ปฏิรูปสังคมด้วยงานวิจัย: กรณีเหมืองแร่และป่าชุมชน

EIA เหมืองแร่3

เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี

 

จากโจทย์ท้าทายที่ว่า ปลายทางของงานวิจัยทางสังคมศาสตร์โดยส่วนใหญ่แล้วมักถูกแขวนไว้บนหิ้งและไม่สามารถรับใช้สังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะบทบาทของงานวิจัยกับความเป็นธรรมทางสังคม ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำของผู้คนที่นับวันก็ยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์จึงต้องปรับตัวเข้ากับภาคประชาสังคม ชุมชน หรือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจะผลักดันให้เสียงของคนเล็กๆ เหล่านี้ได้รับการตอบสนองและแก้ไขในทิศทางที่ควรจะเป็น

การประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวาระครบรอบ 40 ปี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ในหัวข้อ ‘งานวิจัยทางสังคมศาสตร์กับความเป็นธรรมทางสังคม’ ได้หยิบยกประเด็นปัญหาข้างต้นขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับทิศทางการพัฒนาของประเทศให้สอดคล้องต่อสภาวการณ์ในปัจจุบัน

ดังที่ รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า การประชุมประจำปีในครั้งนี้เป็นโอกาสที่นักวิจัย นักวิชาการ รวมถึงองค์กรเครือข่าย จะได้นำเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัยด้านสังคมในเรื่องต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม อันเป็นผลจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างผลกระทบมาโดยตลอด

หนึ่งในหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจในเวทีนี้คือ งานวิจัยว่าด้วยเรื่องความยุติธรรมเชิงนิเวศ ได้แก่ กรณีเหมืองแร่และอุตสาหกรรมขุดเจาะ และงานวิจัยเรื่องความมั่นคงทางอาหารและป่าชุมชน ที่พยายามตั้งคำถามถึงต้นตอของปัญหาที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรมกับชุมชนท้องถิ่นดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

 

EIA เหมืองแร่1

 

+ EIA กระบวนการที่ต้องปฏิรูป

จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมขุดเจาะ โดยเฉพาะเหมืองแร่และปิโตรเลียม สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ พบว่า ระบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EnvironmentalImpact Assessment: EIA) ที่ถูกนำมาใช้กับทุกโครงการของอุตสาหกรรมขุดเจาะ ไม่สามารถนำมาซึ่งความเป็นธรรมทางสังคมได้ การจัดการเหมืองแร่อย่างยั่งยืนไม่ควรผูกติดกับศาสตร์ทางวิศวกรรมเท่านั้น แต่ต้องคำนึงด้วยว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องไปด้วยกันได้กับวิถีชีวิตชุมชน

งานวิจัยของสมพร เรื่อง ธุรกิจ อุตสาหกรรม และผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น: กรณีเหมืองแร่และอุตสาหกรรมขุดเจาะ ระบุว่า อุตสาหกรรมขุดเจาะหลายโครงการมุ่งเน้นที่จะได้มาซึ่งรายงาน EIA เพื่อนำไปสู่การขออนุมัติโครงการ แต่ละเลยหลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และไม่ได้นำเอาองค์ความรู้ของชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาโครงการแต่อย่างใด

เธอชี้ให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามหลัก EIA สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างการใช้ความรู้ที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) กับความรู้ของชุมชน (Lay Knowledge) ในการพิจารณาโครงการต่างๆ อันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเชิงนิเวศและความไม่เป็นธรรมทางสังคม

IMG_0016 สมพร
สมพร เพ็งค่ำ

“โจทย์ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะผสานความรู้ระหว่างชุมชนกับความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะนำไปสู่การตัดสินใจในโครงการพัฒนาที่เป็นธรรม” สมพรกล่าว

