สนทนาประสา…ชาวนาชั้นเทพ

บ่ายวันหนึ่ง รถยนต์จากกรุงเทพฯหมายเลขทะเบียนขึ้นต้นด้วยตัวอักษร ‘ร.ย.ล.’ ขับบึ่งผ่านตัวจังหวัดสุพรรณบุรี มุ่งหน้าอำเภอดอนเจดีย์ พ้นจากตัวจังหวัดราว 10 กว่ากิโลเมตร รถยนต์คันนั้นเลี้ยวเข้าทางแยกเล็กๆ ปากทางเข้ามีป้ายบอกทางขนาดพอมองเห็น…เขียนว่า ‘มูลนิธิข้าวขวัญ’
หลังฝุ่นตลบ บุคคลในรถยนต์คันนั้นเสร็จธุระบึ่งกลับออกไป เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ระดับสูงเกือบทั้งโรงพักที่เพิ่งทราบข่าว ยกขบวนแห่กันมาที่มูลนิข้าวขวัญจนชาวบ้านแถวนั้นตื่นอกตกใจ เมื่อรับทราบข้อมูลเบื้องต้นเสร็จสรรพ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นจึงเคลื่อนขบวนกลับ โดยไม่ลืมขอหมายเลขโทรศัพท์ของมูลนิธิเอาไว้

“เขาบอกว่าโอกาสต่อไปจะได้ช่วยอำนวยความสะดวก” เดชา ศิริภัทร เล่าพลางหัวเราะตาหยี ในเสียงหัวเราะไม่ปรากฏร่องรอยความภาคภูมิใจหรืออัตตาเขื่องกร่างใดๆ ปะปน
ต้องได้ไปเห็น จึงจะเชื่อว่าเขาหัวเราะเพราะ ‘ขำ’ จริงๆ…ไม่มีอย่างอื่น

เดชา ศิริภัทร ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญตั้งแต่ปี 2541 แต่เพิ่งย้ายสำนักงานจากตัวเมืองสุพรรณบุรีมาอยู่ที่นี่ได้ราว 5-6 ปี…และเป็นครั้งแรกที่ได้รับเกียรติจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอาสามาอำนวยความสะดวกให้

ย้อนหลังก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม ทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนมาต่อเนื่อง ฐานะของเขาในแวดวงเกษตรทางเลือกหรือเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะความชำนาญด้านข้าว ถือว่าอยู่ในระดับ ‘ซือแป๋’ ใครที่เคยเห็นเขาทำงานอยู่กับเมล็ดข้าว จะพบว่าเขาทำราวกับกำลังบรรเลงงานศิลปะชนิดหนึ่ง…เด็กๆ รุ่นหลังแอบเรียกเขาว่า ‘ลุงเด’ ล้อกับ ‘ลุงฟาง’ – มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เจ้าของคัมภีร์ปฏิวัติความคิดทางการเกษตรที่ชื่อ ‘ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว’

แต่ถ้าย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เขาคือทายาทคหบดีเจ้าที่ดินแห่งสุพรรณบุรี เรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ปริญญาตรีเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยเป็นข้าราชการกรมปศุสัตว์อยู่ 4 ปี เป็นผู้จัดการฟาร์มที่บางปลาม้าอีก 7 ปี พื้นฐานทำนองนี้ทำให้เขาออกปากว่า…สมัยก่อนทำบาปทำกรรมเอาไว้ไม่ใช่น้อย

วันที่กองบรรณาธิการ way เดินทางไปสัมภาษณ์ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ‘ลุงเด’ ของเด็กๆ กำลังอยู่ในช่วงฝึกอบรมเยาวชน สลับกับต้อนรับคณะข้าราชการอีกกลุ่มใหญ่ที่มานั่งซักถามขอความรู้ และเดินดูพื้นที่ทำงานของมูลนิธิ ราวกับสิ่งพื้นๆ ที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นแปลงข้าวสาธิต…ลอมฟาง…เถารางจืด…เล้าไก่…รวมถึงฝูงหมาฝูงแมว ล้วนเป็นเรื่องตื่นตาตื่นใจน่าไต่ถามขอความรู้ไปเสียหมด

ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์ราคาข้าวที่บีบรัดหัวใจผู้คน ประตูรั้วของมูลนิธิซึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ ตามความเชื่อโบราณคือบ้านหลังนั้นจะต้องต้อนรับอาคันตุกะไม่ได้หยุดหย่อน…ยิ่งคึกคักครื้นเครง

เรานั่งรอเขาอยู่ใต้ร่มเงาต้นจามจุรีอายุ 80 ปี มองสูงขึ้นไปมีบ้านบนต้นไม้ที่พรรคพวกช่วยกันสร้างเป็นที่หลับนอน ในบ้านมีเพียงเสื่อ หมอน หนังสือ เอกสาร และเครื่องเล่นเอ็มพี 3 พร้อมหูฟังเพื่อดื่มด่ำกับเพลงโมสาร์ทให้ครบทุกตัวโน๊ตโดยไม่ต้องรบกวนใคร

เดชานอนบนนี้ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ถึงวันเสาร์อาทิตย์จึงอาศัยรถพรรคพวกพี่น้องเดินทางไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ย่านบางบัวทอง แต่ถ้าไม่มีใคร เขาก็อาศัยรถโดยสารประจำทาง เพราะขับรถเองไม่เป็นและไม่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น คล้ายกับสิ่งไม่จำเป็นอย่างอื่นสำหรับเขาอีกหลายอย่าง เช่น โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เหล้า บุหรี่ ฯลฯ

หลังส่งอาคันตะกุคณะสุดท้ายกลับบ้าน เดชาเดินเข้ามาที่ม้าหินใต้ต้นจามจุรี รอยยิ้มของผู้ชายวัยครบ 60 ในวันที่ 18 พฤษภาคมปีนี้ สัมผัสได้ถึงความเมตตา ไม่มีท่าทีเหน็ดเหนื่อยที่ต้องพูดกับผู้คนมาตลอดทั้งวัน หนำซ้ำยังแพรวพราวด้วยอารมณ์ขัน ความคิดคมชัดแจ่มใส อันเป็นบุคลิกพื้นฐานของคนที่… ‘ค้นพบอะไรบางอย่าง’ แล้ว

“รู้มั้ย มีคนเห็นนางไม้นั่งอยู่บนกิ่งต้นจามจุรีต้นนี้แล้วหลายคน” เดชา เริ่มต้นบทสนทนา เมื่อรับทราบว่าเราเลือกชัยภูมิตรงนี้เป็นสถานที่พูดคุย…

ยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้ เราควรมีท่าทีหรือหลักคิดกับมันอย่างไรดีครับ

เกษตรกรรมและการบริโภคแบบไม่ยั่งยืนมันมีมานานแล้ว เราเตือนเขาก็ไม่ฟัง ทีนี้พอมันเกิดขึ้น คนก็ไปแก้ที่อาการ ซึ่งทำยังไงก็ไม่หมดหรอก มันเหมือนกับน้ำจะรั่ว อุดรูนี้ก็ออกรูนั้น เพราะน้ำก็ยังมีแรงดัน…คือคนไปแก้ที่อาการโดยไม่ได้ดูสาเหตุ เราต้องแก้ที่การบริโภค ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคก็แก้ไม่ได้หรอก

แต่ทีนี้การบริโภคมันถูกครอบงำโดยการผลิต…พอผลิตอะไรได้ก็โฆษณาให้คนบริโภค ที่มันอ้างว่าผู้บริโภคเป็นพระเจ้าน่ะไม่ใช่หรอก กลายเป็นผู้ผลิตเป็นพระเจ้า ตรงนี้แหละคือปัญหา เมื่อคนเราไม่มีจุดยืน ไม่มีเป้าหมายในชีวิต เขาอยากให้บริโภคอะไรก็บริโภคไป คนผลิตก็มองผู้บริโภคเป็นลูกค้า เป็นแหล่งทำเงิน เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำเงินได้เขาก็ทำ ผู้บริโภคจึงกลายเป็นผู้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตทำลายโลก

สังเกตสิข้าวของสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไวมาก เพราะถ้าเปลี่ยนแปลงช้ามันก็จะขายได้น้อย อย่างมือถือ คอมพิวเตอร์…ผมเองก็มีเอ็มพี 3 อยู่เครื่องหนึ่งนะ เอาไว้ฟังก่อนนอน กับไว้อัดเวลาไปสัมภาษณ์คน ผมซื้อเมื่อ 3 ปีก่อนครึ่งกิ๊กกะไบท์ราคา 8,000 บาท เดี๋ยวนี้ 7-8 กิ๊กยังถูกกว่าเลย…มันทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า แล้วทำไมไม่เอา 7-8 กิ๊กไปเลย (หัวเราะ) ทั้งที่แค่ครึ่งกิ๊กนี่ก็ยัง 2-3 วันได้ฟังที อย่างผมฟังโมสาร์ทได้แป๊บเดียวก็นอนแล้ว มันอัดได้เป็นร้อยเพลงก็จริงแต่ยังฟังไม่ถึงสิบเพลงเลย แล้วจะเอาไปทำไมตั้ง 7-8 กิ๊ก

พอถึงตรงนี้ ก็ถึงเป็นหน้าที่ของครีเอทีฟสิ ต้องมามอมเมาคน (หัวเราะ) ทำให้คนรู้สึกว่ามันจำเป็น ครีเอทีฟก็เลยกลายเป็นอาชีพยอดฮิตเพราะจบมาไม่กี่วันก็รวย แถมโก้เก๋ดูมีรสนิยม เกิดเป็นรางวัลแบด อะวอร์ดส์ อะไรต่อมิอะไรขึ้นมา…โธ่…ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า bad

มองในแง่ภาพรวม การที่ราคาข้าวสูงแบบนี้ถือว่าเป็นวิกฤติหรือโอกาสของบ้านเมืองเรา

จะมองเป็นโอกาสหรือวิกฤติก็ได้ แล้วแต่…ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ แต่ทีนี้ต้องถามก่อนว่า ราคาข้าวแพงจริงหรือเปล่า ผมว่าไม่ได้แพง มันสมควรราคานี้มาตั้งนานแล้ว สมัยผมเด็กๆ ราคาข้าว 1 เกวียนเท่ากับราคาทองคำ 1 บาท ถามว่าที่ผ่านมาราคาทองกับราคาข้าวห่างกันแค่ไหน หรือเอาง่ายๆ ราคาข้าวสารธรรมดาควรเท่ากับราคาน้ำมันดีเซล แล้วน้ำมันดีเซลตอนนี้ราคาเท่าไหร่ล่ะ สมัยก่อนราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 2.50 บาท ข้าวขาวยังแพงกว่าเลย

เราต้องมีตัวเปรียบเทียบแบบนี้ เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนข้าวถูกกดราคาไว้ ทั้งที่ควรเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ปัญาคือเรากินข้าวถูกจนชินว่าต้องถูกนะ ซื้อผลไม้นอกกิโลละร้อยสองร้อยซื้อได้ ทีข้าวกิโลละ 50 ซื้อไม่ได้ จะเป็นจะตายกันแล้ว

ที่ผ่านมาอะไรทำให้ราคาข้าวเป็นแบบนั้น

นโยบายเราต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นอุตสาหกรรม เราต้องการแรงงานราคาถูก แรงงานราคาถูกมาจากไหน ก็เกษตรกรไง…จะไปมีใคร เพราะฉะนั้นวิธีก็คือ หนึ่ง ต้องทำให้เกษตรกรล้มละลาย หมดแรงจูงใจที่จะทำ พอล้มละลายก็มาเป็นกรรมกร สอง เมื่อกรรมกรถูกกดค่าแรง จะซื้ออาหารแพงๆ กินก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรก็ได้ต้องทำให้อาหารมีราคาถูก เพื่อเลี้ยงกรรมกรเอาไว้พอให้มีกินวันต่อวัน ทั้งที่ค่าแรงของกรรมกรควรจะมากกว่านี้ตั้งนานแล้ว ก็เหมือนราคาข้าวนั่นแหละ แต่มันถูกกดไว้ทั้งคู่เลย อุตสาหกรรมถึงโตเอาๆ ใช่มั้ยล่ะ

แต่ตอนนี้จะกดไม่อยู่แล้วไง ก็ต้องปล่อย ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อข้าวแพง เกษตรกรจะกลับไปทำนากันแล้ว เพราะราคามันดี เรื่องนี้ภาคอุตสาหกรรมกลัวกันมาก กลัวว่าเกษตรกรจะหนีไปทำนากันหมด กรณีที่ยังเหลือนาอยู่นะ…เพราะมันคุ้มกว่า

จริงไหมที่ว่าโครงสร้างสังคมเราเปลี่ยนไปไกลแล้ว ภาคเกษตรก็เล็กลงไปมาก บางแหล่งบอกว่าไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของของสัดส่วนตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมดด้วยซ้ำ

คืออย่าไปมองแค่ตัวเลข ของแบบนี้มันต้มกันได้ เราต้องดูว่าพื้นที่เกษตรมันลดลงมั้ย พื้นที่ที่ทำงานเกษตรมีแต่จะมากขึ้นๆ นะ เพียงแต่ว่าจะอะไรปลูกเท่านั้นเอง ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเรายังอยู่ในภาคเกษตร ไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการอย่างที่พูดกัน แน่นอนอาจจะเกิดการไขว้เหลื่อมกันบ้าง แต่พื้นที่และผลิตผลทางการเกษตรไม่ได้ลดลง เพียงแต่มูลค่าสินค้าในภาคอุตสาหกรรมและบริการมันโตกว่าเท่านั้นเอง ซึ่งตัวเลขการโตไม่ได้หมายความว่าคนและพื้นที่ในภาคเกษตรจะน้อยกว่า

ถามต่อว่าแล้วเศรษฐกิจที่แท้จริงของคนไทยมันคือเกษตรหรืออุตสาหกรรมล่ะ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ได้กำไรขึ้นมาเข้ากระเป๋าเราเท่าไหร่ ธนาคารมีของคนไทยกี่เปอร์เซ็นต์ สินค้าไอทีทั้งหลายเราเป็นเจ้าของทางปัญญามั้ย เพราะฉะนั้น ถ้าเอาเป็นของไทยแท้ ๆ ภาคเกษตรยังถือว่าใหญ่ที่สุดอยู่ จะไปมองตัวเลขว่าให้คนอื่นมาลงทุนๆ แล้วก็บอกว่าภาคอื่นโตขึ้น พึ่งเกษตรไม่ได้แล้ว พูดแบบนั้นหมายความว่า ไปทำงานให้ต่างชาติเหรอ มันต้องมองว่า เศรษฐกิจในมือคนไทยจริงๆ อยู่ภาคที่ไหน เรามีอะไรไปแข่งไปสู้กับตลาดโลกได้บ้าง ลองพูดมาสิ ถ้าไม่ใช่เกษตร มีอะไรบ้าง เราเป็นที่หนึ่งข้าว ที่หนึ่งยาง ที่หนึ่งกุ้ง ขนาดถูกกดอย่างนี้ยังเป็นที่หนึ่ง ซึ่งสินค้าพวกนี้มันยั่งยืน ยังไงคนก็ต้องกิน อย่างเอาแดดมาทดแทนน้ำมันได้ แต่ข้าวนี่จะหาอะไรมาทดแทนล่ะ

