มีรอยเท้าอยู่เต็มฟ้า

แอนนี่ เลนนาร์ด นักสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน ใช้เวลา 10 ปี เดินทางรอบโลก เพื่อกลับมานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ภายในสตูดิโอผลิตหนังแอนิเมชั่นเรื่อง The Story of Stuff เล่าเรื่องความฉ้อฉลของลัทธิบริโภคนิยม ตั้งแต่ขั้นตอนการสกัดแร่ธาตุจากธรรมชาติ – สู่ขั้นตอนการผลิตเป็นสินค้า – กระทั่งนำมาจำหน่ายให้มนุษย์บริโภค – ท้ายสุดคือขั้นตอนการกำจัด

ระหว่างทางของแต่ละขั้นตอน เต็มไปด้วยการเอาเปรียบแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา เผาพลาญทรัพยากรด้วยการซื้อเร็ว – ทิ้งไว

เย็นดีนั่งดู The Story of Stuff พลางวัดระดับความเศร้าของหนังเรื่องนี้กับหนังเรื่อง ‘ก้านกล้วย’ที่เพิ่งดู เย็นดีตอบตัวเองว่า หนังสองเรื่องเศร้าคนละแบบ ก้านกล้วยเศร้าเพราะเธอไม่ได้ดูกับพ่อ แม้เย็นดีไม่ได้ดู The Story of Stuff กับพ่อ แต่ก็เศร้าเพราะ เลนนาร์ด บอกว่า คนอเมริกันมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในโลก แต่พวกเขาก็ใช้ทรัพยากรถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของโลก และปล่อยของเสียให้โลกอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทุกคนบนโลกบริโภคทรัพยากรในอัตราเดียวกับอเมริกันชน เราต้องการโลกอีก 3 ถึง 5 ใบ เพื่อรองรับความกระหาย

ป๊าด! –เย็นดีร้องขึ้นพร้อมกับพี่เลี้ยงชาวอุบลราชธานีที่นั่งดูอยู่ข้างๆ

บ้านหลังใหญ่ของเย็นดีมีรถยนต์ 8 คัน แต่พ่อของเธอใช้เพียงคันเดียว คือ เลกซัสสีดำ เย็นดีนึกโมโห ที่พ่อมักซื้อของมามากมาย แต่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ แถมยังชอบกระตุ้นให้คนในบ้านจับจ่ายใช้สอยอยู่ประจำจนเกินจำเป็น

เย็นดีคิดว่า นิสัยพ่อเหมือนอดีตประธานาธิบดีแห่งทำเนียบขาว ที่หนังบอกว่า หลังเหตุการณ์ 9/11 แทนที่อดีตประธานาธิบดีบุชจะปลุกปลอบให้คนอเมริกันคลายเศร้า สวดมนต์ หรือมีความหวังในชีวิต บุชบอกให้คนอเมริกันออกไปช็อปปิ้ง

เทรนด์การค้าโลกเริ่มส่งเสียงว่า พวกเขาควรนิยมการผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สลากรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ไม่ว่าจะอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ฯลฯ ต่างให้ความสำคัญและเริ่มใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์บนผลิตภัณฑ์มากขึ้น และมันอาจถูกนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างอ้อมๆ หากว่าสินค้าในประเทศอื่นยังไม่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์กำกับ

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ สลากบอกปริมาณก๊าซเรือนกระจกแต่ละหน่วยที่ปล่อยออกมาจากวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้น ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ในตู้เย็น –เย็นดีตื่นเต้นเมื่อหยิบกระป๋องเบียร์ยี่ห้อ Black Label Beer ที่พ่อซื้อมาเมื่อครั้งที่ยังทำงาน ณ เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เพราะเบียร์กระป๋องนี้แสดงตัวว่าอยากผูกมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะพิมพ์ปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์อันเป็นมิตรกับผู้ดื่ม ข้างกระป๋องยังพิมพ์สลาก Carbon Footprint บอกปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย อลูมิเนียมที่ใช้ในการผลิตกระป๋องก็มีปริมาณลดลง เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขบวนการผลิตลงได้อีก 2 กรัม จากเดิม 161 กรัม –เย็นดีคิดว่า นี่คือความรู้สึกรู้สาที่มนุษย์ผู้ผลิตสินค้าพึงกระทำ

