สมองผุด้วยฟลูโอไรด์ในน้ำประปา

brain-1

นานมาแล้ว เคยมีทฤษฎีสมคบคิดในสังคมอเมริกัน ที่เชื่อกันว่า รัฐบาลเติมฟลูโอไรด์ลงไปในน้ำดื่ม เพื่อล้างสมองประชาชน ให้เป็นคนว่านอนสอนง่าย รัฐจะทำการใดพ่อแม่พี่น้องก็ต้องพลอยพยักไปโดยไม่ต้องใช้หัวคิด

ศัลยแพทย์ระบบประสาท ดร.รัสเซลล์ เบลย์ล็อก ผู้ให้ข้อมูลอันตรายของการใช้วัคซีน พิษจากวัสดุอุดฟัน เครื่องครัวอลูมิเนียม ยาฆ่าแมลง เคยเขียนรายงานที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Blaylock Wellness Report ของ Newsmax มีหัวข้อว่า What the dentist will never tell you! และ Why Fluoride is Toxic ได้เปิดเผยถึงอันตรายของการเติมฟลูโอไรด์ลงในน้ำดื่มว่า สารเคมีตัวนี้มีภัยกว่าที่คิด เพราะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและการทำงานของสมอง

ดร.เบลย์ล็อกบอกว่า ฟลูโอไรด์ที่ใช้ในการแพทย์ผ่านการรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ แต่ฟลูโอไรด์ก็เป็นสาเหตุของอาการกระดูกเปราะในกลุ่มผู้สูงอายุ อาจมีอาการกระดูกสันหลังผิดปกติ ลดการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นหมัน ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงที่บุตรจะมีปัญหาทางสมอง ทำให้เกิดภาวะไอคิวต่ำและทำลายสมองในเด็ก รวมถึงเป็นสาเหตุของอัลไซเมอร์ในผู้ใหญ่

ปี 2006 ทีมวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุขฮาวาร์ด (Harvard School of Public Health)  และวิทยาลัยแพทย์เมาท์ไซไน (School of Medicine at Mount Sinai) พบว่า สารเคมี 5 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว (lead) ปรอท (methylmercury เป็นรูปแบบหนึ่งของปรอทที่พบในอาหารทะเล) โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (polychlorinated biphenyls) สารหนู (arsenic) และโทลูอีน (toluene) เป็นสารที่ทำลายระบบประสาท และส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง

ในเว็บไซต์ของ Time Magazine มีรายงานข้อมูลใหม่ว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่เด็กถูกสารเคมีทำลายสมองมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งออทิสติก โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorders: ADHD) และปัญญาบกพร่องในการอ่าน (Dyslexia) โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2006 ถึง 2 เท่า

Water running from tap, side view

ตอนนี้ทีมวิจัยชุดเดิมเปิดเผยว่า ยังมีสารเคมีที่ใช้ในระบบอุตสาหกรรมอีก 6 ชนิดที่มีฤทธิ์ทำลายสมองเช่นกัน คือ แมงกานีส (manganese) ฟลูโอไรด์ (fluoride) คลอร์ไพริฟอส (chlopyrifos) ดีดีที (ichlorodiphenyltrichloroethane) เตตราคลอโรเอทิลีน (tetrachloroethylene) โพลีโบรมีเนทไดฟินีลอีเทอร์ (polybrominated diphenyl ethers) ทั้งหมดนี้สามารถพบในน้ำดื่ม ที่สำคัญคือ ร้อยละ 70 น้ำประปาที่ใช้ดื่มในสหรัฐผ่านกระบวนการเติมฟลูโอไรด์ลงไปแล้ว ซึ่งการรับสารเคมีชนิดหนึ่งเข้าไปในปรมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

จากการทดลองของทีมในคน 23 เคส และสัตว์ 100 เคส สามารถยืนยันได้ว่า ฟลูโอไรด์นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความผิดปกติทางสมอง โดยเฉพาะฟลูโอไรด์ที่ทำให้ระดับไอคิวลดลงโดยเฉลี่ย 7 จุด

ดร.เบลย์ล็อก บอกว่า เมื่อฟลูโอไรด์ไปทำปฏิกริยากับอลูมิเนียม จะทำให้ปริมาณสารพิษจากอลูมิเนียมเพิ่มขึ้น มีอันตรายต่อร่างกายมากขึ้น

จากการทดลองในหนูที่ได้รับฟลูโอไรด์เข้าไปเพียงเล็กน้อย ปฏิกริยาที่ได้จากอลูมิเนียมจะเพิ่มขึ้นมหาศาล จนระบบประสาทเสื่อม นอกจากนี้วารสารที่เคยตีพิมพ์ผลการทดลองทางการแพทย์ที่ออกมาเมื่อปี 1998 เคยบอกไว้ว่า ฟลูโอไรด์จะทำให้ร่างกายดูดซึมอลูมิเนียมและโลหะอีกหลายชนิดได้มากขึ้น ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน จนเกิดความผิดปกติ

น้ำประปาหลายแห่งในโลกยังมีอลูมิเนียมและฟลูโอไรด์ องค์การอนามัยโลก (WHO) อธิบายว่า aluminum salt (สารผสมในวัคซีนหลายชนิด) ใช้เติมในน้ำเพื่อให้ตกตะกอนคอลลอยด์ (coagulation) ซึ่งจะทำให้น้ำที่ผ่านกระบวนการแล้วมีปริมาณอลูมิเนียมสูงกว่าปกติ และจะมีอันตรายมากขึ้นไปอีกหากมีการเติมฟลูโอไรด์ลงไปด้วย

วารสาร Brain Research ให้ข้อมูลว่า หลังการผ่าชันสูตรสัตว์ที่ได้รับสารฟลูโอไรด์ และอลูมิเนียม-ฟลูโอไรด์ พบว่า เยื่อหุ้มสมองของสัตว์ทดลองจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสมองของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ และความจำเสื่อม ซึ่งสอดคล้องกับผลงานที่วารสาร Neurotoxicology and Teratology เคยตีพิมพ์ไว้ตั้งแต่ปี 1995

ทั้งนี้ ในปี 2007 สมาคมทันตกรรมสหรัฐ (American Dental Association: ADA) และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้ออกมาเตือนว่า ควรมีการพิจารณาปริมาณการใช้ฟลูโอไรด์ในน้ำสำหรับผสมอาหารเด็กทารก เพราะอาจทำให้เกิดโรคแพ้ฟลูโอไรด์ (fluorosis) ซึ่งทำให้ฟันเปลี่ยนสีหรือฟันเกิดความเสียหาย ในปี 2010 วารสาร Journal of the American Dental Association ก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยความเสี่ยงคล้ายกันนี้

อย่างไรก็ตาม CDC ยืนยันว่าฟลูโอไรด์ในน้ำประปาที่ใช้ดื่มนั้นปลอดภัย และยกให้กรณีฟลูโอไรด์ในน้ำเป็น 1 ใน 10 วาระด้านสุขภาพของศตวรรษที่ 20 ส่วนปัญหาเรื่องโรคแพ้ฟลูโอไรด์นั้นเป็นปัญหาเรื่อง ‘เครื่องสำอาง’

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

time.com
naturalnews.com
w3.newsmax.com
mercola.com
huffingtonpost.com

 

 logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า