เรื่องสั้นตามใจชอบลำดับที่ 11: แกม มหรณพ นักประพันธ์ขนบ ‘ลูกทุ่ง’ ‘ลูกทะเล’ รุ่นน้อง ‘ไม้ เมืองเดิม’

แกม มหรณพ เป็นนักเขียน นักประพันธ์ ในแนวขนบพื้นบ้าน พื้นถิ่น (local color) ที่เรียกกันว่า ‘ลูกทุ่ง’ ‘ลูกทะเล’ ในสไตล์แบบ ไม้ เมืองเดิม, เหม เวชกร, สุมทุม บุญเกื้อ, บรรเลง และ มนัส จรรยงค์

นักเขียน นักประพันธ์ ในประวัติวรรณกรรมไทยรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสไตล์พื้นบ้าน พื้นถิ่นเหล่านี้ได้นำเสนอปัญหาขัดแย้ง (ส่วนหนึ่งคือปัญหาชนชั้นจากระดับล่าง-ระดับกลาง) ของชุมชนชนบทไทย ในรุ่นรอยต่อของทศวรรษ 2480-2490 และก่อนที่ชนบท (rural) จะเริ่มก่อตัวกลายเป็นชุมชนเมือง (town, urban) ในรุ่นทศวรรษ 2500 และจากเมืองก็จะขยายกลายเป็นเมืองใหญ่ (city, metropolitan) ในช่วงรุ่นทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา

งานเรื่องสั้นและนวนิยายของ แกม มหรณพ เป็นงานแนว local color ในสไตล์ลูกทะเลมากกว่าในสไตล์ลูกทุ่งแบบ ‘ไม้ เมืองเดิม’ และอาจกล่าวได้ว่างานเขียนของ แกม มหรณพ ส่วนใหญ่จัดอยู่ในบริบทที่เรียกกันว่า sea stories ของประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ (คืออยู่ใกล้ๆ กับฝั่งทะเล ไม่ได้ออกไปไกลกลางทะเล หรือกลางมหาสมุทร เหมือนเช่นงาน sea stories ในแบบ Moby Dick ของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ และ Lord Jim ของ โจเซฟ คอนราด)  

ไม้ เมืองเดิม และ มนัส จรรยงค์ ก็มีงานเขียนในแบบชีวิตลูกทะเลและชีวิตชาวประมงในรุ่น เรือฉลอม (และ/หรือเรือสำเภา) และชีวิตชาวบ้านริมชายฝั่งทะเลอยู่ไม่น้อย เช่น สำเภาล่ม, คุ้งเผาถ่าน, เรือเพลง, เรือเร่ และที่เป็นนวนิยายเรื่องยาวในขนบลูกทะเลก็คือเรื่อง แปดอ่าว และ มรสุม ของ มนัส จรรยงค์ และต่อมานักประพันธ์รุ่นน้อง แกม มหรณพ ได้นำชื่อเรื่อง ‘มรสุม’ มาใช้อีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายทศวรรษ 2500 (ที่ท่านจะได้อ่านตัวอย่างจากเอกสารชั้นต้นในวาระนี้)

ชีวิตผู้คนที่ผูกพันอยู่กับทะเลหรือที่เรียกกันว่า sea stories ของชนบทชายฝั่งทะเลรุ่นเรือฉลอม* นั้น แกม มหรณพ น่าจะได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์ที่เขียนเรื่องราวว่าด้วยชีวิตชาวประมงชายฝั่งในรุ่นนี้ไว้ไม่น้อย จะเรียกว่าเป็น sea stories writer คนสำคัญของประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ก็คงได้ และขนบในแนวบริบทเช่นนี้ เราจะยังเห็นปรากฏอยู่ในงานของนักเขียนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่ยังให้ความสำคัญกับบรรยากาศแบบลูกทะเล ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่น นัน บางนรา ที่เขียนเรื่องสั้นชุด คนของทะเล มงคล วัชรางกูล ที่เขียนเรื่องสั้นชุด ทะเล (ในรุ่นทศวรรษ 2510) แต่นักเขียนที่จัดว่าสืบขนบในแบบ แกม มหรณพ คือมีภาพเป็น  sea stories writer ในบริบทใหม่ (ที่ไม่ใช่รุ่น ‘เรือฉลอม’ อีกต่อไป) แต่เป็นเรือประมงขนาดกลาง และขนาดใหญ่ บุคคลที่น่าจับตามากที่สุดในปัจจุบันก็คือ ประชาคม ลุนาชัย

ผมคุ้นเคยกับการอ่านงาน pulp story ต่างๆ ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นที่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ และ สำนักพิมพ์บางกอก ในรุ่นรอยต่อของทศวรรษ 2490 และ 2500 และพ็อคเก็ตบุ๊คขนาดพกพาใส่กระเป๋ากางเกงเข้าไปอ่านในห้องเรียนได้สบายๆ เท่าที่จำได้ก็เห็นจะเป็นหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คขนาดพกพาที่มาจากสำนักพิมพ์เพลิตจิตต์เสียส่วนใหญ่ คือว่ากันมาตั้งแต่งานของ ไม้ เมืองเดิม, เหม เวชกร, ส.บุญเสนอ, มนัส จรรยงค์, อรวรรณ เรื่อยมาจนถึงงานของ สุมทุม บุญเกื้อ, บรรเลง, ลพบุรี, พาณี,  สุพัตรา และ อุษา เข็มเพ็ชร และที่ยังจำชื่อได้อีกคนหนึ่งก็คือ แกม มหรณพ จากงานเขียนนวนิยายเรื่อง ตังเก และ นักเลง ที่ต่อมาผลงานเรื่อง ตังเก ได้มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2497 ในช่วงปีนั้นผมอายุ 9 ขวบ อยู่ชั้น ป.4 ดูหนังไทย หนังแขก หนังฝรั่ง ที่วิกใกล้บ้านแทบจะทุกคืน และอ่านหนังสืออ่านเล่นเป็นเล่มๆ แตกฉานก่อนขึ้นชั้นมัธยมแล้ว พูดกันตรงๆ ช่วงที่ผมเรียนหนังสือชั้นประถมและชั้นมัธยมนั้น ผมไม่เคยรู้จัก กุหลาบ สายประดิษฐ์, นายผี หรือ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือที่เรียกว่าเป็นนักเขียนเพื่อชีวิต นักเขียนปัญญาชนแต่ประการใด

การตามหาประวัติชีวิตและงานของ แกม มหรณพ เป็นเรื่องยากเย็นเลือดตาแทบกระเด็น กล่าวคือไม่มีประวัติชีวิตและงานเขียนของเขาให้หยิบขึ้นมาอ้างอิงได้ทันที เท่าที่ผ่านมาหลายครั้งในคอลัมน์ ‘เรื่องสั้นตามใจชอบ’ ก็ใช้วิธี ‘ปะติดปะต่อ’ เอามาจากแหล่งต่างๆ เพื่อเรียงร้อยเข้าด้วยกันตามข้อมูลที่กระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง ชีวิตและงานของ แกม มหรณพ ก็เช่นกัน ที่แม้จะใช้เวลาตามหาข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นต่างๆ มาพักใหญ่ แต่จนบัดนี้ ผมก็ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่า แกม มหรณพ เสียชีวิตไปแล้วหรือยัง ถามผู้รู้ สืบหาข้อมูล แต่ก็ไม่มีใครบอกมาให้กระจ่างได้อย่างเป็นรูปธรรม 

เท่าที่ทราบมาจากแหล่งที่อ้างอิงได้ชัดเจนก็คือ แกม มหรณพ เป็นนามปากกา ชื่อจริงของเขาคือ นายสุดใจ ไถ่สกุล เกิดเมื่อ พ.ศ. 2465 ซึ่งก็หมายความว่า ถ้านายสุดใจ ไถ่สกุล ในฐานะของ แกม มหรณพ ยังมีชีวิตอยู่มาถึงวันนี้ เขาก็จะมีอายุ 98 ปีเข้าไปแล้ว ผมเชื่อว่า แกม มหรณพ ผู้สืบขนบในสไตล์ local color ของประวัติวรรณกรรมไทยรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบเดียวกับรุ่นพี่เช่น ไม้ เมืองเดิม, บรรเลง และ มนัส จรรยงค์ นั้นคงจะลาลับจากแวดวงไปหมดแล้ว แต่เมื่อยังหาข้อยืนยันไม่ได้ (จนเป็นเหตุให้ส่งต้นฉบับล่าช้า) ผมก็ต้องละไว้ คือทราบแต่ไทม์ไลน์ที่เป็นปีเกิดของเขาเท่านั้น แต่ไม่ทราบไทม์ไลน์ที่เป็นปีตาย 

ชีวิตและงานของนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ‘ล่วงสมัย’ ในประวัติวรรณกรรมไทยทั้งสมัยใหม่สมัยเก่า ทำไมมันช่างอาภัพและน่าสมเพชนักก็ไม่ทราบ ทั้งๆ ที่มีองค์กรทางวิชาชีพ เช่นสมาคมนักเขียนฯ สมาคมภาษาและหนังสือฯ ดำรงอยู่มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ทำไมการศึกษาค้นคว้าประวัติวรรณกรรมไทยของคนรุ่นต่อมาจึงยังต้องปะติดปะต่อ และคาดเดาเอาเอง ประเทศนี้ทำไมไม่มีสิ่งที่เรียกว่า National Bibliographical of Thai Writers ของสถาบันวิชาชีพในแวดวงอย่างเป็นทางการ ตรงข้ามกับองค์กร (มหาชน) หอภาพยนตร์ ที่พยายามศึกษาประวัติความเป็นมาของภาพยนตร์ไทยทั้งในรุ่น ‘ร่วมสมัย’ และ ‘ล่วงสมัย’ โดยจัดทำโครงการเชิงข้อมูลไว้ในหนังสือ ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ได้อย่างเป็นระบบ น่าประทับใจ

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีโชคอยู่บ้างที่ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2518 กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เคยมีโครงการริเริ่มในชื่อ ‘แบบสอบถามเพื่อจัดทำประวัตินักเขียนไทย’ และต่อมาได้รวบรวมเรียบเรียงแบบสอบถามเหล่านั้น จัดพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย เล่ม 1-3 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2521 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมจัดพิมพ์ต่อมาอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2527 โดยสำนักพิมพ์ศิลปบรรณาคาร ในความเห็นส่วนตัวของผม แม้การงานในโครงการนี้จะไม่ใช่โครงการที่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นความริเริ่มและมีระบบความต่อเนื่อง อยู่ระยะหนึ่ง โดยถือเป็นโครงการริเริ่มในหน่วยราชการที่ขอปรบมือย้อนหลังให้กับความริเริ่มในเรื่องนี้

ในหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย เล่ม 1 ที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เคยส่งแบบสอบถามไปถึง แกม มหรณพ เมื่อ พ.ศ. 2518 นั้น อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่ได้มา แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นเหมือนอิฐก้อนแรกที่ทำให้แวดวงในรุ่นหลังได้ปะติดปะต่อชีวิตและงานของนักเขียน นักประพันธ์ ในรุ่น ‘ล่วงสมัย’ หลายคน เช่นอย่างน้อยก็ทำให้ได้ทราบว่า ครั้งหนึ่ง แกม มหรณพ เคยมีผลงานการประพันธ์ไว้มิใช่น้อย

ต่อไปนี้คือข้อความที่ปรากฏในหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย เล่ม 1 ที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้เรียบเรียงไว้เมื่อ พ.ศ. 2518

แกม มหรณพ

ชื่อจริง นายสุดใจ ไถ่สกุล เกิดเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน ๓ คน

งานเขียนหนังสือ  “แกม มหรณพ” เขียนหนังสือเป็นงานอาชีพ เขาชอบอ่านหนังสือ เมื่ออ่านมากก็ตั้งใจว่าจะต้องเป็นนักประพันธ์ให้ได้ งานเขียนหนังสือเรื่องแรกเป็นเรื่องสั้น ลงพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สยามสมัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากนั้นก็เขียนหนังสือเรื่อยมา

งานเขียนที่ “แกม มหรณพ” เขียนได้ดีเด่นเป็นพิเศษ คือเรื่อง ชีวิตน้ำเค็ม ทั้งนี้เพราะเขาเขียนจากประสบการณ์ที่พบเห็นมาอย่างจำเจ เขามีหลักในการเขียนว่า “…ต้องเขียนให้อ่านเข้าใจง่ายที่สุด”

ผลงานที่เขียนมาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น (ประมาณ ๓๐๐ เรื่อง) มีเรื่องสั้นลงพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ เช่น สยามสมัย พจนาถ (รายสัปดาห์) ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๒ เช่นเรื่อง อวนน้ำลึก แก้มหอม ล้างบาป ชาตินักเลง วังน้ำวน ยาสั่ง  ลมพัทยา นายทองเกรียน เสือโผน แผ่นดินนอกกฎหมาย คลื่นใต้น้ำ ค่ายนรก ดงเสือ แม่น้ำรัก ทับนาง ทะเลเลือด บุพกรรม เลือดทรยศ ฯลฯ นอกจากนี้มีผลงานเขียนนวนิยายเรื่องยาวอีกประมาณ ๒๐ เรื่อง

งานเขียนที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ได้แก่  ตังเก (พ.ศ. ๒๔๙๗) สิงห์สมุทร (พ.ศ. ๒๔๙๘) งูเห่าไฟ (พ.ศ. ๒๕๐๒) และมีที่สร้างเป็นละครวิทยุ ๑ เรื่อง ได้แก่ ปราสาทผีสิง (พ.ศ. ๒๕๐๘ )

“แกม มหรณพ” ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับวงการเขียนหนังสือว่า 

“ในปัจจุบันตลาดหนังสือไม่กว้างนัก อาชีพนักเขียนไม่ร่ำรวย อุปสรรคของนักเขียนก็คือสำนักพิมพ์”

จากแบบสอบถามนักเขียนในหนังสือ ประวัตินักเขียนไทย เล่ม 1 ของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ที่จัดทำโครงการเมื่อ พ.ศ. 2518 ตามที่ยกมาข้างต้นนี่เองที่ทำให้ผมสามารถปะติดปะต่อได้ในระดับหนึ่งว่า ‘แกม มหรณพ’ เป็นชื่อนามปากกา มีนามจริงว่า สุดใจ ไถ่สกุล เป็นชาวจังหวัดสมุทรปราการ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2465 แต่ข้อมูลก็หยุดไว้แค่นั้นไม่ได้มีการ update เพิ่มเติมแต่ประการใด ผมพยายามจะสอบถามค้นหา แต่ก็ยังไม่พบข้อมูลว่า แกม มหรณพ ได้เสียชีวิตไปแล้วหรือยัง ถ้าดูจากปีเกิดเมื่อ พ.ศ. 2465 ถ้านายสุดใจ ไถ่สกุล ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็จะมีอายุ 98 ปีในเวลาปัจจุบัน ผมเข้าใจเอาเองว่า เขาคงจะลาลับจากแวดวงที่ลืมเขาไปนานแล้ว เรื่องนี้ก็ต้องขอให้ญาติมิตรและครอบครัวของ แกม มหรณพ ช่วยแจ้งมาด้วย

เท่าที่เคยทราบข้อมูลเกี่ยวกับ แกม มหรณพ มาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เขาเป็นนักเขียน นักประพันธ์ที่มีการศึกษาในระบบมาเพียงแค่ประถมศึกษาปีที่ 4 ดังนั้นเขาจึงเป็น ‘นักเขียน ป.4’  ที่เป็นบุรุษอีกคนหนึ่งในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ส่วน ‘นักเขียน ป.4’ ที่เป็นสตรีนั้น ท่านคงจะทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นใคร

ความล่าช้าของการปะติดปะต่อชีวิตและงานของ แกม มหรณพ ในครั้งนี้อีกประการหนึ่งก็คือ  ต้องค้นหาภาพถ่ายของเขาอยู่นาน จนกระทั่งมาได้ภาพถ่ายเล็กๆ จากปกด้านหลังของหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า กระท่อมกระทิงลาย จัดรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์วิทวัส เมื่อ พ.ศ. 2522 ภาพถ่ายที่ปรากฏนี้ เป็นภาพที่สแกนมาจากปกด้านหลังของหนังสือรวมเรื่องสั้นดังกล่าว ถ้าไม่มีหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด กระท่อมกระทิงลาย เล่มนี้ ผมก็คงจะยังไม่ทราบว่าหน้าตาของเขาเป็นเช่นใด พยายามค้นหาจากหนังสือแนวประวัตินักเขียนเล่มอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีภาพถ่ายของ ‘นักเขียน ป.4’ ผู้นี้แต่ประการใด หนังสือรวมเรื่องสั้นชุด กระท่อมกระทิงลาย ของ แกม มหรณพ ที่สำนักพิมพ์วิทวัสรวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2522 นี้ เข้าใจว่าน่าจะมีงานรวมเรื่องสั้นของ แกม มหรณพ ที่จัดพิมพ์ออกมาอีกในชื่ออื่นๆ อีก ถ้าจำไม่ผิด บรรณาธิการสำนักพิมพ์วิทวัสในช่วงนั้นคือ เจนภพ จบกระบวนวรรณ และเจนภพได้เขียนประชาสัมพันธ์ให้ แกม มหรณพ ไว้ที่ใบปกว่า