ฟังๆ ดูสถานการณ์แบบนี้ก็น่าจะดีต่อเกษตรกรไม่ใช่เหรอครับ คือจะได้มากได้น้อย แต่ก็ยังถือว่าได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม

ก็แล้วแต่จะปฏิบัติตัว ปัจจัยการผลิตของชาวนามีอะไร หนึ่ง ที่ดิน ถ้าเช่าเขาตอนนี้ค่าเช่าก็แพงขึ้น ถ้าติดจำนองโอกาสจะถูกยึกคืนก็มีมาก สอง ปุ๋ยยาขึ้นแบบไม่มีเหตุผล ปุ๋ยเข้ามาตั้งแต่มกราคม พอข้าวขึ้นมันขึ้นตามมาด้วยเฉยๆ ทั้งที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มเลย (หัวเราะ) ขึ้นเร็วกว่าข้าวอีก ข้าวตันละ 12,000–13,000 …ปุ๋ย 18,000-20,000 เข้าไปแล้ว

จังหวะแบบนี้ถ้าคนที่เคยถูกดูดเข้าภาคอุตสาหกรรม จะถอยออกมาตั้งหลักใหม่มันจะไหวเหรอครับ เอาแค่ประเด็นการถือครองที่ดินก็เหมือนจะยุ่งแล้ว

ไม่ง่ายแล้วล่ะ…มันเรื้อรังมานานแล้ว คือหนึ่ง การเกษตรต้องใช้ที่ดิน แล้วปัญหาที่ดินเมืองไทย ถ้าไม่แก้ มันจะมีหวังมั้ย ไม่มีหวังหรอก เพราะที่ดินร้อยละ 80-90 ติดหนี้ธนาคาร ไม่ธกส. ก็สหกรณ์ ชาวนากู้เงินมาใช้จ่ายและลงทุน เหตุที่ตอนนี้ที่ดินไม่หลุดมือจากชาวนา เพราะนโยบายของรัฐบาลไม่ต้องการให้ยึดที่ดิน เขาต้องการให้เกษตรกรทำใช้หนี้ใช้ดอกใช้ต้นไปเรื่อยๆ มันได้ประโยชน์ตรงนั้นมากกว่า เพราะไม่มีใครอยากได้ที่ดินไปทำกิจกรรมอื่นหรอก มันไม่คุ้ม

แต่พอราคาสินค้าอาหารแพง ราคาเชื้อเพลิงแพง จะไปปลูกเชื้อเพลิงก็ได้ จะไปปลูกอาหารก็ได้ มันเริ่มคุ้มแล้ว อย่างทำนาต้นทุนที่เขาทำๆ กันประมาณ 7,000 บาทต่อไร่ ขายได้ไร่ละ 12,000 -13,000 บาท กำไร 5,000 บาทต่อไร่ต่อฤดู ใครก็ลงทุนคุ้ม

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ โอกาสที่ชาวนาจะโดนยึดที่ดินจะมีสูงมาก ตรงนี้แหละที่จะเป็นวิกฤติของชาวนา เพราะแทนที่จะได้ประโยชน์จากของแพง กลับจะไม่มีที่ดินทำนาทำไร่ ถูกยึดคืนไปหมด ครั้นจะไปเช่าที่ทำนาแต่ก่อนไร่ละ 600 บาท ตอนนี้ขึ้นเป็น 2,000 บาทเฉยเลย

การปฏิรูปที่ดินในเมืองไทยนั้นเหมือนที่อื่นในโลกมั้ย ประเทศอื่นๆ ในโลกนั้นการจะปฏิรูปที่ดินนั้นต้อง หนึ่ง จำกัดการถือครองที่ดินก่อน สอง ใครมีที่ดินมากเกินไปแล้วไม่ได้ใช้ก็ต้องยึดเอามาปฏิรูป แล้วรัฐบาลถึงจะนำมาปฏิรูปแล้วให้เกษตรกรมาเช่าหรือว่าจะออกพันธบัตรก็แล้วแต่เป็นอีกเรื่องหนึ่งเพื่อให้มาถึงคนทำกินจริงๆ แต่ประเทศไทยนั้นเปล่าเลย ไม่มีการจำกัดการถือครองที่ดิน ใครมีกี่ล้านไร่ก็ได้ แล้วที่ดินคนรวยถูกแตะมั้ย ไม่ถูกแตะ ไม่ยุ่ง ทีนี้จะเอาที่ดินจากไหนมา ก็เอาจากป่าสงวน เอาจากของหลวงนั่นแหละมาปฏิรูป พอปฏิรูปแล้วชาวบ้านก็เอามาขายต่อให้คนรวย แบบนี้เมื่อไหร่จะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินได้

ทุกวันนี้สัดส่วนของของชาวนาที่ถือครองที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ก็ถือว่าเป็นมีจำนวนน้อยมาก ?

(ตอบทันที) ไม่น้อยหรอก ภาคกลางนี่มีประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์นะ อีก 40 เปอร์เซ็นต์นั้นเช่าเขา ไม่ได้น้อยเท่าไหร่ แต่เพียงไอ้ 60 เปอร์เซ็นต์นั้นอยู่ในธนาคารทั้งหมดแล้ว ทีนี้หนี้สินน่ะไม่มีทางใช้ได้หรอก ครอบครัวละ 600,000 บาทไม่มีทางใช้หมด ต่อให้ราคาข้าวเป็นแบบนี้ก็ไม่มีทาง เพราะต้นทุนมันสูงแทบไม่เหลืออะไร เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนวิถีการผลิตไปพร้อมๆ กันด้วย

ที่จริงประเด็นที่ดินเป็นปัญหาระดับชาติและเซนสิทีฟมาก คุณลองดูสิทุกประเทศที่เกิดการปฏิวัติ ส่วนมากเกิดจากเรื่องที่ดิน…ประเทศคอมมิวนิสต์นะ ไม่ว่าจีนหรือประเทศอะไรก็ตามก็เกิดเพราะเรื่องนี้ ส่วนประเทศที่รู้ตัวก่อนก็จะปฏิรูปที่ดินแล้วก็ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ อย่างที่อเมริกาบังคับให้เกาหลีญี่ปุ่นปฏิรูปที่ดิน แต่ไทยเราไม่โดนบังคับแล้วก็ไม่ปฏิรูปด้วย…ใช้ระบบอะไรก็ไม่รู้ ถูลู่ถูกังมาจนได้…ซึ่งอัศจรรย์มาก (หัวเราะ) ไม่รู้มาได้ยังไง เกษตรกรก็เยอะ ส่งออกก็เยอะ ปฏิรูปที่ดินก็ยังไม่ปฏิรูป แล้วยังมาปฏิวัติด้วย…เก่งจริงๆ (หัวเราะ)

แต่มันไม่อยู่นานหรอก อีกหน่อยพอราคาอาหารแพง โดนแย่งที่ดิน ชาวบ้านลุกฮือแน่ รับรอง เห็นช่องทางจะรอดแล้ว ปรากฏว่ามาแย่งไปฉิบ…ตอนราคาอาหารถูกนะ เสือกไม่เอา พอราคาอาหารแพงเสือกจะมาแย่งที่ดิน แบบนี้มันไม่เป็นธรรมใช่มั้ยล่ะ ซึ่งที่จริงแม้แต่การเช่ามันก็มีกฎหมายที่ดินปี 2524 คุ้มครองอยู่ มีการกำหนดราคาค่าเช่า ถ้าจะเอาคืนต้องบอกล่วงหน้ากี่ปี สามารถต่ออายุการเช่าได้กี่ครั้ง บอกเอาไว้หมด

ปัญหาคือกฎหมายไม่ได้ถูกบังคับใช้ ?

