เรื่องของคนเอาถ่าน

charcoal 01

เรื่อง : มิ่งมนัสชน จังหาร

 

“ถ่านของเราไม่มีเปลว ไม่มีควัน ไม่มีกลิ่น ไม่มีเขม่า ก้อนเล็กๆ อย่างนี้ใช้ได้ชั่วโมงกว่า”

ไพบูลย์ เลี่ยมเจริญ ผู้จัดการโรงงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด อาหรับ โคล์ (ประเทศไทย) พูดพร้อมกับหยิบถ่านก้อนเล็กๆ วางลงไปในเตา ก่อนที่จะจุดไฟ “นอกจากนั้นยังจุดติดง่าย แล้วก็ไม่มีการแตกปะทุของสะเก็ดไฟ ที่สำคัญมันผลิตขึ้นมาจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร”

ด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างจากถ่านทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้บริโภคหลายคนหันมาสนใจและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ถ่านไร้ควันคุณภาพสูงในการประกอบอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การอุ่น การต้ม การย่าง การเผา การทอด เพราะถ่านชนิดนี้จะไม่ทำให้ก้นภาชนะเป็นรอยดำ

“ผมเป็นเจ้าแรกที่ทำถ่านชนิดนี้ในประเทศ คือเมื่อก่อนผมเคยอยู่ที่ตะวันออกกลาง อย่างถ่านนี้เขาจะใช้ทุกบ้านทุกหลังคาเรือน เพราะวัฒนธรรมของอาหรับนิยมการสูบเครื่องสูบพวกบารากู (Baraku) ชิชา (Shisha) พอกลับมาที่ประเทศไทยก็เริ่มทดลอง เริ่มศึกษาค้นคว้าจนประสบผลสำเร็จ”

ผลิตภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์ถ่านชนิดเคลือบสี ภายใต้แบรนด์ ARAB COAL และผลิตภัณฑ์ถ่านชนิดไม่เคลือบสีภายใต้แบรนด์ ถ่านทองไทย ถ่านชนิดเคลือบสีนั้นนอกจากนิยมใช้ในการสูบเครื่องสูบพวกบารากูและชิชาแล้วยังใช้เพื่อการเผาไม้หอมกฤษณา การเผากำยานเครื่องหอม ใช้สำหรับงานสปา เช่น จุดต้มน้ำมันหอมระเหย ต้มลูกประคบ ถ่านชนิดนี้จึงถูกส่งออกไปขายแถบตะวันออกกลาง และเหตุที่ต้องเคลือบสีก็เพราะส่วนใหญ่ชนชาติอาหรับจะใส่ชุดสีขาว เพราะต้องละหมาดวันละ 5 ครั้ง

 

04
ไพบูลย์ เลี่ยมเจริญ

“สีที่นำมาเคลือบนั้นเป็นสีพิเศษ เป็นสีชีวภาพ เพราะถ้าเราเอาสีทั่วไปมันจะมีกลิ่น มีควัน มีพวกสารตะกั่ว พวกสารปรอท อันนี้เราทำเป็นชีวภาพ เป็นประเภทเดียวกับสีอาหาร”
ส่วนผลิตภัณฑ์ถ่านชนิดไม่เคลือบสี นิยมใช้ในการประกอบอาหารและใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนแอลกอฮอล์เหลว

ด้านวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตนั้น คือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรหลายชนิด

“ผมใช้เมล็ดปาล์มที่เขาหีบน้ำมันแล้ว ซึ่งมีมหาศาล พวกกะลาปาล์ม ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือพวกที่เขาไม่เอาแล้ว เป็นขยะการเกษตร พวกขุยมะพร้าว พวกซังข้าวโพด เราก็ซื้อมา แทนที่ว่าขยะนั้นจะรอทิ้งหรือระบายไปที่อื่น เราไปเอามา เขาก็ได้เงิน ก็ดีกว่าสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ แล้วเราก็ทำเพื่อนำกลับมาใช้ในสังคม”

แต่กว่าที่จะสำเร็จเป็นก้อนถ่านอย่างที่ได้เห็นก็ผ่านการลองผิดลองถูกหลากหลายขั้นตอน

“ถ่านจะมีอยู่ 2 ชนิดคือ ถ่านหนักและถ่านเบา ถ่านหนักคือ ประเภทไม้เนื้อแข็ง อย่างพวกกะลา มันจะสู้กับพวกไม้โกงกางได้ แต่เมื่อใช้กะลาล้วนๆ มันจะทำให้ติดยาก เราจึงจำเป็นจะต้องมีอัตราส่วนผสม เพื่อให้ติดง่าย คือเอาจากไม้เนื้อเบา จากวัชพืชต่างๆ มาทดสอบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อทดสอบผ่านแล้วเห็นว่า ไม่มีควัน ไม่มีเปลว ไม่มีกลิ่น เราก็จะเอามาเข้าผสมตามสัดส่วนอีกที”

