาสตร์ในมุมอื่นๆ

“เราศึกษาประวัติศาสตร์ที่พูดไม่ได้ หรือถ้าหากพูดได้ก็ต้องพูดแบบเซ็นเซอร์ตัวเอง คือพูดเพียงครึ่งหนึ่งแล้วผู้อ่านไปทำความเข้าใจเองอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด ไม่เกิดการสานต่อและสร้างการงอกเงยขึ้นของความรู้ วิธีการ เนื้อหาต่างๆ ขึ้นมาได้ บางครั้งมีนักประวัติศาสตร์หลายคนพยายามตอบโต้ แต่ยังไม่สามารถสร้างแรงกระเทือนให้มากพอที่จะไปเบียดขับทฤษฎีหรือการศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักได้” ธเนศกล่าว

ความยากลำบากของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ คือต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography) ขึ้นมาให้ได้ ธเนศมองว่านี่คือภารกิจที่เรียกร้องนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่

เขามองว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นหนึ่งในนักประวัติศาสตร์ไทยที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์นิพนธ์

 

10840051_738999619502403_1562850034_oจากซ้าย: เกษียร เตชะพีระ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ประจักษ์ ก้องกีรติ และนิธิ เอียวศรีวงศ์

 

นาฬิกาของนิธิ เอียวศรีวงศ์

“ผมเป็นนักเล่นนาฬิกานะครับ” นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าว “สะสมนาฬิกาไว้หลายประเทศ ทั้งนาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนข้างฝา ส่วนใหญ่ก็เป็นนาฬิกาเก่าที่ยอมเสียเงินไปซ่อม แต่ซื้อมาในราคาค่อนข้างถูก นาฬิกามันมีข้อดีอย่างเดียว คือคุณสามารถหมุนเข็มมันกลับไปสู่อดีตเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องการ ยิ่งนาฬิกาที่มีวันที่ด้วย แม้แต่วันที่ก็จะย้อนกลับให้เรา แต่ข้อเสียของนาฬิกาก็มีอยู่อย่างหนึ่ง เมื่อเราหมุนกลับไปแค่ไหนก็ตามแต่ มันก็จะเดินก้าวหน้าไปอีกไม่ยอมหยุด เดินไปจนถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้สักวันหนึ่ง

“นาฬิกามันสอนใจเรา แม้หมุนกลับเวลาไปนาน หรือไกลแค่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเมื่อคุณพอใจกับเวลาที่ตั้งใหม่ซึ่งเป็นอดีต อย่าลืมว่านาฬิกามันไม่หยุด มันเสือกเดินก้าวหน้ามาถึงยังจุดที่คุณไม่อย่างจะเจอมันอีกตลอดไป ฉะนั้นในฐานะคนเล่นนาฬิกาผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่างที่หลายคนในประเทศไทยยังท่องตำราหลวงวิจิตรวาทการไม่เข้าใจ คุณอาจถอยวัฒนธรรมกลับไปได้ ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว เวลาก็ยังเดินต่อไปอีก จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึงได้เสมอไป”

ถ้าเปรียบนาฬิกาดั่งประวัติศาสตร์ การพยายามหมุนเข็มนาฬิกาก็คงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอยู่พอสมควร เพราะทุกครั้งที่เราหมุนเข็มนาฬิกา ความเสี่ยงที่เข็มนาฬิกาจะหักคามือดูเป็นสถานการณ์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาจไม่ใช่เพราะว่าเราหมุนเข็มของนาฬิกาบ่อยเกินไป แต่ด้วยกลไกของนาฬิกาที่ไม่เอื้อให้เราหมุนมันได้อย่างใจนึก นักเล่นนาฬิกามือฉมังอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ เข้าใจข้อจำกัดนี้ดี

 

10881436_738999609502404_2027386390_n

 

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ในประวัติศาสตร์นิธิ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานของอาจารย์นิธิยังสนทนากับเรื่องราวเหตุการณ์ในปัจจุบันหรือนัยยะความหมายที่เกิดขึ้น สิ่งที่เรียกว่าการสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์โดยใช้วิธีวิทยา (methodology) ของประวัติศาสตร์ต่างๆ ทำให้ได้รายละเอียดต่างๆ ที่ตามมาด้วย ในมุมมองของธเนศ นิธิ เอียวศรีวงศ์ให้ความสำคัญกับการทำประวัติศาสตร์นิพนธ์ เพื่อใช้อธิบายความเข้าใจประวัติศาสตร์ว่ามีที่มาอย่างไรตลอดถึงโครงสร้าง แม้กระทั่งโครงสร้างที่รองรับการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงระบบเศรษฐกิจ

สิ่งที่ผู้ร่วมเสวนาเห็นพ้องก็คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์อธิบายบริบทของประวัติศาสตร์แบบใหม่ โดยนำข้อมูลต่างๆ เข้าไปใกล้กับ “ความเป็นจริง” มากที่สุด เพราะประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องจริง! การให้ความสำคัญกับบริบทที่แวดล้อมเหตุการณ์หนึ่งสามารถตอบโต้ความเชื่อเดิมในประวัติศาสตร์แบบทางการ ว่าการเปลี่ยนแปลงคืออะไรและเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อมีความจริงอยู่ชุดหนึ่ง ดังนั้นการท้าทายความจริงชุดนั้น ซึ่งรองรับด้วยฐานโครงสร้างอำนาจรัฐ จึงต้องสร้างบริบทอันใหม่ขึ้นมา

เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่างานของอาจารย์นิธิคือไวยากรณ์การคิดทางวัฒนธรรม ไวยากรณ์ทางความคิดทางวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังของสังคมไทยที่เปลี่ยนไป บทบาทของอาจารย์นิธิเป็นทั้งอาลักษณ์และเป็นทั้งล่าม เป็นอาลักษณ์ในความหมายที่ว่าเป็นคนที่จดบันทึกวัฒนธรรมไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ จดว่าเกิดการเปลี่ยนผ่านอะไร อย่างไรบ้าง และก็เป็นล่ามที่แปลความหมายให้คนไทยได้คุยกับคนไทยด้วยกัน

“ผมคิดว่าเวลาเราอ่านงานของอาจารย์นิธิมันช่วยให้เราเข้าใจตัวเราเองยิ่งขึ้น ว่าที่เราคิดแบบนี้มันมาจากอะไร หรือทำไมเราไม่คิดไปแบบนั้น อะไรคือเพดานที่กักหรือล็อคความคิดเราไว้ อันนี้เป็นประโยชน์สำคัญที่ได้จากงานที่อาจารย์นิธิ”

งานเขียนที่มีลักษณะสัมพัทธ์ที่มันไม่สมบูรณ์ ไม่แน่นอนตายตัว เปลี่ยนไปเรี่อยๆ ของทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ช่วยให้เกิดการต่อยอดทางความคิด

“ถ้าเราพูดในเนื้อหาที่ทันสมัย อาจารย์นิธิเป็นปัญญาชนผู้ปรับทัศนคติของสังคมวัฒนธรรมไทยไปอย่างใหญ่หลวงที่สุด ที่ คสช. พยายามปรับทัศนคติ ถ้าจะหาคนที่ปรับทัศนคติสังคมไทยอย่างใหญ่หลวงที่สุดในรอบ 20 ปี…นั่งอยู่ตรงนี้” เกษียรกล่าว และชี้ไปยังนิธิ เอียวศรีวงศ์

ข้อสังเกตจากผู้ร่วมเสวนามีอยู่ว่าหนังสือประวัติศาสตร์ไทยของหลวงวิจิตรวาทการถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการจัดพิมพ์มากที่สุด ซึ่งสะท้อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของสังคมไทยได้อย่างดี ว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ฉบับทางการและเชื่ออย่างลุ่มหลงว่าประวัติศาสตร์คือเรื่องจริงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งที่ประวัติศาสตร์เองก็ถูกเขียนขึ้นมาเช่นกัน

ในขณะที่สังคมไทยหมกมุ่นกับการท่องจำเหตุการณ์ วันที่ ตัวเลข ทำให้หลงลืมวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ขาดการตั้งคำถามหรือข้อสงสัย รัฐก็พยายามที่จะบรรจุเพิ่มชั่วโมงการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กไทยท่องจำมากขึ้น.. มากขึ้น แต่สังคมไทยกลับมีความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อย่างตื้นเขิน และไม่สามารถอธิบายถึง บริบท วัฒนธรรมหรือแม้กระทั่งวิจารณ์สิ่งที่อยู่รายรอบประวัติศาสตร์ของประเทศชาติได้อย่างถ่องแท้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า “การมองประวัติศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้เป็นการมองของนักปราชญ์ ต้องมองให้เห็นการเอื้อต่อผลประโยชน์และอำนาจของคนบางกลุ่มบางอย่างด้วย และก็อยากจะรักษาให้การมองเหล่านี้ดำรงอยู่ต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นหนังสือประวัติศาสตร์แบบหลวงวิจิตรวาทการที่เน้นเรื่องเกี่ยวกับทุกคนต้องเสียสละเพื่อชาติของตนเอง โดยอยู่ภายใต้การกำกับของคนเก่งคนฉลาดบางคนบางกลุ่ม ไม่ใช่รักชาติเฉยๆ รักชาติภายใต้การกำกับของคนบางกลุ่ม วิธีคิดแบบนี้ต้องมีความหมาย ถ้าไม่มีความหมาย จะพิมพ์ถึง 20 – 30 ครั้งแบบนั้นไม่ได้

“ในแต่ละรูปแบบของวัฒนธรรมมันมีผลประโยชน์ปลูกฝังของคนบางกลุ่ม บางอย่างในวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วย หมายความว่าการมองชีวิตหมุนวนเป็นวงกลมเหมือนแบบในรามเกียรติ์เมื่อ 20 ปีมาแล้ว ไม่ใช่ความคิดตกค้างมาจากรามเกียรติ์เฉยๆ มันมีผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม มีโลกทัศน์ของคนบางกลุ่ม มีอำนาจของคนบางกลุ่ม ที่อยากให้ทุกๆคนมองเวลาเป็นวงกลมแบบนั้น เพราะในวัฒนธรรมต่างๆนี้ มันมีส่วนที่เอื้อต่อโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างผลประโยชน์และอื่นๆด้วย” นิธิกล่าว

 

 

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า