“ศิษย์เอกของ ไม้ เมืองเดิม เขียนเรื่องสั้นชุดนี้อย่างลืมวัย ไว้ลายสิงห์ร้ายแห่งท้องทะเล”  

นอกจากรวมเรื่องสั้นชุด กระท่อมกระทิงลาย แล้ว เท่าที่ค้นพบงานเขียนเรื่องสั้นของเขาที่รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2519 ก็ยังมี รวมเรื่องสั้นของแกม มหรณพ ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เท่าที่ผมมีหนังสือ คืองานเขียน รวมเรื่องสั้นของ แกม มหรณพ ชุดที่ 2 ภายในเล่มมีเรื่องสั้นปรากฏ เช่น เนื้ออ่อนบนหาดเลน, กาเหว่า, ยำเป็ด, เหงาผู้ชาย, ลูกศัตรู, ไข่มุกดำ,  เม็ดกระท้อน, แม่หม้ายพรานเบ็ด, สินบนแม่หม้าย, ไอ้ทองแดง, สีชัง, ตี่..จับ

หนังสือรวมเรื่องสั้นของ แกม มหรณพ ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2519 นี้ จัดรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดอักษรบัณฑิต บางกอกน้อย กรุงเทพฯ

น่าเสียดายก็คือ การจัดรวมพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นของ แกม มหรณพ ไม่มีระบบในการอ้างอิงเอกสารชั้นต้นแต่ประการใด ดังนั้นจึงไม่ทราบที่มาของไทม์ไลน์ในการพิมพ์เรื่องสั้นแต่ละครั้งว่าพิมพ์ครั้งแรกที่ไหน และเมื่อใด ได้แต่คาดเดาเอาเองว่าน่าจะเป็นงานเขียนเรื่องสั้นในนามปากกา แกม มหรณพ ที่เขียนขึ้นในช่วงรอยต่อของทศวรรษที่ 2490 และ 2500  และถ้าไปค้นย้อนหลังก็จะพบเอกสารชั้นต้นในบางเรื่อง เช่น

  • สันฉลาม  พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร พิมพ์ไทยวันจันทร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 140 พ.ศ. 2493 
  • นางลือ พิมพ์ครั้งแรก เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม 9 มกราคม พ.ศ. 2496 
  • สั่งถ้ำ พิมพ์ครั้งแรก เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 

ซึ่งเข้าใจว่าเป็นช่วงที่ แกม มหรณพ มีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะนักเขียน นักประพันธ์ ‘แนวลูกทะเล’ ดังเช่นที่ปรากฏจากเรื่อง ตังเก นวนิยายเรื่องเอกของเขาที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์จัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2497 และในปีต่อมา แกม มหรณพ ยังได้เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ที่สร้างจากผลงานของเขาเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. 2498 ผมจำได้เพราะเคยอ่านทั้งหนังสือและดูหนังจากผลงานเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น นวนิยายเรื่อง ตังเก เล่าถึงการแข่งขันกันจับปลาให้ได้มากที่สุดของชาวประมงจากหมู่บ้าน 2 แห่งแถวจังหวัดสมุทรปราการ เป็นเรื่องการต่อสู้ชิงรักหักสวาทของไต้ก๋งเรือ 2 หมู่บ้าน ฉากในเรื่องคือชีวิตของชาวประมงที่ทำมาหากินอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลไล่มาจากจังหวัดสมุทรปราการ ข้ามอ่าวไทยไปจนถึงปากแม่น้ำจังหวัดชุมพร เรือประมงที่ชาวบ้านใช้ออกจับปลาเป็นเรือประมงต่อเองขนาดเล็กที่เรียกกันว่า เรือฉลอม (ดังมีเพลงชื่อ ท่าฉลอม ที่ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร)

งานเขียนนวนิยายแนวลูกทะเลของ แกม มหรณพ ที่สำนักพิมพ์เพลินจิตต์จัดพิมพ์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2498 นั้นยังมี 2 เรื่อง คือ นักเลง และ เสือแค้น  นอกจากนั้นก็มีเรื่อง งูเห่าไฟ ที่ต่อมาได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ‘สีธรรมชาติ’ เมื่อ พ.ศ. 2502 ภาพยนตร์เรื่อง งูเห่าไฟ เขียนบทโดย แกม มหรณพ กำกับการแสดงโดย อนุมาศ บุนนาค นักแสดงที่รับบทเป็นตัวเอกในยุคนั้นคือ ทม วิศวชาติ ส่วนเรื่อง ตังเก เมื่อ พ.ศ. 2498 นักแสดงที่รับบทเป็นชาวประมง 2 หมู่บ้านที่แข่งขันกันจับปลา และ ‘แข่งรัก’ กันในแบบ ‘ลูกทะเล’ ก็คือ สถาพร มุกดาประกร, วิชิต ไวงาน และ สมพล กงสุวรรณ นักดูหนังไทยในรุ่นปัจจุบันคงจะไม่รู้จักแล้วว่าสมพล กงสุวรรณ ในบทตัวร้ายหนังไทยในอดีตนั้นมีท่าทาง ‘ยียวนกวนบาทา’ ขนาดไหน

นามประพันธ์ แกม มหรณพ ในฐานะนักเขียน ‘ลูกทะเล’ จึงตอกย้ำว่า เขามาก่อน ไต้ก๋ง ของ ประชาคม ลุนาชัย และมีผลงานเรื่องสั้นขนาดยาวของ แกม มหรณพ อยู่เรื่องหนึ่งที่เขาใช้ชื่อเรื่องว่าไต้ก๋งหิน รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเมื่อ พ.ศ. 2510 นอกจากนั้นก็มีเรื่องสั้นชื่อ มรสุม ที่พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สามทหาร รายเดือน ปีที่ 3 ฉบับที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ที่นำมาเป็นเอกสารชั้นต้นของ War of Words ในวาระนี้ 

นิตยสาร สามทหาร รายเดือน ที่ว่านี้ ‘องค์การเชื้อเพลิง’ เป็นเจ้าของ ถือเป็นนิตยสารรายเดือนในช่วงหลังทศวรรษ 2500 ที่ก็รู้กันว่าอยู่ในความอุปถัมภ์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  โดยมี นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เป็นบรรณาธิการ และ พลตรีอำนวย โสมนัส เป็นผู้อำนวยการ  นิตยสาร สามทหาร รายเดือน ในความอุปถัมภ์ของทหารเล่มนี้จัดเป็นนิตยสารในขนบจารีตนิยมแบบ ‘รุ่นเก่า’ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ ‘จอมพลผ้าขาวม้าแดง’ ทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2501 และอาจเป็นเพราะได้คนในวงวรรณกรรม เช่น ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ มาเป็นบรรณาธิการบริหาร ดังนั้น เนื้อหาในเชิงวรรณกรรมที่ปรากฏในนิตยสาร สามทหาร ของ องค์การเชื้อเพลิง ฉบับนี้จึงมีปรากฏทั้งเรื่องสั้น บทกวี บทละคร บทความวรรณกรรม นักเขียน นักประพันธ์ที่ปรากฏก็มีตั้งแต่ มจ.จันทร์จิรายุรัชนี ‘กุหลาบขาว’ พระยาสุนทรพิพิธ ‘เสถียรโกเศศ’ เกษม บุญศรี เรื่อยมาจนถึง เหม เวชกร, มนัส จรรยงค์, สันต์ ท. โกมลบุตร, จันตรี ศิริบุญรอด, เลียง เสถียรสุต, สุพัตรา, เกื้อ นคร, อ.ไชยาคำ ฯลฯ และนายทหารในกองทัพไทยอีกหลายนายที่จัดว่าเป็นพลังทางปัญญาทางอักษรศาสตร์ให้กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยผ่านทางนิตยสาร สามทหาร รายเดือน ของ องค์การเชื้อเพลิง ในยุคนั้น ก็มีเช่น พลตรีอำนวย โสมนัส เป็นผู้อำนวยการ, พันเอกไชยชาญ นาคธน เป็นรองผู้อำนวยการ, นาวาโทสันต์ ศาลิศุปต์, พันตำรวจตรีพิศาล เสนะเวส บรรณาธิการผู้ช่วย ฯลฯ

เรื่องสั้นตามใจชอบใน WAY of WORDS วาระนี้ ขอนำเอกสารชั้นต้นจากเรื่องสั้นแนว ‘ลูกทะเล’ ในรุ่น ‘เรือฉลอม’ ของ แกม มหรณพ ศิษย์เอกของ ไม้ เมืองเดิม ในชื่อเรื่อง มรสุม มาปรากฏอีกครั้ง แม้ว่าการปะติดปะต่อชีวิตและงานของ แกม มหรณพ ในครั้งนี้จะยังไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีข้อมูล วัน เดือน ปี ที่ นายสุดใจ ไถ่สกุล เจ้าของนามปากกา แกม มหรณพ ที่เข้าใจว่าคงจะลาลับไปจากบรรณพิภพที่ลืมเขาไปนานแล้ว

