‘เพื่อนกิน’ หาง่าย

IMG_5307

                                                                                                                                                                                                                        เรื่อง :  ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ : อนุช ยนตมุติ

                                                                                                                                                             

แซลมอนย่างราดด้วยแมงโกซัลซาโรยหน้าด้วยใบพาสลีย์ เมนูฟิวชั่นที่เสิร์ฟมาในจานสวยหรูตรงหน้า คงดูด้อยค่า ถ้าจะงุบงิบไว้อร่อยคนเดียว

“น่าอร่อยอ่ะ”, “แกล้งกันชัดๆ อ่ะ”, “ฆ่ากันเลยดีกว่าอย่างนี้” …ประโยคสั้นๆ หลังจากแบ่งปันจานอร่อยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ภายในเวลาไม่กี่วินาที ทำให้ใครหลายคนฟินนักฟินหนา แต่ไม่ใช่กับ พลอย จริยะเวช

เพราะประสบการณ์ที่แชร์รูปอาหารผ่านเฟซบุ๊ค แฟนเพจ และ อินสตาแกรม มานาน มันทำให้หลายๆ คอมเมนท์ข้างต้น เป็น ‘Dead Air’ สำหรับเธอ

“ไม่ต้องพูดก็ได้นะ (ยิ้ม) ถ้าไม่รู้จักหรือไม่ได้สนิทกัน หรือร้านค้าสมัยนี้เข้ามาแบบ น่ากินจังอ่ะ ฝากร้านด้วยนะคะ มันเป็นการเมนท์แบบหวังผล” พลอยชวนคุยเรื่องอินสตาแกรมพร้อมโชว์ภาพประกอบผ่านสมาร์ทโฟน

อาหารส่วนใหญ่ที่พลอยมักแบ่งปัน คือ มื้อเช้า ที่เจ้าตัวลุกขึ้นมาทำเองทุกวันติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 4 ปี ผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ เฟซบุ๊คส่วนตัวที่สงวนเฉพาะ ครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง, แฟนเพจในเฟซบุ๊คที่มีคนกด ‘ถูกใจ’ ราว 14,000 คน และ อินสตาแกรม ที่ตั้ง Privacy แต่ก็คัด Follower ไว้กว่า 4,000 คน เลือกเฉพาะคนคอเดียวกัน

“เราเองก็เป็นผู้เสพรูปอาหารของคนที่เราชอบ ดูแล้วก็ชื่นใจไปด้วย อย่างพี่รุ่ง-รุ่งมณี เมฆโสภณ ก็ลงรูปอาหารเช้าทุกวัน ทักท่ายกันจุ๋งจิ๋งเหมือนสวัสดียามเช้าเบาเบา หรือคนอื่นๆ ที่คุยกันรู้เรื่อง กาแฟ ไข่ต้ม ดอกไม้ ฯลฯ บางครั้งตัวตนที่เป็นธรรมชาติ Passion ความชอบที่แท้ของคน ถ้ามันถูกส่งถูกแชร์ออกมาทางภาพแบบจริงแท้ ไม่ได้ประดิษฐ์ ไม่ได้พยายามโชว์ มันก็มีพลังที่จะส่งให้คนอื่นได้นะ”

พลอยมองการกินว่าเป็นความสุขสำหรับทุกสังคม เป็นวัฒนธรรมคู่มนุษย์ เป็นกิเลสพื้นๆ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความสุข ทำให้เรามีพลัง เป็นการชุบชูใจอย่างหนึ่ง

แต่ด้วยตำแหน่ง Concept Designer ของ URBANISTA CONCEPT STUDIO บริษัทส่วนตัวที่รับพอร์ทงานปีละไม่เกิน 3 พอร์ท คอลัมน์นิสต์ เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊ค 18 เล่ม และเจ้าของฉายาเจ้าแม่ไลฟ์สไตล์มากว่าทศวรรษ การกินจึงเป็นมากกว่าความสุขปกติ

“มันเป็นการทำงานของเราด้วย เป็นงานที่เราสนุก เป็นงานที่เราได้ฝึกทักษะทางการถ่ายรูป คอมโพสิชั่น โทนสี ฯลฯ รูปที่เราถ่ายก็ใช้ลงในคอลัมน์/หนังสือ มันคืองานที่ไม่เครียด จะบอกว่ารูปที่เห็นในหนังสือ เกือบทั้งหมดใช้สมาร์ทโฟนถ่ายนะคะ(ยิ้ม)”

 

IMG_5327

 

+ กินแล้วต้องโชว์

กับคำถามพื้นๆ ที่ว่า ทำไมกินแล้วต้องแชร์ หรือลึกๆ แล้วแค่อยากโชว์มากกว่า?