ใช่…ชาวนาเองก็ไม่รู้เรื่องไม่มีใครไม่ช่วยไปบอก ทั้งที่กฎหมายฉบับนั้นค่อนข้างรัดกุม บอกชัดเจนถึงขั้นว่าต้องมีกรรมการระดับตำบลประชุมราคากลาง เพราะช่วงปี 2524 กระแสสังคมตอนนั้นยังแรง รัฐบาลเขาก็ยอม แล้วก็อย่างที่บอกประเด็นที่ดินมันเซนสิทีฟ

เซนสิทีฟต่ออะไร

ก็ต่อเจ้าของที่ดินไง…ผมน่ะเคยบอกกรมที่ดินเลยนะว่า…เรื่องปฏิรูปที่ดินน่ะ พวกคุณไม่ต้องทำอะไรมากเลย ขอแค่ให้ประกาศออกมาว่า 100 อันดับแรกของคนที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในประเทศไทยมีใครบ้าง บอกมาแค่นั้นพอแล้ว แต่เขาไม่ทำหรอก (หัวเราะ) บอกได้ยังไงล่ะ ถ้าบอกมาคนจะเปลี่ยนเลยนะ

ถ้าไล่ปัญหาปัจจัยการผลิต เริ่มจากที่ดิน ราคาปุ๋ยราคายา แรงงานเองก็ต้องใช้วิธีจ้าง ถึงตรงนี้ชาวนาส่วนใหญ่เขาเหลืออะไรเป็นต้นทุนที่ตัวเองถือครองจริงๆ บ้างครับ

ชาวนาปัจจุบันถูกล้างสมองจนคิดอะไรไม่ออก หมดความรู้จริงๆ …เป็นอาชีพเดียวที่ไม่มีความรู้…ถ้าเป็นอาชีพอื่น ตัวคนทำก็ต้องรู้ดีกว่าคนอื่นใช่มั้ย คุณเป็นนักเขียนเป็นคนทำหนังสือ คุณก็ต้องรู้เรื่องการเขียน การทำหนังสือ รู้กระทั่งการพิมพ์ ถามว่าชาวนาทุกวันนี้รู้อะไรมั้ยเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว…ไม่รู้จักเลย พันธุ์นี้ดีไม่ดียังไง ไม่เคยรู้จริง ได้ยินแต่เขาบอกกันว่ามันดี แต่ถามว่ามาจากไหน ไม่รู้ ปุ๋ยเคมีรู้มั้ย ไม่รู้ เขาว่ายี่ห้อนี้ดีนะรู้มั้ย N คืออะไร P คืออะไร K คืออะไร 16-20-0 คืออะไร ข้าวต้องการแร่ธาตุกี่ตัว เป็นกรดเป็นด่างยังไง…ไม่รู้ทั้งสิ้นเลยนะ อ้าว…ยาฆ่าแมลงเป็นยังไง ก็ไม่รู้ ยาฆ่าหญ้าก็ไม่รู้ คือไม่รู้สักอย่าง กระทั่งข้าวที่ตัวเองขายไปนั้นเขาเอาไปไหนรู้มั้ย ไม่รู้ ไปขายใคร ใครกินใครซื้อ ราคาเท่าไหร่ มียี่ปั๊ว ซาปั๊วยังไง ไม่รู้ ข้าวในถุงมาจากไหน ไม่รู้ ไม่รู้สักอย่าง (หัวเราะ) แล้วจะเป็นชาวนาได้ยังไง…มันไม่รู้จริงๆ

แล้วที่พูดๆ กันถึงภูมิปัญญาชาวบ้านล่ะครับ มันเคยมีจริงมั้ย

มี…แต่มันถูกทำลายไปหมดแล้ว ภูมิปัญญาชาวบ้านก็คือ เมื่อคุณปลูกข้าวพื้นบ้านใช่มั้ย…อย่างข้าวนางมนนี่นะ ชาวบ้านจะรู้เลยว่าข้าวนางมนนิสัยแบบนี้ ชอบน้ำแบบนี้ อายุเท่านี้ สูงเท่านี้ หอมเท่านี้ ทำอะไรกินได้บ้าง เลี้ยงควายก็ยังรู้ ควายออกลูกเท่าไหร่ ทำงานได้กี่ชั่วโมง เรื่องพวกนี้เคยรู้ แต่ถูกระบบล้างไปหมดแล้ว

เพราะฉะนั้น ชาวบ้านชาวนาแบบนี้ไม่มีทางจะรอด เพราะว่าองค์ความรู้ไม่มี ไม่ต้องพูดถึงอย่างอื่นไกล เอาเรื่องที่ตัวเองทำทุกวันยังไม่รู้เลยว่าพันธุ์ข้าวเป็นยังไง กว่าจะผสมได้แต่ละพันธุ์ต้องทำยังไง…พันธุ์ไหนชอบปุ๋ยไม่ชอบปุ๋ย เพราะมีข้าวบางพันธุ์อย่าไปใส่ปุ๋ยเด็ดขาดเพราะเขาไม่ชอบตั้งแต่แรก ต่อให้ใส่ไปผลผลิตก็ไม่เพิ่ม…นี่ไม่รู้เรื่องเลย เราไปบอกก็ไม่ฟังด้วย

เราบอกว่า…ถ้าข้าวมีเบอร์น่ะ เขาเรียกข้าวหมอนวด (หัวเราะ) ข้าวดั้งเดิมของบรรพบุรุษไม่มีเบอร์หรอก ถ้ามีเบอร์มันกินยากินปุ๋ย เหมือนหมอนวดต้องมีคอนโด ต้องใช้มือถือ ต้องใช้รถเก๋งใช่มั้ย ปลูกข้าวแบบนี้ก็เหมือนเลี้ยงหมอนวดมันก็เจ๊งสิ จะไปเจริญได้ยังไง

เอาแม่โพสพคืนมา เอาเบอร์หลบไปเสีย ดัดนิสัยกันใหม่ ไม่ต้องให้กินปุ๋ยกินยา เราเอาข้าวพันธุ์ไหนก็ได้ เอาไปปลูกในนาแล้วไม่ต้องไปช่วยมัน ต้นไหนช่วยตัวเองไม่ได้ทิ้งไปเลย ต้นไหนช่วยได้เอามา เราย้อนศร แล้วหลังจากนั้นไม่ต้องกลัวแล้ว ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาก็ได้ แบบนี้จะเป็นการสร้างภูมิความรู้ให้ชาวบ้านเอาไปใช้ได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งใครเลย ใครทำรอดทุกคน แต่ก็ไม่ทำ รอให้เขาส่งพันธุ์มาให้ รอซื้อเอา

ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกก็บ่นว่าทำยาก ผมบอกไม่ต้องทำหรอก เลิกเผาฟางอย่างเดียวจบเลย คิดดูเกี่ยวข้าวเสร็จเหลือฟางไร่หนึ่ง 600 ถึง 1,000 กิโลฯ ดันไปเผาทิ้ง แล้วไปซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่ 50 กิโลฯ ซึ่งไอ้ 50 กิโลฯน่ะ เป็นตัวปุ๋ยจริงๆ แค่ 18 อีก 32 กิโลฯเป็นดินเหนียวแท้ๆ เสร็จแล้วก็เอาของพวกนั้นแหละมาหว่าน ของ 18 กิโลฯมันจะไปสู้ 600 กิโลฯได้ยังไง แล้วปุ๋ยพวกนั้นมันก็มีแค่ N กับ P 2 ตัว แต่ฟางข้าวมีตั้ง 18-19 ชนิดครบถ้วน…ไม่เอา

