หนูหายไป…กับสายลม

cover

เรื่อง + ภาพ: อารยา  คงแป้น

ลมร้อนของฤดูกาลปิดภาคเรียนพัดมาพร้อมกับข่าวคราวการหายตัวไปจากเคหะสถานของประชากรวัยเด็ก ที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามอุณหภูมิของอากาศ และลมร้อนอีกเช่นกันที่พัดพาเราไปพบกับผู้เป็นแม่คนหนึ่ง ที่ลมอีกฤดูกาลหอบเอาลูกคนเล็กของเธอหายไปเมื่อ 5 ปีก่อน

เราเดินฝ่าเปลวแดด บนถนนคอนกรีตอมความร้อน ตอนบ่ายโมง ปากก็พร่ำพูดโทรศัพท์เพื่อถามทาง ซึ่งปลายสายไม่ใช่ใครอื่น โศรญา ด่านเกื้อกูล บ้านของเธอฝังตัวอยู่ในตลาดกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเจอหน้า เธอต้อนรับผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้ม

 

 01
5 ปี 4 เดือนกับ 25 วัน เป็นตัวเลขที่ผู้หญิงอายุ 61 เฝ้านับเพื่อรอการกลับมาของลูกชายวัย 12 ปี (อายุขณะนั้น) ที่หายออกไปจากบ้าน และจากวันนั้น ยังไม่มีข่าวคราวใดๆ

น้องเท็น-ชัยภาษ ด่านเกื้อกูล หายไปกลางเดือนสุดท้ายของปี 2549 ท่ามกลางกระแสลมที่หนาวไปจับขั้วหัวใจคนเป็นแม่

จริงอย่างที่ใครบางคนว่า คนไม่เคยเป็นแม่ ย่อมไม่รู้ว่าหัวอก ‘แม่’ เป็นเช่นไร ทำได้เพียงอนุมานเอาเองในระดับหนึ่ง หลังจากเห็นแม่โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงตอนเรากลับบ้านช้าเกินปกติ ไม่ว่าจะโตแค่ไหน ปีกกล้าขาแข็งเพียงไร ความเป็นแม่ยังคงอยู่ทุกขณะจิต ดังนั้น สำหรับเรื่องลูก หัวใจของโศรญา คงบอบบางเช่นหัวใจของแม่เรา…เช่นหัวใจของแม่ทุกคน

“น้องเท็นหายไปตั้งแต่วันที่ 16  ธันวาคม 2549 ถึงวันนี้ก็ 5 ปี 4 เดือนกับอีก 25 วันแล้ว ตอนนั้นน้องอายุเกือบ 12 เมื่อก่อนแม่กับน้องอยู่กันอีกบ้านหนึ่งที่อ้อมน้อย แต่น้องเรียนที่กระทุ่มแบน นั่งรถสองแถวไปกลับเองตลอด ตอนที่หายไป น้องเท็นนั่งสองแถวกลับบ้านที่อ้อมน้อยในวันศุกร์ วันเสาร์ก็ออกไปเล่นกับเพื่อน แล้วก็หายไปเลย”
เธอเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงเจือความทุกข์ เป็นความทุกข์ระดับที่เรารับมาแล้วทำให้หายใจขัด

หลังจากน้องเท็นหายไป เจริญ ด่านเกื้อกูล – ผู้เป็นพ่อทำสิ่งพื้นฐานที่ไม่ว่าใครก็ต้องทำ คือ แจ้งตำรวจ แต่ด้วยเหตุผลว่า เรื่องคนหายต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมง เมื่อตำรวจไม่รับแจ้ง ราวถูกตอกหน้าอย่างจัง เขางงจนพูดอะไรไม่ออก ทำได้เพียงเดินเท้าไปรอบๆ บริเวณที่คิดว่าลูกจะไปตลอดทั้งคืน