พลอยอธิบายโดยความเข้าใจส่วนตัวว่า  คำว่าแบ่งปัน (Share) กับการโชว์ (Show off) นั้น ความต่างมีเพียงเส้นบางๆ กั้น แล้วแต่คนจะตีความ ห้ามกันไม่ได้

“เวลาเราถ่ายภาพอาหาร เหมือนตื่นมาแล้วเราวาดรูป IG (อินสตาแกรม) มันก็เป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส เหมือนเฟรมผ้าใบ เราพัฒนาทักษะของเราทุกเช้า ด้วยการทำอาหารเช้า เลือกจาน เลือกผ้าปู ตัดดอกไม้ที่ปลูกไว้มาใส่แจกัน ขยับโน่นนี่ ดูสีให้เข้าเฟรม สนุกๆ เพลินๆ ผล็อบแผล็บเสร็จ ไม่ได้คิดอะไรมากว่าจะสวยมั้ยจะเก๋มั้ย คนจะ Like รึเปล่า ประสาทตายเลยถ้าตื่นมาแล้วคิดอะไรแบบนี้แต่เช้า สำหรับเราขอเริ่มต้นวันสนุกๆ สดชื่นๆ จบ”

พลอยย้ำว่า การใช้โซเชียลมีเดียของเธอนั้นชัดเจน ตรงคอนเซ็ปท์ และทำอย่างมีสติ ไม่ได้คิดว่าจะโชว์ อวด หรือแสดงความเป็นตัวเอง เพราะการเป็นคอลัมนิสต์มากว่า 15 ปี น่าจะบอกตัวตนได้ดีที่สุด ดังนั้นการจะแชร์เพื่อแชร์หรือแชร์เพื่อโชว์ ไม่ใช่สาระ

แต่สำหรับคนอื่นๆ โดยเฉพาะรุ่นน้อง รุ่นหลาน เท่าที่กวาดสายตาผ่านใยแมงมุม พลอยไม่อยากวิจารณ์มาก เพราะโลกปัจจุบัน มัน Niche เกินจะเหวี่ยงแห

อย่างวัยรุ่น วัยทีน และ First Jobber อาจจะโพสต์หน้าตัวเองคู่กับชิบูยาโทสต์ ร้าน  After you หรือ มาการองของ Lenotre พลอยมองว่ามันคือความสุขของชีวิตช่วงวัยรุ่นที่เกิดมาในโลกยุคโซเชียลมีเดียเบ่งบาน

“ในฐานะคนทำงานด้านไลฟ์สไตล์ เราชอบการแชร์แบบนี้นะ สนุกจะตาย หลากหลาย ไวยิ่งกว่าช่องที่มีในรีโมตทีวี ซึ่งเราไม่ใช่คนดูทีวีเท่าไร แต่เราชอบดูยูทูบ เพราะมันเลือกเจาะสิ่งที่เราสนใจ และดูเวลาไหนก็ได้ IG ก็เหมือนกัน มันให้ความรู้เราเรื่องการกินที่มันหลากหลาย ทำให้เราในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้เห็นภาพความเคลื่อนไหวในโลกรอบตัวได้ สะดวกดีออก”

 

+ เพื่อนดีมีไว้แชร์

สำหรับบางคน การไปกินข้าวคนเดียว ถือว่าน่าหดหู่อย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงต้องหา ‘เพื่อนกิน’ แม้จะผ่านสมาร์ทโฟนก็เถอะ อย่างน้อยก็จะได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจิ้มๆ ไถๆ เช็ค Like ผ่านหน้าจอ ไม่ต้องเงยหน้าขึ้นมาสบตากับก๊วนใหญ่โต๊ะตรงข้าม

แหม…ก็ไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป พลอยบอกว่าต้นทางของการแชร์ภาพอาหาร คือ ความสุข ถ้าไม่สุข คงไม่มีใครอยากแบ่งปัน

“มีความสุขแล้วถึงแชร์มากกว่านะ คือ รู้สึกสุข สนุกกับภาพตรงหน้า กับการกิน กับอาหาร เห็นว่าน่ามองถึงยกสมาร์ทโฟนขึ้นถ่าย สนุกที่จะปรับแต่งสี ใช้ App ถ้าไม่มีความสุข ไม่น่าทำนะ”

เจ้าของหนังสือ Enjoy Breakfast เปรียบเทียบการแชร์อาหารคาวหวาน ว่าไม่ต่างจาก ภาพถ่ายที่ระลึกรุ่นคุณตาคุณยาย มีลายเซ็นด้วยปากว่า ‘คิดถึงเธอ’ ‘มอบให้ด้วยรักและระลึกถึง’ หรือ การเขียนโปสการ์ดถึงใครบางคน ซึ่งทำหน้าที่ ที่พลอยเรียกว่า ‘Wish you were here’ – อยากให้คนไม่อยู่ มาอยู่กับเรา ฉะนั้นการกินแล้วแชร์คงทำหน้าที่ไม่ต่างกัน

“แต่ที่แน่ๆ มันน่าจะเกิดจากความรู้สึกบวกมากกว่าลบนะ” พลอยว่าอย่างนั้น

 

IMG_5319

 

