อรอนงค์อำพราง

 

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ / ภาำพ: ชัชชญา วุ่นจินา

 

หน้าอก 2 คู่ ของผู้หญิง 2 คน พร้อมใจกันบอกลายกทรงออกมาดูโลกในวันสงกรานต์ คล้ายโจทย์คณิตศาสตร์นอกรีตไม่มีคำตอบ…เพียงหนึ่ง

ฝ่ายหนึ่งกุมขมับรับไม่ได้ ว่านี่เป็นยุคสุดท้ายของวัฒนธรรมไทยอันดีงาม

อีกฝ่ายมองการประณามจากฝ่ายแรกว่าไม่ต่างจากการประหาร พร้อมตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมไทยอันดีงาม ใช่สิ่งประดิษฐ์โดยชนชั้นนำหรือไม่ อะไรคือวัฒนธรรมไทยอันดีงาม

อีกทั้งยังมองตัวบทของเหตุการณ์ในเชิงสัญลักษณ์ของการเย้ยหยันต่ออำนาจหรือค่านิยมหลักของสังคม สร้างอาการเวียนเศียรต่อฝ่ายแรก!

หน้าอกที่ถูกเปิดออกเป็นเหมือนเสียงระฆังแจ้งเตือนเราว่าสังคมไทยกำลังยืนอยู่บนสนามมวย

มองแบบหยาบๆ มันเป็นสังเวียนการต่อสู้ระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่

เรื่องไหนควร ‘เปิด’ เรื่องไหนควร ‘ปิด’

สู้กัน – ตั้งแต่เรื่องนม เซ็นเซอร์ภาพยนตร์ เพลงแร็พ หลักการศาสนา การเมือง

ไปจนถึงเรื่องบางเรื่องที่พูด…ไม่ได้
1.

ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปารีส, หญิงมุสลิมวัย 28 ปฏิเสธที่จะเดินศูนย์การค้าโดยปรารศจากการปกปิดใบหน้า (นิกอบ) หล่อนถูกปรับเป็นเงิน 150 ยูโร ภายหลังรัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามปิดหน้าในที่สาธารณะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายต้องการปกป้องผู้หญิงจากการถูกข่มขืน…ทางจิตใจ

Michele Alliot-Marie รัฐมนตรียุติธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา หรือความมั่นคง แต่เป็นการเคารพในหลักการของรัฐ

Hassan Chalghoumi อิหม่ามแห่งมัสยิด Drancy ใกล้กรุงปารีส เชื่อว่า การปกปิดใบหน้าของสตรีไม่ได้มีกำหนดในหลักการอิสลาม เขาและอิหม่ามอีกหลายคนมีความเห็นว่า การปกปิดใบหน้าอาจเป็นสาเหตุของอันตรายต่างๆ อาทิ ถูกระแวงสงสัยในพฤติกรรม และถูกปฏิบัติอย่างมีอคติ
ประเทศอาเจนตินา, คริสตินา เฟอร์นานเดซ ผู้นำรัฐบาลอาร์เจนตินา ผ่านกฎหมายอนุญาตให้สตรีมุสลิมสามารถคลุมฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะ) ในที่สาธารณะ รวมทั้งอนุญาตคลุมฮิญาบถ่ายรูปติดบัตรประจำตัว

กฎหมายดังกล่าวคลอบคลุมมุสลิมที่มีเพียงร้อยละ 2 ในประเทศที่มีคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติ

หน้าโรงเรียนวัดหนองจอก, เช้าตรู่, 9 พฤษภาคม 2554, ชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งมารวมตัวกันหน้าโรงเรียนเพื่อเป็นกำลังใจให้นักเรียนมุสลิมะห์ที่ยืนยันจะคลุมฮิญาบเข้าห้องเรียน

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โรงเรียนวัดหนองจอกได้อ้างมติมหาเถรสมาคมที่ว่า

“ให้โรงเรียนวัดทั่วประเทศที่อยู่ภายในพื้นที่ของธรณีสงฆ์ต้องยึดวิถีพุทธ ทำตามจารีตประเพณีไทย โดยการห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ชัดเจน หากครูหรือนักเรียนไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิด”

ลองพิจารณาสังเวียนนี้ย้อนหลังพบว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553  ฝ่ายคณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนาของสภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปวัดหนองจอกเพื่อหารือเจ้าอาวาส เจ้าคณะแขวงกระทุ่มราย กรุงเทพมหานคร ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ซึ่งฝ่ายพระสงฆ์ได้แจ้งว่า

