‘หนังพาไป’ …ย้อนดูตัวเอง

พิศาล แสงจันทร์ ,ทายาท เดชเสถียร,หนังพาไป

เรื่อง : อภิรดา มีเดช

ภาพ : อนุช ยนตมุติ

“ขอเชิญแพคกระเป๋า ผูกเชือกรองเท้าแน่นๆ แล้วไปด้วยกัน กับ…หนังพาไป”

เสียงไตเติลรายการนี้ดังขึ้นทีไร แสดงว่าถึงเวลา 3 ทุ่มครึ่งของวันอาทิตย์แล้ว

ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนสารคดีท่องเที่ยวแบบกันเอง เสื้อผ้าหน้าผมปล่อยตามธรรมชาติ แต่กลับสร้างชีวิตชีวาให้รายการ และที่สำคัญ ดูสนุกมาก

เพราะคอนเซปท์รายการ ‘หนังพาไป’ ทางช่องทีวีไทย มาจากหนังสั้นแปลกๆ ที่สองคู่หู ยอด-พิศาล แสงจันทร์ และ บอล-ทายาท เดชเสถียร ทำและตระเวนส่งเทศกาลหนังในต่างประเทศหลายสิบที่ ซึ่งกลายเป็นใบเบิกทางให้พวกเขามายืนอยู่ ณ จุดที่นักทำหนังสั้นอิสระส่วนใหญ่ใฝ่ฝันถึง

พวกเขาเป็นทุกอย่างของรายการ ตั้งแต่โปรดิวเซอร์ ตัดต่อ ผู้กำกับ จนถึงสลับกันออกมาพูดคุยกับคนดูหน้ากล้อง

ไปเมืองนอก ใครๆ ก็ต้องคาดหวังว่าจะไปหาอะไรอร่อยๆ กิน พักที่สบายๆ เที่ยวที่สวยๆ แล้วถ่ายรูปงามๆ มาโพสต์ลงเฟซบุ๊ค แต่สองหนุ่มกลับเลือกทำตรงกันข้าม ตั้งแต่รอเวลาให้ท้องหิวจริงๆ ถึงจะไปกระเบียดกระเสียรซื้อขนมปังสักก้อน ไม่อย่างนั้นก็อาศัยอานิสงส์กินฟรีเท่าที่จะทำได้ ที่พักหรือก็ขออาศัยหลวงพี่ พูดง่ายๆ คือ นอนวัด

แม้ไม่สามารถนิยามได้ว่า ‘หนังพาไป’ เป็นรายการประเภทใดกันแน่ เพราะคล้ายจะรวบสารคดีเดินทางของ (คนทำ) หนัง เข้ากับรายการกินอยู่อย่างประหยัดจากญี่ปุ่น ไม่หมดแค่นั้น พวกเขายังพ่วงมุมมองที่ลึกและกว้างขวางไปกว่าการนำเที่ยว ให้ผู้ชมซึมซับสารที่ต้องการสื่อได้โดยไม่ต้องยัดเยียด

เรียกว่าเป็นรายการที่สามารถหา ‘ที่ทาง’ เป็นของตัวเองได้อย่างลงตัว กระทั่งสร้างกลุ่มแฟนานุแฟนผู้ติดตามอย่างเหนียวแน่นนับหมื่นราย (เฉพาะผู้ที่กด Like ไว้ในเพจรายการ)
กว่าจะถึงวันนี้ พวกเขาต้องออกแรงวิ่งสุดชีวิตเพื่อไล่ตามฝัน ไขว่คว้าหาโอกาส ที่วันหนึ่งเคยปิดประตูใส่พวกเขามาแล้ว

บ่ายกลางสัปดาห์ปลายเดือนมีนาคม เรานัดคุยกับพวกเขาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม้จะจบไปแล้วหลายปี แต่ศิษย์เก่าทั้งคู่ยังผูกพันกับสถานศึกษาที่เคยอุดหนุนทุนก้อนแรกให้พวกเขาได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง

ฟ้าเพิ่งหมาดฝน อากาศกำลังสบาย พอดีกับที่สองหนุ่มเดินเข้ามาทักทายเราในร้านกาแฟ

 

พิศาล แสงจันทร์ ,ทายาท เดชเสถียร,หนังพาไป

ไม่เหมือนใคร

ก่อนจะได้สิทธิ์ออกอากาศ ‘หนังพาไป’ เคยถูกเปรียบเทียบกับรายการของ เรย์-แมคโดนัลด์ หนุ่มลูกครึ่งอดีตขบถเจ้าของคำจำกัดความ ‘แบคแพคเกอร์’ รุ่นพี่

ว่ากันจริงๆ ถ้าใครไม่เคยดู คงคิดว่ารายการนี้มาแนวเดียวกับเรย์แน่นอน

ใช่ ทั้งคู่ยอมรับว่าเรย์เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ แต่ผิดถนัด หากคิดว่ารายการพวกเขามาแนวเดียวกับเรย์

“พอออกมาจริงๆ แล้ว ไม่มีใครเทียบเลยนะ” ยอดเล่า

ถ้าพวกเขาไม่ออกมาเล่าหน้ากล้องใน ‘หนังพาไป’ รายการอาจจะไม่สนุกอย่างนี้

“แม่มานั่งดู บอกว่าก็สนุกนะ แต่ใครเขาจะมาดูลูกล่ะ เออ จริงว่ะแม่ นั่งทำมาตั้งนาน ไม่เคยคิดเลยว่า ใครจะมานั่งดูหน้าตาอย่างนี้” บอลเล่าขำๆ

จากข้อด้อย เลยกลายเป็นจุดขายโดยบังเอิญ

“ตอนถ่ายก็ไม่คิดว่าวันนึงจะเป็นรายการโทรทัศน์ได้จริงๆ ตอนไปก็รู้สึกว่า แค่พูดใส่กล้อง เพราะมันเป็นกล้องเรา

“เชื่อว่าคนไทยทุกคนที่ไปก็จะคิดอย่างนี้แหละ เพียงแต่เขาไม่ได้พูดออกมาผ่านทีวี” บอลว่า

วิธีเล่าเรื่องของทั้งคู่ มักใช้การเปรียบเทียบเป็นหลัก จนกลายเป็นที่จดจำว่าต้องมีการเทียบกันระหว่างบ้านเขา-บ้านเรา จากนั้นก็ปล่อยให้คนดูคิดต่อเอาเอง ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคือ ทำให้เกิดไอเดียจนอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ค่อยชอบมาพากลในบ้านเราเดี๋ยวนั้น แต่ข้อเสียก็คือ หลายคนติงว่ามาจิกกัดประเทศตัวเองทำไม ซึ่งบอลให้เหตุผลว่า

“จริงๆ บางอย่างยังอยากให้ไทยเป็นอย่างนี้ แต่บางอย่างปรับได้ไหม ไม่ใช่ว่าต้องเปลี่ยนไปเลย

“ไม่จำเป็นต้องเอารถไฟเก่าออกไปทั้งยวง รถเก่าคลาสสิกก็เก็บไว้ แต่ให้ตรงเวลามากขึ้นได้ไหม ปลอดภัยขึ้น อะไรที่จำเป็นก็เก็บไว้ อะไรที่เปลี่ยนได้ก็เปลี่ยน”

เทปไหนที่ดูจิกกัดประเทศไทย ก็จะมีอีเมลมาว่า ทำไมว่าประเทศไทยแบบนี้ สนุกนักเหรอ ขำตรงไหน ขณะเดียวกัน พอชมประเทศไทยแล้วว่าประเทศอื่นก็จะมีอีเมลมาเช่นกัน

“ที่ญี่ปุ่นไม่มีคนมานอนข้างถนนหรอก ไปจ้างมานอนใช่ไหม เซ็ตใช่ไหม”