ย่อยฟางข้าวย่อยไม่เป็นก็มาเอาจุลินทรีย์ไปใช้สิ นี่เราก็กำลังทำกันอยู่ ทำ 2-3 วันก็ใช้ได้แล้ว เอาจุลินทรีย์ไปใส่ หมักฟาง 2 อาทิตย์มันก็กลายเป็นปุ๋ย…ข้าวก็งามไม่ต้องใส่อะไรสักนิดเดียว ก็เห็นอยู่ ง่ายจะตายใช่มั้ย ไม่เอา…สู้ปุ๋ยเคมีไม่ได้ ยาฆ่าหญ้าก็ใช้ ยาฆ่าแมลงก็ใช้…แมลงน่ะจะไปใช้มันทำไม เพราะว่าตัวห้ำตัวเบียนมันมีอยู่ เราไม่ไปฉีดยาให้มันตาย ตัวพวกนี้มันก็จะไปกินตัวไม่ดีแทน เราไม่ต้องไปทำอะไร มันควบคุมให้เรา แปลงข้าวที่นี่เคยฉีดอะไรที่ไหนล่ะ เราทำมาตั้ง 10-20 ปี ชาวบ้านที่อยู่ข้างๆ ไม่มีใครทำสักคน (หัวเราะ)

ขนาดพูดมาเป็นสิบๆ ปี ลงมือสาธิตให้เห็นแล้ว แต่ทำไมจึงยังไม่สามารถโน้มน้าวชาวบ้านได้ล่ะครับ

ก็อย่างที่บอกชาวบ้านถูกล้างสมอง…ทีบุหรี่กับเหล้าทำไมห้ามโฆษณา เพราะมันล้างสมอง ขนาดรู้ว่าเป็นมะเร็งยังสูบกัน รู้ว่าเป็นตับแข็งก็ยังกิน ผิดศีลห้าด้วย….ก็ยังเอา (หัวเราะเบาๆ)  เพราะว่าโฆษณาไง ทีนี้ก็ต้องห้ามโฆษณา แล้วหาทางเอาภาษีให้เยอะๆ มันจะได้เลิก ถ้าไม่เลิกก็เอาเงินภาษีนั่นมาตั้งกองทุนเปลี่ยนค่านิยมใหม่

นี่ปรากฏว่ายังไง ปุ๋ยยาโฆษณาได้ ภาษีก็ไม่เก็บ ปุ๋ยยานี่เราสั่งเข้า 100 เปอร์เซ็นต์เลยนะ ไม่เก็บภาษีสักบาทเดียว มีที่ไหนในโลกมีบ้างที่กินข้าวแล้วไม่เก็บภาษี อาหารก็เก็บ ของใช้ก็เก็บ ของจำเป็นก็เก็บ แต่ปุ๋ยยาไม่เก็บ ทำไมไม่เก็บล่ะ

ใครเป็นผู้สนับสนุนการล้างสมองบ้างครับ

รัฐมนตรีที่มาจากบริษัทพวกนี้ เมื่อช่วงปี 2534 เสนอไม่ให้เก็บภาษี

โดยบอกว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือชาวนา?

ใช่…แล้วเดี๋ยวนี้มันแพงหรือถูกล่ะ จะช่วยชาวนาช่วยตรงๆ ก็ได้ไม่ต้องไปผ่านบริษัทหรอก  แล้วปุ๋ยยาพวกนี้มันตั้งราคาตามใจชอบนะ ภาษีที่ควรต้องเสียให้รัฐบาลนั้น แทนที่จะเอามาลดราคาให้ มันก็เอาไปโปรโมทให้ตัวแทนขาย ใครขายได้ถึงยอดก็ไปไต้หวัน ไปยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา แล้วแบบนี้มันจะไปมีประโยชน์อะไร แต่รัฐบาลบอกว่าช่วยเกษตรกร

ถ้าอยากช่วยจริงๆ มันจะไปยากอะไร ตั้งกองทุนขึ้นมาแล้วก็ไปส่งเสริมชาวบ้าน บอกให้เขารู้กัน แล้วออกกฎหมายห้ามเผาฟางอย่างเดียวเลย ถ้าไม่เผาฟางยังไงก็ใส่ปุ๋ยไม่ได้ ใส่ไปก็ล้ม เพราะว่ามันจะงามเกินไป นี่ขนาดโลกร้อนอย่างนี้ยังปล่อยให้เผาฟางตามใจชอบ ลองไปเผาที่ประเทศอื่นสิ…ติดคุกไปแล้ว ออกกฎหมายเลยโลกร้อนห้ามเผาฟาง…ช่วยลดฝุ่นละออง ลดอุบัติเหตุก็ว่าไป ถามว่ารัฐบาลไม่รู้หรือ ทำไมจะไม่รู้รู้ แต่รัฐบาลกับบริษัทมันก็อันหนึ่งอันเดียวกัน สปอนเซอร์แต่ละพรรคการเมืองมาจากไหน แหล่งเดียวกันทั้งนั้น…เขาก็ส่งคนของเขามาเป็นรัฐมนตรีอยู่ทุกๆ ครั้งไม่ใช่เหรอ (หัวเราะ)

โทษนักการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ แต่ชาวบ้านนี่สิ รู้ปัญหาตัวเองแล้วทำไมไม่เอาล่ะ ซื้อปุ๋ยซื้อยามีใครบังคับที่ไหน เสร็จแล้วก็มาบ่นว่าปุ๋ยยาราคาแพง บ่นก็ไม่ต้องซื้อสิ ดูซิว่ามันจะลดราคามั้ย แบบข้าวปัจจุบัน ให้เราลดราคา ลดทำไมล่ะ อย่างเวียดนามเคยขายตัดราคาเราขาย 700 เหรียญ ตอนนี้เขาขึ้นมากกว่าเราอีกเป็น 1,200 เหรียญเอาไปขายฟิลิปปินส์ ตลาดเป็นของผู้ขายใช่มั้ย เพราะฉะนั้นเรื่องปุ๋ยยาจะไปบอกให้เขาลดราคาเขาไม่ลดหรอก ตราบใดที่ชาวบ้านยังใช้อยู่ ลองเลิกใช้เมื่อไหร่ราคามันก็ลงเอง

ในเมื่อกรรมการไม่รักษากติกา ปล่อยให้ชาวบ้านถูกถลุงอยู่ข้างเดียว สองฝ่ายไม่เท่าเทียมปล่อยให้เฮฟวีเวทต่อยกับฟลายเวทอยู่นั่นแหละ รัฐบาลก็ปล่อยให้ต่อยกัน บอกว่าการค้าเสรีๆ เสรีแบบเอามวยคนละรุ่นมาต่อยกัน ขนาดตีกอล์ฟยังแฮนดีแค็ปมีแต้มต่อ นี่ขนาดว่าเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศนะ

ทำไมตัวเลขต้นทุนและผลผลิตต่อไร่ของนาข้าวอินทรีย์ จึงไม่เพียงพอที่จะสร้างแรงจูงใจหรือเป็นหลักฐานยืนยันให้เปลี่ยนอย่างมีเหตุมีผลได้

เขาบอกว่าเราทำไม่ถูกหลักการ (หัวเราะ) วันที่ผมให้ข้อมูลผ่านทีวี บอกว่าเราทำนาวิธีนี้ได้ผลผลิต 150 ถังต่อไร่ อธิบดีกรมการข้าวร้อนก้น สั่งเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพฯยกทีมมาหาเรา ถามว่าได้จริงมั้ย ทำได้ยังไง ผมบอก… โน่น…ไปถามชาวบ้านโน่น ไม่ต้องมาถามผม ชาวบ้านเขาทำกันเยอะแยะ