เดือนที่ 2 ของปี 2551 หลังจากน้องเท็นหายไปปีกว่า มีคนแจ้งว่าพบเห็นน้องที่ราชบุรี มีคนพบเด็กชายกำลังขายดอกไม้ที่ร้านอาหารเพื่อชีวิตแห่งหนึ่ง แน่นอนโศรญาและสามีออกตามหาลูกทันที เธอเดินทางไปตระเวนดูทั่วตัวเมืองตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าว ทั้งคู่หาอยู่ทั้งคืน สุดท้ายได้เพียงอากาศจากลมปากของคนแถบนั้นว่า เคยเห็นลูกของเธอเหมือนกัน แต่ตอนนี้ไม่ทราบว่าหายไปไหนเสียแล้ว

อีกครั้งหนึ่ง มีคนแจ้งมาว่าพบลูกชายเธอที่พัทยาใต้  อีกครั้งที่เธออกตามหาลูก และเป็นอีกครั้งที่ปลายทางคือความว่างเปล่า

ความทุกข์ของโศรญายังไม่หยุดแต่เพียงเท่านั้น นอกจากจะไม่พบตัวน้องเท็นแล้ว หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็เสียผู้เป็นสามีไปด้วยอาการกระเพาะอาหารทะลุเพราะความเครียด ถ้าใครสักคนต้องพบกับมรสุมชีวิตลูกใหญ่ที่ปะทะเข้ามาแบบนี้แล้วยังยืนอยู่ไหว ก็ต้องยอมรับนับถือน้ำใจกัน

หลังจากสามีเสียชีวิต โศรญาขาดหลักไว้พยุงตัว จะออกตามหาลูกตามต่างจังหวัดก็ไม่ได้ เพราะลำพังผู้หญิงคนเดียวคงไม่มีกำลังเพียงพอ เธอหันหน้าเข้าหาที่พึ่งสุดท้าย ทั้งๆ ที่เธอเองก็ไม่ศรัทธานัก แต่ในเมื่อไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ การดูดวงยังพอมีแสงริบหรี่ให้เธอไขว่คว้าไว้ ยามตกอยู่ในสภาวะมืดมนเช่นนี้

พระรูปหนึ่งในวัดย่านบางบอน เป็นหมอดูรายแรกที่โศรญาตกลงใจไปขอคำปรึกษา ตามคำแนะนำของเพื่อนบ้านผู้หวังดี สุดท้ายเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เธอได้เพียงคำทำนายเบาหวิวกลับบ้าน

“เรื่องดูดวงเราไม่ค่อยสนใจ เพราะว่าไม่เชื่อเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว แต่จะมีคนหวังดีเอาวันเดือนปีเกิดลูกเราไปดูดวงมาให้ บางทีเขาบอกลูกยังมีชีวิตอยู่ เราก็ดีใจ แต่ถ้าบอกลูกเราไม่อยู่แล้ว เราก็ห่อเหี่ยว”
จบประโยคเธอหยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาซับน้ำตา เรานิ่งไปอึดใจ พูดอะไรไม่ออก

1

02
อีกครั้งที่เราเดินฝ่าแดดบ่าย แต่จุดหมายหาใช่ตลาดกระทุ่มแบน หากคือ มูลนิธิกระจกเงา

ที่พิกัด ซอยวิภาวดี 44 ลึกเข้าไป 200 เมตร ตึกมูลนิธิยืนรออยู่อย่างสงบนิ่ง รถมูลนิธิที่จอดอยู่หน้าอาคารติดป้ายไวนิลรูปเด็กหายไว้ด้านข้าง เพื่อประโยชน์ในการติดตาม เพราะเมื่อรถไปที่ไหน ป้ายเด็กหายก็ได้ไปที่นั่น เป็นการกระจายข่าวที่ดีอีกช่องทางหนึ่ง