ขอให้ ไต้ก๋งหิน ไปสู่สุขคติ

บ้านสวนรังสิต 
17 พฤษภาคม 2563

*ฉลอม-เรือต่อเองชนิดที่มีโกลนหัวเรือสูง ท้ายงอนเรียว ตรงกลางป่อง (จาก พจนานุกรมฉบับมติชน)

มรสุม

แกม มหรณพ

พายุตะวันออกพัดเข้าอ่าวบ้านสะพลีเป็นลมว่าว คลื่นคนองหนัก โขดหรือฝั่งตีนหาดดังราวกับจะถล่มด้วยเสียงคลื่น พักเดียวก็เร่เปลี่ยนไปอีก ล้วนแต่ลมแรงลมร้ายที่พวกออกเรือฉลอมอยู่กลางทะเลต้องพากันขึ้นใบกลับฝั่ง กลางทะเลเห็นแต่ยอดคลื่นและใบเรือตลีตลานแล่นอ้าวอยู่ลิบๆ

ลมหลายทิศหลายทางพัดป่วนไปหมด แต่จะลมแรงลมร้ายที่เกิดขึ้นในขณะเพลานี้ ก็หาเท่าลมปากของแม่ยายเจ้าหนุ่มลูกทะเลที่มันกำลังนึกอยู่ในอก แล้วก็บังเกิดกลุ้มขึ้นมาอีก เมื่อนึกถึงวันต้นเดือน ๑๐ ที่นางเมียรักมันจากไป อ้ายปลายก็อยากจะคลั่งเหมือนทะเลกำลังคลั่งอยู่เดี๋ยวนี้ จะได้พัดพาลเอาด้วยแรงกลุ้มแรงแค้นเข้าถล่มเกาะเรือฝั่งที่นังเมียรักมันหลงเพริดอยู่จนลืมผัว เออ..ซ่อนกลิ่นของพี่ ชื่อของเอ็งมันกำลังจะซ่อนตัวเอง ทิ้งพี่ทิ้งรักที่เราเคยสาบานกันไว้ เอ็งหารู้ไม่ดอกว่าหัวใจพี่เพลานี้แสนจะทุกข์และกลุ้มหนักเพราะคิดถึงเมีย  และไม่เพราะอ้ายปลายมันรักเมียหรอกหรือ จึงต้องยอมเลิกประพฤตินักเลง โยนดาบที่เคยรบคู่มือมาตั้งแต่รุ่นเข้าครัวเป็นมีดสำหรับผ่าฟืน กลับมุ่งหน้าแต่ขยันทำกินก็เพราะหวังถนอมหัวใจเมียของพี่ และไม่ทันข้ามปีเองก็จากพี่ไปเพื่อจะเยือนแม่ พี่ก็ไม่ปริปากพูดสักคำ เอ็งว่าจะไปสัก ๘-๙ วันเป็นอย่างช้า นี่มันก็เกินแล้วเกินอีก จะครบเดือน ข่าวคราวของเมียก็เงียบสูญ จะได้ทุกข์ได้สุขประการใดก็ยากที่อ้ายปลายจะรู้ แต่ถ้าเดา พี่ก็เดาเอาว่าเอ็งสุข เพราะยายกลั่นแกคงเล้าโลมให้เอ็งทอดทิ้งพี่เสียมากกว่า หากอ้ายปลายมันจะดื้อน้ำใจเข้ามั่งหละเหวย อย่าเอาแต่เพียงปากอ่าวน้ำชุมพรแค่คืบนี้เลย ต่อให้เขาพาเมียพี่ข้ามทะเลข้ามถิ่นไปสุดฟ้าโน้น อ้ายปลายก็จะขอตามขอสู้จนสุดชีวิต ก็เพราะพี่เชื่อคำของซ่อนกลิ่นเมื่อจะจากไปว่า พี่ไม่ต้องไปตามข้าหรอก แล้วข้าจะกลับมาเอง หากพี่ไปถึงปากน้ำ ก็คงมีเรื่องมากกว่า เพราะแม่กลั่นแกไม่ชอบหน้าผัว จะพาลหาเหตุให้ร้อนใจเดือดร้อนไปทั่วหมด ผัวก็จำต้องทนคอย และทุกข์เศร้าต่างๆ ที่สุมหัวใจอยู่ขณะนี้ หากจะคิดแล้วกูเป็นเลิกทำมาหากินแน่

เรือเป็ดเล็กและเป็นเรือแหเช่นลำของเจ้าปลาย พอโฉบใกล้ก็มีเสียงตะโกน เสียงทักที่ยิ่งฟังทุกวันก็ยิ่งแปร่งเข้าหัวใจทุกวัน

“พี่ปลายโว้ย ยังไม่ถอนสมออีกรึนั่น บา – ใครเขากลับกันจะหมดทะเลแล้วนะเว้ย จะทำเป็นบ้าหลงทะเลอยู่พรรค์นี้หล่ะ อีกสิบปีเมียมันก็ไม่กลับ –”

ปลายกำลังคิดถึงเรื่องนี้อยู่ เมื่อมาถูกแหย่ตรงหัวใจก็ชักเคือง แล้วก็หันขวับไปทางเรือเป็ดที่เฉียดเข้ามา เจ้าคนทักก็ปล่อยสาย-เรียวพรืดใบไม่กินลม โบกเป็นหางปลา และเทียบกราบเรือเข้าหา

“มึงพูดไงว๊ะ – สน” มันชะโงกถามเสียงกร้าว “พูดทุกวันก็ยิ่งแปลกเข้าทุกวัน”

เจ้าหนุ่มสนกลับหัวร่อฟันขาว หาได้หวาดเกรงโมโหบ้าของมันไม่

“ก็พูดอย่างที่ได้ยินนั่นแหละ พิโธ่ – พี่กู เสียแรงเคยเป็นนักเลงรู้ทันเล่ห์ทันคนมานัก กลับมาเซอะกะอุบายตื้นๆ ของมนุษย์”

“อ้ายสน” ปลายมันเรียกเต็มเสียง หัวใจกลับสั่นระทึกที่ฟังเจ้าหนุ่มรุ่นน้องมันพูดเป็นปริศนาลับ แล้วเจ้ายอดนักเลงเก่าที่รามือไปแล้วเมื่อปีกลายก็พลันได้สติ มันลดเสียงพูดแทบจะผิดกันคนละคน “พ่อคุณเถอะ อ้ายน้องรัก เอ็งพูดให้พี่ฟังง่ายๆ หน่อยเถอะ เออ พี่ยอมเซอะกะคำพูดของเอ็งแล้ว แต่เอ็งลองบอกพี่หน่อยถีว่า อ้ายปลายเซอะอุบายตื้นๆ ของใคร?”

หนุ่มสน เมื่อครั้งกระโน้นเคยนิยมและรักน้ำใจนักเลงของปลาย เมื่อมันผงเข้าตามื้อนี้ ขณะที่รักเมียหลงเมียจนโง่ ก็ตอบอ้อมๆ บังๆ ให้มันรู้

“เถ้าเก๋ทรวงเขากลับมาทำตังเกอยู่ปากน้ำแล้วไม่ใช่รึ?”

“เออ-แล้วไง?”

“พี่ซ่อนกลิ่นเมื่อก่อนจะได้กะพี่ปลายก็ชอบกะเขาอยู่”

เท่านั้นเอง เจ้าปลายก็กระจ่างหัวใจเหมือนกับรู้ไปหมดทั้งน้ำใจคน อ้อ – มันซับซ้อนกันด้วยเรื่องหลังมากมายนัก ไอ้ทรวงหวิดตายโหงก็นับครั้งไม่ถ้วนเพราะชิงรักชิงนางกันมา และนี่มันย้อนมาตลบหัวใจกูเข้าแล้วเป็นแน่ โธ่! – น้ำใจของมนุษย์ น้ำทะเลแสนลึกก็ยังทอดสมอหยั่งถึง

“พี่ขอบใจเอ็งนักสนเอ๋ย—” มันพูดเศร้าๆ ซ่อนแค้นซ่อนขุ่นอยู่ในหัวใจ แล้วก็เสพูดเป็นไม่สำคัญ “แต่เรื่องมันก็ล่วงเลยมานมนานนักแล้ว พ่อทรวงเขาก็คงรู้อยู่หรอกว่าซ่อนกลิ่นมันมีผัว ผู้ชายมันไม่หลับตารับเอาง่ายๆ พรรค์นั้นหรอกวะ อีกสองสามมื้อซ่อนกลิ่นมันก็คงกลับมาเอง”

