มหากาพย์น้ำมันอันตราย

gutter oil2

 

คลิปวิดีโอ “น้ำมันจากท่อน้ำทิ้ง (Gutter oil)” ในมณฑลเสิ่นเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน  ที่ถูกสังคมออนไลน์แชร์จนรับรู้กันกว้างขวาง นอกจากจะทำให้เราได้เห็นเบื้องหลังจานอร่อย(อันน่าสะพรึงกลัว)ในภัตตาคารและโรงแรมแล้ว น้ำมันที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้และความไม่รับผิดชอบของบรรดาผู้ผลิตและผู้ประกอบการเป็นอย่างดี

ซึ่งการนำน้ำมันจากท่อน้ำทิ้งมารีไซเคิลเป็นน้ำมันใหม่พร้อมใช้นั้น ทำกันมานานเกินกว่า 10 ปีแล้วในแดนมังกร ทั้งๆ ที่รัฐบาลเองก็พยายามต่อสู่กับผู้ผลิตมาเป็นระยะเวลานาน แต่ปัญหาก็ยังยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

สื่ออย่าง Chinadaily  ให้คำจำกัดความ  Gutter oil  ว่า คือน้ำมันที่ได้มาจาก 3 วิธีการที่ผิดกฏหมาย คือ 1.ตักจากน้ำมันที่ลอยบนน้ำเสียซึ่งลำเลียงมาจากครัวเรือน  2. น้ำมันจากก้นครัวใช้ซ้ำไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง และ 3.น้ำมันที่สกัดจากไขมันสัตว์

อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้มีการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเป็นความหมายแรกความหมายเดียว  พร้อมกับข้อมูลที่ว่า น้ำมันชนิดนี้ใช้ปรุงอาหาร 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันที่ใช้ทั้งประเทศ

สื่อ Shanghaiist อธิบายต่อว่า หลังเก็บน้ำมันจากในท่อและนำไปเข้าโรงงาน เพื่อเอาน้ำมันส่วนนี้ไปผสมแล้วเคี่ยวด้วยความร้อนร่วมกับชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์ที่เน่าเปื่อย จากนั้นส่งไปขายยังภัตตาคารและโรงแรมซึ่งเป็นลูกค้าหลัก พร้อมนำไปใช้ปรุงอาหารต่อ

 

gutter oil

แล้วน้ำมันชนิดนี้ ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร   Shanghaiist  อธิบายว่า น้ำมันชนิดนี้สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานทางเลือกให้แก่รถบัสได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ถูกยกขึ้นเป็นวาระสำคัญในปี 2011 ของรัฐบาลจีน  เมื่อมีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหานี้ ผลก็คือ สังคมเริ่มตื่นตัว และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็อ้างว่า อุตสาหกรรมน้ำมันดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป หลายกรณีก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เดือนที่แล้ว CCTV รายงานการจับกุม ผู้ต้องหา 16 รายที่เป็นผู้จัดหา ผลิต และจัดจำหน่าย น้ำมันชนิดนี้สู่ตลาดมืด รวมมูลค่ากว่า 60 ล้าน หยวน หรือ  307 ล้านบาท

“จำเลยทั้ง 16 ถูกตั้งข้อหา หาผลประโยชน์และกำไรจากการผลิตน้ำมันสกปรกดังกล่าว และ จำหน่ายน้ำมันปลอม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไร้คุณภาพ เช่นเดียวกับผู้ผลิต ที่ขายอาหารที่มีพิษและเสี่ยงอันตราย” รายงานจาก CCTV

 

 

cooking oils

ปลอมปนที่ย่างกุ้ง

น้ำมันถั่วลิสงได้รับความนิยมจากครัวเรือนชาวพม่ามาเป็นระยะเวลานาน ด้วยความที่เป็นน้ำมันพืชรสชาติอ่อนๆ  บรรดาผู้ผลิต ต่างพยายามเจาะตลาดและหาช่องทางที่จะขายได้หลากหลายและในต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า โดยการลดปริมาณถั่วลิสงให้เหลือนิดเดียว

