เตือนภัย ใต้วงแขน

parabenfree

 

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคอย่าง แชมพู สบู่ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ครีมกันแดด เครื่องสำอาง ฯลฯ นิยมใช้สาร ‘พาราเบน’ ในฐานะสารกันเสีย ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อย่างแบคทีเรียและเชื้อรา

แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่ม ทำการวิจัยและพบว่า ‘พาราเบน’ อาจจะมีความเกี่ยวข้องและเป็นต้นเหตุของสารก่อมะเร็งเต้านม เนื่องจากความนิยมผสมพาราเบนในผลิตภัณฑ์ใต้วงแขน และที่สำคัญ พาราเบนเป็นสารรบกวนฮอร์โมนและสารเคมีที่มีคุณสมบัติคล้ายเอสโตรเจน ซึ่งเอสโตรเจนคือหนึ่งในฮอร์โมนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโรคมะเร็งเต้านมในร่างกาย

เร็วๆ นี้ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง (Reading) ประเทศอังกฤษ นำโดย ดร.ฟิลิปปา ดาร์เบรอ ได้ศึกษาเนื้อเยื่อตัวอย่างของสุภาพสตรีที่ผ่านการตัดเต้านมเพราะตรวจพบมะเร็งเต้านมจำนวน 40 คน พบว่า จากการเก็บเนื้อเยื่อ 160 ตัวอย่างของทั้ง 40 คน (คนละ 4 ตัวอย่าง) พบสารพาราเบน1 ชนิดในเนื้อเยื่อของสุภาพสตรีกลุ่มนี้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และ 60 เปอร์เซ็นต์พบสารพาราเบน 5 ชนิด

อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถฟันธง 100 เปอร์เซ็นต์ได้ว่า พาราเบนที่ตรวจพบในเนื้อเยื่อนี้มาจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ เพราะ สุภาพสตรี 7 ใน 40 คนให้ข้อมูลว่า ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ใต้วงแขนเลยสักครั้ง

 

ที่มาและอันตรายของพาราเบน

ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อคือหนึ่งในต้นทางหลักๆ ของพาราเบน แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือ กระทั่งคนไข้ที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ก็ยังพบว่ามีสารพาราเบนในเนื้อเยื่อของเต้านม

ด้วยความที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน   การวิจัยทางการแพทย์พบว่า พาราเบนก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย อาจทำให้มวลกล้ามเนื้อ (Muscle mass) ลดลง ปริมาณไขมันมากขึ้น และ มีอาการหน้าอกโตในผู้ชาย – คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน

คำถามต่อมาคือ จะหลีกเลี่ยงพาราเบนได้อย่างไร ?

เบื้องต้นคือ อ่านได้จากฉลากสินค้าที่บอกส่วนผสมต่างๆ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ใต้วงแขน ครีมกันแดด เครื่องสำอางโดยเฉพาะบลัชออน ซึ่งพบว่านิยมใช้มากกว่าเครื่องสำอางชนิดอื่นๆ

ที่สำคัญ ในผลิตภัณฑ์ที่ฉลากเขียนไว้ว่า “all-natural” หรือ ธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ รู้ไว้เถอะว่าในนั้นยังคงซ่อนส่วนผสมสุ่มเสี่ยงเอาไว้ และหนึ่งในนั้นคือพาราเบน

 

 

parabenfree2

 

หนึ่งในวิธีห่างไกลพาราเบนที่หลายคนรู้ดีและมีทำนำร่องไปนานแล้วคือ ทำผลิตภัณฑ์ไว้ใช้เอง ด้วยวัตถุดิบง่ายๆ จากตู้เย็นหรือไม่ก็ในครัว

ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใต้วงแขนหรือโรลออน มีหลากสูตรหลายวิธี เช่น ใช้น้ำมันมะพร้าว , สารส้มบด หรือ เบคกิ้งโซดาผสมน้ำ ทาบริเวณใต้รักแร้ เท่านี้ก็ระงับกลิ่นและเหงื่อได้ดีพอๆ กับโรลออนที่ขายทั่วไป ปลอดภัยแถมประหยัดอีกต่างหาก

นอกจากนี้ สารพาราเบนยังพบในอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก , ขนมปังอบ และ ขนบกรุบกรอบต่างๆ ซึ่งทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สารกันเสียพาราเบนส์มีคุณสมบัติเป็น ‘โลหะ’ ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำงานฐานะ metalloestrogen หรือแคดเมียมที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถไปเพิ่มสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเต้านม เท่ากับเพิ่มเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านม

รายงานที่ตีพิมพ์ใน วารสาร the journal Cancer Research ให้ข้อมูลว่า แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ทราบว่ากันดีว่ามีฤทธิ์ก่อมะเร็ง ทั้งนี้การศึกษาในกลุ่มสุภาพสตรีจำนวน 56,000 คน มีร้อยละ 21 ที่พบปริมาณแคดเมียมในร่างกายสูงและมีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านม

แคดเมียมมาจากไหนได้บ้าง?