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่มีการขยายพื้นที่สัมปทาน ขณะที่ชาวบ้านพยายามร้องขอความเป็นธรรมมาโดยตลอด พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมบอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ร้อนในเวทีรับฟังความคิดเห็น ทว่าท้ายที่สุดก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีนั้นได้ จึงนำมาสู่คำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการประเมินผล EIA

“หลังจากมีการเปิดเหมือง ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านก็เริ่มได้รับผลกระทบ ลำห้วยเหล็กซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของชุมชนมีการปนเปื้อนไซยาไนด์ จากน้ำที่เคยใส ชาวบ้านหาปลาเก็บผักได้ จนต่อมากลายเป็นพื้นที่สีแดง”

หลังจากนั้นชาวบ้านได้พยายามรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อจะบอกเล่าเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้นกับชุมชนของตน อีกทั้งสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลวังสะพุงยังเคยตรวจเลือดชาวบ้านพบว่ามีสารไซยาไนด์เจือปน บางคนพบทั้งสารปรอทและตะกั่ว นอกจากนั้นบางคนมีอาการผดผื่นคัน เจ็บป่วย แขนขาอ่อนแรง ผลผลิตทางการเกษตรลดต่ำลง พบปลาตายและสุขัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

เมื่อชาวบ้านพยายามนำเอกสารหลักฐานต่างๆ สะท้อนไปยังหน่วยงานภาครัฐ แต่ปรากฏว่าข้อมูลเหล่านี้กลับไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการหรือกระทั่งถูกกีดกันออกไป จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นได้ลุกลามไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิ การใช้ความรุนแรง ข่มขู่คุกคาม รวมถึงมีการตั้งค่าหัวแกนนำชาวบ้าน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวการบุกทำร้ายชาวบ้านที่ขัดขวางการขนแร่เมื่อกลางดึกของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

 

EIA เหมืองแร่2

 

+ แนวคิดดี…ปฏิบัติเหลว

สมพรระบุว่า ระบบการประเมินผลกระทบแบบ EIA เป็นเครื่องมือหลักที่ประเทศไทยใช้ในการพิจารณาโครงการพัฒนาต่างๆ โดยนำเข้าระบบนี้มาจากสหรัฐเมื่อปี 2518 นับจากที่ไทยประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจากการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานในยุคก่อน จนเกิดเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2518 และมีการใช้ระบบ EIA ครั้งแรกเมื่อปี 2521 โดยหวังว่าจะช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาต่างๆ ลงได้

ระบบ EIA เป็นการคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐในการอนุมัติโครงการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีการตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดูแล

“ยุคนี้เริ่มมีการถักทอกันเป็นเครือข่ายมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็เริ่มเป็นที่ถกเถียงกันว่า EIA ควรมีการปฏิรูปหรือไม่ เพราะแค่ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่พอ ต้องคำนึงถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ ด้วย”

ยุคต่อมาจึงเริ่มมีระบบการประเมินผลกระทบทางสังคม (SocialImpact Assessment: SIA) การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HealthImpact Assessment: HIA) การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community HealthImpact Assessment: CHIA) การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Environmental HealthImpact Assessment: EHIA)

จากการศึกษาของเธอพบว่า จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในรัฐธรรมนูญบับ 2540 ที่ให้การรับรองต่อสิทธิชุมชนมากขึ้น ต่อเนื่องถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่มีแนวคิดเรื่องการใช้ระบบประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในฐานะที่เป็นเครื่องมือคุ้มครองสิทธิชุมชน และให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง

อย่างไรก็ตาม ระบบที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวงนั้น ล้วนเป็นการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญ โดยชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมมากนัก ดังเห็นได้จากข้อกำหนดที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม แต่เอาเข้าจริงก็ทำได้เพียงแค่ขั้นตอนแสดงความคิดเห็น หรือกระทั่งถูกกีดกันออกจากเวที  นั่นหมายความว่า ถึงแม้วิธีคิดจะเริ่มเปลี่ยน แต่แนวปฏิบัติยังไม่เปลี่ยน