“การอ้างสิทธิการแต่งกายตามหลักศาสนาของชาวมุสลิม ทางวัดถือเป็นการละเมิดสิทธิของวัด ซึ่งชุมชนวัดหนองจอกอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยมาเป็นเวลาช้านาน”

29 ตุลาคม 2553, กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติยื่นเรื่องคัดค้าน

คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ว่า ไม่อนุญาตให้สวมคลุมฮิญาบ เพราะขัดต่อระเบียบโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการและขัดต่อวัฒนธรรมของโรงเรียนวัดหนองจอกที่ผลิตนักเรียนไปแล้ว 57 รุ่น
พื้นที่หนองจอกมีชาวมุสลิมอพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินตามแนวคลองแสนแสบมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประชากรในพื้นที่เขตหนองจอกนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 75  นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 20 และนับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ 5

จำนวนเป็นเพียงตัวเลข ไม่อาจต่อกรกับสิ่งที่ถูกสถาปนาให้เป็นค่านิยมหลัก แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 37 จะรับรองเสรีภาพทางศาสนาก็ตาม

วัยรุ่นบางคนจึงกริ่งใจไปว่าหากวันดีคืนร้ายมีการออกกฎห้ามวัยรุ่นไทยสวมกางเกงขาลีบ

ข้อดีประการเดียวของมัน…วัยรุ่นไทยคงใช้เท้าก่ายหน้าผากได้สะดวกขึ้น

 

2.

ฟารีด๊ะฮ์ เกิดในครอบครัวมุสลิมย่านชานเมืองหาดใหญ่ ชุมชนมุสลิมที่นี่อยู่ท่ามกลางชุมชนไทยพุทธมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตาทวด  เมื่อชาวไทยพุทธได้ยินเสียงอาซานจึงรู้ว่านี่คือเวลาละหมาด

เมื่อชาวไทยมุสลิมได้ยินเสียงบทสวดภาษาบาลีจึงรู้ว่าคงมีงานบุญหรืองานศพภายในวัด

ยายของฟารีด๊ะฮ์ทำนา ส่วนตาของฟารีด๊ะฮ์เลี้ยงควาย ทั้งตาและยายของฟารีด๊ะฮ์มีเพื่อนเป็นไทยพุทธที่สนิทสนมถึงขั้นเรียกได้ว่า ‘เกลอ’

ยายของฟารีด๊ะฮ์เป็นอิสลามิกชนที่เคร่งครัด ลุงและป้าของเธอเป็นครูสอนศาสนา วันที่มีเด็กหญิงเป็นคำนำหน้าชื่อ สมาชิกรุ่นเยาว์ในครอบครัวรวมไปถึงเด็กๆ เกือบทุกคนในหมู่บ้านต้องไปเรียนอัลกุรอานที่บ้านหลังใดหลังหนึ่งในหมู่บ้านที่อาสาสอน

ฟารีด๊ะฮ์สวมฮิญาบเช่นเดียวกับเด็กหญิงคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน แต่หากต้องไปโรงเรียนหรือในตัวเมืองหาดใหญ่ ผ้าคลุมศีรษะถูกแขวนไว้ที่บ้าน

“สมัยนั้นเราไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่ผ้าคลุมผมในโรงเรียน อาจด้วยยังไม่มีแบบฟอร์มสำหรับนักเรียนที่ใส่ผ้าคลุมผม ส่วนการใส่ผ้าคลุมผมไปเดินห้างหรือในเมืองเพื่อไปติดต่อราชการในสมัยนั้นไม่เป็นที่ยอมรับ ถูกมองว่าเป็นบุคคลคร่ำครึ ไม่ทันสมัย รู้สึกเป็นพลเมืองชั้น 2 กลไกป้องกันตัวเองจากการเหยียดของสังคมเราจึงเลือกที่จะไม่คลุมผมเพื่อแสดงว่า ฉันก็ทันสมัยปราดเปรียวนะ ทั้งๆ ที่มันไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนา”

การคลุมฮิญาบเข้าเมืองจึงเป็นเรื่องของคนจิตใจเข้มแข็ง

ในวัย 24, ฟารีด๊ะฮ์ย้อนมองเห็นเด็กหญิงไร้ผ้าคลุมศีรษะคนนั้น เด็กหญิงเพียงต้องการการยอมรับ “ต้องการทำตัวให้กลมกลืนไปกับสังคมส่วนใหญ่ โดยยอมละทิ้งรากเหง้าและอัตลักษณ์ของตัวเอง”

บางโรงเรียนทางภาคใต้ไม่อนุญาตให้นักเรียนคลุมฮิญาบไปโรงเรียนเพราะชุดนักเรียนเป็นชุดพระราชทาน?

