วันรณรงค์แห่งชาติ

จุดหมายที่ปลายทาง 41

 

 

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

มีนักรัฐศาสตร์เคยบอกว่า ที่กลไกรัฐไม่มีน้ำยาอะไรมากนักในการแก้ปัญหาก็เป็นเพราะว่ารัฐในปัจจุบันนั้นเล็กกระจ้อยร่อยเกินไปที่จะแก้ปัญหาใหญ่ๆ อะไรได้ แต่ก็ใหญ่เทอะทะเกินไปที่จะแก้ไขปัญหาเล็กๆ ในชีวิตผู้คน

ผมไม่แน่ใจว่าที่ปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยกลายเป็นเรื่องแก้ไม่ตกและหมักหมมอยู่นี้จะเป็นอย่างที่นักรัฐศาสตร์คนนี้ว่าไว้หรือเปล่า

แต่ที่ผมแน่ใจก็คือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ๆ เช่น ปัญหาผลกระทบจากทุนนิยมโลก หรือปัญหาเล็กๆ เช่น คนไม่ใช้สะพานลอยข้ามถนน รัฐไทยของเราก็ไม่เคยแก้อะไรได้

2 วันก่อน ผมนั่งรถผ่านกาดต้นพยอมที่เชียงใหม่ เห็นป้ายขนาดใหญ่ปิดประกาศติดไว้เกือบทุกมุมถนนว่า ‘ทางแยกนี้ กำหนดให้สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์’ แถมยังสำทับไว้ด้วยว่าประกาศที่ว่านี้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ของรัฐบาล

แม้เรื่องการไม่สวมใส่หมวกนิรภัยของคนใช้มอเตอร์ไซค์จะเป็นปัญหาจิ๊บๆ แต่ก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้มานาน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร คนขับขี่รถจักรยานยนต์คนไทยจึงไม่นิยมใช้หมวกนิรภัย

บางคน พอบอกว่าเวลาขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปไหนมาไหนให้ใส่หมวกกันน็อคไปด้วย แกก็เอาหมวกใส่ไว้ในตะกร้าหน้ารถก่อนสตาร์ทรถออกไปหน้าตาเฉย

บางคนแม้จะใส่ก็ใส่แบบขอไปที คือเอาหมวกครอบหัวไว้เพียงเพื่อไม่ให้ตำรวจจับ

เรียกว่า ทำยังไงๆ คนไทยก็ไม่ใส่หมวกกันน็อค

ผมมาเข้าใจถึงสาเหตุความล้มเหลวในการแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมไทยก็ตอนมาเห็นป้ายที่กาดต้นพยอมนี่แหล่ะครับ ถึงตอนนี้ผมกล้าฟันธงลงไปได้เลยว่าสาเหตุที่รัฐไทยไม่มีน้ำยาในการแก้ปัญหาใหญ่น้อยนั้นก็เพราะเราขาดหน่วยงานที่สำคัญมากๆ หน่วยงานหนึ่ง

จากการวิเคราะห์ของผม หน่วยงานที่ว่านี้มีภาระงานต้องรับผิดชอบมากมาย และงานแต่ละเรื่องก็ล้วนแต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จนอาจต้องตั้งเป็นหน่วยงานระดับกระทรวงหรือไม่ก็เป็นองค์การมหาชนไปเลย

หน่วยงานที่ว่าขาดไปและจำเป็นต้องจัดตั้งขึ้นอย่างเร่งด่วนก็คือ สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการจัดการวาระแห่งชาติ ครับ

ถ้ามีองค์กรนี้ขึ้นก็จะทำให้รัฐไทยมีน้ำยา เพราะที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญทุกปัญหา เรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนาคตและความเป็นความตายของประเทศก็ล้วนเป็นงานที่ต้องเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ทั้งสิ้น

อย่างเช่น วาระแห่งชาติเศรษฐกิจพอเพียง วาระแห่งชาติการปฏิรูปประเทศไทย วาระแห่งชาติด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ วาระแห่งชาติด้านการปฏิรูปการศึกษา วาระแห่งชาติเพื่อความสมานฉันท์ วาระแห่งชาติด้านการอ่าน วาระแห่งชาติด้านการลดอุบัติเหตุ วาระแห่งชาติด้านการป้องกันและการรับมืออุบัติภัย วาระแห่งชาติการดับไฟใต้ วาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ วาระแห่งชาติด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร วาระแห่งชาติทวงคืนเขาพระวิหาร และที่สำคัญ วาระแห่งชาติด้านการใส่หมวกกันน็อค ที่ว่ามาแล้วข้างต้น