9 ปีที่ ‘ศูนย์คนหาย’ ของมูลนิธิกระจกเงาดำเนินงานมา ถึงวันนี้ก็มีอันต้องยุติบทบาทลงด้วยหลายเหตุปัจจัย ทั้งเรื่องกำลังทุนและกำลังคน อีกหนึ่งเหตุผลที่ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข จำต้องปิดศูนย์ เพราะเขาตั้งใจไว้อยู่แล้วว่าสักวันต้องปิดศูนย์คนหายลง แต่เมื่อถึงเวลานั้น ต้องเป็นวันที่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องคนหายอย่างเต็มตัว
แต่วันปิดศูนย์มาถึงเร็วกว่าที่คิด ทว่ายังไม่เห็นวี่แวววันเปิดศูนย์คนหายของทางราชการ เขาปิดตัวเองเพื่อให้อีกฝ่ายขยับ แต่คำตอบเดาไม่ยาก ทุกอย่างยังคงอยู่นิ่งดังเดิม

และเป็นเวลา 9 ปีเช่นเดียวกันที่เอกลักษณ์ทำงานเกี่ยวโยงอยู่กับการหายไปของผู้คน เขาบอกว่า บางรายหายไปไม่นานแล้วกลับมา บางรายหายไปนานและยังไม่เห็นวี่แวว บางรายหายหน้าไปพอเจออีกทีก็กลายเป็นร่างไร้ชีวิตเสียแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรณีคนหายล้วนเป็นเรื่องสะเทือนใจ

“เด็กส่วนมากที่หายเป็นเด็กผู้หญิง สาเหตุที่หายมันมีการเคลื่อนไหวตลอด เมื่อก่อนมาจากสิ่งเร้าภายนอกอย่าง ติดเทคโนโลยี ติดเกม มีพฤติกรรมชู้สาว แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป สาเหตุมาจากปัจจัยภายในอย่างปัญหาครอบครัว บางครอบครัวพยายามผลักเขาออก เด็กก็พร้อมที่จะออก”

กับภาระหน้าที่ หลังจากได้รับแจ้งเรื่องคนหายเข้ามา ศูนย์ฯจะจัดลำดับความสำคัญ เรื่องไหนคุยได้ ก็ให้คำปรึกษา ส่วนกรณีเร่งด่วนคงต้องเข้ามาคุยกัน และอย่างที่รู้ว่าศูนย์คนหายได้ปิดตัวลงแล้ว จะให้ทุ่มเต็มที่คงเกินกำลังคนทำงาน แต่สำหรับเคสใหญ่ที่วิ่งเข้ามาหาที่พึ่ง ทางศูนย์ก็ยังรับฟังอยู่

“ผมยังอยากให้เท้าติดพื้น เพราะถ้าเท้าติดพื้นเราจะยังมองเห็นปัญหา” เขาพูดไว้แบบนี้
นอกจากศูนย์คนหายจะออกติดตามสืบหาคนหายด้วยตัวเองแล้ว ยังมีชาวบ้านร้านตลาดร่วมมือร่วมใจกันออกตามหาอีกหลายแรง

“ชาวบ้านมาช่วยด้วยความเป็นห่วง เขาไม่ได้มาเพราะหน้าที่ มีบางครั้งวิธีการชาวบ้านก็ก้าวหน้ากว่าราชการ หรือเอ็นจีโอเสียอีก

“แต่กรณีที่ชาวบ้านช่วยหาแล้วเจอ ยังไม่มีแบบหาแล้วเจอเลย จะเป็นการช่วยหาในบริเวณมากกว่า แต่สิ่งที่ชาวบ้านช่วยได้คือการช่วยแจ้งเข้ามาว่าพบเด็กตรงไหน บางคนพบเด็กก็เข้าไปคุย แล้วแจ้งตำรวจ หรือแจ้งผ่านทางเราอีกที”

 

03
65 คน คือจำนวนของเด็กถูกลักพาตัวที่ถูกแจ้งผ่านศูนย์คนหาย มูลนิธิกระจกเงา

70 เปอร์เซ็นต์ คือจำนวนของคนที่หายแล้วหาพบ

หนึ่งใน 65 คน และหนึ่งใน 30 เปอร์เซ็นที่เหลือ มีลูกชายของ โศรญา ด่านเกื้อกูล รวมอยู่ในนั้น