โดยทั่วไปแคดเมียมจะเข้าไปปะปนในพืชพันธุ์ผ่านปุ๋ย หรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ เมื่อฝนตกก็ถูกชะล้างลงไปในหน้าดิน

พืชพันธ์ที่เป็นแหล่งสะสมแคดเมียมอันดับต้นๆ คือ มันฝรั่ง และ ธัญพืชต่างๆ นอกจากนี้แคดเมียมยังลอยปะปนในมลพิษอากาศ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เมื่อเราสูดหายใจเข้าไป

อาจพูดได้ว่า สารเคมีสังเคราะห์อย่างพาราเบนส์ , โลหะที่พบได้ในอาหารและสิ่งแวดล้อมอย่างแคดเมียม มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันคือคุณสมบัติและการออกฤทธิ์ใกล้เคียงฮอร์โมนเอสโตรเจน หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเป็นมะเร็งในสตรี โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุมดลูก

 

 

Mammogram

 

ตรวจเมมโมแกรมเสี่ยงมะเร็ง

นอกจาก 2 ปัจจัยแรกแล้ว อีกหนึ่งตัวการที่สร้างความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้มากคือ การเอ็กซเรย์เต้านมเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม หรือเมมโมแกรม

เมมโมแกรมเป็นการตรวจเต้านมโดยใช้เครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษ โดยทำการตรวจเต้านมข้างละ 2 ท่า รวม 4 ภาพ จะใช้อุปกรณ์ช่วยในการกดเต้านม ให้เนื้อเต้านมกระจายออกทำให้เต้านมสัมผัสรังสีในการปริมาณมาก วิธีนี้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกว่าการเอ็กซเรย์ปอดถึง 1,000 เท่า ทั้งนี้การเอ็กซเรย์เต้านมจะค่อยๆ ออกแรงบีบเต้านมอย่างแรง ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งยิ่งแพร่กระจาย

ต้นปีที่ผ่านมา Nordic Cochrane Collaboration องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านให้ความรู้ทางการแพทย์และสุขภาพ แถลงว่าการเอ็กซเรย์เต้านมหรือการตรวจเมมโมแกรมอาจสร้างผลเสียมากกว่าผลดี

ปีเตอร์ ซี กอชเช ศาสตราจารย์ด้านการออกแบบการวิจัยทางการแพทย์ และ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์แห่ง Nordic Cochrane Collaboration ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Mammography Screening: Truth, Lies and Controversy ให้ข้อมูลว่า วิธีลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในสุภาพสตรีที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการเอ็กซเรย์เต้านม

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1974 ข้อมูลเรื่องเดียวกันนี้ก็ถูกเปิดเผยโดย ศาสตราจารย์มัลคอล์ม ซี ไพค์ แห่งมหาวิทยาลัย Southern California School of Medicine ที่ออกมาเตือน สถาบันมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (the National Cancer Institute :NCI) ว่า การที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายคนสรุปว่า “ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 50 ควรเอ็กซเรย์เต้านมเพื่อหาเซลล์มะเร็งนั้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณแพทย์”

ในปี 1990 ดร.ซามูเอล เอปสไตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ ก็เตือนถึงอันตรายของการเอ็กซเรย์เต้านมเช่นเดียวกัน

“เต้านมของสุภาพสตรีในวัยที่ยังมีประจำเดือนนั้นมีความอ่อนไหวต่อการฉายรังสีมาก โดยการสัมผัสรังสี 1 ครั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม 1 เปอร์เซ็นต์”

แม้จะมีความเสี่ยงและข้อเสียมาก แต่โดยทั่วไปการตรวจหามะเร็งด้วยการเอ็กซเรย์เต้านมยังคงเป็นวิธีป้องกันที่ทางการแพทย์แนะนำสำหรับผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป

 

Mammogram2

 

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ยังไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้ ล่าสุดประเด็นนี้ยังคงสนใจกันในวงแคบๆ ในฐานะ “ความลับที่ถูกเปิดเผย” ของวงการคนที่ทำงานด้านตรวจสอบและทดสอบเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงเครื่องมือการตรวจหามะเร็งด้วย พนักงานที่มีหน้าที่ทดสอบเคยส่งจดหมายเตือนไปยังสภาคองเกรสถึงอันตรายของเครื่องมือเหล่านี้ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดรับรองว่าปลอดความเสี่ยงจากการก่อมะเร็ง

เจฟฟรีย์ ชูเรน ผู้อำนวยการศูนย์รังสีวิทยาแห่ง FDA พยายามออกมาค้านข้อมูลจากพนักงานกลุ่มนี้ โดยอ้างว่าพวกเขาเปิดเผยข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียแก่จรรยาบรรณและนโยบายการทำงานของ FDA

ที่ผ่านมา ในปี 2009 พนักงาน FDA บางส่วนเขียนจดหมายไปถึงทีมทำงานของประธานาธิบดีบารัก โอบามา เนื้อความเปิดเผยถึงขบวนการคอร์รัปชั่นที่หยั่งรากลึกในวงการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ผู้จัดจำหน่ายและสถาบันทางการแพทย์ที่เป็นลูกค้า แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบไป

เดือนตุลาคมปีเดียวกัน คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านการป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา(The US Preventative Task Force)แถลงว่าสำหรับสุภาพสตรีวัย 40 ปีขึ้นไปไม่จำเป็นต้องเอ็กซเรย์เต้านมเพื่อตรวจหามะเร็ง ถ้าอยากตรวจให้รอจนกว่าอายุ 50 และควรเอ็กซเรย์เพียงปีเว้นปีไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี

 

*********************************************

(ที่มา : realpharmacy.com,มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)

 

logo

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า