รถสีเขียว รักแร้สีขาว และการเมืองเรื่องความจริง

นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

แม้จะไม่เคยเห็นผลงานวิจัยและไม่มีความจริงจากผลสำรวจโพลของสำนักต่างๆ มาอ้างอิง ผมก็เชื่ออย่างสนิทใจของผมเองว่า การจราจรในกรุงเทพฯทำให้คนเป็นโรคประสาทได้

เพราะการขับขี่รถในสภาพที่การจราจรติดขัดนั้น นอกจากจะทำให้เกิดอาการหงุดหงิดง่ายแล้ว บางครั้งยังทำให้เกิดการรับรู้ความจริงที่สับสนด้วย

คือไม่รู้ว่าความจริงอันไหนเป็นความจริงมากกว่าอันไหน

บางทีขับรถอยู่ดีๆ ก็ต้องตกใจและรีบชะลอความเร็วรถหรือต้องรีบคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะเห็นตำรวจจราจรยืนอยู่ที่ทางแยก พอดูอีกทีที่แท้ตำรวจที่เห็นนั้นเป็นแค่หุ่นตำรวจตกแต่งไว้หลอกคนขับรถไม่ให้ทำผิดกฎจราจร ซึ่งก็คงได้ผลจริงๆ

การรับรู้และการนิยามความจริงบนท้องถนนจึงอาจสับสนและไม่ตรงไปตรงมา

ความจริงบางอย่างสับสนยิ่งกว่านั้น รถบางคันสีดำชัดๆ แต่ดันติดสติ๊กเกอร์ตัวเบ้อเร่อว่า ‘รถคันนี้สีเขียว’

ถ้าใครเคยเห็นรถที่ติดป้ายทำนองนี้แล้วคิดว่าเจ้าของรถเป็นบ้าหรือประสาทเสีย คงต้องทำความเข้าใจใหม่ เพราะปรากฏการณ์ที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องของความบ้า แต่เป็นเรื่องของการนิยามความจริงที่เป็นไปตามสโลแกนของพวกโพสต์โมเดิร์นที่ว่า ‘ความจริงไม่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า’

ต้องให้ข้อมูลเป็นเบื้องต้นก่อนว่า เจ้าของรถโพสต์โมเดิร์นเหล่านี้ต้องการเปลี่ยนสีรถครับ

ที่ต้องการเปลี่ยนสี ก็อาจเป็นเพราะไปถูกทำนายทายทักจากหมอดูหรือเทพธิดาพยากรณ์ที่ไหนสักแห่งทักเข้าว่า สีดำของรถที่ขับอยู่นั้นไม่ถูกโฉลกกับคุณ สีรถที่ถูกโฉลกที่จะทำให้คุณรวยๆๆๆ ขึ้นต้องเป็นสีเขียวเท่านั้น แต่ครั้นจะเอารถสีดำไปทำสีใหม่ให้เป็นสีเขียวก็คงทำให้จนๆๆๆ ลงไปอีก

วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ สถาปนาความจริงอันใหม่ครอบทับความจริงเดิมด้วยการประกาศกันดื้อๆ ว่า ‘รถคันนี้สีเขียว (โว้ย) รู้ไว้ซะ’

จริงๆ ก็ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องการจราจรกับรถเท่านั้นที่ความจริงดูสับสนอย่างนี้ บ้านบางหลังมีเสาไฟฟ้ามาตั้งโด่อยู่หน้าบ้าน ตามตำราฮวงจุ้ยถือว่าอัปมงคลเพราะเหมือนธูปดอกใหญ่ที่ปักไว้หน้าโลงศพ หมอดูฮวงจุ้ยบางคนแนะทางออกง่ายๆ ด้วยการเอาป้ายมาติดไว้ว่า ‘นี่ไม่ใช่เสาไฟฟ้า’ หรือที่อีสานหากกลัวว่าผีแม่หม้ายจะมาเอาผู้ชายในบ้านไปโดยทำให้ ‘ไหลตาย’ ก็แค่เอาป้ายมาติดว่า ‘บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย’

หรือถ้าอยากรวยก็ติดป้าย ‘บ้านนี้อยู่แล้วรวย’ ก็ได้

อันที่จริง ความคิดที่ว่าความจริงถูกสถาปนาขึ้นด้วยน้ำมือของถ้อยคำและภาษานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ปรัชญาดั้งเดิมหลายสายล้วนมีความคิดที่ว่านี้เป็นรากฐาน คนที่เคยไปเที่ยวชมหรือสักการะศาลเจ้าหรือวัดที่ญี่ปุ่นคงเคยสังเกตเห็นว่า ที่ปากทางเข้าหน้าศาลเจ้าชินโตหรือวัดในญี่ปุ่นนั้น มักจะมีสิงห์หรือยักษ์สองตนตั้งอยู่ หากช่างสังเกตอีกนิดจะเห็นว่าสิงห์หรือยักษ์นั้นตัวหนึ่งนั้นจะอ้าปาก ส่วนอีกตัวจะหุบปาก

ว่ากันว่า ตัวที่อ้าปากนั้นเป็นการเปล่งเสียง ‘อา’ ส่วนตัวที่หุบปากนั้นเปล่งเสียง ‘อุม’