นอกจากเรื่องที่เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่กำลังผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติอีกยืดยาวเป็นบัญชีหางว่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ เรื่องความเป็นธรรมของเพศที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 การควบคุมหนัง-ละครที่มีความรุนแรงตบตีกัน ปัญหาท้องก่อนแต่ง ปัญหาทำแท้งในเด็กวัยรุ่น บอลไทยไปบอลโลก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การประหยัดพลังงาน การลดโลกร้อน รถไฟความเร็วสูง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บรอดแบนด์แห่งชาติ รวมทั้งยังต้องผลักดันไม่ให้นักเรียนนักศึกษาใส่เสื้อคับติ้วและกระโปรงสั้นเต่อให้เป็นวาระแห่งชาติอีก

ผมสังหรณ์ใจอยู่ลึกๆ ว่า ถ้าให้กินเนสส์บุ๊คมาตรวจสอบ ประเทศไทยอาจได้รับการจารึกไว้ใน Guinness Book of World Records ว่าเป็นประเทศที่มีวาระแห่งชาติมากที่สุด
The Guinness World Record on Country with Longest List of National Agenda

บางคนอาจจะแย้งว่า เรื่องที่เป็นวาระแห่งชาติต้องให้คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบ ไม่น่าต้องตั้งสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติอะไรมาดูแล้ว แต่การทำให้คณะรัฐมนตรีมาเป็นผู้ดูแลได้ เราก็ต้องผลักดันให้ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีเป็นวาระแห่งชาติก่อนอยู่ดีครับ

 

ผมสังเกตว่า พอเราไม่มี ‘คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการจัดการวาระแห่งชาติ’ ให้พึ่งพาอาศัย สังคมไทยก็จนแต้ม ปัญหาต่างๆ ก็หมักหมมจนต้องดิ้นรนหาทางออกอื่นเพื่อการแก้ไขปัญหา

ทางออกอื่นที่ว่านี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่า ‘การรณรงค์’

 

และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงมีเรื่องต้องรณรงค์มากมายพอๆ กับเรื่องวาระแห่งชาติ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว มันก็ถูกถ่ายโอนมาจากวาระแห่งชาตินั่นเอง

พอเป็นอย่างนี้ก็จะเห็นว่า เราไม่หมดเรื่องรณรงค์ตลอดปี รณรงค์ลดอุบัติเหตุ รณรงค์วัยรุ่นไม่ท้อง รณรงค์เมาไม่ขับ งดเหล้าเข้าพรรษา วันเอดส์โลก รณรงค์ฝากบ้านกับตำรวจ รณรงค์ภัยแล้ง รณรงค์น้ำท่วม รณรงค์ภัยหนาว (แล้วกลับมารณรงค์ภัยแล้งใหม่ปีหน้า) รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัด รณรงค์ไข้เลือดออก รณรงค์ตรวจมะเร็งเต้านม รณรงค์มะเร็งปากมดลูก รณรงค์บุหรี่ รณรงค์โลกร้อน รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี รณรงค์ออกกำลังกาย รณรงค์ให้เหล้าเท่ากับแช่ง รณรงค์ให้ปฏิบัติตามกฎจราจร รณรงค์สวมหมวกกันน็อค ใส่เข็มขัดนิรภัย ไม่โทรศัพท์เวลาขับรถ รณรงค์เลือกตั้ง เมืองไทยใสสะอาด โตไปไม่โกง รณรงค์ปลูกหญ้าแฝก ปลูกป่า ปลูกปะการัง ปลูกฝังคุณธรรม รณรงค์ใช้จักรยาน รณรงค์ใช้ไบโอดีเซล รณรงค์แยกขยะ รณรงค์พกถุงผ้า รณรงค์พกถุงยาง รณรงค์ไม่เผาเศษไม้เศษหญ้าเพื่อลดควันพิษจากไฟป่า รณรงค์งดให้อาหารลิงบนเขาใหญ่ รณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง รณรงค์อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เป็นต้น

หลายเรื่องรณรงค์ชั่วครั้งชั่วคราวไม่ได้ผล ทางออกก็คือ ต้องรณรงค์ให้มากขึ้นอีก

คือแทนที่จะทำการรณรงค์เป็นวาระ ก็ทำการรณรงค์ให้เป็นงานประจำไปเลย เช่น

‘กรมอุทยานรณรงค์ หยุดลอบค้า ‘งาช้าง’ ปลุกกระแสตลอดปี ลั่นบังคับ กม. จริงจัง’

‘สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าดีขึ้น หลังกรุงเทพมหานครรณรงค์เข้มข้นตลอดทั้งปี’ หรือ

‘การรถไฟแห่งประเทศไทย รณรงค์ถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะบริเวณทางผ่านรถไฟตลอดปี 2553’ เป็นต้น

บางเรื่องก็เป็นการรณรงค์ที่ค่อนข้างแปลก เช่น รณรงค์ให้นักศึกษาปี 2 ไปช่วยกันรณรงค์ให้น้องปี 1 ใส่ชุดนักศึกษา รณรงค์ให้นักศึกษาที่กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาให้มาชำระหนี้ก่อนวันที่ 5 กรกฎาคม