“มีเคสหนึ่งที่ตอนนี้ยังหาไม่เจอ เคสนี้ทำผมร้องไห้ เป็นเด็กผู้ชายอายุ 12 ปี ชื่อน้องเท็น
เขาถูกลักพาตัวไป” เอกลักษณ์เล่าความรู้สึกที่ยังคงแจ่มชัดอยู่ในหัว

“พ่อน้องเขาบอกผมว่า เขาทำงานเสียภาษีให้รัฐตลอด แต่พอลูกเขาหาย รัฐช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย สุดท้ายพ่อของน้องป่วยจนตรอมใจตายในบ้าน มันทำให้เราเสียใจมาก เพราะความตายของเขาเป็นเครื่องย้ำเตือนว่าเรายังช่วยเขาไม่สำเร็จ”

2

04
นอกจากข่าวคราวเด็กหาย ในสังคมบ้านเรายังมีหนึ่งคำพูดที่หล่นออกจากปากใครหลายๆ คนอยู่บ่อยๆ นั่นคือ “เด็กหาย…หรือจะถูกแก๊งรถตู้จับตัวไป”
เชื่อได้ว่าตอนเด็กๆ ใครหลายคนคงเคยถูกยัดเยียดคำขู่ประมาณนี้ลงในหัว คำขู่ที่มีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้เราไม่กล้าออกไปพ้นประตูหน้าบ้าน

“ไปเล่นไกลๆ ระวังรถตู้จับเด็ก มาจับไปไม่รู้ด้วยนะ” ได้ยินแบบนี้ ถ้ายังกล้าเดินออกจากบ้านนับว่าใจเด็ดมากทีเดียว

ถึงวันนี้ คำว่า ‘รถตู้จับเด็ก’ ยังถูกผลิตซ้ำลอยวนอยู่ในอากาศ แล้วใครเลยจะรู้ว่า ความจริงเป็นเพียงคำขู่ที่ไม่มีความเป็นไปได้ผสมอยู่แม้แต่น้อย

ข้อมูลจากอดีตหัวหน้าศูนย์คนหายบอกว่า ‘รถตู้จับเด็ก’ เป็นประโยคที่ผู้ใหญ่เอามาหลอกให้เด็กกลัว เพราะตั้งแต่ทำงานศูนย์คนหายมา เขายังไม่เคยพบเจอแก๊งรถตู้เลยสักครั้งเดียว

“วาทกรรมแก๊งรถตู้ มันเกิดมาจากกระบอกเสียงที่สังคมให้ความเชื่อถือ อย่างสื่อบางช่องพูดเรื่องแก๊งรถตู้จับเด็ก ชาวบ้านฟังยังไงเขาก็เชื่อว่ามีจริงๆ ซึ่งความจริงมันไม่มี”

เรื่องรถตู้จับเด็กกลายเป็นบทหนังสั้นที่เด็กๆ หลายคนพูด เริ่มต้นเรื่องเหมือนกัน มีรถตู้สีขาวติดฟิล์มดำไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ขับมาจอด หลังจากนั้นถูกผู้ชายตัวโตจับยัดเข้าไปในรถ ข้างในรถมีเด็กถูกมัดมือมัดเท้า และมีตอนจบเหมือนกันคือ เด็กดิ้นรนจนหลุดรอดออกมาได้

สุดท้ายเรื่องรถตู้ถูกอุปโลกน์ให้เป็นเป็นเรื่องเล่าชั้นยอดที่เด็กเล่าต่อๆ กัน จินตนาการจนเหมือนจริง บางครั้งยังทำให้ใครหลายคนแอบกลัวตาม

“กลายเป็นข้ออ้างของเด็กหนีไปเที่ยวแล้วกลัวที่บ้านว่า เลยเอาเรื่องรถตู้มาเป็นสาเหตุ” เอกลักษณ์ให้ความกระจ่างอีกครั้ง

