ยุโรปห้ามบอลจอดำ

tv-television-remote 

 

จากปัญหาลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษในเมืองไทย ที่เคเบิลรายใหญ่ไม่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเหมือนเช่นเคย ขณะที่เจ้าของลิขสิทธิ์รายใหม่ก็ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมืออาชีพ

ทางออกสำหรับผู้บริโภคซึ่งเป็นคอบอลในช่วงนี้ ถ้าไม่อยากนั่งรอช่างมาติดตั้งกล่องรับสัญญาณอย่างน้อย 2 สัปดาห์ คงต้องพึ่งพาเว็บไซต์ถ่ายทอดฟุตบอลออนไลน์ (สายโจร) กันไปตามอัตภาพ

กรณีศาลยุโรปสั่งห้ามจอดำการถ่ายทอดฟุตบอลนัดสำคัญอย่างเด็ดขาด จึงเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับผู้บริโภคที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลนัดหยุดโลกได้อย่างเต็มตา

 

+ ยุโรปห้ามจอดำ

แฟนบอลทั่วยุโรปได้เฮ เมื่อศาลยุติธรรมยุโรป ปัดการยื่นอุทธรณ์ของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) และสมาคมฟุตบอลยุโรป (Union of European Football Associations: UEFA) กรณีขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลระดับโลก ทั้งมหกรรมฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโร เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน และมีคำสั่งให้ถ่ายทอดสดกีฬานัดสำคัญผ่านฟรีทีวี หรือ ‘ห้ามจอดำ’ ทั่วยุโรปนั่นเอง

แม้จะมีการเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก หรือบอลยูโรไปแล้วก็ตาม แต่ในการแข่งขันนัดสำคัญ ผู้ให้บริการเคเบิลและกล่องรับสัญญาณในเบลเยียมและอังกฤษ จะต้องเปิด Free-to-air หรือต้องอนุญาตให้เผยแพร่ในฟรีทีวีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อกำหนดดังกล่าว จะบังคับใช้ในฟรีทีวี และ Pay TV (ในต่างประเทศส่วนใหญ่ให้บริการในรูปแบบเคเบิลทีวี) ซึ่งเรื่องนี้กำหนดไว้ในคำสั่งกิจการแพร่ภาพโทรทัศน์ ของคณะกรรมการประชาคมเศรษฐกิจยุโรปตั้งแต่ปี 1989 ก่อนการก่อตั้งสหภาพยุโรป (European Union: EU)

ขณะที่ทางเยอรมนี ยังไม่สามารถผลักดันให้บุนเดสลีกา (ฟุตบอลดิวิชั่น 1 เยอรมัน) เป็นกีฬาที่ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดทางฟรีทีวี ปัจจุบันประชาชนต้องเสียค่าดูแมตช์บุนเดสลีกาให้ช่องสกายทีวี (Sky Television)

แถลงการณ์ดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ศาลยุติธรรม แต่ก็ยังเปิดช่องให้ตีความบ้างว่า แมตช์ที่สำคัญที่ว่าคือแมตช์ใดบ้าง

จากคำสั่งนี้ หมายความว่า ผู้ชมชาวอังกฤษและเบลเยียมจะสามารถชมฟุตบอลโลกและบอลยูโรได้ในฟรีทีวี แต่ก็อนุญาตให้ฟีฟ่าและยูฟ่าเรียกค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลคู่รองลงมาที่ยังได้รับความสนใจจากประชาชนทางเคเบิลทีวี

 

soccer-ball-remote

 

+ บทเรียน ‘จอดำ’ เมืองไทย

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่าประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 22 ล้านครัวเรือน ปริมาณบ้านที่ยังดูโทรทัศน์ด้วยหนวดกุ้งและเสาก้างปลา อยู่ที่ประมาณร้อยละ 25 ขณะที่กว่าร้อยละ 75 ต่างเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีแบบจ่ายรายเดือน ไม่ก็ติดจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณกันหมดแล้ว

แต่ปรากฏการณ์จอดำเมื่อครั้งฟุตบอลยูโร 2012 ยังตราตรึงในใจใครหลายๆ คน และอีกเพียงปีเดียว เราจะมีโอกาสสัมผัสมหกรรมฟุตบอลโลก 2014 กันแบบจอไม่ดำหรือไม่ ยังไม่มีใครกล้าการันตี

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ในกรณีนี้ กสทช. มีอำนาจกำหนดว่ามหกรรมระดับโลกรายการใด สมควรได้รับการถ่ายทอดทางฟรีทีวีบ้าง เนื่องจากฟรีทีวีเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่ควรถูกจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึง ไม่ว่าจะรับฟรีทีวีดังกล่าวผ่านช่องทางเคเบิลหรือจานดาวเทียม

“นี่เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะ” สารีกล่าว

ร่างประกาศของ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must-Carry) อาจไม่พอจะป้องกันภัยจอดำที่อาจเกิดซ้ำรอยในปีหน้า

มีแนวคิดอยู่ 2 อย่างที่ กสทช. ใช้ในร่างประกาศฯว่า บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือ Must-Carry กับ Must-Offer

“ตอนนี้ทั้งเคเบิลและดาวเทียมบ้านเรา ‘เอา’ (Carry) ฟรีทีวีไปด้วยตลอด ขณะที่ทีวีต่างประเทศจะบังคับเลยว่า ไม่ว่าทำทีวีอะไรก็ตาม จะมีข่าวสารส่วนหนึ่งเป็นข่าวสารสาธารณะที่คุณต้องเอาไปด้วย”

ถ้าผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิก หรือผู้ให้บริการผ่านดาวเทียมได้ลิขสิทธิ์รายการมาเผยแพร่ออกอากาศ แล้วคิดว่าสิ่งที่ได้มาควรเป็นเรื่องที่ฉายเป็นการทั่วไป ก็ต้อง ‘ส่ง’ (Offer) มาถึงฟรีทีวีด้วย

ฉะนั้น Must-carry ควรจะคู่กับ Must-offer ซึ่งสารีแจ้งว่าทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำความเห็นให้กับ กสทช. ว่า ถ้าจะทำเรื่องนี้เพื่อแก้ปัญหาจอดำทั้งหมด ก็ควรทำทั้ง 2 ส่วน

วัตถุประสงค์ก็เพื่อปกป้องสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ระดับโลกโดยเท่าเทียมกัน

 

ที่มา: europeanvoice.com / dw.de

สนับสนุนโดย

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า