สาวสะพรั่ง – ฟารีด๊ะฮ์ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ ที่นี่, เธอเจอเพื่อนมุสลิมะห์หลายคนที่ต้องการสวมฮิญาบ จึงนัดแนะกัน “ปี 1 เทอม 2 เราจะใส่ผ้าคลุมผมกันอย่างจริงจังนะ”

ใครบางคนเข้าใจเปรียบมหาวิทยาลัยเป็นโลกแห่งความฝัน ข้างนอกนั่นสิของจริง ฟารีด๊ะฮ์ค้นพบความจริงชุดนี้ในตอนที่ยื่นใบสมัครงาน

“เคยไปสมัครงานบริษัทพีอาร์แห่งหนึ่งในหาดใหญ่ เขาเอาพอร์ตไปดู แล้วเงยหน้ามาถามว่า ถ้าไปเจอลูกค้า…น้องไม่ใส่ผ้าคลุมผมได้มั้ย พี่ว่ามันไม่สุภาพ”

‘คำว่าสุภาพของพี่แปลว่าต้องเปิดบนเปิดล่าง…อย่างนั้นเหรอ’

อยากก้าวร้าว – แต่ปล่อยให้กลุ่มคำลอยวนหนาหนักในสมอง

ตอนนี้เธอยังคงสวมฮิญาบ และว่างงาน

 

3.

สังคมไทยเป็นสังคมพหุนิยม (Pluralism)  ดัดจริต – ไม่ใช่ภาษาอังกฤษในวงเล็บ แต่ข้อเท็จจริงสวนทางกับข้อความ

นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันนาม John R. Bowen พยายามอธิบายว่า เหตุใดคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยกับการออกกฎหมายห้ามปิดหน้าในที่สาธารณะ

เขาเสนอว่าผ้าปกปิดใบหน้าหรือผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิมไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง ที่มันกลายเป็นปัญหาก็เพราะเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย

อันตรายต่อสังคมฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภัยคุกคามหลักการความเป็นทางโลก (Secularism) และความเป็นสาธารณรัฐ (Republicanism) ที่ชาวฝรั่งเศสยึดถือ

เพราะขณะที่หลักการทั้ง 2 เน้นเรื่องการเคลื่อนย้ายศาสนาออกจากพื้นที่สาธารณะและการเมือง รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเสมอภาคระหว่างเพศและภราดรภาพระหว่างพลเมือง ฮิญาบถูกวาดภาพให้มีนัยของความเป็นศาสนาอิสลามสุดขั้ว การแตกแยกเป็นหมู่เหล่าและการกดขี่สตรี จึงไปกันไม่ได้กับหลักการดังกล่าว เพราะเหตุนั้นจึงไม่สามารถอนุญาตให้สวมนิกอบในพื้นที่สาธารณะ

แม้รัฐไทยไม่ได้เป็นรัฐทางโลกที่แยกขาดจากศาสนาอย่างเด็ดขาดอย่างฝรั่งเศสหากแต่มีความสัมพันธ์กับศาสนาอย่างใกล้ชิด

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เหตุผลทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ทำให้โรงเรียนวัดหนองจอกห้ามไม่ให้เด็กนักเรียนสวมฮิญาบจึงไม่ใช่เพราะฮิญาบละเมิดหลักการความเป็นทางโลกและความเป็นสาธารณรัฐอย่างกรณีฝรั่งเศส แต่ฮิญาบละเมิดหรือท้าทายการจัดระเบียบชีวิตทางศาสนาในพื้นที่สาธารณะที่รัฐไทยอาศัยสถาบันพุทธศาสนาเป็นกลไกในการควบคุมตรวจตรา
จึงอาจเป็นปัญหา เพราะศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นเพียงระบบความเชื่อหรือระเบียบศีลธรรมกว้างๆ หลวมๆ หากแต่เป็นวิธีปฏิบัติที่ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้านอย่างเคร่งครัด ขณะที่รัฐสมัยใหม่พยายามกำหนดให้พลเมืองต้องปฏิบัติตามในระดับชีวิตประจำวัน

จึงอาจเป็นปัญหา หากระเบียบทั้ง 2 ชุดขัดแย้งหรือไปด้วยกันไม่ได้
4.

การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution) ในอิหร่าน ปี 1979 ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศอิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลาม อิหร่าน (Islamic Republic of Iran) โดยใช้หลักการทางศาสนาอิสลามเป็นแนวทางในการปกครองประเทศ มีการปฏิบัติตนในสังคมรวมถึงการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม และต่อต้านอิทธิพลของโลกตะวันตก

มาร์จอเน ซาทราพิ หล่อนเขียนอัตชีวประวัติของตัวเองในการ์ตูน Persepolis บอกเล่าชีวิตมุสลิมที่ตึงเหมือนเชือกกำลังจะขาดภายใต้รัฐบาลอิหร่านสมัยนั้น

ตลกเศร้า – คงคล้ายแบล็ค-คอมเมอดี้ แต่มันเศร้า ฟารีด๊ะฮ์เปรียบเปรยสังคมอิหร่านสมัยนั้นกับสังคมไทยร่วมสมัย

“ประเทศเขาเป็นมุสลิม เขาสามารถแสดงความเป็นมุสลิมในประเทศเขาได้เลยอย่างเสรี…โอเค บริบททางสังคมการเมืองไม่เหมือนกัน เธอจึงรู้สึกอึดอัด ในขณะที่เราอยากแสดงความเป็นมุสลิม อยากประกาศตัวออกมา แต่เราไม่สามารถทำได้อย่างอิสระในประเทศประชาธิปไตย”

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ (ผู้เขียนภูมิใจให้ดิ้นตายที่ได้เขียนประโยคนี้)

“เราค่อนข้างมั่นคงในเรื่องฮิญาบมากในระดับหนึ่ง เพราะไม่ได้คลุมฮิญาบด้วยการถูกบังคับ แต่วันหนึ่งเราเลือกจะคลุมฮิญาบเอง เพราะเข้าใจคอนเซ็ปต์ว่าทำไมเราต้องคลุม”

ฮิญาบ มีความหมายว่า ฉาก, เครื่องกำบัง, การปกคลุม, ม่าน, ใส่ม่าน, มุ้ง, แต่งกาย, เสื้อผ้า, วิธีการจัดเสื้อผ้า, ที่กั้น, กำแพง, ผนัง, ฝา, สิ่งที่กั้นออกเป็นคนละส่วน

บรรดาปวงปราชญ์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าการปกปิดอวัยวะพึงสงวน (เอาเราะห์) สำหรับสตรีมุสลิมะห์ที่บรรลุศาสนภาวะแล้วนั้น คือการปกปิดร่างกายของนางทั้งหมดโดยอนุโลมให้เปิดเผยได้เฉพาะในส่วนของใบหน้าและฝ่ามือทั้งสองเท่านั้น ทั้งนี้ในกรณีอยู่ต่อหน้าบุคคลที่มิใช่ผู้ที่ห้ามแต่งงานด้วย

การปกปิดร่างกายจึงมิได้หมายถึงการคลุมผมด้วยผ้าฮิญาบเท่านั้น แต่ะจะต้องปกปิดเรือนร่างในส่วนอื่นที่เป็นเอาเราะห์ด้วย เช่น แขนทั้งสองข้าง ขาและเท้า

มีฝ่ายที่ตีความว่าการคลุมฮิญาบเป็นประเพณีอาหรับ ไม่ได้ถูกบังคับตามหลักศาสนา แต่ก็เชื่อว่าหลักศาสนาวางหลักการการแต่งกายของหญิงและชายไว้อย่างรัดกุม และเชื่อว่าการปิดบังส่วนอุจาดอนาจาร ย่อมไม่ขัดต่อหลักการของอิสลาม

ขออภัยที่รบกวนด้วยคำถาม “ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์คือต้องการความสนใจจากเพศตรงข้าม?”

