เพราะหนังสือคือศิลปะ

เรื่อง : อารยา คงแป้น
ภาพ : อนุช ยนตมุติ

เขานั่งอยู่คู่กัน ทั้งสองเป็นคนในวงการหนังสือ คนหนึ่งคือ คุ่น-ปราบดา หยุ่น นักเขียนผู้มีเอกลักษณ์ทางงานเขียน ส่วนอีกคนคือ จ๊อก-ชัยพร อินทุวิศาลกุล เจ้าของโรงพิมพ์ ’ภาพพิมพ์’ คนหนึ่งเขียน คนหนึ่งพิมพ์ เป็นสองอาชีพที่มีเส้นชีวิตใกล้ชิดกัน

หลังผ่านงานเขียนมาหลายเล่ม และผ่านการคัดสรรกระดาษ หมึกพิมพ์ ความเงางามของปก และการเข้าเล่ม พวกเขาเริ่มมองเห็นว่าคุณค่าบางประการของหนังสือได้เลือนหายไป เพราะถูกกลบด้วยป้ายลดราคาในมหกรรมหนังสือ งานที่ผู้คนต่างเดินเบียดเสียด ชะโงกหน้ามองปก หยิบขึ้นมาพลิกหน้าพลิกหลัง กรีดเนื้อในดูสักครู่ และเมื่อปลงใจซื้อก็เพียงแต่ควักเงินในกระเป๋าสตางค์ยื่นให้คนขาย หันหลังให้ และเดินจากไป…จบ

“เราเห็นงานสัปดาห์หนังสือ ปีละสองครั้ง แล้วรู้สึกว่ามันสูญเสีย มันสิ้นเปลือง และมันเสียดายโอกาสที่คนทำหนังสือในหมู่สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ทำหนังสือออกมาดีๆ พอไปอยู่ในช่วงงานปุ๊บ มันเป็นโหมดของการขายหนังสืออย่างเดียว ไอ้ส่วนที่มันเป็นคุณค่าของหนังสือมันหายไป” จ๊อก ชัยพร บอกแบบนั้น

เราสงสัย หากงานสัปดาห์หนังสือของไทยเป็นเหมือนเทศกาลลดราคา หากมองออกไปในต่างประเทศ งานหนังสือของเขามันมีหน้าตาเช่นไร?

“มันมีความแตกต่าง ก็ต้องบอกว่าแต่ละประเทศไม่ค่อยเหมือนกัน ประเทศที่มีความคล้ายกับเราคือไต้หวัน บุ๊คแฟร์ของไต้หวันเขาก็ขายหนังสือ แล้วก็มีการลดราคาหนังสือด้วย แต่ข้อแตกต่างคือ ที่ไต้หวันต้องซื้อตั๋วเข้าไปในงาน ไม่ได้เข้าฟรี ซึ่งตั๋วมันไม่แพงนะ แต่ส่วนใหญ่ที่อื่นๆ โดยเฉพาะที่ใหญ่ๆ อย่างเช่น ที่แฟรงก์เฟิร์ต เขาจะเน้นการขายลิขสิทธิ์มากกว่า คือออกบูธเพื่อให้เอเยนต์หรือสำนักพิมพ์มาพบเจอกัน แล้วซื้อขายลิขสิทธิ์กัน ทำธุรกิจกันโดยตรง มันไม่ค่อยเน้นการขายกับคนอ่าน แต่ก็มีบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะขายสองวันสุดท้ายของงาน” ปราบดา หยุ่น เป็นผู้ตอบ

เมื่อมองเห็นจุดที่ไม่น่าประทับใจจุดนั้น คนหนุ่มสองคนจึงโยนไอเดียให้แก่กัน พูดคุย และวางแผนจนก่อร่างออกมาเป็นงาน ‘Bangkok Book Festival 2015’ หรือ เทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1งานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตหนังสือและการพบปะพูดคุย มากกว่าเม็ดเงิน

IMG_9546

01 นับหนึ่ง

นี่คืองานหนังสือที่ไม่เน้นการขาย แต่พุ่งเป้าไปที่การพบปะของสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ร้านหนังสืออิสระ และนักอ่าน โดยใช้พื้นที่รูปวงกลมของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นสถานที่จัดงาน