วิธีการมีหลากหลาย เช่น ปลอมปนส่วนผสมอื่นๆ เข้าไป หรือลดมาตรฐานการผลิต  Ba Oak Khaing  ประธานองค์การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศพม่า ตัวตั้งตัวตีการตรวจสอบน้ำมัน  เปิดเผยว่า พบน้ำมันปลอมปนและด้อยคุณภาพ 3 ชนิดที่ขายในพม่า

ชนิดแรกคือ นำน้ำมันปาล์มมาผสมกับน้ำมันถั่วลิสง เพื่อทำต้นทุนให้ได้ราคาถูกกว่า  ชนิดที่สอง  คือ ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันถั่วลิสงเลย แต่แทนที่ด้วยน้ำมันปาล์มที่ผสมกับสารเคมีที่ผสมกันออกมาได้สี กลิ่นและความหนืดเช่นเดียวกับน้ำมันถั่วลิสง โดยใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันปาล์มแข็งตัว

ทั้งนี้โซเดียมไฮดรอกไซด์ที่สารเคมีตั้งต้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ สิ่งทอ น้ำดื่ม สบู่ และ ผงซักฟอก  โซเดียมไฮดรอกไซด์ชนิดที่ใช้กับอาหาร สามารถใช้สำหรับล้างทำความสะอาดผักหรือผลไม้ได้ด้วย

และชนิดที่ 3 คือ การใช้น้ำมันถั่วลิสงปลอม ผสมกับน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว และโซเดียมไฮดรอกไซด์

“การผสมน้ำมันถั่วเหลืองกับน้ำมันปาล์ม คือการปลอมปนน้ำมันถั่วเหลือง และถ้าผู้ผลิตไม่ได้ให้ข้อมูลนี้ลงไปในฉลากข้างขวด ก็เท่ากับละเมิดสิทธิผู้บริโภค” Ba Oak Khaing กล่าว

 

04

เขายังเตือนถึงผลกระทบต่อสุขภาพอีกว่า “ถ้าผู้บริโภครับประทานน้ำมันชนิดที่ผลิตจากน้ำมันใช้แล้วเข้าไป อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งและเชื้อโรคอื่นๆ” ขณะนี้ตัวอย่างของน้ำมัน 15 ยี่ห้อในมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง ได้ถูกส่งเข้าตรวจในห้องแล็บเพื่อตรวจหาการปลอมปนเรียบร้อยแล้ว รอเพียงผลซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

น้ำมันถั่วเหลืองปริมาณ 1 วิสส์ (หน่วยของพม่า เท่ากับ 1.65 กิโลกรัม)  ต้องใข้ถั่วลิสงประมาณ 2.5 วิสส์ ในการกลั่นเป็นน้ำมัน  และ ถั่วลิสง 1 วิสส์ มีราคาราว 1,500 จ๊าด (หน่วยเงินตราของพม่า) หรือประมาณ 1.50 ดอลลาร์สหรัฐ  (46 บาท) ดังนั้น ราคาขั้นต่ำของน้ำมันถั่วลิสงแท้ 1 วิสส์ ควรจะอยู่ที่ 3,800 จ๊าด หรือประมาณ 146 บาท

“น้ำมันถั่วลิสง 1 วิสส์ ถ้าราคาต่ำกว่า 3,800 จ๊าด ไม่มีทางจะเป็นน้ำมันถั่วลิสง 100 เปอร์เซ็นต์ได้แน่นอน  และ น้ำมันถั่วลิสงปลอมเกือบทั้งหมดขายอยู่ที่ วิสส์ละ 1,500 จ๊าดหรือ 57 บาท  จึงอยากเตือนผู้บริโภคอย่าไปเชื่อว่าเป็นน้ำมันถั่วลิสง 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่ควรซื้อน้ำมันราคาถูก ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพ”   Ba Oak Khaing  เตือน

 

ทอดซ้ำ 1

 

ทอดซ้ำที่ประเทศไทย

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตัวตั้งตัวตีเรื่อง “น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ” ในประเทศไทย  ให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำมันทอดซ้ำในปัจจุบันว่า

