เมื่อ ‘คออ่อน’ เมาหัวราน้ำ

นพ.ทักษพล 2
นายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี

 

เรื่อง : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

 

สืบเนื่องจาก อินโฟกราฟฟิก รูรั่วนโยบายแอลกอฮอล์ ชุด “ใครๆ ก็เมาได้” เพราะ 6 ปัจจัยหลักคือ  ซื้อง่าย-ขายคล่อง-สะดวกซื้อ-เร็วทันใจ-ใกล้สถานศึกษา-การตลาดยวนใจ

ที่มาที่ไป รายละเอียด ตัวการสำคัญ ไปจนถึงคำถามที่ว่า ใครจะเป็นอัศวินม้าขาวของปัญหาสุราเรื้อรังนี้

นายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (CAS) สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มีข้อมูลลึกมาเปิดเผย และหลายข้อความคงไปยอกใจเหล่า ‘คอแข็ง’ จนเลือดไหลซิบๆ

แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่าคือเยาวชน ‘คออ่อน’ ที่มีความปรารถนาจะคอแข็งในเร็ววันด้วยการหันมาดื่มตั้งแต่ยังไม่ทันจะสวมคอซอง…

 

Q : สถานการณ์ดื่มของเยาวชนไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร 

เด็กดื่มมากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนผู้หญิง ที่มีสถิติการดื่มไล่ตามเด็กผู้ชายขึ้นมา

ที่สำคัญ วัยนี้จะดื่มหนัก ซึ่งเป็นธรมชาติของวัยรุ่นอยู่แล้ว เพราะมีโอกาสได้ดื่มน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่เมื่อไหร่ที่มีโอกาสก็จะดื่มจนหนัก ปริมาณการดื่มต่อครั้งมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นระดับการดื่มที่เรียกว่า หัวราน้ำ  ส่วนใหญ่พบในเยาวชนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อาศัยตามหอพัก

ขณะที่วัยเด็กลงไป เราพบว่าเริ่มดื่มตั้งแต่วัยประถม แต่ที่ดี่มมากที่สุดและหนักคือ มัธยมต้น

 

Q : ปัจจัยที่ทำให้ดื่มมีอะไรบ้าง

1.ราคาไม่แพง  สุรารสผลไม้หรือเบียร์  ราคาใกล้เคียงกับนมและน้ำผลไม้

2.หาซื้อง่าย  แม้เราจะมีกฎหมายแต่การบังคับใช้ยังมีปัญหา มีข้อจำกัดในการบังคับใช้

3.ค่านิยมจากเพื่อน วัยนี้เพื่อนสำคัญกว่าทุกคน

4.เป็นเครื่องดื่มที่เจาะตลาดเยาวชนโดยตรง โดยเฉพาะวัยรุ่นผู้หญิง มีเครื่องดื่มรสผลไม้ เหล้าปั่นเข้ามาเจาะตลาดโดยตรง สีสันสวยงาม รสชาติหวานตัดรสขมของแอลกอฮอล์ ทำให้เป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ดื่มแล้วรู้สึกทัดเทียมผู้ชาย นี่คือ การตลาดที่ประสบความสำเร็จทั้งการประชาสัมพันธ์ การทำราคา ผลิตภัณฑ์ ค่านิยมสังคม

photo1

 

Q : อะไรคือประเด็นที่หนักใจที่สุด

โฆษณาการตลาดไปครอบคลุมเยาวชนทุกด้าน ดูทีวีก็มีโฆษณา เปิดคอมพิวเตอร์ก็เห็นโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต เช็คโทรศัพท์มือถือเห็นโฆษณาทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค เดินไปหาเพื่อน เพื่อนก็คุยกันเรื่องนี้ ตอนเย็นสนใจดนตรี  หรือแข่งกีฬา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็สนับสนุนหลัก

สุราจึงรายล้อมรอบตัวไปหมด เหลือพื้นที่น้ำดีอยู่น้อยมาก เด็กจึงซึมซับโดยไม่ต้องสนใจโฆษณาก็ได้ เราเคยให้เด็กประถมไปดูตราบริษัท เกือบทั้งหมดตอบทันทีว่าเป็นเบียร์  เพราะฉะนั้นกลไกการควบคุมโฆษณาจึงมีปัญหาและน่าหนักใจที่สุด

 

Q : ค่านิยมสังคมไทยเอง ก็อาจยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น?