เขาก็ไปเลยนะ ซักถามชาวบ้านละเอียด เอาข้อมูลไปส่งให้อธิบดี… เราก็นึกว่าจะกระตือรือร้น…เปล่าเลยเงียบหายเฉยๆ ปรากฏว่าอาทิตย์ถัดมา ท่านรองราชเลขาสำนักพระราชวังมาที่นี่ ท่านบอกว่าก่อนมา ชวนอธิบดีกรมการข้าวมาด้วยเพราะเป็นเพื่อนกัน วันอาทิตย์ก็น่าจะมาได้ ท่านอธิบดีบอก…โอ้ย…ข้าวขวัญน่ะเหรอรู้จักแล้ว ส่งลูกน้องไปเอามาแล้ว ไม่ไปหรอก ท่านรองราชเลขาฯถามว่า อ้าว…ทำไมไม่ไปล่ะ ท่านอธิบดีก็ว่า แนวทางมันขัดกัน เราทำไม่ถูกหลักการ (หัวเราะ) ดี…แต่ไม่ถูกหลักการ เขาไม่เอา

หลักการที่ว่าคืออะไร

หลักการของเขาคือใช้ปุ๋ยใช้ยา ใช้แบบที่เขากำหนดให้ เราก็ไปเถียงเขาไม่ได้ กรมการข้าวเขาเป็นคนรู้เรื่องข้าวดีที่สุด เราทำแบบอินทรีย์เราก็ใช้ของเราเอง ทุกวันนี้อย่าว่าแต่ปุ๋ยยาเคมีเลย ปุ๋ยหมักสมุนไพรคุมศัตรูพืชเรายังเลิกใช้ พันธุ์ข้าวก็ทำเองไม่ใช่พันธุ์ข้าวของเขา ซึ่งขัดหลักการเขาทั้งหมด

เราทำได้ต่อไร่ 150 ถัง ต้นทุนไม่ถึง 2,000 บาทเขาไม่เอา ของเขาเต็มที่ตั้งแต่ตั้งกรมฯมาทำได้ไม่เกิน 130 ถัง ต้นทุนต่อไร่ 7,000 กว่าบาท อย่างนี้เอา…แล้วเราจะไปหวังอะไร คือลึกๆ แล้วเขาเห็นเราเป็นศัตรู

โดยระบบภาระหนี้สินของชาวนา มันมีข้อผูกมัดมั้ยครับว่าถ้ากู้มาแล้วต้องเอาเงินไปซื้อยาซื้อปุ๋ยตามเงื่อนไข

ไม่ต้อง คุณกู้ไปแล้วคุณจะไปทำอะไรก็ได้ เขาไม่ได้บอกว่ากู้แล้วต้องไปซื้อปุ๋ยซื้อยา ไม่ได้กำหนดขนาดนั้น คุณไม่ใช้ก็ยิ่งดี เดี๋ยวนี้ ธกส.เขาก็มีหน่วยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ด้วยซ้ำ

แล้วเรื่องหนี้สิน คนมักจะไปมองว่าต้องมีใครมาช่วย แต่จริงๆ แล้วชาวนาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีที่สุด อย่างคุณชัยพร (ชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นประจำปี 2538 ชาวบางปลาม้า สุพรรณบุรี) ก่อนหน้านี้มีนาอยู่ 30 ไร่ เคยเป็นหนี้เป็นสิน แต่ช่วงปี 2532-2533 พอมาเริ่มทำแบบผม ตอนนั้นแกยังไม่เก่งแบบนี้ด้วยซ้ำ ยังทำเกษตรอินทรีย์ไม่เป็น ทำแค่ยาคุมแมลงอย่างเดียว ปุ๋ยยังทำไม่เป็น

เราก็บอกให้แกเลิกเผาฟางอย่างเดียวก่อน ปรากฏว่าพอทำแบบนี้ต้นทุนลดทันที กำไรต่อไร่ก็สูงขึ้น พอได้เงินแกก็เอาไปซื้อนาสิ ปีหนึ่งเขาซื้อนาสิบไร่ๆ เดี๋ยวนี้มีนา 105 ไร่…โดยประมาณนะ ปีนี้ ต้นทุนต่อไร่ของเขาไม่เกิน 1,900 บาท ขายข้าวเฉลี่ยต่อไร่ได้ประมาณ 12,000 บาท คิดดูกำไรต่อไร่ก็ 10,000 บาทเข้าไปแล้ว มีนา 105 ไร่ก็ได้ล้านบาทสบายๆ นี่คือฤดูเดียวนะ

ทุกวันนี้ลูกของคุณชัยพรเรียนปริญญาโท 2 คน ปริญญาตรี 1 คน ดีกว่าพวกเราอีก ตอนนี้เมียเป็น อบต. ส่วนตัวเขาออกรถสิบล้อมา 2 คัน เป็นวิทยากรบรรยายทั่วประเทศ

อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนอื่นๆ เปลี่ยนมาเป็นแบบนั้นบ้างไม่ได้

ตัวเองนั่นแหละ เพราะตัวเองถูกครอบงำโดยกระบวนทัศน์อย่างที่ว่า เหมือนมีโปรแกรมสั่งว่าอย่างไหนทำได้อย่างไหนทำไม่ได้ ชาวบ้านบางคนบอกผมว่ามันทำใจให้ยอมรับไม่ได้

ตรงนี้สำคัญ ทำใจไม่ได้หมายความว่าอะไร หมายความว่าชาวนาสมัยนี้ถ้าไม่ได้ใส่ปุ๋ยฉีดยาแล้วนอนไม่หลับ มันกระวนกระวาย โอ้โห…เรื่องนี้ไม่ธรรมดา มันเหมือนกับบังคับให้คนเปลี่ยนศาสนา เหมือนบังคับให้มุสลิมไปกินหมู…แบบเดียวกัน กินไม่ตายหรอกหมูน่ะ แต่ว่ากินไม่ได้ ทำใจไม่ได้ ความเชื่อคนเป็นได้ขนาดนั้น เพราะเขาโดนโฆษณาล้างสมองมาหลายชั่วคน

ผมเองก็เคยโดนกรอกข้อมูลแบบนี้ เพราะเรียนมาทางปุ๋ยยา ซึ่งพวกนี้เขาจะเชื่อแบบเป็นศาสนาเลยไง ถ้าเราไปเถียงกับพวกศาสตราจารย์เรื่องปุ๋ย เขาไม่มีทางเชื่อหรอก ยิ่งเรียนมาลึกกว่าเราด้วยซ้ำ เหมือนกับว่าถ้าเขาหันมาเชื่อเรา จะกลายเป็นว่าที่เรียนมานั้นกลายเป็นโกหกทั้งหมด เขาเป็นศาสตราจารย์ เป็นศาสดา อยู่ๆ จะมายอมเปลี่ยนศาสนาได้ยังไง (หัวเราะ) ถามว่าคณะเกษตรฯทุกมหาวิทยาลัยนั้นเขาสอนอะไร ไปดูได้เลย สอนปุ๋ยสอนยาทั้งนั้น

สถานการณ์ราคาข้าวและวิกฤติอาหารอย่างในปัจจุบัน เป็นผลบวกหรือลบต่อตลาดเกษตรอินทรีย์ครับ

บวกสิ เกษตรอินทรีย์น่ะไม่ต้องเป็นห่วงเลยนะ แต่ก่อนน่ะเขารังเกียจเกษตรอินทรีย์กันจะตาย เพราะมันแพง จริงๆ ไม่แพงเลย เราตั้งราคาตามต้นทุนเป็นจริง ตามความเป็นธรรม เป็นแฟร์เทรด แต่เดี๋ยวนี้ราคาเคมีมันแพงกว่าอินทรีย์ที่เราตั้งไว้แล้วนะ เพราะฉะนั้นสินค้าอินทรีย์จะขายง่าย แพงกว่านิดหน่อยก็ขายได้ เพราะว่าเคมีมันแพงขึ้นมาก

หมายความว่าในตอนนี้ที่ข้าวนาเคมีราคาสูงขึ้น แต่ราคาข้าวอินทรีย์ไม่ได้ขึ้นตาม?