แรกเริ่มถ่านไร้ควันคุณภาพสูงมีชื่อว่าถ่านวิทยาศาสตร์ผสมเคมี แต่พอมีคำว่าเคมีผู้บริโภคหลายคนจึงกลัว ไพบูลย์บอกว่า เคมีที่ว่านั้นก็เป็นเคมีที่ไม่ได้ร้ายแรงอะไร เป็นเคมีอาหาร ก็เลยต้องเลี่ยงคำว่าเคมีไป ต้องเปลี่ยนเป็น High Quality Charcoal (ถ่านไร้ควันคุณภาพสูง)

นอกจากผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่าง ARAB COAL และถ่านทองไทยแล้ว ไพบูลย์ยังผลิตถ่านไร้ควันคุณภาพสูงภายใต้แบรนด์ สวัสดี ชาร์โคล์ ส่งไปขายแถบยุโรป โดยรับผลิตให้กับผู้ที่ต้องการสร้างแบรนด์ของตัวเอง

“เหมือนเราตัดกางเกงยีนส์ให้คนอื่น แล้วให้เขาไปใส่ยี่ห้อเอาเอง อย่างยุโรป เวลาหน้าหนาวเขามีความต้องการบริโภคเชื้อเพลิงสูง แล้วถ่านก็ถูกกว่าน้ำมัน บ้านเรือนส่วนใหญ่ก็มีเตาผิงเพียงเตาเดียว อยู่ติดผนัง ย้ายไปไหนไม่ได้ด้วย พอมีถ่านเขาก็จุดใส่เตาเล็กๆ เอาเข้าไปในห้อง”

 

charcoal 05

 

ด้วยคุณสมบัติไร้ควัน ทำให้เป็นที่นิยมในอพาร์ทเมนท์หรือคอนโดมิเนียม และด้วยความที่พกพาสะดวกจึงเหมาะสำหรับการไปแคมปิ้งเดินป่า ไปภูเขา ไปทะเล

ความน่าภูมิใจของประเทศไทยคือการมีวัตถุดิบมากมายให้เลือกใช้ โดยเฉพาะวัตถุดิบจากธรรมชาติ

“พวกปาล์ม รัฐก็ให้การสนับสนุน ในโครงการไบโอดีเซล กับพวกน้ำมันปาล์มต่างๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แล้วจะมีปลูกอีกเยอะแล้วอีก 10-20 ปีข้างหน้า ทีนี้ปาล์มก็จะล้น บางครั้งอาจกลายเป็นขยะ”

แม้ในอนาคตจะเป็นอย่างที่ไพบูลย์คาดการณ์เอาไว้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องหนักใจ เพราะการผลิตถ่านไร้ควันคุณภาพสูง พร้อมที่จะรองรับตรงนี้อยู่แล้ว อีกทั้งผู้คนก็เริ่มที่จะหันมาดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการแปรรูปเศษวัสดุต่างๆ

ด้านผลตอบรับจากผู้บริโภคนั้น ไพบูลย์บอกว่า ในเบื้องต้นหลังจากที่ได้ทดลองการตลาดมาประมาณ 3-4 ปี ถือว่าผลตอบรับเกินความคาดหมาย น่าพอใจ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาบ้านเมืองจะเจอมรสุมต่างๆ มากมาย ทั้งจากภาวะการเมืองและพิษทางเศรษฐกิจ ทำให้การดำเนินงานติดขัดล่าช้าไปบ้าง การระดมทุนเข้ามาเพื่อต่อยอดและการหางบในการโฆษณาจึงทำได้ค่อนข้างลำบาก ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างมาช่วยในการตัดสินใจ แต่ถึงที่สุดแล้วไพบูลย์ยังเชื่อว่า ธุรกิจต่างๆ สามารถเดินต่อไปได้ตามกลไกในสังคม เพราะเมื่อมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ย่อมมีผู้ที่อยากจะลงทุน

แม้จะเป็นเพียงแค่เรื่องถ่าน แต่ก็ต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่ผ่านเข้ามา กว่าจะเป็นถ่านที่ไร้ควัน ไร้เปลว ไร้เขม่า ต้องเรียนรู้ ทดลองหลายอย่าง และกว่าจะได้มาซึ่งข้อความ MADE IN THAILAND ใต้ธงชาติไทยข้างกล่องผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องถ่านแน่นอน

 

**********************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2551)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า