จึงเป็นการผิดคาดที่เจ้ารุ่นหนุ่มมันปรารถนาโดยหวังดี และมันก็ไม่สู้จะเชื่อถือนักว่า ปลายมันจะกลับนิสัยเป็นคนอารมณ์เย็น ซึ่งผัวแม่ซ่อนกลิ่นก็อ่านสายตาของมันออก ทั้งลูบหลังและยิ้มกะสน พูดด้วยน้ำเสียงแจ่มใส

“เชื่อพี่เถอะวะ สน เอ็งยังไม่เคยมีเมียก็เหมือนพี่เมื่อครั้งรุ่นๆ หนุ่ม หัวใจย่อมร้อนแรงก็โดยโทษะเสียแหละมาก ใครว๊ะมันจะไม่รักเมีย เอ็งมาเตือนพี่มื้อนี้น่ะ พี่ขอบใจนัก แต่เรื่องอะไรทั้งหมด มันสู้เก็บสู้รู้อยู่ในหัวใจของเราไม่ได้ ต่อไปวันหน้าเอ็งก็จะมีลูกมีเมียเหมือนพี่ เอ็งก็จำคำพูดของพี่เอาไปคิดเล่นเอาเองเถอะ”

ลมเร่ไปอีกทาง คลื่นยิ่งคนองหนัก เรือเป็ดลำเล็กสองลำที่เทียบคู่กันโต้คลื่น ต่างก็ขึ้นใบแล้ว สายเรียวที่ปล่อยหมดกลับถูกดึงเข้ามาจนใบกินลมแรง จนเรียวตึงเขม็ง ครู่นั้น สองเรือเป็ดทะเลที่เจ้าของหัวใจมันแปรกันไปคนละทิศละทาง ก็เขยิบหัวฟันน้ำพร่าง แล้วลมก็เป่าใบพาเรือเผ่นไปแถวคลื่น เบนหัวเข้าอ่าวบางสะพลีที่แลเห็นหลังคาบ้านและสะพานตากอวนเรียงรายอยู่เป็นแถว

บ่าย – และเป็นขณะน้ำลด พวกหญิงเพื่อนบ้านและเด็กที่ไม่ได้ลงเรือ จึงลงหาดเที่ยวต่อยหอยตามโขด ใบเรือฉลอมโป๊ะและเป็ดทะเลเข้าถึงฝั่งกันหมดแล้ว เสียงเป่าอูด*เรียก จึงได้พากันอื้ออึง พวกบ้านและพวกสาวรับจ้างหาบปลา ก็ต่างพากันมายืนรับกันสลอน ลูกใครเมียใครก็พร้อมหน้าคอยยิ้มรับเหนื่อยที่ผัวกลับจากทะเล เว้นแต่เจ้าปลายคนเดียวที่หัวใจมันแสนจะว้าเหว่ เพราะเคยเห็นซ่อนกลิ่นมันโบกมือรับอยู่คันหาด พอเรือเกยตื้นเจ้าก็ลุยลงไปรับ ทั้งยิ้มทั้งพูดจ้อเข้าช่วยขนปลาก็ราวกับมันแสนสุขเสียยิ่งกว่าใครๆ

เป็ดทะเลเกยหาดทิ้งไว้ เจ้าของมันสะพายแหขึ้นไหล่ อีกมือหนึ่งก็หิ้วกี่ใส่ยาสูบ มันเดินเหมือนคนระโหยจะสิ้นกำลัง ลุยทรายเป็นทางตั้งแต่หาดกระทั่งถึงทับอาศัย เมื่อตากแหชักรอกไว้ปลายไม้แล้ว มันก็คว้าหลัวใส่ปลาเดินดุ่มลงทะเลอีก ทุกฝีก้าวที่เดินก็ครุ่นคิดถึงคำพูดของเจ้าสนที่มันเตือนให้รู้ตัว และรู้ไปกระทั่งความรัก ความรักที่มันไม่เคยคิดว่าจะทุกข์ดังเช่นขณะนี้

ปลากุเลาและปลาอื่นเกือบสองหลัว หากจะคิดเป็นราคาซื้อขายกันแล้วก็ร่วม ๕๐ กว่าบาท  แต่สมบัติทะเลที่มันสู้อุตส่าห์หามาซื้อมาขายจนเป็นเครื่องทองสร้อยแหวนให้นางเมียแต่ง  เดี๋ยวนี้ดูมันจะหมดค่า เพราะเจ้าของมันไม่มีกะใจจะซื้อจะขาย เลยเหมาพวกหาบไปถูกๆ   เหลือปลาแก้มช้ำไว้กินตัวเดียว เมื่อล้างมือเสร็จแล้ว มันก็ก้มหน้าเดินขึ้นคันหาด

พอเงยหน้าก็ใจหาย โธ่ – บ้านกูเงียบเหงา แม้แต่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ แคร่นอนที่เคยมีที่ซ่อนกลิ่นแอบอกก็ร้าง ก็ว่างเปล่า อวนแหที่นางเมียคิดสร้างเย็บค้างทิ้งไว้ตรงลานดินนั่นเอง  แล้วก็นั่น – เสื้อในสีม่วงที่ซ่อนกลิ่นรักนักหนา เคยสวมใส่คอยรับผัวจะกลับมาจากทะเล เสื้อนี้ก็คงม้วนซุกอยู่กับเนื้ออวนที่นางเมียเย็บไว้ค้าง ล้วนแต่เป็นเข้าของที่คอยสะกิดใจให้มันเศร้ามันทุกข์ ซ่อนกลิ่นเอ๋ย, เอ็งลืมพี่เสียแล้วหรือ? เอ็งหมดรักหมดสงสารและทิ้งพี่ไปเสียแล้ว น้ำตาของอ้ายลูกผู้ชายก็พลันไหลพรากสองแก้มสอื้นและตื้นตันหัวใจนัก

แล้วก็แค้น อ้า – อ้ายปลายถูกเขาหยามหัวใจ เมียรักกูมาพลอยร้างไปกะชู้เก่า ทั้งรักทั้งแค้นก็พลุ่งเข้าหัวใจมัน ทันทีมันก็ปราดเข้าไปในครัว สองตาก็กวาดหา โอ้ – อยู่นั่น ดาบรบดาบรักที่เคยบุกคู่มือกันมา จนกูได้ชื่อเป็นยอดนักเลง เพียงกูรักเมียหลงเมียหูตามืด ดาบก็กลายเป็นมีดผ่าฟืน มันซุดนั่งลงประคองดาบ เอามือลูบคมแล้วก็ใจหาย โธ่ – คมมันร่อยไปหมดแล้ว  ร่อยไปพร้อมกับชื่อของอ้ายปลาย แต่ถึงงั้นเนื้อเหล็กทั้งแกร่งทั้งเหนียวก็ยังคงสภาพเป็นดาบ เป็นสง่า ยังมั่นมือพร้อมที่จะออกรบกะมันได้อีก เลยลุกขึ้นถือดาบกรากออกไปนอกทับ ตรงไปที่หินลับมีด กูจะลับปลุกคมเข้าตะลุมบอนกันอีก ดาบนักเลงกูเล่มนี้จะต้องปิดทองบูชาไว้สำหรับคู่มือคู่ชีวิตอ้ายปลาย กูจะเป็นคนดีกะเขาไม่ได้แล้วก็จะขอล้างคนดีที่มันประหารน้ำใจกูให้สิ้น

 ทั่วทั้งหาดบ้านอ่าวปากน้ำชุมพร ต่างก็พากันแปลกใจที่ลูกสาวคนสวยของยายกลั่นหนีตามผัวไปสะพลีโน้น เพิ่งจะกลับมาอยู่เรือนยายกลั่นอีก ใครๆ ก็พากันซุบซิบว่า ซ่อนกลิ่นมันคงถูกผัวทิ้งเสียเป็นแน่ เมื่อวันที่เข้ามาหายายกลั่นก็ร้องห่มร้องไห้ราวกับได้รับความชอกช้ำหัวใจสาหัส จนแม้กระทั่งตัวยายกลั่นก็พลอยต้องร้องไห้ตามเพราะสงสารลูก เลยพาลด่าเจ้าลูกเขย ไม่ทันได้สอบถามความจริงหรือเรื่องราวแต่อย่างไร

