เขียนช้างให้โลกกลัว

เรื่อง  :  วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

1.เที่ยวทุ่งกังหันลม

เสาร์นี้ อาจารย์ประจำชั้นพาเย็นดีกับเพื่อนร่วมห้องไปเที่ยวทุ่งกังหันลมที่เกาะล้าน ใบพัดหมุนรับลมทะเลเหมือนผ้าพันคอสีขาวหมุนในเครื่องซักผ้า

เกาะล้านมีระดับความเร็วลมเฉลี่ย 4-5 เมตรต่อวินาที ระบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้ 25-30 กิโลวัตต์ ในอนาคตจะมีการพัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำบนเกาะล้านให้มีกำลังการผลิตเป็น 3,000 วัตต์ และ 5,000 วัตต์ต่อตัว

มีนักท่องเที่ยวมากมายมาถ่ายรูปทุ่งกังหันลมบนเกาะล้าน เย็นดีเขินหน้าแดงตอนยืนถ่ายรูปคู่กังหันลม เพราะอาจารย์บอกว่าทุ่งกังหันลมเหล่านี้ตั้งอยู่บนเนินนมสาว

2.ไดโนเสาร์สีเขียว

อีกสัก 10 ปีข้างหน้า ตอนนั้นเย็นดีจะโตเป็นสาว เธออาจมีโอกาสได้อ่านหนังสือใต้นีออนที่ได้รับกระแสไฟมาจากเศษอาหารหรือขยะจากการทำเกษตรหรือที่เรียกว่าพลังงานชีวมวล

พลังงานหมุนเวียนอย่าง พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในสถานการณ์ภาวะโลกร้อน แต่กลับถูกให้ความสำคัญน้อยมากในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553-2573 หรือแผนพีดีพี 2010

หนังสือพิมพ์ถ่ายทอดความภูมิใจของกระทรวงพลังงานว่า ‘นี่คือพีดีพีสีเขียว!’

ในแผนพีดีพีสีเขียวนี้ จะมีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรงๆ ละ 1,000 เมกะวัตต์ ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศราว 15,000 เมกกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าจากถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์อีก 15 โรง รวมเป็น 12,000 เมกะวัตต์ ฯลฯ สำหรับพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมในปี 2007 จาก 3 เปอร์เซ็นต์เป็น 4 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 5,600 เมกะวัตต์

แผนนี้ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงจากที่ปล่อยอยู่ในปัจจุบัน 0.564 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วย ลงได้เหลือ 0.38-0.42 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วย

แต่มันเป็นการคำนวณที่ปากปล่องเท่านั้น ไม่ได้รวมทั้งวงจรชีวิตของกระบวนการผลิต ซึ่งถ้าไม่ไปนับมัน – ก็ไม่มี

เย็นดียืนมองเด็กชายคนหนึ่งเล่นฮูลาฮูปริมหาด เด็กชายมองมายังจุดที่เย็นดีและเพื่อนร่วมชั้นยืนอยู่บ่อยๆ ราวกับต้องการอวดความสามารถในการควบคุมห่วงพลาสติกด้วยต้นคอและเอว เย็นดีคิดว่าเขาเหมือนไดโนเสาร์เล่นฮูลาฮูปริมทะเล

3.ช้างเผือกกัมมันตรังสีกำลังเต้น ‘มูนวอล์คเกอร์’

อัล กอร์ เคยเปรียบเทียบพลังงานนิวเคลียร์เหมือน ‘ช้างเผือกกัมมันตรังสี’ แต่เขาก็บอกว่า อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกายังคงหยุดนิ่งอยู่กับที่และการเติบโตทั่วโลกก็ชะลอตัวลงอย่างมาก

หลายประเทศที่ผ่านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์มาแล้วต่างเริ่มเต้นท่ามูนวอล์คเกอร์ถอยห่างออกมาจากพลังงานนิวเคลียร์ ฮาวายประกาศว่าจะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานลม 40 เปอร์เซ็นต์ในปี 2573

ในฝั่งยุโรป มีโรงฟ้าชีวมวลใน 23 ประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 5,300 เมกะวัตต์เป็น 7,100 เมกะวัตต์ภายในระยะเวลาจากปี 2003-2009