ใช่ เพราะการทำตลาด เค้าไม่จำเป็นต้องขายเหล้า เบียร์ว่ารสชาติอร่อย แต่สิ่งที่ทำคือพยายามวางสินค้า ผลิตภัณฑ์ แบรนด์ ให้ไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่สังคมตีความว่าสนุก มันส์ เพื่อน มิตรภาพ เช่น เอาไปวางคู่กับดนตรี กีฬา ผูกเรื่องกับการใช้ชีวิตอย่างสุดๆ ท้าทาย นัยหนึ่งเป็นการพิสูจน์ตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องพูดเลยว่าผลิตภัณฑ์ดีอย่างไร ซึ่งอันตรายไม่แพ้การโฆษณาตรงๆ และอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

 

Q : พอจะมีมาตรการรับมือได้บ้างไหม

เราจะมีปัญหามากๆ ว่าอะไรคือต้นทางปลายทาง เพราะเกมนี้ไม่มีต้นทางหรือปลายทาง มันไม่ได้ง่ายเป็นเส้นตรง  การดื่มเกี่ยวข้องกับปัจจัยอีกร้อยพัน

เกี่ยวกับมาตรการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ สถาบันวิชาการต่างประเทศเคยลองลิสต์มา 200 มาตรการ และพบว่ามี 3 มาตรการที่ได้ผลดีที่สุด  คือ 1.การจัดการราคาไม่ให้ถูกจนเกินไป โดยใช้ระบบภาษี  2.ไม่ให้หาซื้อง่ายจนเกินไป คือการจัดการเรื่องวันเวลา สถานที่ หรือกำหนดอายุผู้ซื้อ 3.ควบคุมการตลาด

3 มาตรการนี้ทางวิชาการบอกว่าได้ผลและคุ้มค่า ส่วนที่ไม่ได้ผลไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ทำ แต่ควรจะทำทุกทางที่เป็นไปได้ เช่น การความรู้แก่เด็กๆ เพื่อป้องกัน ก็ควรต้องให้ควบคู่ไปเหมือนอาวุธเสริม

 

นพ.ทักษพล 1

 

Q : ภาครัฐ  วิชาการ และพลังทางสังคมอย่างประชาชน ส่วนใดน่าจะมีศักยภาพมากที่สุด

กฎหมายมีพลังมากที่สุด จึงต้องเป็นภาครัฐ  ขณะที่ภาควิชาการจะคอยบอกหรือแนะทิศทาง ทั้งนี้ภาครัฐจะไม่มีวิชาการหรือพลังประชาชนก็ได้ถ้ามีความเข้มแข็งและกล้าหาญทางจริยธรรมพอ แต่ในความเป็นจริง 3 ภาคต้องทำงานด้วยกัน  ภาครัฐถ้าไม่มีวิชาการจะเดินหลงทาง วิชาการถ้าไม่มีภาครัฐหรือภาคประชาชนก็เหมือนนั่งทำงานอยู่บนหอคอยงาช้าง  ภาคประชาชนถ้าไม่มีวิชาการไม่มีภาครัฐก็ได้แต่จะเดินขบวน เรียกร้องไปโดยไม่มีทิศทาง  ดังนั้นภาครัฐจะตัดสินใจได้ถูกต้อง จะต้องไปด้วยกันทั้ง 3 ส่วน

 

Q : แต่ภาครัฐเองก็มักจะโดยแทรกแซงจากกลุ่มธุรกิจเสมอ?

ภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสแทรกแซงเยอะ เราคิดว่ายังมีต่อไปด้วย ไม่ใช่แค่ประเทศไทย มีตั้งแต่ท้องถิ่นไประดับโลก สุราเป็นอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งมากระดับแสนๆ ล้านดอลลาร์
แต่จะจัดการอย่างไร คือ 1.ต้องทำกระบวนการให้โปร่งใส ถ้าผู้กำหนดนโยบาย ผู้บังคับใช้กฎหมายใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมสุรา แสดงว่าไม่โปร่งใส ผลการตัดสินใจก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง  2. ภาคประชาชนต้องเป็นคานงัด

 

Q : ผลเสียทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมีอะไรบ้าง 

ขณะที่แอลกอฮอล์เป็นผลลบต่อสังคม ต้องยอมรับประโยชน์มันก็มี ทั้งเรื่องการสร้างเม็ดเงินภาษี การจ้างงานต่างๆ แต่คิดสะระตะแล้ว ผลเป็นลบมากกว่า หลายคนอาจจะคิดว่า สมองก็สมองเรา ตับก็ตับเรา จริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั้นเป็นส่วนน้อยของผลเสียทั้งหมด เพราะผลที่เกิดขึ้นกับสังคมคือการที่คนๆ หนึ่งเสียชีวิตเมื่ออายุ 20  เพราะถูกคนเมาขับรถชน ลองคิดว่ากว่าเค้าจะเรียนจนอายุ 20  ค่าเล่าเรียน ค่าเลี้ยงชีวิตหมดไปเท่าไหร่ โอกาสไปทำงานหารายได้ตั้งแต่อายุ 20-60 หายไป  ตรงนี้สิเรียกว่าก้อนใหญ่ที่สังคมสูญเสียไป

 