พูดถึงเรื่องการรณรงค์ประหลาดๆ นั้น ทำให้นึกถึงประเทศญี่ปุ่นที่นอกจากมีวันรณรงค์ธรรมดาๆ เช่น วันแห่งความปลอดภัยในการจราจร หรือวันแห่งขยะที่รณรงค์ให้ผู้คนแยกขยะแล้ว ก็ยังมีวันรณรงค์ที่แปลกๆ ที่สมาคมวันที่ระลึกแห่งญี่ปุ่นได้กำหนดไว้ เช่น วันแกงกะหรี่ วันชาเขียว วันอุด้ง วันไก่ทอด วันแฮมเบอร์เกอร์ วันป๊อกกี้ วันโซบะ วันแห่งการปวดหัว วันแห่งแมว วันแห่งกะเทย วันบันไดเลื่อน หรือวันเรือเหาะตีลังกาแห่งชาติ เป็นต้น

ผมคิดว่าถ้าเทียบกับมาตรฐานไทยแล้ว วันรณรงค์ของญี่ปุ่นดูจะไม่เป็นโล้เป็นพายนัก คือเป็นการรณรงค์ในเรื่องจิ๊บๆ จ้อยๆ ไม่ได้เป็นสาระสำคัญในการแก้ปัญหาบ้านเมืองได้เท่ากับเมืองไทยของเรา

ผมเดาเอาเองว่า สาเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ทำอะไรจริงจัง มีประสิทธิภาพ แต่กลับมีวันรณรงค์ที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราวก็เพราะว่า วันรณรงค์เหล่านี้เป็นแค่วันที่ระลึกเท่านั้นครับ

ไม่ได้เป็นวันรณรงค์ที่ต้องติดป้ายไวนิลทั่วเมือง ยิงสปอตโฆษณากันถี่ยิบ ซื้อหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อโหมประชาสัมพันธ์ ซื้อป้ายคัทเอาท์เอารูปนายกรัฐมนตรีขึ้น หรือต้องเกณฑ์เด็กนักเรียนมาถือป้ายเดินไปศาลากลางอย่างที่ทำกันที่บ้านเรา

ที่เขาไม่ต้องมารณรงค์อย่างเราก็เพราะระบบบริหารจัดการและการแก้ปัญหาของประเทศเขานั้นมีประสิทธิภาพ ปัญหาใหญ่ๆ มีกลไกหลักรับผิดชอบ จนมีเวลาเหลือมาทำวันอูด้ง วันไก่ทอด และวันเรือเหาะตีลังกาแห่งชาติแบบที่ว่ามา

ส่วนของไทยเรานั้น วาระแห่งชาติก็ไม่ได้ผล การรณรงค์ก็ยังมีเรื่องใหญ่ๆ มากมายหลายเรื่องจนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องหลักๆ  ซึ่งหากเรารณรงค์จนแก้ปัญหาหลักๆ ได้หมด เราก็คงเจริญใกล้เคียงกับญี่ปุ่นและอาจมีเวลาสำหรับวันรณรงค์ในเรื่องไร้สาระให้ละเอียดถี่ถ้วนกว่าญี่ปุ่นก็ได้

เราอาจมี ‘วันขนมจีนแกงเขียวหวานไก่แห่งชาติ’ แยกออกจาก ‘วันขนมจีนน้ำยาแห่งชาติ’ ก็ได้

ปัญหาที่เราต้องแก้เพี่อให้เราเจริญเท่าเทียมกับญี่ปุ่นคือ เรามีเรื่องใหญ่ๆ คั่งค้างที่ต้องรณรงค์มากเกินไป

ภาวะคั่งค้างด้านการรณรงค์ที่ว่านี้ เป็นปัญหาสำคัญ ผมคิดว่าทางที่ดีที่สุดของปัญหาสำคัญนี้คือ สังคมทุกภาคส่วนต้องร่วมกันในวันรณรงค์ใหญ่ เป็นการรณรงค์แห่งชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าการรณรงค์อื่นใดทั้งหมด และมีเป้าหมายสำคัญคือ…รณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการมีเรื่องรณรงค์มากเกินไป

มันเป็นการรณรงค์เพื่อสิ้นสุดการรณรงค์ทั้งปวง เป็นการรณรงค์ครั้งสุดท้ายของเราเพื่อที่ว่าเราจะได้หมดภาระการรณรงค์ไปอย่างยั่งยืน

และที่ต้องเน้นไปที่สังคมทุกภาคส่วนให้ร่วมกันทำก็เพราะเราหวังพึ่งรัฐบาลไม่ได้ครับ

ก็อย่างที่เห็นครับ อยู่มา 2 ปี รัฐบาลนี้แจกโฉนดชุมชนได้แค่ใบเดียวครับ

********************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2554)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า