“ตอนที่จ๊อกมาคุยกันครั้งแรกๆ เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะเป็นคนทำเอง ก็คือเหมือนคุยๆ กันเป็นไอเดีย ว่ามันควรจะมีงานแบบนี้ในบ้านเราบ้าง เพราะว่าในช่วงระยะหลังๆ เรารู้สึกว่าก็มีสำนักพิมพ์เล็กๆ หลายแห่งที่ทำหนังสือโดยไม่ได้อิงแค่เรื่องคอนเทนต์อย่างเดียว มันมีหลายๆ แง่มุมที่มีความสนใจมากขึ้นในบ้านเรา เช่น การออกแบบรูปเล่ม การออกแบบปก การคุยกับโรงพิมพ์โดยตรงเกี่ยวกับการเลือกกระดาษ แล้วก็เทคนิคต่างๆ ในการพิมพ์ที่ต่างออกไป มันเหมือนกับความสนใจในแง่ความเป็นคราฟท์ ความเป็นอาร์ต ของหนังสือมันเริ่มกลับมา” ปราบดาว่า

“การจัดงานครั้งนี้นอกจากคนอ่านมาเจอกันแล้ว ในแง่คนพิมพ์ คือคนทำสำนักพิมพ์ จะได้มีโอกาสมาเจอกัน ได้คุยกัน อาจจะไม่เชิงหามติ แต่มาคุยกันว่าแนวโน้มมันยังไง แชร์แลกเปลี่ยนไอเดียกันว่าจะทำยังไงในอนาคต” เจ้าของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์กล่าวเสริม

นักเขียนหนุ่มเล่าต่อ เขาบอกว่าอีกเรื่องหนึ่งที่เขามองเห็น และมันดูเป็นเรื่องไม่เข้าท่านัก คือ คนในวงการหนังสือ ไล่ตั้งแต่นักเขียน นักแปล กราฟิกดีไซเนอร์ โรงพิมพ์ และร้านหนังสือ ต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันค่อนข้างเบาบาง ทั้งที่มีโอกาสได้พบเจออย่างน้อยปีละสองครั้ง ครั้งละเจ็ดวัน แต่ภาระหน้าที่ตรงหน้าอาจทำให้แต่ละคนทำได้เพียงทักทายกันเล็กๆ น้อยๆ

“จริงๆ แล้วสังคมเรามันเล็กนะ แต่มันมีบรรยากาศแบบว่าคิดไปเอง จินตนาการไปเองว่าคุยกับคนนั้นไม่ได้ หรือคนนั้นไม่ถูกกับคนนี้ ซึ่งบางทีมันไม่จริงไง การได้มาเจอกันก็จะทำให้เราได้คุยกันด้วย” ปราบดาบอกแบบนั้น

ผู้ร่วมสนทนาอีกคนค้านแบบทีเล่นที่จริงว่า

“ทุกวันนี้ก็คุยกันเยอะนะ คุยบนเฟซบุ๊ค แต่ถ้าได้มาเจอกันบ้างมันจะได้คุยกันอย่างจริงๆ จังๆ”

“อีกอย่างที่บ้านเรายังไม่มีคือเทศกาลวรรณกรรม ซึ่งเทศกาลวรรณกรรมมันไม่เน้นการขายหนังสือเลยแต่ว่าเน้นการเสวนา เน้นการพบปะนักเขียน ซึ่งงานนี้เราเลยพยายามที่จะทำให้มันมีส่วนผสมอย่างนั้นด้วย”

IMG_9590

02 พบเพื่อพูดคุย

ด้วยความเป็นครั้งที่ 1 งาน Bangkok Book Festival 2015 จึงมีสเกลงานที่ไม่ใหญ่เกินตัว
มีสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเข้าร่วมงานทั้งหมด 20 สำนักพิมพ์ และอย่างที่บอกว่างานนี้ไม่ได้เน้นผลเชิงการค้างาน Bangkok Book Festival 2015 จึงเป็นเสมือนงานมีตติ้งของคอหนังสือที่รักใคร่การอ่านแนวเดียวกัน ทั้งยังมีวงเสวนา นิทรรศการโชว์ปก โชว์ต้นฉบับหนังสือ ของแต่ละสำนักพิมพ์

“สำนักพิมพ์ที่มานำเสนองานของตัวเอง มี 20 สำนักพิมพ์ คือเรามีส่วน book shop ด้วย โดยใช้พื้นที่ตรงกลางเล็กๆ ตรงนั้นก็มี 20 สำนักพิมพ์ที่ว่านี้ นอกนั้นก็จะมีสำนักพิมพ์อื่นๆ มาร่วมด้วย รวมทั้งสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่หรือปานกลาง เช่น aday กับ มติชน” ปราบดาเล่ารูปแบบของงานให้ฟังอย่างคร่าวๆ