และเพียงรุ่งอีกวันเดียว พ่อทรวงที่เกือบจะเป็นเขยยายกลั่นเมื่อปีกลายก็ย่างเข้ามาเยือนแกอีก หนุ่มและสาวที่มีน้ำใจเคยมีรักก็แทบจะรู้หัวใจกัน ซ่อนกลิ่นเจ้าหน่ายผัวคนยาก ก็เพราะมันทอดทิ้งไม่คอยปลอบเอาใจเมียหรือพะเน้าพะนออย่างก่อนๆ เอาแต่จะก้มหน้าทำกิน หลงทะเลรักทะเลมากกว่าเมีย กลางคืนพอจะกอดอุ่นแต่พอดึกก็ผละทิ้ง ออกเรือไปอีก ลูกเมียก็หนาว ก็ว้าเหว่ กระทั่งรู้ข่าวว่าพ่อทรวงกลับมาตั้งร้านอวนตีปลาอยู่ปากน้ำอีก หัวใจเจ้าซ่อนกลิ่นก็เลยแปรไปง่ายๆ เหมือนลมทะเล คิดทบคิดทวนถึงผัวกับชู้รักเก่า คนหนึ่งช่างพูดช่างประจบเอาใจเก่งทุกอย่าง อีกคนหนึ่งนั้นมุ่งแต่จะทำกินถ่ายเดียว เมื่อหญิงงามเช่นซ่อนกลิ่นเคยแต่ชายจะพะนอเอาใจมาจนเหลิง ก็เกิดอัดอั้นใจจะทนอยู่กับผัวที่มันซื่อ และรสรักที่พ่อทรวงเคยเล้าโลมมาแต่ก่อนก็ยังรบกวนหัวใจสาวให้เคลิบเคลิ้ม จนต้องออกอุบายจะไปเยี่ยมแม่สักมื้อ แล้วเมียเจ้าปลายก็กลับมาเยือนอยู่ในอกชู้ของพ่อทรวง

“ซ่อนกลิ่นเอ๋ย พี่เสียดายนัก เสียดายที่ไม่ควรจะตกไปอยู่ในอ้อมกอดของไอ้ปลาย โธ่ – มันร้าย นิสัยมันก็นักเลงเหมือนโจร มันคงกอดรัดซ่อนกลิ่นเหมือนงัวบ้า เนื้อนวลเคยนุ่มมือพี่ก็ช้ำไปทั่วร่าง”

ซ่อนกลิ่นเจ้าค้อนและสะบัดตัวไว้จริต ความจริงมันก็เจนชายแลคุ้นน้ำใจชายดี จึงใส่งอนเข้าหาชู้

“ก็รู้ว่าเนื้อนวลฉันช้ำแล้ว มากอดรัดเอาไว้ทำไม ฉันมันคนมีลูกมีผัวแล้ว ไหนเลยจะเนื้ออุ่นน่ากอดเหมือนเนื้อสาว”

“อื้อ – พี่รักหรอกนะ” เขาตอบดื้อแล้วก็จูบรวดเร็วหลายฟอด “หอมหัวใจนัก เนื้อสาวเนื้อนุ่มหรือจะสู้เนื้อนวลของซ่อนกลิ่น เออ – สมชื่อแท้แม่ยอดหัวใจของพี่ เนื้อหอมนั้นซ่อนกลิ่นหอมอบหัวใจพี่นัก พี่จูบซ่อนกลิ่นมื้อนี้หอมหัวใจนัก อ้ายปลายมันเคยจูบเคยถามงี้มั่งหรือเปล่า –”

“เขาไม่ได้มาประจบหลอกกอดหลอกจูบเอาเหมือนกะพี่ทรวงเลย- -”

“อ้ายปลายมันโง่” เขากลับพูดเป็นสนุก แล้วก้มลงจ้องตาซ่อนกลิ่น “ถ้าเป็นพี่ – แก้มอิ่มของซ่อนกลิ่นคงไม่พอจูบ” แล้วเขาก็ก้มลงจูบอีก คราวนี้เมียเจ้าปลายไม่ดิ้นเหมือนแต่แรก เพราะหัวใจมันสมัครและเต็มใจนัก รสจูบของชายชู้ทุกครั้งชวนให้เป็นสุขอย่างประหลาด แม้จะเคยมือเคยจูบของผัวมาแล้วซ่อนกลิ่นก็ผวาใจหาย “พี่จะจูบหัวใจซ่อนกลิ่น จะขอจูบเนื้อแท้”

ราวกับมรสุมสั่งฝั่ง พัดปั่นป่วนหัวใจ ในอกของซ่อนกลิ่นสะท้อนสะอึกดังจะขาดใจตาย วาบหวิวไปทั้งร่างหลับๆ ตื่นๆ เหมือนจะฝัน ไม่ใส่ใจว่าพ่อทรวงจะเลือกจูบต่อไปที่ไหนต่อ แล้วก็ลืมบนคันหาด ลืมเป็ดทะเลที่เกยฝั่ง ลืมแม้กระทั่งใบหน้าพี่ปลาย เจ้าผัวคนยาก

และต่อจากคืนนั้นมาจนทุกวันนี้ ชาวบ้านอ่าวปากน้ำชุมพรก็ต่างล่วงรู้กันไปทั่วว่า ซ่อนกลิ่นนั้นถูกผัวเก่าทอดทิ้ง และพ่อทรวงชู้รักเก่านั้นไม่รังเกียจ กลับเต็มใจรับเอาเป็นเมียออกหน้าอย่างเปิดเผย เป็นที่สมใจยายกลั่นที่แกฝันจะได้เขยอย่างพ่อทรวงนัก

ย่างเข้าเดือน ๑๑ แล้ว ทะเลแถบตะวันตกก็ดูราวจะเป็นบ้า เหมือนเจ้าปลายมันบ้า เพื่อนเขาอื่นคงออกแหกันเป็นปกติ แต่ลำของเจ้าปลายไม่ออกทะเลมาสามวัน

คนที่แสนประหลาดใจมากกว่าใครๆ ก็คือสน เพราะตั้งแต่พบกันมื้อนั้นแล้ว เขาไม่ได้พบหน้าเจ้าลูกผู้ชายชาตินักเลงที่ถอดนิสัยเกเรไปนานแล้วอีกเลย พอบ่าย กลับเข้าฝั่ง เจ้าสนก็อดใจอีกต่อไปไม่ได้ ความสงสัยต่างๆ มีทั้งห่วงทั้งรัก เพราะเจ้าปลายมันคงจะเศร้าได้ไข้หรือเจ็บป่วยหนัก จึงรีบตรงมาจะแวะเยี่ยมและเป็นเพื่อนคุยเพื่อนพยาบาลมันยามยาก

แล้วเจ้าสนก็ชงักอยู่ตรงคันหาดหน้าบ้าน ตลึงไปทันทีที่เห็นอ้ายพี่รัก อ้ายปลายมันร้องไห้  มันลับดาบลับสนิมจนขาววับ ลองกรีดคมลงก็สมหัวใจ น้ำตายังไม่ทันแห้ง มันกลับหัวเราะ – หัวเราะอย่างแสนจะขบขัน กิริยาของเจ้าพ่อหม้ายเมียหนีนั้นกึ่งบ้ากึ่งดี

“พี่ปลาย – ”

มันหันขวับ “อ้อ – สน เอ็งมาเยี่ยมพี่เร๊อะ เออ – พี่ยังไม่ตายนะน้องนะ อีกสองสามวันเอ็งมาเยี่ยมศพพี่เถอะ สน”

“พี่ปลาย – ” สนโผเข้ามากอดและเขย่าตัวมันให้รู้สึก “คิดยังไงขึ้นมาล่ะ หือ โธ่ – พี่”

มันกลับพูดเหมือนกับคนเพ้อ “คิดไงรึวะ เมียพี่เขาทิ้งพี่ไปแล้ว จะให้อ้ายปลายคิดยังไง กูก็คิดจะฆ่า – ตามฆ่ามันทั้งชู้ทั้งเมียแหละน้องเอ๋ย คำมึงเตือนสติพี่วันนั้นเป็นคุณนัก เถอะ อ้ายปลายไม่ตายเสียก่อนแล้วก็จะกลับมาสนองคุณของน้อง แต่มื้อนี้พี่ต้องขอลา พี่ต้องขอไปให้พบกะซ่อนกลิ่นอีกสักครั้ง ถ้าขืนอยู่คอยต่อไปอีก กูคงเชือดคอตาย”

เจ้าสนกลับเป็นห่วง กอดรัดเอาไว้แน่น “พี่จะไปยังไงคนเดียว พวกเขาทั้งนั้นรู้ไม๊ จะเข้าไปตายเปล่า ให้อ้ายสนไปด้วยสักคน”

“น้องรัก –”  มันกอดสอื้นน้ำตาไหลอีก “ฮือ-หัวใจมึงอ้ายสนเอ๋ย หัวใจมึงเลิศนัก แต่การนี้มันเป็นเรื่องที่เอ็งไม่ควรจะเกี่ยว ข้าทุกข์ เอ็งแค้นแทนทุกข์ ข้าก็เห็นใจแล้ว คอยพี่เถอะสนเอ๋ย พี่ไปสักสามวัน ถ้ากว่าจากนั้น เอ็งก็คอยตามเก็บศพเอาเถอะ แต่ป่วยการ- – ทิ้งให้เป็นเหยื่อปลาทะเลเถอะวะ”