 เอาเข้าจริงผู้ดื่มแบกรับเพียงภาระส่วนน้อยของปัญหาเหล่านี้ เราจ่ายภาษีทุกปีให้เป็นเงินเดือนหมอให้มารักษา เป็นเงินเดือนตำรวจมาคอยตรวจเมาไม่ขับ

 

ฉะนั้นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันอยู่ในวงจำกัดมาก คนขายจำนวนหนึ่ง อุตสาหกรรมจำนวนหนึ่ง แต่ผลลบมันบายปลายออกไปหมด

 

Q : มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาอย่าง ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ปี 2555-2559 หัวใจสำคัญคืออะไร

ยุทธศาสตร์เป็นพลังทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่พยายามทำให้การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์มีเอกภาพมากขึ้น โดยกำหนดไว้ 5 ส่วน

1.ราคา และการเข้าถึง

2.อิทธิพลต่อการดื่ม เช่น  อิทธิพลของเพื่อน โฆษณา การตลาดต่างๆ

3.การจัดการกับการดื่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เหล้าขาวหรือการจัดการด้านระบบสุขภาพ

4.การมีนโยบายในทุกภาคส่วน ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ โรงงาน โรงเรียน กองทัพ หมู่บ้าน ควรมีนโยบายแอลกอฮอล์เป็นของตัวเอง

5.สนับสนุนเรื่องวิชาการ ประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ และการป้องกันนโยบายแอลกอฮอล์ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายการค้าเสรีต่างๆ

 

photo2

 

Q : นโยบายการค้าเสรีจะมีผลอย่างไร

ข้อตกลงการค้านั้นค่อนข้างซับซ้อน หลายคนนึกแต่ว่าสุรานำเข้าจะราคาถูกลง อันนั้นก็จริงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ข้อที่เราควรกังวลในข้อตกลงการค้าเสรี มันไปไกลกว่านั้นเยอะ นอกจากผลิตภัณฑ์แล้วยังมีเรื่องการบริการ รวมถึงการทำการตลาดข้ามชาติ เช่น การโฆษณาสินค้าตัวหนึ่งสามารถทำได้เพราะบอกว่าทำจากต่างประเทศมาแล้ว ประเทศไทยมีความสามารถกีดกั้นน้อยมาก

ครั้งหนึ่งเราเคยมีนโยบายในการทำฉลากแอลกอฮอล์ที่เป็นรูปภาพ แต่ถูกบริษัทแอลกอฮอล์ประเทศต่างๆ ไปร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้า นี่คือตัวอย่างชัดเจนว่าเมื่อมีการร้องเรียน ผู้กำหนดนโยบายในประเทศกำลังพัฒนาจะชะงักงันทันที ไม่กล้าทำต่อ ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด จะถูก WTO ฟ้องไหม จึงทำให้นโยบายดีๆ เกิดขึ้นได้ยาก

ที่ถูกต้องคือควรมองว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา ไม่มีสินค้าใดที่ค้าขายง่ายดายในท้องตลาดทั่วไปที่สามารถสร้างผลกระทบให้สังคมได้มากเท่าแอลกอฮอล์อีกแล้ว บุหรี่อาจจะฆ่าคนเยอะกว่า แต่บุหรี่ฆ่าคนสูงอายุ แอลกอฮอล์ฆ่าเด็ก ฆ่าเยาวชน ที่สำคัญเขาไม่ได้ฆ่าเฉพาะคนดื่ม ฆ่าคนไม่ดื่มด้วย

 

Q : ธงที่ตั้งไว้และหวังผลได้จริงของยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ฯ คืออะไร

ประเทศไทยมีการดื่มที่เพิ่มขึ้นตลอดตั้งแต่ปี 2500  และเยาวชนดื่มเพิ่มในระยะหลัง ฉะนั้นถ้าเราตั้งเป้าหมายโดยไม่เพ้อฝันจนเกินจริง คือ เราจะพยายามคงที่ เพราะครั้งหนึ่งเราเคยมีช่วงที่การดื่มคงที่ ถือว่าสำเร็จะระดับหนึ่ง แต่รายละเอียดของการดื่มคงที่นั้น คือเยาวชนเพิ่มขึ้นและผู้สูงอายุดื่มลดลง นี่เป็นชัยชนะและความพ่ายแพ้ไปในตัว แลกกันไม่คุ้ม
ช่วง 2-3 ปีหลังที่การดื่มเริ่มกระดกหัวขึ้นมาใหม่ เป็นสิ่งน่ากลัว ความคาดหวังจริงๆ คือ ทำให้ภาพรวมคงที่ก่อน โดยเฉพาะเยาวชนและวัยรุ่น ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุถ้าเราต่อยอดแบบที่เราเคยทำดีมาแล้วคงจะลดลงไปได้อีกเล็กน้อย

 

สนับสนุนโดย

 

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า