ในประเทศไทย –มีองค์กรทางธุรกิจเริ่มทยอยเข้าร่วมโครงการและได้รับอนุมัติไปบ้างแล้ว ซึ่งทำให้ในอนาคตอันใกล้ สินค้าจากประเทศไทยเหล่านี้จะมีสลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์กำกับเป็นประเทศแรกในอาเซียน เย็นดีตื่นเต้นอยากเห็นสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านมีสลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เธออยากรู้ว่า สินค้าตัวไหนคือจอมวายร้ายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ฟ้ามากกว่ากัน

แต่พูดอย่างนี้ก็เข้าตำรา รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง เย็นดียังเชื่อว่า มนุษย์เป็นหัวโจกในการทำให้ก๊าซเรือนกระจกลอยเกลื่อนฟ้า เธออยากรู้ว่า หากตัวเธอเป็นผลิตภัณฑ์ ข้างสะโพกเธอจะถูกแปะสลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไว้ที่เท่าไหร่

แต่เย็นดีนึกสนุก อยากรู้ว่าตัวเลขข้างสะโพกพ่อมากกว่า เพราะพ่อของเธอใช้เวลาส่วนมากบนเครื่องบิน เธอคลิกเข้าไปใน ‘คลินิกโลกร้อน’

พบว่า…

ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของคนไทย :3.1 ตัน/คน/ปี

ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของคนกรุงเทพฯ : 7.3 ตัน/คน/ปี

ค่าเฉลี่ยของคนบนโลก : 4.0 ตัน/คน/ปี

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของพ่อเย็นดีในการเดินทางไป-กลับ กรุงเทพฯ –ฮ่องกง 1 ครั้ง เท่ากับ 1.67342461156ตัน

แต่พ่อของเธอยังไม่กลับบ้าน เย็นดีวิงวอนชั้นบรรยากาศบนท้องฟ้า ขอให้พ่อปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโควตาส่วนขากลับ อีกครึ่งของ 1.67342461156ตัน เพื่อกลับบ้านมาหาเธอ

YenDee’s Guide

  • Carbon Footprint เผยออกมาจากจิตใจสำนึกผิดครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนมีนาคม 2550 เริ่มมีการติดสลาก Carbon Footprint บนภาชนะบรรจุสินค้า วางขายในห้าง Tesco ทั่วสหราชอาณาจักร และการติดป้ายบอกจำนวนคาร์บอนก็ได้แพร่หลายไปทั่วยุโรปประเทศในเอเชีย
  • การวัดค่า carbon footprint มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงเป็นการวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดย ตรง เช่น การเผาผลาญเชื้อเพลิง รวมถึงการใช้พลังงานในครัวเรือนและยานพาหนะ
  • ทางอ้อมเป็นการวัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากผลผลิต หรือ ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ โดยคำนวณรวมทั้งกระบวนการผลิต เช่น การเพาะปลูก การแปรรูป การใช้ถุงพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากโฟม รวมไปถึงการขนส่ง ดังนั้น สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันอยู่ทุกชนิดจึงมีค่า carbon footprint ยิ่งผ่านหลายกระบวนการหรือมีวัตถุดิบจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และมีการขนส่งมาก ก็ยิ่งเพิ่มจำนวน carbon footprint มากยิ่งขึ้น

Click Here

  • www.tgo.or.th (รายละเอียดของโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาคธุรกิจไทย)
  • www.greenpeace.org (โปรแกรมคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ฉบับไทย)
  • www.carbonfootprint.com (ทุกเรื่องเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์)

Author

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า