ก็เลยแน่ใจว่าอย่างไรเสีย เจ้ายอดนักเลงเก่ามันจะออกศึกอีก และตั้งแต่คบหากันมายังไม่เคยได้ชมฝีมือเจ้าปลายที่เขาลือกันทั้งสะพลีว่ามันเลิศหัวใจนักเลง ก็ทั้งรักทั้งนิยม รบเร้าจะขอตามไปด้วยสักคน แต่ปลายมันปฏิเสธเสีย อ้างนัดวันไว้อีกต่างๆ ว่า ถ้าครบกำหนดแล้วมันไม่กลับก็จงไปตาม

ปลายผลุนผลันเข้าบ้าน คว้าเสื้อในสีม่วงของเมียรักผูกพันข้อมือแน่น มันฝากบ้าน ฝากทรัพย์สมบัติหากินทั้งสิ้น แล้วไม่ยอมฟังเสียง หันหลังออกวิ่งตื๋อลงหาด เข็นเรือเป็ดทะเลลำเล็กออกลึก แล้วก็ขึ้นเรือสาวเชือกรอกกางใบขึ้นเต็มเสา แล้วหันตะกูดหมุนหัวเรือตั้งออกทะเลลึก แล่นก้าวเสียดคลื่นเฉียงลมไปจนลับตาแล้ว

คืนข้างแรม ตั้งแต่หัวค่ำยังไม่มีเดือน ทะเลนั้นมืดสนิทนัก น้ำมืดเหมาะสำหรับการออกโป๊ะออกอวน ถึงแม้จะมีขี้ลมขุ่นอยู่เบื้องทิศอาคเนย์ตั้งแต่ยังไม่พลบมืด แต่ก็กะราวร่วมสว่างจึงจะเกิดพายุ ฉลอมโป๊ะหรือเรือยนต์ตีอวนตังเกต่างเตรียมตัวจะจากฝั่งกันทั้งหมด

พ่อทรวงนั้นยังอบอุ่นสบายอยู่กับการพรอดพร่ำเจ้าซ่อนกลิ่น แน่ละ เพราะเขาเป็นคนหนุ่ม ในชีวิตยังไม่เคยมีเมียเป็นตัวตนเลยสักคนเดียว ยิ่งมาได้รับการปรนนิบัติอย่างดียิ่งของหญิงที่ร้างผัวก็ถึงกับหลง แล้วก็ลืมรังเกียจว่าซ่อนกลิ่นนั้นไม่ใช่สาว ตลอดทั้งวันทั้งคืนพ่อทรวงก็แทบจะไม่โผล่หัวออกจากบ้านเลย ยิ่งคืนนี้แล้วขี้เกียจเสียกว่าทุกคืน เขาอยากจะเร่งมรสุมให้ขึ้นเสียเร็ววัน พอโป๊ะแตกฝั่งตะวันตกมรสุมสั่งฝั่ง พ่อทรวงก็จะได้มีเวลานอนกอดเมียให้เต็ม ๔ เดือน

เสียงอูดเป่าลมลอยมา ซ่อนกลิ่นก็สั่นหน้าชู้รักที่หลับตาฟุบอก

“ไปทะเลเถอะพี่ทรวง เสียงเขาเตือนมาอีกแล้ว”

ทรวงลืมตาขึ้นอย่างยากเย็น “พิโธ่ – ซ่อนกลิ่นเบื่อพี่แล้วงั้นเร๊อะ ถึงได้ขับไสกันนัก”

“ฟังพูดเข้าแน่ะ ต๊าย – เมียเตือนออกทะเลหากินน๊ะพ่อน๊ะ ไม่ใช่มาเตือนไล่เตือนเบื่อผัวหรอก”

“ก็พี่ยังไม่อยากไปน่ะซี อยากจะกอดเมียหลับอีกสักตื่น ใครมันอยากรวยก็เชิญมันออกทะเลไปก่อน”

“ไม่เอา พูดยังงั้นใช้ไม่ได้ ทะเลต้องออกเพราะไปทำกิน เมียรออยู่บ้าน ไม่ไปไหน กลับมาต้องได้กอด จะกอดทั้งวันก็ตามใจ แต่พอได้เพลาออกหากินแล้วเมียต้องขอบังคับ ไม่งั้นพรุ่งนี้เมียจะหลบไปท่าตะเภาเสีย ไม่ให้กอด”

เขาลุกทะลึ่งทะลั่ง หายดื้อราวกับปลิดทิ้ง

“แม่คุณ แม่ชื่นหัวใจผัว เออ – พี่เชื่อซ่อนกลิ่น เชื่อเมียรักของพี่ ไหนขอจูบก่อน – จูบเนื้อน๊ะ  พี่จะจูบหัวใจ”

แล้วผัวก็ปลุกปล้ำเข้าจูบ เมียก็หลบและดิ้นร้อง เสียงหัวเราะเสียงกอดจูบปลุกปล้ำกัน หัวใจของเจ้าผัวใหม่วาบหวิวเหมือนลมทะเลคนอง แต่อีกหัวใจที่แฝงกายมองอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่พลบมืด ก็ฮือขึ้นราวกับพายุร้าย มรสุมร้ายอีกครู่หนึ่ง ที่ซ่อนกลิ่นอ้อนวอนเจ้าผัวหนุ่ม ผลักไสจนออกไปจากห้องแล้ว ไม่ทันจะสวมเสื้อลุกตามออกไปก็พลันตกใจแทบจะพลั้งร้องสุดเสียง

แสงตะเกียงโคมกะสือที่จุดแขวนกลางห้องเพียงหลัวๆ เจ้าบุรุษหนึ่งที่มันก้าวข้ามหน้าต่าง ผมเผ้ายุ่งเหยิง สีหน้าเศร้า มันเดินทื่อเข้ามาหาและยื่นชูสิ่งหนึ่งให้

“ซ่อนกลิ่นเอ๋ย พี่แสนจะคิดถึงเอ็ง แน่ะ – เสื้อในตัวนี้เอ็งรักเอ็งชอบใส่ พี่กอดเสื้อของเมียนอนร้องไห้คิดถึงอยู่ทุกคืน แหม- น้ำใจเอ็งมาหลอกพี่ หลอกให้ผัวคอย พี่ร้องไห้เมื่อกลับจากทะเลไม่ได้เห็นหน้าเมีย เอ็งใส่เสื้อตัวนี้เถอะนะซ่อนกลิ่น”

“พี่ปลาย – ” นางเมียมันเรียกน้ำเสียงแหบและขาดหายราวจะสิ้นใจตาย เลยตลึงลืมใส่เสื้อ เจ้าผัวเก่าก็เดินกางมือเข้ามาจะกอดก็ได้สติ “พี่ปลายมาทำไม – ฮึ มาถึงแต่เมื่อไหร่-”

“เดี๋ยวนี้เอง – ” ผัวมันตอบสะอื้น “เอ็งใส่เสื้อตัวนี้เถอะซ่อนกลิ่น เอ็งรักมันมากพี่ก็รักมันมาก  เมื่อซ่อนกลิ่นจากพี่มาพี่ก็ได้แต่กอดเสื้อนี้นอน ก็เหมือนกอดเมีย”

นางเมียก็ตื้นหัวใจ โอ้ – ผัวรัก พี่ปลายเอ๋ย ซ่อนกลิ่นนั้นอยากจะฆ่าตัวเองเสียให้ตาย เพราะเมียทรยศแก่พี่เสียแล้ว เมียไม่บริสุทธิ์สำหรับผัวคนยากเสียแล้ว ก็พอดีได้ยินมันพูดเสียงเครือ

“ไงล่ะ – ซ่อนกลิ่น ใส่เสื้อตัวนี้เสียเถอะ พี่มารับเอ็งน๊ะ รับซ่อนกลิ่นกลับสะพลี ไปเป็นเมียคนยากของผัว”

“ฉันจะไปยังไงล่ะ พี่ปลาย” เมียมันตอบหวาดๆ เป็นพิรุธ

“พี่จะอุ้ม ทูนหัวเอ๋ย พี่จะอุ้มลงเรือน”

นางเมียใจคดก็เลยร้องไห้ โผเข้ากอด “เมียไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว พี่ปลายเอ๋ย ลืมซ่อนกลิ่นเสียเถอะ หรือไม่ –ดาบในมือพี่ของพี่นั่นแหละผ่าอกเมียเสีย ซ่อนกลิ่นนี้ชั่วแล้ว โธ่ – พี่ปลาย”

ปลายมันขบฟันกรอด อ๋อ พี่รู้ หัวใจเอ็งมันไม่ซื่อกะพี่ เอ็งไม่รักพี่ เอ็งอยากตาย – ฮ๊ะ พี่รักเอ็งสุดหัวใจนัก เอ็งตายพี่ก็ตาย เรารักกันมาก เราก็ต้องกอดคอกันไปรักใหม่อีกชาติใหม่ มันเตือนริมหูนังเมียคนสวย