ปกติเราจะมีตลาดล่วงหน้า คือเราขายราคาคงที่ไม่ขึ้นลงเหมือนเขา จริงๆ แล้วถ้าเราไม่ขึ้นตอนนี้นะไม่มีขายหรอก เขามาซื้อข้าวเราไปปนกับข้าวเคมีแล้วขายเคมีได้แพงกว่า ฉะนั้นเราต้องขึ้นด้วย อย่างน้อยก็ไม่ให้ถูกกว่าข้าวนาเคมี

อย่างคุณชัยพรบอกว่าราคาข้าวหมื่นกว่านั่นน่ะแกไม่ได้สนใจหรอก  แค่ 4,000 ก็กำไรครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะต้นทุนของเขาแค่ 2,000 ใช่มั้ย แต่ชาวนาทั่วไปต้นทุน 7,000 บาทต่อไร่ เพราะฉะนั้นในระยะยาวข้าวอินทรีย์ไม่ต้องขายแพงก็ได้ ขายตามเขาไปนี่แหละ หรือต้องคุมไม่ให้ถูกกว่าเขามาก คือถ้าขายตรงกับผู้บริโภคน่ะเราขายถูกกว่าได้ แต่ถ้าขายส่งทำไม่ได้เพราะตลาดมันจะมาทุ่มซื้อเอาไปขายแพงและไม่เป็นธรรม

แต่ดูเหมือนแนวโน้มการแก้ปัญหา กลายเป็นว่าคนยิ่งจะไปผลักดันพืชจีเอ็มโอเพิ่มขึ้นหรือเปล่าครับ เพราะมีข้ออ้างความชอบธรรมเรื่องวิกฤติอาหารวิกฤติพลังงานเพิ่มขึ้นมาแล้ว

คือ…(ทำเสียงเหนื่อย) คนเรามันชอบแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาใหม่ แล้วปัญหาใหม่ก็ยากกว่าขึ้นเดิมเรื่อยๆ ด้วย เหมือนกับปลูกมัน พอดินเสียก็หันมาปลูกยูคาลิปตัส ดินเสียอีก ปลูกพืชจีเอ็มโอ สุดท้ายมันก็แย่เกินจะเยียวยารักษา เพราะเราต่อยอดปัญหาไปเรื่อยๆ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ

คนต้องแก้ที่ตัวเองก่อนว่าคนนี่มีส่วนสร้างปัญหาอย่างไร เอาตัวเองเป็นตัวตั้งก่อน ไม่ต้องไปเอาไกล ถ้าเราเป็นตัวสร้างปัญหาก็เลิกปัญหาซะ เมื่อแก้ปัญหาของตัวเองได้ถ้าจะให้ดีก็ควรช่วยคนอื่นแก้ปัญหาต่อด้วย ทั้งหมดนี้ควรคิดจากตัวเองแล้วค่อยๆ ขยายไป แต่ถ้าลำพังตัวเองยังไม่ทำ แล้วจะไปพึ่งรัฐบาลได้ไง เราควรคิดแบบพุทธ กรรมของใครก็เป็นของคนนั้น เราทำอะไรก็ได้กับเรา

ที่พี่เคยพูดถึงเรื่องการสื่อสารกับแม่โพสพ จนนำไปสู่การค้นพบวิธีสู้กับโรคสู้กับแมลง สุดท้ายสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตดีโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหมักไม่ต้องใช้สมุนไพรคุมศัตรูพืช อันนี้เป็นคำพูดเชิงเปรียบเทียบ หรือเป็นประสบการณ์จริงครับ

ความเชื่อเกี่ยวกับเทพนั้นเป็นความเชื่อที่มีอยู่ทุกชนชาติทุกสังคม อย่างเราก็มีแม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพใช่มั้ย พระภูมิเจ้าที่ นางไม้น่ะ มีมานานแล้ว แต่ผมเป็นคนสมัยใหม่ เป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาสซึ่งต่อต้านเรื่องนี้ตลอด ผมเองก็ไม่เชื่อหรอก ไม่เชื่อมานานแล้ว

ทีนี้ตอนหลัง มันมีประสบการณ์ที่เราไม่สามารถอธิบายได้เยอะแยะเลย ผมก็เริ่มสนใจหาความรู้เริ่มจากเพื่อนคือคุณประชา หุตานุวัตร แกมีภรรยาเป็นชาวอังกฤษ ซึ่งมีโอกาสคลุกคลีกับกลุ่มนิวเอจในสก็อตแลนด์ พวกนี้มีประสบการณ์และศึกษาทางจิตวิญญาณมาเยอะ เช่น เขาปลูกกะหล่ำปลีในพื้นที่ที่ดินไม่ได้ น้ำก็ไม่ดี แต่สามารถปลูกได้หัวหนึ่งหนัก 18 กิโลฯ บ้านเราอัดปุ๋ยอัดยาแทบตายอย่างมากได้แค่ 3 กิโลฯ เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังอธิบายไม่ได้ แต่กลุ่มนิวเอจเขาอธิบายว่าผลลัพธ์ที่ออกมาแบบนั้นเพราะเขาสามารถสื่อสารกับเทพได้ (หัวเราะ) ผมก็มานั่งคิดสิ เทพประจำข้าวของเราคือแม่โพสพ ถ้าเราสามารถสื่อสารกับท่านได้ ทำนาโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา แต่ให้ผลผลิต 3 เกวียนต่อไร่…ก็คงดี (หัวเราะ)

คือโดยความหมายก็คงคล้ายๆ คติแบบไทยแบบอินเดียเหมือนในพระมหาชนกนั่นแหละ มหาชนกเป็นมนุษย์ธรรมดาแต่มีความเพียรสูงใช่มั้ยล่ะ เรือล่มกลางทะเลตอนแรกๆ ทุกคนต่างก็ว่ายน้ำเอาตัวรอดทั้งที่มองไม่เห็นฝั่ง นานๆ ไปคนที่เหน็ดเหนื่อยท้อแท้ก็เลิกว่ายปล่อยให้คลื่นลมกลืนชีวิตไป แต่พระมหาชนกไม่เป็นแบบนั้น ก็ยังว่ายไปเรื่อยๆ เห็นฝั่งไม่เห็นฝั่งก็ว่าย สุดท้ายนางเมขลาทนดูไม่ไหว เห็นว่าคนคนนี้ยังไงก็ต้องตายแต่ทำไมถึงว่ายไม่หยุด พอลงมาถามพระมหาชนกก็ตอบธรรมดาๆ นี่แหละว่า เกิดเป็นคนต้องพยายามให้เต็มที่เต็มความสามารถ ไม่ยอมงอมืองอเท้าสยบยอมความตายเป็นอันขาด นางเมขลาเห็นดังนั้นก็ โอ…คนคนนี้มีมานะมาก เป็นคนดีมีประโยชน์ถ้ามีชีวิตรอดจะเป็นคุณต่อบ้านเมือง ก็เลยช่วยอุ้มขึ้นฝั่งกลายเป็นเจ้าเมืองไปเลย (หัวเราะ)

ผมก็มานั่งคิด เราเองก็คงถูกแม่โพสพเลือกแล้วว่าให้มาทำงานด้านข้าว มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาทำหรอก อย่างผมเรียนมาด้านสัตว์ พื้นฐานตระกูลมีไร่นาให้คนเช่า เคยเป็นข้าราชการ เคยบวช เคยทำงานองค์กรเอกชน แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาทำงานเรื่องข้าว เพราะเราถูกเลือกแล้ว วันนั้นก็ชวนเพื่อนชาวต่างชาติที่เขามีความรู้เรื่องนิวเอจมาที่นี่ ให้เขามาลองต่อกับแม่โพสพ (หัวเราะ) ตอนนั้นเราเองก็ไม่ได้คิดอะไร จริงก็รับ ไม่จริงก็ไม่รับ ปรากฏเขาบอกว่าแม่โพสพน่ะมีจริง เทพแห่งข้าวมีจริง แต่ไม่มีเพศหรอก เทพเหล่านี้เป็นคล้ายๆ พลังงาน ซึ่งพลังงานของเทพแห่งข้าวนั้นสูงมาก