ฟารีด๊ะฮ์ตอบ “เคยมีคนอธิบายเรื่องนี้ด้วยผลส้ม”

คุณจะเลือกซื้อส้มผลไหนระหว่างส้มเปลือยไร้เปลือกกับผลส้มเต็มใบ

“คุณจะเลือกผลไหน” ฟารีด๊ะฮ์ถาม ไม่ต้องการคำตอบ “มันโยงไปถึงเรื่องคู่ครอง

ซึ่งเราอยากได้คู่ครองที่มีศรัทธาเข้มแข็งในระดับหนึ่ง การคลุมฮิญาบจึงเป็นผลดีต่อเราค่ะ เพราะผู้ชายที่เข้าใจหลักการอิสลาม เขาจะเข้าใจตรงนี้” เข้าใจผิด เธอยังรอคำตอบ

“คุณจะเลือกส้มที่ปอกคาแผงไว้แล้วมั้ย”

พูดถึงส้ม จู่ๆ ก็นึกถึง…เอ่อ นึกถึง สงกรานต์วันนั้น

 

5.

หลักศาสนาอิสลาม ผู้หญิงเป็นผู้ใหญ่ต่อเมื่อเธอมีประจำเดือน

เมื่อฝันเปียก – สำหรับผู้ชาย

ศาสนาอิสลามอนุญาตผู้ชายมีภรรยาได้ 4 คน มีข้อแม้ไม่แพ้นักบริหารจัดการที่ดี

“ถ้ามองแบบเฟมินิสต์ หลักการนี้ก็น่าจะมีปัญหา”

“ว่าผู้หญิงมีสามีได้คนเดียว แล้วไม่ยุติธรรมเหรอคะ” ฟารีด๊ะฮ์ถามกลับ

“พูดกันตามตรง… โดยธรรมชาติแล้วผู้ชายจะมีความต้องการทางเพศมากกว่าผู้หญิง และอัตราส่วนมนุษย์บนโลกนี้ ผู้ชายต่อผู้หญิงเป็น 1 ต่อ 4 ซึ่งทุกวันนี้คุณก็รู้ว่าผู้ชายแท้ๆ น้อยลงทุกวันๆ แล้วถ้าให้มีผัวเดียวเมียเดียว แล้วผู้หญิงที่เหลือล่ะ…”

ยอมรับ – ความคิดเธอแปลกจากความคุ้นชิน

“ทีนี้มามองในแง่ของผู้หญิงบ้างนะคะ…โดยส่วนตัว เราไม่ได้รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม

เพราะถ้ามีสามีหลายคน เราอาจไม่สามารถรู้ได้ว่าลูกในท้องเราเป็นลูกของใคร แล้ว…เราก็ไม่ได้มองว่า การมาทีหลังคือการเป็นเมียน้อย แต่คือคนที่ 2 คนที่ 3 คนที่ 4 ซึ่งก็คือครอบครัวเดียวกัน เรามองว่าคนไทยเคยชินและถูกทัศนะครอบงำฝังหัวมาว่าครอบครัวที่ดีต้องมีผัวเดียวเมียเดียว”

ในความเป็นจริง คู่สามีภรรยาใกล้ตัวฟารีด๊ะฮ์โดยมากมักแต่งงานอยู่ร่วมกันแบบผัวเดียวเมียเดียว เธอตั้งข้อสังเกตว่า อาจเพราะค่านิยมผัวเดียวเมียเดียวในสังคมไทย “พอมีคนที่สองเธอก็จะถูกมองว่าเป็นเมียน้อยไปแย่งสามีชาวบ้าน”

นั่นน่ะสิ – ในสังคมไทย…ค่านิยมหลักมักกลบหรือบดบังค่านิยมชุดอื่นๆ ทั้งที่เป็นหลักการที่ศาสนาอนุญาต แต่เมื่อมันไปขัดกับค่านิยมหลักของสังคม (ไทย) ค่านิยมชุดอื่นก็แปลกไป

“ที่หาดใหญ่เราเห็นคนไทยที่เป็นพุทธและไม่ได้มีเชื้อสายจีน ชอบให้ลูกเรียกตัวเองว่า ‘หม่าม้า’ มากขึ้น…เพราะอะไร เพราะการเรียกแม่ว่าหม่าม้าในหาดใหญ่มันอินเทรนด์เหรอ หรือเพราะกลุ่มคนจีนในหาดใหญ่ถูกมองว่ารวย เลยอยากให้เรียกอย่างนั้นบ้าง

“เรามองว่ามันตลกดี เหมือนเรากำลังไหลกันไปตามน้ำ แค่คำที่คุณจะให้ลูกเรียก คุณก็ต้องมาคิดว่ามันอินเทรนด์มั้ย น่ารักน่าฟังมั้ย…ตลกดี คุณไม่ได้ให้ความสำคัญกับรากของคำเลย”

 

6.

