อาชีพในฝันใต้เงาบาร์บี้

Barbie

แปลและเรียบเรียง: เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

เครดิตภาพ: wikipedia.org

นับตั้งแต่ปี 1959 อันเป็นปีเกิดของตุ๊กตาบาร์บี้ เธอตกเป็นจำเลยต่อคำอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมหลากหลายประเด็นด้วยภาพลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนและเพศหญิงในอุดมคติที่หญิงสาวทั่วทั้งโลกใฝ่ฝัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของร่างกายที่ผิดสัดส่วน จนทำให้บาร์บี้อาจจะต้องเดินด้วยทั้งมือและเท้าหากต้องอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง หรือการขึ้นปกนิตยสารผู้ชายอย่าง Sport Illustrated ซึ่งกลายเป็นประเด็นตอกย้ำภาพลักษณ์ของความ ‘สมบูรณ์แบบ’ ของเพศหญิงที่ต้องเป็นไปตามแบบฉบับของตุ๊กตา

เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน บาร์บี้ตกเป็นจำเลยในอีกหนึ่งข้อหา ว่าด้วยเรื่องของการครอบงำความคิดด้านเป้าหมายชีวิตในอนาคตของเด็กผู้หญิง

ออโรรา เอ็ม. เชอร์แมน และ ไอลีน แอล. เซอร์บริงเงน สองนักวิจัยจาก Oregon State University และ University of California, Santa Cruz ทำการวิจัยโดยการทดลองเพื่อทดสอบว่าตุ๊กตามีผลต่อความคาดหวังของอาชีพในอนาคตต่อตัวเด็กที่เล่นอย่างไร โดยทดสอบกับเด็กผู้หญิงในช่วงอายุ 4-7 ปี จำนวน 37 คน ด้วยการให้พวกเธอเล่นกับตุ๊กตา 3 ประเภทคือ คุณหมอบาร์บี้, บาร์บี้แฟชั่น และ Mrs. Potato Head จาก Toy Story เป็นเวลา 5 นาที

ผลการทดลองพบว่า หลังจากเด็กๆ ได้เล่นตุ๊กตาและถูกถามเพื่อให้เลือกอาชีพที่เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายสามารถทำได้เมื่อเติบโตขึ้นจาก 10 ตัวเลือกที่มีให้ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ เด็กผู้หญิงมองว่าจำนวนอาชีพที่เด็กผู้ชายสามารถทำได้มีมากกว่าอาชีพที่เด็กผู้หญิงสามารถทำได้ในอนาคต โดยเฉพาะอาชีพที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพเฉพาะของผู้ชายที่เด็กๆ ผู้เข้าร่วมทดลองมองว่าตนเองไม่สามารถทำได้ เด็กผู้หญิงที่เล่นกับตุ๊กตาบาร์บี้ยังมองว่าเธอมีทางเลือกของอาชีพในอนาคตที่น้อยกว่าเด็กผู้ชายมาก ขณะที่คำตอบของเด็กๆ ที่เล่นกับ Mrs. Potato Head เห็นความแตกต่างได้น้อยกว่าอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ เด็กผู้หญิงที่เล่นกับตุ๊กตาบาร์บี้ยังมีแนวโน้มของความคาดหวังในสายอาชีพในอนาคตต่ำ แม้ว่าชุดที่ตุ๊กตาสวมใส่อย่างชุดของแพทย์หรือเสื้อผ้าแฟชั่นจะมีความสวยงามและน่ารักเพียงไร นักวิจัยจึงอนุมานว่าเสื้อผ้าที่บ่งบอกอาชีพไม่ได้มีผลทำให้ความภูมิใจในรูปลักษณ์และความสามารถในตนเองของผู้เล่นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ที่มา: alternet.org

 

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า