 

05
ไม่กี่เดือนก่อน โศรญา และผู้เป็นแม่อีก 2 คนที่ลูกหายออกไปจากบ้านเหมือนกัน เดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง หลังเคยเข้าร้องทุกข์เรื่องลูกหาย ผ่านมาหลายเดือน หรือบางทีอาจเป็นปี พวกเธอกลับไปอีกหน เพื่อทวงถามถึงความคืบหน้าในการติดตามลูก-แก้วตาดวงใจของพวกเธอ

ไม่เพียงสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้นที่โศรญาและผู้ร่วมชะตากรรมเคยร้องทุกข์ พวกเธอเคยขอความช่วยเหลือไปที่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลังจากนั้นทางกระทรวงเรียกตัวพวกเธอเข้าไปประชุมเรื่องการตามหาเด็ก แล้วเรื่องก็เงียบ…หายไปกับสายลม

เธอเคยแม้แต่กระทั่งทูลเกล้าถวายฎีกาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็อีกนั่นแหละ เหมือนไฟไหม้ฟาง เรื่องที่ร้องไปถูกพัดให้ติดไฟขึ้นเพียงไม่นาน แล้วก็ซาลงดังเดิม
โศรญาบอกอีกว่า เรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องคนหายคือเรื่องไม่มีคนมาช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่หน้าที่นี้ควรเป็นของรัฐ แต่รัฐกลับมองไม่เห็น

“เงินหายสิบยี่สิบบาทเรายังเสียดายเลย แล้วนี่ลูกทั้งคน คุณก็ลองคิดดูแล้วกัน” เธอฝากเรามาแบบนี้

“ตั้งศูนย์คนหายให้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วรับบริจาคคนละบาทก็ดีนะ เอาเงินไปจ้างบุคลากรในศูนย์ ให้รัฐเขาได้ช่วยเราจริงๆ จังๆ เสียที ดีกว่าปล่อยให้เรื่องเงียบไปแบบนี้ คนไม่เคยเจอกับตัวเองไม่รู้หรอกว่ามันเป็นความทุกข์แสนสาหัสขนาดไหน”

น้องเท็นหายไปตอนอายุ 12 ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในวันนี้ ครอบครัวด่านเกื้อกูล คงกำลังเฝ้ามองการเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ของ นายชัยภาษ วัย 17 ปี ซึ่งจินตนาการแสนสุขนี้สวนทางกับความเป็นจริง เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แม้ภายนอกโศรญาดูเหมือนทำใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น สามารถถ่ายทอดให้เราฟัง และใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ใครจะรู้ว่าความทุกข์ที่เกาะกินหัวใจเธอมากว่า 5 ปี จะเบาบางลงหรือไม่ เพราะคนที่หายไป คือส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ


3

เมื่อสสารยังไม่มีวันหายไปจากโลก คนก็ไม่อาจหายลับไปกับสายลมอย่างไร้ร่องรอยเช่นกัน ทว่าโดยลำพังเพียงสองมือแม่เท่านั้น คงไม่อาจไขว่คว้าควานหาร่องรอยของลูกได้

เป็นความผิดของเธอหรือเปล่า ที่มีเพียง 2 มือ หรือเป็นความลักลั่นของกลไกทางสังคมที่ไม่อาจยื่นมืออื่นๆ เข้ามาเพื่อช่วยแม่คนหนึ่งตามหาสิ่งที่ไม่มีวันหายไปจากโลกได้ – ไม่รู้

ในวันนั้นเสียงตะโกนร้องทุกข์ของคนเล็กๆ อาจดังไม่พอให้ใครหันมาสนใจ

และในวันนี้ อาจมีเพียงเสียงเพรียกขอความช่วยเหลือของเธอเท่านั้น ที่หายไปกับสายลม

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์  พฤษภาคม 2555)

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า