แต่ละปี คนไทยบริโภคน้ำมัน 1.2 แสนตันต่อปี มีน้ำมันเหลือจากการบริโภคราว 250-300 ล้านต่อปี  และน้ำมันเหลือนี้ที่เป็นต้นทางของน้ำมันทอดซ้ำ

“ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลักๆ 2 โรคคือ ความดันโลหิตสูง ซึ่งคนไทยเป็นกันกว่า 10 ล้านคนจากประชากร 67 ล้านคน และโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ ที่นับวันผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ”

น้ำมันเมื่อเจอกับความร้อนจะเสื่อมสภาพ ก่อให้เกิดสาร 2 ตัวคือ สารโพลาร์  สาเหตุโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสหภาพยุโรปกำหนดค่ามาตรฐานไว้ไม่เกินร้อยละ 25  หรือ น้ำมัน 100 กรัมต้องมีสารโพลาร์ไม่เกิน 25 กรัม และ สารพาร์  ที่เป็นสารก่อมะเร็ง

วิธีสังเกต น้ำมันทอดซ้ำ ที่เสื่อมสภาพแบบง่ายๆ คือ  1.มีควันสีฟ้า แสดงว่าเสื่อมมาก 2.ปริมาณฟองมาก 3.สีคล้ำจนถึงดำ  4.มีความหนืดสูง

“ผู้ประกอบการบางรายเอาน้ำมันเสื่อมสภาพ มาทาก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ เพื่อไม่ให้ติดกัน ยิ่งหนืดยิ่งดี” ภก.วรวิทย์ เตือน อีกว่า กระบวนการรีไซเคิลน้ำมันทอดซ้ำให้เหมือนใหม่ นับวันยิ่งก้าวหน้ามากขึ้น  เดิมทีเอาไปเคี่ยวกับความร้อน ฟอกสีให้ใส แล้วใส่ถุงนำกลับไปขายใหม่

แต่ล่าสุด มีการขายเครื่องรีไซเคิลน้ำมันทอดซ้ำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  เดิมทีเครื่องดังกล่าวมีขายในประเทศจีนผ่านเว็บไซต์ภาษาจีน แต่ปัจจุบันมีเว็บไซต์ภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเครื่องดังกล่าวนอกจากจะฟอกสีน้ำมันเก่าให้สวยใสแล้ว ยังรับหน้าที่แพคเกจจิ้งห่อถุงให้สวยและมิดชิด ดูเหมือนใหม่ไม่เคยทอดซ้ำ

“ที่สำคัญมีการไปเปิดบูธโชว์สินค้าในงานแสดงที่ไบเทค บางนาด้วย”

ด้านพฤติกรรมและความรับรู้ของผู้บริโภค ภก.วรวิทย์ เผยว่า ความรับรู้และตระหนักถึงอันตรายถือว่าดีขึ้น แต่พฤติกรรมยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ใช้น้ำมันในการผลิตมาก เพราะถ้าเปลี่ยนการใช้น้ำมันเท่ากับเพิ่มต้นทุนการผลิต แต่ผู้ประกอบการระดับกลาง ถือว่าเปลี่ยนแปลง ลด ละ เลิกในระดับที่น่าพอใจ ส่วนผู้ประกอบการระดับล่าง…

“คงต้องช่วยอีกเยอะทีเดียว เราเองก็ไม่อยากไปเพิ่มต้นทุนการผลิตให้เขา”

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า แต่ละปีคนไทยบริโภคน้ำมัน 1.2 แสนตันต่อปี และ มีน้ำมันเหลือจากการบริโภคราว 250-300 ล้านต่อปี ในส่วนนี้เอาไปทำไบโอดีเซลเพียง 30 ล้านตันต่อปี ภภ.วรวิทตั้งคำถามชวนคิดว่า

“แล้วน้ำมันที่เหลืออีกอย่างน้อยๆ  220 กว่าล้านตันมันหายไปไหน ซึ่งไม่ได้ทิ้งแน่ๆ”

 

***********************************

ที่มา : theworldofchinese.com , Irrawaddy.org

 

สนับสนุนโดย

 

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า