“ไปเถอะ อย่าคิดอะไรให้มันมากนัก คิดแต่เพียงว่าพี่รักซ่อนกลิ่นเหมือนหัวใจ โธ่-เอ็งตาย พี่ก็ขอตาย”

ไม่ทันใครจะพูดจะคิดกันใหม่ก็มีเสียงคนผลักบานประตูเข้ามา

“ใครนั่น” เสียงตะโกนถาม พอสิ้นเสียงก็เลยเป็นเอะอะ “อ้ายปลายขึ้นเรือน เร็ว – พวกเราช่วยจับขโมย”

“พ่อทรวง-” ปลายมันเรียกชื่อศัตรูเต็มเสียง “นั่นสั่งจะล้อมจับฉันน่ะ ขอถามหน่อย-ฉันผิดไง”

“มึงขึ้นเรือนกู ขโมยทรัพย์นั่นแหละ”

ปลายมันหัวเราะก๊าก ชี้ไปทางซ่อนกลิ่น

“ก็ทรัพย์นี่มันเมียฉัน ฉันมาขโมยเมียฉันเอง จะผิดกันยังไง”

ก็พอดีพวกสมุนของพ่อทรวง ๗-๘ คนกรูกันเข้ามา พ่อทรวงซึ่งจนแต้มจะอ้างก็พอเหมาะ เลยสั่งดื้อๆ

“จับ – พวกเราทุกคนต้องช่วยกันจับให้ได้ มันขโมย”

ไม่ต้องซักถามกันอีก สมุนเถ้าเก๋ทรวงที่มีอาวุธทั้งดาบและมีดสั้นครบมือก็ถลันเข้ามา

“หยุดน๊ะ –” ปลายมันเอาดาบชี้กราด “ไอ้สั่งจับกันเล่นง่ายๆ พรรค์นี้ต้องหยุดก่อน”

พ่อทรวงก็ตะโกนหนุนไปอีก “ไม่ฟัง – ใครอย่าฟังเสียงมัน เอาซี ช่วยกันจับตัวเอาตัวไอ้ขโมยได้ กูจะแถมเงินคนละร้อย”

คนคนเดียวมีค่าสำหรับพวกของเถ้าเก๋ทรวงถึงคนละร้อย ดูมันง่ายยิ่งกว่าตีปลาในทะเลนัก  และคนอย่างเจ้าปลาย ถึงจะมีดาบในมือก็ดูเหมือนไม่เป็นที่น่ากลัว จึงขยับ

“กูให้หยุด แน่ะ – พี่น้อง ไอ้ปลายมันก็ชีวิตนะ กูคนเดียวชีวิตเดียว เมื่อจะบุกกันมื้อนี้ก็อย่าหวังแม้แต่ศพของกู ไม่เชื่อกันแล้วก็เชิญ ใครล้ำก่อนกูฟันก่อน”

ใครก็ไม่สนใจจะฟัง เพราะต่างคนต่างเชื่อฝีมือและกำลังพวกมากที่จะบุกจับในพริบตา ถึงแม้ปลายมันจะตะโกน ไม่ผิด มันขึ้นมาก็เพื่อจะพาเมียของมันเอง ทรัพย์สมบัติใครนั้นมันไม่ได้แตะต้อง และเสียงมันก็หมดประโยชน์ คนแรกที่ก้าวพรวดก็ร้องโอ๊ยล้มกลิ้งสีข้างเหวอะเลือดฉาน แล้วอีกคน – อีกคน เพียงพริบตาสมุน ๕ คนของพ่อทรวงก็ลงไปนอนดิ้นร้องครวญคราง เพราะได้กันคนละแผลฉกรรจ์

ที่เหลือก็ชักรวนเร ใจกล้าเมื่อแรกก็เลยขวัญหาย คนถูกฟันก็ล้วนแต่ฝีมือเลิศทั้งนั้น และเหมือนจะยิ่งเพิ่มโมโหพ่อทรวงยิ่งนัก เมื่อเห็นพวกของตนจะเป็นรองเอาง่ายๆ จึงนึกถึงปืนได้ เขาวิ่งผละไปหยิบปืนมารวดเร็ว เจ้าปลายมันโอบนางเมียถอยหนีมาทางหน้าต่าง ก็พอดีพ่อทรวงเข้ามาอีก ส่องปืนขึ้นสับไก “เปรี้ยง”

เจ้าปลายก็ผละ เสียงซ่อนกลิ่นร้อง และสมุนพ่อทรวงตลึงทันที เมื่ออ้ายปลายมันตายกูก็จะฆ่าหมด ใจเพชรนัก พ่อทรวงก็นึกว่านัดเดียวจอด จึงต้องตกใจยกปืนขึ้นรับดาบที่กรากเข้าฟันรวดเร็ว

“ตายหมด –” มันประกาศก้อง แล้วก็ตลุยฟัน ซ้ายขวาอีก ๒ คนไม่ทันหลบก็ถูกเต็มแรง หากได้แผลกระเด็นไปคนละทาง พ่อทรวงก็ถูกไม่ถนัดนัก สีข้างเปิดเลือดสาด – เห็นเลือดเข้าพาลใจเสียหน้าซีด ปลายก็ง้างสุดแขนหมายก้านคอ

“อย่า-พี่ปลายอย่าทำเขา ฉันจะไปกับพี่ อย่าฆ่าเขา”

ปลายมันยั้งมือ เออ – น้ำใจเมียของกู ซ่อนกลิ่นเจ้ารักชีวิตชู้มากกว่าผัว มันจะรู้ไหมว่าอ้ายปลายจะไม่รอดตลอดคืนนี้ เออ-กูจะเว้น แต่ปืนนั่นต้องหักเป็นสองท่อน แล้วผัวเก่าเจ้าซ่อนกลิ่นก็ยกเท้าถีบร่างพ่อทรวงที่ตกตลึงยืนเซ่อกระเด็นกลิ้งไปรวมกันกะพวก มันหวนกลับอุ้มนางเมียวิ่งผ่านทางประตูลงบันไดไป

จะเข้ายามปลาย ทะเลมืดเพราะเป็นข้างแรมและย่างเดือน ๑๑ จะเข้ามรสุม ทุกสารทิศเห็นแต่ขี้ลมอันเกิดพายุร้ายทุกขณะ เรือเป็ดทะเลลำเล็กที่ไต้ก๋งมันจะสิ้นแรงจะสิ้นใจ กำลังแล่นก้าวออกทะเลลึก ฝั่งอ่าวบ้านปากชุมพรก็มืดไปกับขอบฟ้า มองไม่เห็นอีกแล้ว เรือยนต์ เรือตังเกหลายลำที่ออกมาได้ครึ่งทางก็ต้องหันหัวกลับฝั่งหมด เพราะขี้ลมที่เขาคะเนจะเกิดพายุร่วมสว่าง กลับผิดคาด

เสียงลมหวิวลมฮือ ท้องทะเลมืดก็กระหึ่มด้วยคลื่นใหญ่ มรสุมสลาตันลงแล้ว เจ้าไต้ก๋งมันกอดเมียหัวเราะทั้งน้ำตา

“ซ่อนกลิ่นเอ๋ย เอ็งไม่รักพี่เท่าพี่รักเอ็งเลย นู่น-ที่ตายของเราทั้งคู่อยู่นั่น เอ็งบอกพี่ว่าอยากตายงั้นเร๊อะ พี่จะตายอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว เอ็งกอดพี่ไว้ให้แน่นๆ น๊ะ ให้พี่จูบลาเอ็ง –”เสียงไต้ก๋งมันพูดเลอะเทอะ ทั้งหัวเราะร้องไห้ ประกาศพายุที่เริ่มฤดูแล้ว โป๊ะตะวันตกจะล่มจะแตกในคืนนี้ทั้งสิ้น เรือเป็ดทะเลก็พอดีคว่ำหายไปกับคลื่น ชีวิตของหนุ่มสาวลูกทะเลก็ลบสูญไปพร้อมมรสุม.


* คือเป่าเขาควายที่เจาะปลายเขา เป็นเสียงดังให้สัญญาณสำหรับชาวทะเล-บก. (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์)

พิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร สามทหาร รายเดือน  
ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๑: ตุลาคม ๒๕๐๗ 
นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์: บรรณาธิการบริหาร 
นาวาอากาศโทสันต์ ศาลิคุปต์, นายชวลิต มุสิกไชย, นายอากร ทัพพะรังสี: บรรณาธิการผู้ช่วย

หมายเหตุ: การใช้ภาษา สะกดการันต์ (แม้จะผิดไปจากพจนานุกรมในปัจจุบัน) และการเน้นตัวในต้นฉบับ ได้คงไว้ตามเอกสารชั้นต้น พ.ศ. ๒๕๐๗

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า