แรกๆ โดนทุกเทป จนพวกเขายอมรับว่าตกใจ และรู้สึกแย่ไปเหมือนกัน แต่พอเจอเรื่อยๆ สัปดาห์ไหนไม่มีมาถือว่าแปลก อาจถึงขั้นคิดถึงด้วยซ้ำ

แต่เชื่อว่าถ้าดูแบบเปิดใจกว้างๆ จะรู้ว่าพวกเขาเล่าไปตามเนื้อผ้า อะไรดีก็ว่าดี ว่ากันตามที่เห็นจริงๆ

“ถ้าพูดโดยไม่เห็นภาพ จะกลายเป็นไอ้สองคนนี้มานั่งด่าๆๆ ก็เลยเอาภาพให้เห็นดีกว่า ว่าไปขึ้นรถไฟเมื่อไหร่ก็ไม่ตรงเวลา รถเมล์ก็เป็นอย่างนี้ พิสูจน์ได้ตลอดเวลา

“ไปเห็นทางจักรยานเขา คนไทยทุกคนก็ต้องรู้สึกว่าทำไมบ้านเราไม่มีทางจักรยานดีๆ แบบเขา บังเอิญมันได้พูดออกทีวี เลยแปลกกว่าเขา ไม่มีใครเขากล้าพูดกันเรื่องนี้” บอลอธิบายและยกตัวอย่าง

“รถไฟตรงเวลาว่ะ รถไฟมันตรงเวลาได้ด้วยเหรอในโลกนี้” ยอดช่วยเสริม

นอกจากความยาวและมหึมาของฟุตเตจแล้ว อีกสาเหตุที่พวกเขาตัดสินใจตัดเป็นรายการทีวี เพราะเชื่อสนิทใจว่า สังคมจะเปลี่ยนได้ และผู้ที่มีสิทธิ์มีเสียงจนสามารถเปลี่ยนสังคมได้มากที่สุด มีพลังที่สุด คือสื่อ

“รู้สึกว่าถ้าวันนึงมีโอกาสทำสื่อ ก็อยากจะพูดเรื่องพวกนี้ด้วย แต่ตอนนี้ก็พบว่า ต่อให้เป็นสื่อพูดแทบตาย ถ้ามันจะไม่เปลี่ยน มันก็ไม่เปลี่ยน” บอลกล่าว

เมื่อได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้ผลิตสื่อ ทำให้ทั้งคู่รู้ว่าแม้จะเป็นสื่อ ก็พูดได้ไม่ครบทุกเรื่อง แต่ก็พยายามสื่อสารกับคนดูเท่าที่ทำได้ เชื่อไหมว่า คนดูส่วนใหญ่ที่พวกเขาคาดว่าคงอยู่ในวัยรุ่นวัยทำงาน เกือบครึ่งเป็นวัยผู้ใหญ่ แต่ในความคิดพวกเขา ความหวังที่จะเปลี่ยนเมืองไทย คงต้องฝากไว้ที่คนรุ่นใหม่

“ถ้าผู้ใหญ่ไม่ได้ดูก็ขอให้ลูกเขาดู ดูแล้วมาบอกพ่อ ทำไมรถไฟไม่ตรงเวลาล่ะ ทำซะทีไหม ดีนะ ถ้ารถไฟตรงเวลา

“หวังกับรุ่นใหม่มากกว่า เพราะรุ่นเก่าเดี๋ยวก็หมดเวลาแล้ว รอเด็กๆ ดีกว่า” ยอดว่า

 

จงเชื่อตัวเอง

จากที่เคยเชื่อว่าโอกาสเป็นของนักวิ่งผู้เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกเท่านั้น เมื่อได้พบความจริงว่า ตัวเราต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนด ‘จังหวะ’ ให้สอดคล้องกับการคว้า ‘โอกาส’ ได้ตามต้องการ