เพราะฉะนั้น เมื่อผมเป็นผู้ที่แม่โพสพเลือกแล้ว เวลาเราคิดวิธีควบคุมแมลง คิดการทำจุลินทรีย์ การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว วิธีการปรับปรุงดิน ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้คิดเอง แต่มันแวบขึ้นมา เหมือนกับแม่โพสพมาสอนเราให้เห็นช่องทางต่อสู้กับเกษตรเคมี มันเหมือนเส้นผมบังภูเขาที่แวบขึ้นมาโดยฉับพลัน เพียงแค่มีอะไรสักอย่างเคลื่อนย้ายสิ่งบังตาออกไป ทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่

คล้ายๆ วิถีธรรมชาติแบบฟุกุโอกะ คือเราอยู่ตรงนั้นในธรรมชาติที่พอดี อยู่ในสถานที่และเวลาพอเหมาะ เราก็จะเข้าไปได้เลย ฟุกุโอกะน่ะเขากลัวตาย เขาก็เลยพเนจรร่อนเร่ พอไปถึงปากอ่าวโยโกฮามา เขาก็นั่งลงตรงหน้าผา แล้วก็หลับๆ ตื่นๆ จนสว่างก็มีนกนางนวลบินวาบมา ฟูกูโอกะรู้สึกสว่างโพล่งเลย เขาเรียก…(ทำท่าคิด)

ซาโตริ ?

ใช่ๆ รู้เลยว่าชีวิตคืออะไร มันแวบเดียว แต่ได้แค่ครั้งเดียวในชีวิตนะ

พวกนิวเอจเขาจะมีวิธีการเข้าถึงภาวะแบบนั้น เช่น การสื่อสารกับเทพ การนั่งสมาธิ หรือการใช้สมุนไพรบางชนิดที่องค์ประกอบของมันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในร่างกายของเรา เช่น การใช้ต้น Ayawasca ในป่าอะเมซอนเพื่อเข้าถึงสภาวะนั้น สรรพคุณของพืชตัวนี้คือมันจะไปเปิดการทำงานของสมองมนุษย์ เพราะมนุษย์ปกติใช่สมองแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่ใช่ยาหลอนประสาทหรือยาเสพติดนะ หลักการสำคัญของการใช้สมุนไพรคือต้องไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายมนุษย์ไม่รู้จัก

ของแบบนี้ต้องขึ้นกับต้นทุนของแต่ละคนด้วย ไม่ใช่เหมาะกับทุกคน ?

แล้วก็ต้องอยู่ในห้วงเวลาและสถานที่เหมาะสมด้วย อย่างผมยอมรับว่าไม่มีวาสนาในการนั่งสมาธิ ผมก็ต้องใช้วิธีเข้าถึงสภาวะนั้นอีกแบบ

มีวิธีการอื่นอีกมั้ยครับ เช่น ศึกษาทำความเข้าใจหรือเข้าถึงสภาวะนั้นด้วยการอ่านการศึกษา

นั่นคือสุตามยปัญญา คือปัญญาจากการอ่านการฟัง เป็นภูมิปัญญาชั้นต่ำสุด ระดับต่อมา คือ จินตามยปัญญา เป็นปัญญาจากการคิด การใช้สมอง แต่ปัญญาขั้นสูงสุดคือ ภาวนามยปัญญา คือใช้จิต เข้าถึงปัญญาสูงสุดแบบเหตุผลระดับมนุษย์ใช้ไม่ได้

สิ่งที่แม่โพสพบอกนั้น มีอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง

ก็นี่ไง การควบคุมแมลง เมื่อก่อนเขาต้องใช้ยาเคมีใช่มั้ย แม้แต่การฉีดแบบสมุนไพรมันก็ฆ่าเหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่เป็นอันตรายต่อคน ทีนี้วิธีผมไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้แมลงจัดการกันเอง ตอนนี้ผมไม่ได้ฉีดสมุนไพรมานานแล้ว

ปุ๋ยหมักอีก ถ้าไม่ใช้ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ก็ต้องใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ต้องใช้เยอะเป็นตันๆ แล้วก็เหนื่อย หนัก ต้องแบกไปใส่ ทำก็ช้า แพงก็แพง ผมบอกไม่ต้องใส่ปุ๋ย มีฟางก็เปลี่ยนฟางเป็นปุ๋ย เปลี่ยนยังไง ก็ไปเอาจุลินทรีย์ในป่ามาทำ แล้วก็ใส่เข้าไป ทำเป็นปุ๋ยก็ไม่ต้องทำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกใดๆ ทั้งสิ้น ไถก็ไม่ต้องไถ ย่ำเอาเฉยๆ ไอ้แบบนี้ใครจะมาสอนผม และผมก็ไม่มีทางคิดได้เอง ตอนแรกผม บอกให้ผู้ช่วยไปลองทำดูก่อน เขาบอกไม่ไหวหรอกพี่ ไม่ได้ผลแน่ ผมบอกให้ลองดูแปลงหนึ่งก่อน ได้ผลไม่ได้ผลเดี๋ยวรู้ พอทำแล้วก็ได้ผลจริงๆ เขายังบอก โห…ขนาดนี้เลยเหรอ

แล้วก็ข้าว ทำไมต้องมาแกะเป็นข้าวกล้อง แกะให้สวยๆ คัดเป็นนางงามจักรวาลเลย แล้วเอาไปเพาะให้งอก พอเพาะงอกแล้วเป็นร้อยเม็ดนี่นะ เอาไปปลูกเลย ไม่ต้องใส่ปุ๋ยฉีดยา ให้มันช่วยตัวเอง ต้นไหนดีที่สุด ก็เอาต้นนั้นมาขยายพันธุ์ต่อ ปลูกชั้นสอง จนกระทั่งทุกเม็ดเสมอกัน กลายเป็นข้าวที่ถูกคัดมาแล้ว ทีนี้ข้าวของเราไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา

สามเทคนิคนี้อยู่ๆ ผมจะมานั่งคิดได้เองเหรอ ผมไม่ได้เรียนข้าวมาก่อน มับแวบขึ้นมาเฉยๆ ในช่วงที่จิตว่างเหมือนมีพลังอะไรมีเคลื่อนย้ายของบังตา

เวลาพี่ไปแนะนำชาวบ้านเรื่องการปลูกข้าววิธีนี้ พี่บอกเขามั้ยว่านี่เป็นวิธีที่แม่โพสพแนะนำ

(หัวเราะ) ผมก็ต้องระวังสิ ไม่งั้นคนเขาจะว่าผมบ้าได้ง่ายๆ

อ้าว อย่างวันก่อนผมนั่งบรรยายอยู่ในห้องที่นี่แหละ มีฝรั่งมานั่งฟังเต็มห้องเลย ปรากฏว่ามีฝรั่งคนหนึ่งบอกว่าเขาเห็นแม่โพสพนั่งยิ้มอยู่ข้างๆ ผม ข้างๆ เครื่องสังคโลกอายุ 700 ปีในห้องประชุม ผมเองไม่เห็นหรอก แต่เพื่อนฝรั่งหลายคนก็บอกว่า เทพน่ะโปรดผม…ฟังๆ เหมือนผมเป็น ‘เด็กเทพ’ มั้ย (หัวเราะ)

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน WAY#16 พฤษภาคม 2551

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า