“แม้แนวคิดเรื่อง EIA จะก้าวหน้าไปมาก แต่การตัดสินใจต่างๆ ก็ยังอยู่ภายใต้ระบบผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่น เหตุเพราะวิธีปฏิบัติยังอิงอยู่กับผู้มีอำนาจภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ระบบ EIA ก็ยังอยู่ในมือของรัฐกับผู้เชี่ยวชาญ หรือที่เรียกกันว่าบริษัทที่ปรึกษา โดยมีเจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้าง” สมพรกล่าว

ความล้มเหลวในวิธีปฏิบัติของระบบ EIA หลายกรณีนำมาซึ่งการต่อสู้ของชาวบ้านที่ไม่ยอมจำนน เพื่อเรียกร้องหาความเป็นธรรมและสิทธิของชุมชนที่ควรได้รับการคุ้มครอง

“จะเห็นว่าการประเมินผลกระทบโดยใช้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเพียงด้านเดียวยังไม่พอ เพราะจะนำไปสู่การตัดสินใจอนุมัติโครงการที่ไม่เป็นธรรม นำไปสู่ความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิ ซึ่งหัวใจสำคัญของการประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ นั้นจะต้องนำไปสู่ความเป็นธรรมของสังคมด้วย”

บทสรุปในงานวิจัยของสมพรตั้งคำถามที่ท้าทายว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดการประสานความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับความรู้ของชุมชน เพื่อเติมเต็มและตรวจสอบซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะตัดสินใจเชิงนโยบายด้วยความรอบคอบและรอบด้าน ปราศจากการครอบงำของกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ หรือผู้มีอิทธิพล เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

 

ความมั่นคงอาหาร

 

+ เมื่อ ‘อาหาร’ ไม่มีความมั่นคง

อีกหนึ่งงานวิจัยเรื่อง ความมั่นคงทางอาหาร ป่าชุมชน กับการผลักดันเรื่องความเป็นธรรมเพื่อชุมชนท้องถิ่น โดย ดร.ศยามล เจริญรัตน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ได้อธิบายถึงสถานการณ์และแนวโน้มความมั่นคงทางอาหาร กรณีศึกษาชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 3 หมู่บ้านในผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย จังหวัดกาญจนบุรี ท่ามกลางความเปราะบางของปัญหาขัดแย้งและความอยุติธรรมจากรัฐไทย

ดร.ศยามล ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ แม้ไม่ถึงขั้นประสบปัญหาอดอยากหิวโหย แต่ในระดับชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกำลังถูกท้าทายจากปัจจัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิถีการผลิตที่เปลี่ยนไป จากเดิมผลิตเพื่อยังชีพ กลายเป็นการผลิตภายใต้ระบบการค้า ซึ่งต้องผูกติดกับราคาตลาดภายนอก อีกทั้งปัญหาพื้นที่ทำกินและฐานทรัพยากรที่ถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่พึ่งพิงอยู่กับป่า แต่ในมุมของเจ้าหน้าที่รัฐกลับถือเป็นผู้บุกรุกป่า ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องตกอยู่ในสภาพกลุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตอันใกล้

องค์ประกอบที่ ดร.ศยามล นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความมั่นคงทางอาหาร ประกอบด้วย 4 ด้านคือ 1.การมีอาหารที่พอเพียง 2.ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร 3.สามารถใช้ประโยชน์จากอาหารได้อย่างเต็มที่ และ 4.ความมีเสถียรภาพทางอาหาร

“ตามคำนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชน (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ให้ความหมายของความมั่นคงทางอาหารไว้ว่า การที่ประชาชนมีอาหารในปริมาณที่เพียงพอ มีความหลายหลากของอาหาร และอาหารนั้นมีคุณภาพในทางโภชนาการ รวมทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างทั่วถึงและมีเสถียรภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีฐานทรัพยากรที่เกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยเหล่านั้นได้