จากคนรอโอกาสหล่นใส่ ตัดสินใจย้ายมาใช้เส้นชัยสมมุติของตัวเอง ถอดรองเท้าแล้วเริ่มออกวิ่งแบบที่ตัวเองถนัด แม้จะสะดุด หรือเหยียบเศษหินเศษดินจนเท้าเป็นแผล แต่ก็ถึงเส้นชัยไม่ต่างกัน

“ตอนที่วิ่งไปน่ะ จังหวะมันพอดีเลย เหมือนถ้าเราไม่วิ่งจะไม่ได้จังหวะนี้ ก็ลงล็อกมาเรื่อยๆ” ยอดว่า

บอลขยายความว่าที่ต้องวิ่งไปหาเพราะผิดหวังกับการเฝ้ารอ พวกเขาเคยประสบช่วงที่เคว้งคว้าง เพราะปฏิเสธที่จะทำงานประจำ แต่เมื่อไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง นานเข้าก็ฟุ้งซ่านและเริ่มคิดมากกับทุกๆ เรื่อง

พิศาล แสงจันทร์ ,ทายาท เดชเสถียร,หนังพาไป

“เรารอมานานเกินไปแล้ว เดินสายประกวดมากเกินไปแล้ว พอได้มานั่งคิด นั่งตกตะกอนกับมันว่า ไม่ได้แล้ว

“คนที่มีงานประจำทำอาจจะไม่มีเวลามานั่งครุ่นคิดอย่างเรา แต่เรามันกดดันหลายทาง จนต้องทำอะไรสักอย่างที่อยู่ในมือ ที่เราควบคุมได้” บอลกล่าว

คิดไปคิดมา แทนที่จะนั่งรอต่อไป สู้ทำเองแล้วส่งเองไม่ดีกว่าเหรอ

ความจริงที่ยอดและบอลค้นพบคือ ไม่จำเป็นต้องให้คณะกรรมการที่ไหนส่งหนังเข้าประกวด คนทำสามารถส่งเองได้เลย เทศกาลหนังทั่วโลกมีเยอะมาก และหนังของพวกเขาก็ไม่ได้เข้าฉายทุกเทศกาลที่ส่งไป แต่จะบอกว่าหนังไม่ดีก็ไม่ได้ เพราะมีเทศกาลที่ตอบรับงานจากพวกเขา

มันเป็นไอเดียที่บอกว่า ให้เชื่อตัวเอง

“ถ้าเรายังชอบงานนี้ หรือหนังเรื่องนี้ หรือสิ่งๆ นี้ ก็จะมีคนจำนวนนึงที่ชอบเหมือนเรา กลุ่มเล็กใหญ่ไม่รู้ แต่มันต้องมีคนกลุ่มหนึ่งแหละที่ชอบเหมือนเรา” บอลกล่าว

มันทำให้พวกเขาตื่นเต้นมากที่รู้ว่าคนรสนิยมเดียวกันมีอยู่ทั่วโลก

ประสบการณ์ส่งหนังสั้นไปประกวดพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า บางเทศกาลชื่นชอบหนังพวกเขามาก แต่บางแห่ง ตอบมาเลยว่าไม่ได้มาตรฐานเทศกาลเขา ก็ว่ากันไป

“ถ้าเราสนุกแล้วชอบ ก็แค่ทำต่อไปเรื่อยๆ วันนึงผลที่ออกมา จะเป็นตัวพิสูจน์เองว่ารสนิยมของเราเป็นรสนิยมหมู่มากหรือเปล่า”

 

ผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘หาทุน’

ปัญหาเปลาะแรกได้รับการแก้ตรงจุด พวกเขามีหนังสั้นออกมาเป็นรูปร่าง เมื่อส่งไปตามเทศกาลก็ได้รับเชิญไปฉาย แต่…เขาเชิญเฉพาะตัวหนังเข้าร่วม ไม่รวมคนทำ
นั่นทำให้ ยอดกับบอล ต้องดิ้นอีกครั้งเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนรอนจากหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่อยากมีส่วนร่วมให้โอกาสกับคนตัวเล็กๆ