คำว่าอาเป็นพยางค์แรกในระบบภาษาอินโดยูโรเปียน ส่วน อุม เป็นพยางค์สุดท้าย (ในยุโรป อักษรตัวแรกที่เทียบกับ ‘อา’ ก็คือ อัลฟา ส่วน ‘อุม’ ก็คือ โอเมกา นั่นเอง) สองคำนี้รวมกันเข้าเป็นคำว่า ‘โอม’ ซึ่งเสียงเปล่งอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นจุดกำเนิดของจักรวาล คำคำนี้จึงถูกใช้ในลัทธิพราหมณ์และฮินดูในการภาวนาเพื่อเข้าถึงความจริงอันสูงสุด

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถือว่า จักรวาลนี้ถูกสร้างขึ้นจากเสียงที่เปล่งออกเป็นถ้อยคำและภาษาของมนุษย์นั่นเอง

เสียงที่สร้างจักรวาลนี้ขึ้นจึงไม่ใช่ดัง ‘แบง’ อย่างที่ทฤษฎีบิ๊กแบงเสนอไว้ แต่ดังเป็นเสียง ‘โอม’ อันเป็นเสียงแห่งภาษาที่สถาปนาความจริงทั้งหมดทั้งมวลของจักรวาลแห่งการรับรู้ของมนุษย์

สิ่งที่ทำให้โลกยุคโพสต์โมเดิร์นแตกต่างไปจากจารีตความรู้ดั้งเดิมทั้งหลายก็คือ การสถาปนาความจริงไม่ได้ถูกผูกขาดโดยอำนาจศักดิ์สิทธิ์อันใดอันเดียวอีกต่อไป และเมื่อไม่มีอำนาจใดมาผูกขาดความจริงได้ ความจริงจึงมีได้หลากหลาย ไม่ได้มีอันเดียว

แต่ที่ว่าความจริงมีได้หลากหลาย ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกันในการนิยามความจริง เพราะความจริงถูกสร้างขึ้นพื้นที่แห่งอำนาจ

การเมืองในโลกโพสต์โมเดิร์นจึงเป็นการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจในการนิยามความจริง หรือจะเรียกว่าเป็นการเมืองเรื่องญาณวิทยา หรือ epistemic politics ก็ได้ เพราะญาณวิทยาเป็นเรื่องของการตรวจสอบและพิสูจน์ความจริง ถ้าการตรวจสอบและพิสูจน์ความจริงแบบหนึ่งสถาปนาตัวอยู่เหนือการตรวจสอบและพิสูจน์ความจริงแบบอื่นได้ ความจริงชุดหนึ่งก็จะเป็นความเป็นจริงเหนือความจริงชุดอื่นด้วย

เช่น รถสีดำที่ติดป้ายว่าเป็นสีเขียวหากไปชนรถคันอื่นแล้วหนี ถ้าตำรวจตามจับจนได้ เจ้าของรถจะอ้างว่ารถของตนไม่ได้มีสีดำและปฏิเสธที่จะรับผิดชอบก็คงไม่ได้ ต้องไปถูกปรับในฐานะเจ้าของรถสีดำอยู่ดี เพราะในพื้นที่แห่งอำนาจของกฎหมายรถคันนี้ยังไงก็ยังเป็นสีดำ และความจริงทางกฎหมายก็ยังมีอำนาจเหนือความจริงที่หมอดูช่วยสร้างขึ้นอีกด้วย

ที่ว่าอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าหมอดูจะแก้กฎหมายไม่ได้ เพราะกฎระเบียบบ้านเมืองหลายเรื่องก็เกิดขึ้นจากอิทธิพลของหมอดูหรือพ่อมดหมอผีได้เหมือนกัน

จะว่าไปแล้ว หมอดูหรือพ่อมดหมอผีที่สำคัญที่สุดที่ทำหน้าที่สถาปนาความจริงในโลกปัจจุบันเห็นจะไม่พ้นการโฆษณา ในขณะที่หมอดูบอกว่ารถคุณควรเป็นสีอะไรและต้องทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนสีของรถ โฆษณาก็บอกคุณว่ารักแร้ของคุณควรเป็นสีอะไร และทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนสีรักแร้ของคุณได้

ความจริงที่ว่าผู้หญิงที่ดีต้องมีรักแร้ขาวได้ถูกสถาปนาอย่างแน่นหนามั่นคง โดยการโฆษณายาทารักแร้ จนในโทรทัศน์และสื่อต่างๆ แทบไม่มีที่ทางสำหรับผู้หญิงรักแร้ดำ

การเมืองเรื่องการสร้างความจริงจึงแทรกซึมอยู่ทั่วทุกอณูของสังคม ตั้งแต่สีรถยันสีรักแร้

จึงต้องระวังให้ดี เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีของรถ สีของรักแร้ หรือแม้แต่เรื่องประชาธิปไตย

ถ้าไม่ระมัดระวังก็อาจเจอความจริงที่ใครบางคนอาศัยอำนาจบางอย่างไปสร้างไปแต่งขึ้น เพื่อกดทับหรือเบียดขับความจริงชุดอื่นไม่ให้มีที่อยู่ที่ยืนในสังคมได้เหมือนกัน

*********************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ คิดสลับขั้ว ธันวาคม 2549)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า