“สำหรับชาวกะเหรี่ยงนั้น ป่าคือตู้กับข้าวของเขา เขาขอแค่พอมีพอกินเท่านั้น แต่การหากินอยู่กับป่ากลับทำให้เสี่ยงต่อการถูกจับกุมในฐานะผู้บุกรุก เมื่อแนวคิดสวนทางกันเช่นนี้แล้วชุมชนชาวกะเหรี่ยงจะมีเสถียรภาพทางอาหารได้อย่างไร” ดร.ศยามล ตั้งคำถามถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้ง

ด้วยชุดความคิดที่แตกต่างกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้พิทักษ์ป่า กับกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองที่พึ่งพาอาศัยป่าเป็นแหล่งอาหารหลัก จึงนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีทางกฎหมาย จนกระทั่งไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เหมือนเช่นในอดีต ในที่สุดจึงก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ความไม่เท่าเทียม และความอยุติธรรม

 

IMG_0029 ศยามล
ดร.ศยามล เจริญรัตน์

 

+ แผ่นดินเป็นของใคร

ดร.ศยามล กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 และมีการประกาศใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมกิจการป่าไม้และที่ดิน ทำให้เกิดระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองป่า พ.ศ. 2481 พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ พ.ศ. 2497 โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่มีการให้นิยามคำว่า ‘ป่า’ หมายถึง ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย ส่งผลให้รัฐสามารถขยายอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างกว้างขวาง ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก่อนการประกาศเขตอุทยานถือเป็นผู้บุกรุกทั้งสิ้น

กล่าวได้ว่า นโยบายการจัดการทรัพยากรของรัฐ คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับคนในชุมชนท้องถิ่น จากการสูญเสียพื้นที่ทำกินและนำไปสู่ชุมชนล่มสลายในที่สุด อีกทั้งแนวคิดของรัฐในการอนุรักษ์ป่า มีหลักการพื้นฐานว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันไม่ได้ ต้องปิดป่า เพื่อให้ป่าฟื้นฟูตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ดร.ศยามล กล่าวว่า ในปี 2553 มีมติคณะรัฐมนตรีให้ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยให้ยุติการขับไล่ชาวกะเหรี่ยงออกนอกพื้นที่ทำกิน และให้มีการปักปันพื้นที่ใหม่ แต่นโยบายดังกล่าวก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก จนกระทั่งหยุดชะงักไป และยิ่งกว่านั้นที่ดินบางส่วนกลับตกไปอยู่ในกำมือของนายทุน แทนที่จะเป็นของเกษตรกร

“จะเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สิทธิ งานวิจัยชิ้นนี้จึงพยายามตั้งข้อสังเกตเรื่องการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสุดท้ายควรต้องมีการปฏิรูปที่ดินใหม่ และหากสืบสาวลงไปลึกๆ แล้วก็มักพบว่าผู้มีอิทธิพลคือผู้อยู่เบื้องหลัง” ดร.ศยามล กล่าว

บทสรุปจากงานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างฝังรากลึก จำเป็นต้องใช้แนวทางแก้ไขร่วมกันในหลายมิติ ซึ่งบทบาทของนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชี้นำไปสู่ทางออกได้ ดังคำกล่าวปาฐกถาพิเศษของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ความว่า

“การแก้ปัญหาที่สำคัญสำหรับสังคมไทย น่าจะอยู่ที่มหาวิทยาลัยทำการวิจัยเรื่องความไม่เป็นธรรม และมีการสื่อสารไปสู่การรับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวาง จนเกิดจิตสำนึกเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อันเป็นรากฐานของสิ่งดีงามทั้งปวง เช่น ประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และความเป็นธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างศานติ”

 

ที่มาภาพ:

ภาพเหมืองแร่: เหมืองแร่ เมืองเลย

ภาพงานเสวนา: ณัฐกานต์ ตำสำสู

 

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า