“ถ้าแต่งงาน วันหนึ่งสามีมีคนที่ 2-3-4 คุณจะรู้สึกว่าความรักสั่นคลอนไหม”

“ไม่!” เธอตอบเสียงแน่นๆ “เราบอกเขาตลอดว่าเธอจะมี 4 คนก็ได้นะ”

แต่…เขาบอกเธอว่า มีฟารีด๊ะฮ์คนเดียวก็ปวดหัวจะแย่อยู่แล้ว

สู่ปีที่ 6 ฟารีด๊ะฮ์สนิทสนมกับหนุ่มชาวพุทธคนนั้น ก่อนจะตกลงเรียนรู้กันและกันเธอทั้งถามทั้งอธิบายว่าเขาแน่ใจหรือที่จะเดินไปด้วยกันจริงๆ เพราะสำหรับเขา, การเลือกที่จะเดินไปพร้อมๆ กับเธอคือความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้า ทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติตัว และวิถีชีวิตทั้งชีวิต

“เขาเข้าใจและยอมรับระบบคิดแบบอิสลามได้ เหลือแต่วิธีการปฏิบัติศาสนกิจที่ต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ” ฟารีด๊ะฮ์บอก

“อยากให้เปลี่ยนก่อนแต่งงานกันสักปีสองปีค่ะ เพราะเราเองก็อยากมั่นใจว่าเธอทำได้จริงๆ ศรัทธาจริงๆ ไม่งั้นก็ไม่เอาค่ะ เรื่องนี้แม่ของเขาก็เข้าใจนะคะ ว่าลูกชายเขาต้องเปลี่ยนศาสนา แม่เขาอัธยาศัยดีและเข้าใจดีว่าต่อให้เป็นคนละศาสนาก็ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกเป็นแม่ลูกกัน”

ถามด้วยสงสัย “ความศรัทธาในหลักการหรือศาสนามันเป็นแบบเดียวกับศรัทธาต่อความรักหรือเปล่า”

“เราไม่รู้ว่าศรัทธาในความรักเป็นยังไง” ฟารีด๊ะฮ์ตอบ “แต่ศรัทธาในศาสนาคือการที่เธอเชื่อมั่นและเธอยอมทำตามโดยไม่มีข้อแม้”

“รวมถึงข้อสงสัย?” เราถาม

“ใช่…แต่โอเค มันตั้งคำถามได้นะ แต่ก็มีขอบเขตอยู่ คือถามเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นได้ ไม่ใช่ถามเพื่อจับผิด”
7.

หากว่าการเปิดนมในที่สาธารณะเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืน ‘วัฒนธรรมไทย’ ตามสำนวน อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ การเปิดนมเป็นการขัดขืนเชิงพิธีกรรม แต่ต้องถือว่าเป็นพิธีกรรมที่อาจพัฒนาไปสู่การล่วงละเมิด ‘วัฒนธรรมไทย’ หนักข้อขึ้น จนในที่สุดก็อาจกระเทือนโครงสร้างอำนาจที่ ‘วัฒนธรรมไทย’ จรรโลงไว้ จนพังครืนลงมา

เช่นกัน – การยืนยันที่จะปกปิด ซ่อนเร้น อำพรางเรือนร่างของมุสลิมะห์อย่างฟารีด๊ะฮ์ในสภาพสังคมแบบนี้ ใช่หรือไม่ว่ามันก็อาจเป็นสัญลักษณ์การขัดขืนวัฒนธรรมไทยเชิงรูปธรรม ที่ต้องถือว่าเป็นรูปธรรมที่อาจพัฒนาไปสู่การล่วงละเมิด ‘วัฒนธรรมไทย’ หนักข้อขึ้น จนในที่สุดก็อาจกระเทือนโครงสร้างอำนาจที่ ‘วัฒนธรรมไทย’ จรรโลงไว้ จนพังครืนลงมา

แต่กรณีนี้ อาจใช้คำว่า ‘จรรโลง’ ผิดที่ผิดทาง และผิดความหมาย

(บรรทัดต่อจากนี้ขออนุญาตเปลี่ยนประโยคจบ)
…จนในที่สุดก็อาจกระเทือนโครงสร้างอำนาจที่วัฒนธรรมไทย ‘หมักหมม’ ไว้จนพังครืนลงมา

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า