+ ความเบาหวิวเหลือทนของนิ้วมือ

แม้จะใช้เวลาเลือกจาน เลือกผ้าปู จัดดอกไม้ ให้ทุกๆ มือเช้าเข้าที่เข้าทาง ก่อนถ่ายรูป แต่พลอยยืนยันว่า ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ประดิดประดอยเพื่อเรียกยอด Like แต่สงวนไว้เป็นความรื่นรมย์ส่วนตัวเท่านั้น

“การคลิก Like ไม่ได้มีประโยชน์ต่อพลอย ไม่ใช่สาระในชีวิต และพลอยก็ไม่ได้ต้องการ Like จากคนที่ไม่ได้เห็นคุณค่าที่แท้ของเรา บางทีพลอยคลิก Like ใคร พลอยไม่ได้คิดอะไรเลยนะ พลอยดู IG เฮ้ย สวย เฮ้ย เพลิน แฮปปี้ เราก็ Like Like Like Like Like  ในฐานะคนคลิก Like บางทีมันไม่มีสติ การ Like มันก็แค่ไถไปเรื่อยๆ มันเป็นความเบาหวิวเหลือทนของนิ้วมือ”

เธอบอกว่าความคิดเห็นส่วนตัวนี้ ไม่ได้มีเจตนากระแนะกระแหนหรือว่ากระทบใครที่รู้สึกฟินไปกับยอด Like มหาศาล เพราะเข้าใจดีว่า การได้รับการยอมรับนั้น มันมีความสุขขนาดไหน แต่พลอยผู้นิยามตัวเองว่า ‘ไลฟ์สไตล์สายความจริง’ อยากได้ Like แบบที่มันเกี่ยวเนื่องกับผลของงานมากกว่า อย่างอ่านหนังสือหรือบทความของพลอยแล้วชอบ จะปลื้มปริ่มกว่าเป็นล้านเท่า

 

+ กิน-แชร์-ตอกหมุด…จบ

ร้านอาหารหลายๆ ร้านร่วมเกาะขบวน กินแล้วแชร์ ด้วยการให้ส่วนลดสำหรับลูกค้าที่ Check in หรือ โพสต์ภาพอาหาร พร้อมปักหมุดบอกพิกัดร้าน

ผิดกับร้านอาหารระดับไฮเอนด์บางแห่งในนิวยอร์ก ที่ไม่อนุญาตให้ลูกค้าพกกล้องถ่ายรูปเข้ามาหรือให้ปิดโทรศัพท์มือถือระหว่างรับประทานอาหาร เช่น  Per Se, Le Bernardin และ Fat Duck ที่จำกัดจำนวนโต๊ะไว้ 12-18 โต๊ะ เพื่อความเป็นส่วนตัวของลูกค้า

เหตุผลหลักๆ คือ แสงแฟลชจะไปสร้างความรำคาญให้โต๊ะอื่นๆ หรือ การใช้เวลาถ่ายรูปนานเกินไป จนทำให้อาหารจานร้อนกลายเป็นเย็นชืด ไอติมซอร์เบทละลายกลายเป็นน้ำหวานเยิ้ม

“จริงๆ ฝรั่งบ้าแชร์อาหารไม่แพ้คนไทยนะคะ โดยเฉพาะ Food Blog ทั้งโลกมีมหาศาลล้านแปด ฝรั่งหมกมุ่นกับการกินเยอะมาก (ลากเสียง) แชร์แบบยืดยาวทั้งภาพทั้งเขียน หรือยูทูบก็เต็มไปด้วยรายการสอนทำอาหารหรือขนม”

พลอยจึงยืนยันว่า การกินแล้วแชร์ เป็น ‘วัฒนธรรมสากลจริงๆ’ ไม่ใช่แค่พี่ไทยเท่านั้น และถ้าจะพลิกมองอีกด้าน การแชร์ต่อกันไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ หยิบโน่นผสมนี่จนได้เมนูใหม่ๆ ขึ้นมา ในวงเล็บที่ว่า ถ้าเราควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียในแบบของตัวเองได้

โดยส่วนตัว เธอได้เห็นโลกของการกินมากขึ้น ได้ทำความเข้าใจการใช้ชีวิตของคนที่ชอบไม่เหมือนเราผ่านอาหารการกินของเขา  ได้เห็นอาหารจานใหม่ๆ ผ่านการกินแล้วแชร์

“เราจึงไม่ได้รู้สึกว่าการกินแล้วแชร์มันน่ารำคาญ เพราะเราได้ประโยชน์จากมัน และทำให้เราพึงสังวรณ์ไว้ด้วยในเรื่องความฉับไว กินปุ๊บ แชร์ปั๊บ ตอกหมุดบอก Location  คอลัมนิสต์พรินต์เอดิชั่นอย่างเรายิ่งต้องปรับตัว สร้างความต่าง ลุ่มลึก หาข้อมูลเสริม เพราะตอนนี้ทุกอย่างในร้านและบนจานแชร์ได้หมดแล้ว ขาดก็แต่กลิ่นกับรสชาติเท่านั้น ล่าสุด IG ก็เพิ่งมีให้อัพเดตใหม่ ให้แชร์เป็นวิดีโอกันเลยทีเดียว”

 

**************************

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเวย์ เล่ม 63

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า