ตอนที่ ‘หนังพาไป’ ออกอากาศเทปแรกๆ พวกเขาได้ไปออกรายการสดของทีวีไทย ตอนนั้นพูดถึงประสบการณ์ขอทุนจากสายการบินแห่งหนึ่ง ปรากฏว่ามีคนโทรมาจากที่นั่น ฝากบอกว่าฟังแล้วสะท้อนใจ เพราะเขาได้ตั๋วฟรีปีละไม่รู้กี่ใบ แต่ไม่มีสิทธิ์ให้คนอื่นต่อ นโยบายนี้มีคนตั้งคำถามมานาน แต่ไม่เคยมีการปรับปรุงเรื่องการสนับสนุนและให้โอกาสคน ขณะที่โควต้าบางอย่างค่อนข้างเกินพอดี

แน่นอน พวกเขาไม่ได้ส่งจดหมายขอทุนไปที่นั่นที่เดียว แต่ส่งไปทุกหน่วยงานที่คิดว่าเกี่ยวข้องและอาจมีงบไว้รองรับด้านนี้ นี่อาจสอดคล้องกับกฎแห่งเมล็ดพันธุ์ เมื่อเราหว่านเมล็ดลงดิน เป็นไปไม่ได้ที่พวกมันจะงอกเป็นต้นทุกเมล็ด

“จะไม่โกรธเลย เพราะรู้ว่าขั้นตอนเหล่านั้นเป็นการฝึกตัวเอง แต่โกรธเพราะบางหน่วยงาน เอาเงินที่บอกว่าไม่มีสนับสนุนไปทำอย่างอื่น แต่ก็บอกว่าช่วยเหลือประเทศชาติ ซึ่งดูแล้วมันไม่สมดุล

“แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ ถ้าน้องๆ ผ่านมาได้ มันจะเจ๋งและเก่งขึ้น” ยอด อดีตนักหาทุนกล่าว

****************************

 

พิศาล แสงจันทร์ ,ทายาท เดชเสถียร,หนังพาไป

ความลับสองคู่ซี้

เราแอบถามคำถามบอลตอนที่ยอดติดโทรศัพท์คุยงานอยู่ แต่พอถามยอดด้วยคำถามเดียวกัน เชื่อไหมว่า พวกเขาตอบตรงกันเป๊ะๆ ยังกับเตี๊ยมกัน

คำถามนั้นคือ “ไปกันสองคนแบบนี้เคยทะเลาะกันไหม”

บอลสวนมาแทบจะทันที “โอย…ตลอด” ก่อนอธิบายว่า เพราะการเดินทางแต่ละทริป ถูกวางไว้เต็มที่ เท่าที่ขอบเขตของวีซ่าจะอนุญาต ฉะนั้น ระยะเวลาร่วมเดือน ยังไงก็ต้องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา

“เราแบกเป้ไปแบบลำบาก ผ่านไปสัก 20 วันจะเริ่มเหนื่อย เพราะใช้พลังเยอะ บางทีก็ไม่ได้กินทุกอย่างที่อยากจะกิน ที่นอนก็ต้องไปหาเอา เหมือนมีปัจจัยที่ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลา” บอลกล่าว

บอลบอกถ้าเริ่มตึงๆ ใส่กัน ก็จะดูว่า เหนื่อยหรือหิว ถ้าเหนื่อยก็พักไหม หรือถ้าหิวก็ตัดใจซื้ออะไรใส่ท้องก่อน

“ผ่านไปแล้วก็พบว่า มีสาเหตุอยู่เท่านี้จริงๆ ถ้าอิ่มก็จะอารมณ์ดี หรือได้พักก็หาย หลังๆ ไม่ทะเลาะกันแล้ว เพราะเริ่มรู้แล้วว่าสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทะเลาะกันมีอยู่เท่านี้แหละ”

 

****************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Face of entertainment เมษายน 2554)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า