เย็นดีเคยฟังพ่อเล่าถึงโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่เป็นโรงงานจากต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิต เนื่องจากประชาชนในประเทศแม่ของพวกเขาพยายามต่อต้านเนื่องจากผลกระทบที่ได้รับ ประเทศแม่เหล่านั้นจึงคุมในส่วนของตัวเทคโนโลยีแล้วมาจ้างประเทศโลกที่ 3 เป็นแรงงาน

ช่างคล้ายกับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหลือเกิน

เย็นคิดว่าผู้นำในประเทศโลกที่ 3 ที่ภาคภูมิในจุดนี้ช่างเหมือนเด็กชายกับฮูลาฮูปคนนั้น

4.มาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันเถอะ

หลายเดือนก่อน เย็นดีเดินไปเสิร์ฟตับห่านราดซอสให้พ่อกับเพื่อนของพ่อที่นั่งดื่มไวน์ริมสระว่ายน้ำภายในบ้าน เป็นจังหวะที่เพื่อนพ่อแดกดันอย่างสุภาพว่า “เลิกกระแดะเถิดครับ คุณว่าไหมถึงนาทีนี้แล้วประเทศเราต้องมีนิวเคลียร์”

พ่อผงกหัวรับ ใบหน้ามีสีเดียวกับไวน์ในแก้ว

จากรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA, Energy Technologies Perspective 2008) แสดงให้เห็นว่า หากโลกเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นเป็น 4 เท่าของปัจจุบันภายในปี 2050 จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคพลังงานได้ 6 เปอร์เซ็นต์

การเพิ่มสัดส่วนพลังงานนิวเคลียร์ หมายถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประมาณ 1,500 เครื่องจะถูกสร้างขึ้นทั่วโลก

การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเฉลี่ย 10 ปี หากเริ่มก่อสร้างตั้งแต่บัดนี้ เตาปฏิกรณ์

เครื่องแรกจะเริ่มเดินเครื่องเพื่อช่วยลดคาร์บอนได้ปี 2020

ยังไม่มีมนุษย์คนไหนยืนยันว่าการเก็บกากกัมมันตรังสีเป็นเรื่องง่าย

ถ้าสามารถก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เพิ่มขึ้นได้อีก 1,500 เครื่องจริง สิ่งที่จะต้องมีคือการจัดเตรียมสถานที่ทิ้งกากนิวเคลียร์แห่งใหม่ที่ต้องมีขนาดเท่ากับที่ภูเขายุคคา (Yucca) ในรัฐเนวาดาเพิ่มขึ้นหนึ่งแห่งในทุกๆ 3-4 ปี

สหรัฐอเมริกาเคยเลือกภูเขายุคคาเป็นที่ฝังเก็บระยะยาว เกิดเสียงคัดค้านขึ้นภายในรัฐและคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทางการขนส่งที่คาดว่าจะใช้เป็นทางผ่านของกากความเข้มสูง

5.ธรรมชาติของเตาปฏิกรณ์

เตาปฏิกรณ์ต้องการน้ำปริมาณมหาศาลสำหรับระบบหล่อเย็น การลดลงของระดับน้ำ หรือกระทั่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของแหล่งน้ำที่ใช้ในการหล่อเย็น สามารถก่อผลกระทบอย่างใหญ่หลวงได้ต่อการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ แต่สำหรับโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ติดชายทะเล สิ่งที่จะต้องเผชิญในอนาคตจากภาวะโลกร้อนก็คือ ปัญหาน้ำท่วม

เมืองไทยเป็นเมืองร้อนเหมาะแก่การเพาะปลูก แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์ภัยแล้วกำลังทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรลำบาก แต่เย็นดีก็หวังว่าวันหนึ่งฟ้าดินคงเป็นใจ

ขณะพระอาทิตย์กำลังลงไปเล่นน้ำทะเลตรงขอบโลก เย็นดีนั่งวาดภาพอนาคตของตัวเองในเงาซิลลูเอท (Silhouette) ว่าเธอจะได้นั่งอ่านหนังสือใต้นีออนที่รับพลังงานมาจากเศษอาหารเศษใบไม้ขี้หมูขี้ควาย หรืออาจจะพาลูกชายหรือลูกสาวกับสามีในอนาคตมาเที่ยวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ถ่ายรูปโดยมีแบ็คกราวด์เป็นปล่องควันในระยะที่คิดว่าห่างพอไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพแล้วกลับมาโพสต์ลงเฟซบุ๊ค

…………………………………..

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ กรกฎาคม 2553)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า