วงเสวนามีการพูดคุยกับ เคนนี เล็ค (Kenny Leck) เจ้าของ Books Actually ร้านหนังสืออิสระในสิงคโปร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เรื่องสำนักพิมพ์อิสระ การทำร้านหนังสืออิสระ และเรื่องความอยู่รอดของหนังสือ นอกเหนือจากนั้นยังมีวงเสวนาของ คาโยะ อูเมะ ช่างภาพชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่หนังสือภาพของเธอขายดิบขายดีจนเป็นปรากฏการณ์ในประเทศของเธอ

“นอกจากนี้ก็มีวิทยากรไทยที่พูดถึงเรื่องการออกแบบปกหนังสือ มีการเสวนาเกี่ยวกับการออกแบบฟอนต์ เสวนาเกี่ยวกับวารสารวรรณกรรมในเมืองไทย มีเสวนาเปิดตัวหนังสือ แล้วก็มีการพบปะนักเขียน มีการแจกลายเซ็น”

ถามพวกเขา งานนี้ทำให้นักอ่านเข้าถึงนักเขียนได้ง่ายขึ้นหรือไม่?

“ปกติก็เข้าถึงไม่ยากนะครับ” ปราบดาตอบในฐานะนักประพันธ์

“เข้าถึงยากครับ แต่ว่าเราอยากให้มันมีความรู้สึกของการคุยกัน ไม่ใช่แบบต่อแถวเพื่อเอาลายเซ็น แต่มันไม่เกิดบทสนทนา” ชัยพรแย้งด้วยรอยยิ้ม

ในฟากฝั่งงานดีไซน์ มีทั้งวงเสวนาเรื่องการออกแบบปก ออกแบบฟอนต์ และมีเวิร์คช็อปสมุดทำมือ

“เรื่องการออกแบบ ก็คนร่วมวงเสวนาจาก Wrongdesign มี พี่ทองธัช เทพารักษ์ ซึ่งในยุคหนึ่งงานปกของแกก็โดดเด่นมีเอกลักษณ์มาก มี คุณอนุทิน วงศ์สรรคกร ที่เป็นคนออกแบบตัวอักษรจากบริษัท คัดสรร ดีมาก แล้วก็มีเวิร์คช็อปเรื่องการทำ screen print แล้วก็คนวาดภาพประกอบ”

“อย่างงานที่เป็นคราฟท์ พวกที่เป็นหนังสือทำมือ สำนักพิมพ์เราก็ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ว่าการจัดงานนี้ขึ้นมาก็จะทำให้เราได้คุยกัน ก็อาจจะได้ร่วมงานกันในบางปก”

IMG_9581

03 นี่ไม่ใช่ขาลงของวงการหนังสือ

หากการใส่ใจในกระบวนการผลิตหนังสือคือความงดงามอย่างหนึ่งในหัวใจของคนสร้างสรรค์ แต่การยืนหยัดในโลกที่หมุนด้วยเทคโนโลยีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ว่าผู้อ่านบางคนหันไปหา e-book เพราะพกสะดวก อ่านง่าย หลายคนบอกว่าวงการหนังสือกำลังจะตาย ทุกอย่างจะ move to digital แต่เขาสองคนไม่ได้คิดเช่นนั้น

“เราไม่คิดว่าจะมีผลอะไร ทุกวันนี้มันชัดเจนแล้วเหมือนกันว่าคนที่เลือกซื้อ e-book ก็เลือกด้วยเหตุผลหนึ่ง คนที่เลือกซื้อหนังสือเล่มก็เลือกซื้อด้วยเหตุผลหนึ่ง เราไม่ได้เปรียบว่าอะไรมันดีกว่ากันนะ แต่เราเห็นความแตกต่างชัดเจนว่าการอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ มีหมึก มันมีปฏิกิริยาต่อความเป็นคนของเรามากกว่า มันมีสัมผัส มี texture ของกระดาษ ได้กลิ่นหมึก หรือแม้แต่ระหว่างพักสายตา มันมีการพลิกดูว่าเราอ่านถึงหน้าไหน ตรงไหน ส่วนไหนของหนังสือเล่มนี้”

ปราบดาบอกอีกว่า การอ่านแบบกระดาษยังมีองค์ประกอบของเวลา ระยะทาง และความทรงจำมากกว่าการอ่านคอนเทนต์ใน e-book ซึ่งหนังสือบางเล่มก็อาจจะเหมาะกับการอ่านแค่คอนเทนต์ แต่สำหรับบางเล่ม การอ่านจากหมึกบนหน้ากระดาษสามารถพาคนอ่านเข้าไปในความเป็นหนังสือมากกว่าการอ่านแบบดิจิตอล

“เราว่าคนก็ยังหลงใหลในหนังสือด้วยเหตุผลเหล่านี้อยู่ ในขณะที่ e-book มันเป็นความสะดวกสบายของยุคสมัยมากกว่า”

อาจเป็นจริงดังเขาว่า e-book ตอบโจทย์สำหรับหนังสือบางประเภทเท่านั้น และเมื่อหนังสือเล่มยังไม่ตาย เจ้าของงานเขียนหรือสำนักพิมพ์ก็หันมาใส่ใจกับกับงานออกแบบไปโดยอัตโนมัติ

ในฐานะนักเขียน ปราบดาให้ความเห็นว่า

“เรารู้สึกว่ามันเป็นปฏิกิริยาโต้กลับเหมือนกันนะ จากยุคที่ทุกคนคิดว่าหนังสือเล่มจะตาย ร้านหนังสืออิสระจะตาย ทุกอย่างจะไปอยู่บนดิจิตอลหมด จะไม่มีกระดาษอีกแล้ว มันก็เกิดปฏิกิริยาโต้กลับ คนที่เห็นคุณค่าในเสน่ห์ของกระดาษ การเข้าเล่ม หมึก การพิมพ์ มันก็ยังคงมีอยู่ในโลก แล้วมันก็มีเกิดขึ้นใหม่ๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

“เพราะฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะพยายามสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือสิ่งที่เขาสนใจขึ้นมา มันกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากคนรักหนังสือจริงๆ ที่ไม่ได้อ่านตามกระแส อ่านเพื่อหาข้อมูล อ่านเพื่อเล่นหุ้น แต่เป็นคนที่อ่านเพื่ออ่านหนังสือ ซึ่งก็เป็นคนกลุ่มที่ชอบในเรื่องแบบนี้ด้วย มันเลยทำให้สังคมหนังสือมีความน่าตื่นเต้น น่าหลงใหล น่าแสวงหากลับมาอีกครั้ง”

ส่วน จ๊อก-ชัยพร นั่งฟังพลางผงกหัวเห็นด้วย แล้วอธิบายเสริมให้ฟังว่า เรื่องการหันมาใส่ความประณีตลงในกระบวนการการทำหนังเกิดขึ้นมาพักใหญ่ๆ เริ่มตั้งแต่ยุควิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่คนทำสำนักพิมพ์ด้วยตัวเองได้ง่ายมากขึ้น ทั้งยังเป็นยุคทองของหนังสือทำมือ

“วงการสำนักพิมพ์มันไม่ได้อยู่ในมือของนักธุรกิจหรือพ่อค้าที่จะพิมพ์หนังสือไว้ขายแล้ว”

ชัยพรเล่าว่า ส่วนมากของคนในวงการสำนักพิมพ์ขนาดเล็กคือคนชอบอ่านหนังสือ คือคนรักหนังสือ และเมื่อได้ทำในสิ่งที่รัก สำนักพิมพ์เล็กๆ เหล่านั้นจึงผลักให้พ็อกเก็ตบุ๊คเกิดงานดีไซน์ที่สวยงาม มีวัสดุหรือกระดาษที่หลากหลายขึ้น โดยมีความต้องการของคนอ่านคนเป็นตัวขับ

“เราว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน คือมันเป็นเรื่องของ passion ของคนที่ทำสำนักพิมพ์ ณ วันนี้ผมคิดว่ามันอยู่ในแนวโน้มที่ดี หลายๆ คนทำด้วยความรักที่ไม่ได้อยากเห็นแค่เนื้อหาที่ดี แต่มีเนื้อหาดีอยู่ในฟอร์มที่ดีด้วย มันเป็นเรื่องที่มันอยู่ใกล้กันมากขึ้น

“หนังสือมันไม่ใช่สินค้าแล้ว มันเหมือนลูก เราเห็นมันคลอดออกมาแล้วแบบ เออ…ชื่นชมกับมัน”

 


update 2559 ติดตามรายละเอียดงาน Bangkok Book Festival ครั้งที่ 2 ปี 2016ได้ที่นี่

***********************

หมายเหตุที่ 1 : งาน Bangkok Book Festival 2015 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2558 ณ ชั้น L ชั้น 1 และชั้น4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หมายเหตุที่ 2 : งาน Bangkok Book Festival 2016 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2558 ณ ชั้น L ชั้น 1 ชั้น 4 ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หมายเหตุที่ 3 : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ Face of entertainment นิตยสาร Way ฉบับที่  87  

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า