พลังแห่งการแฉ แบนสินค้าลวงโลก

FoodSupplement-5

 

สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ การมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ถวิลหา แต่ปัญหาก็คือ เรากำลังตกอยู่ในวงล้อมของการโฆษณาชวนเชื่อที่ระบาดหนักยิ่งกว่ายาเสพติด ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามย่อมมีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ทุกเมื่อ

ลองหันไปมองรอบตัวทุกวันนี้ เรากำลังถูกยัดเยียดด้วยโฆษณาสินค้าหลอกลวง ไมว่าจะเป็นสินค้าประเภทอาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ผู้ผลิตและจำหน่ายเริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องคอยกวาดล้างแทบไม่เว้นแต่ละวัน

กระนั้นลำพังมาตรการของภาครัฐอาจยังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบระหว่างอัตราค่าปรับกับเม็ดเงินโฆษณาและปริมาณของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่แพร่กระจายอยู่ทั่วท้องตลาด ทางหนึ่งจึงต้องอาศัยพลังของผู้บริโภคที่จะต้องรู้เท่าทัน หยุดซื้อ หยุดเสพ หยุดสนับสนุน หากพบเห็นสินค้าที่ไม่ชอบมาพากลต้องช่วยกันแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ อย่าปล่อยให้สินค้าจำพวกนี้ลอยนวล

 

+ อย. เปิดโปง 34 ผลิตภัณฑ์อันตราย

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ในแต่ละปีผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพลวงโลกเหล่านี้ยอมทุ่มงบโฆษณาสูงถึงกว่า 3,000 ล้านบาท ผ่านสื่อหลายช่องทาง ทั้งวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายการโฆษณาสรรพคุณอาหารและยา โดยไม่ขออนุญาต อย.

กลโกงในการโฆษณาของสินค้าประเภทนี้ โดยมากจะดึงเอาดารา นักร้อง หรือนักจัดรายการที่มีชื่อเสียงมาเป็นเครื่องมือในการต้มตุ๋นผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งให้ผู้ที่เคยใช้สินค้าชนิดนี้มาเป็นนกต่อเพื่อหลอกล่อเหยื่อรายอื่นๆ

เทคนิคง่ายๆ และได้ผลลัพธ์เข้าเป้าคือ การฉายซ้ำๆ โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50-80 ครั้งต่อวัน เพื่อสร้างความจดจำที่ฝังแน่นในความรับรู้ของผู้ชม เช่นเดียวกับรายละเอียดในการขายสินค้าที่มักจะมีการอวดอ้างสรรพคุณสารพัด ใช้แล้วเห็นผลทันตา ซึ่งทั้งหมดล้วนเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงและผิดกฎหมาย ขณะที่ผู้บริโภคต้องเสียเงินฟรีหรืออาจรู้ตัวก็เมื่อสายเสียแล้ว

เมื่อสถานการณ์หนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่าง อย. จึงต้องงัดมาตรการแฉผลิตภัณฑ์ลวงโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการปราบปรามและสกัดกั้นสินค้าอันตราย เพื่อให้ผู้บริโภคตาสว่าง

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2557 อย.ได้เปิดโปงรายชื่อ 34 ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ บนเว็บไซต์ ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและสืบค้นได้ด้วยตนเอง

 

FoodSupplement-4
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

 

ผลจากการตรวจสอบและปราบปรามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ 34 รายการดังกล่าว อย.พบข้อสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายที่ร้านค้ามักนำมาจำหน่ายสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผลิตภัณฑ์อวดอ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศ 2 ยี่ห้อ ได้แก่ กระทิงทอง BULL GOLD และ Platinum active
  2. อวดอ้างลดน้ำหนัก 22 ยี่ห้อ ได้แก่ Sliming Diet, Pretty Secret Herb Diet Slim, Sliming Diet Coffee Plus, LIPO 8 BURN SLIM, Slim Express, Slim Perfect Legs, L-Car-Healthy Coffee Plus, Sliming Diet Berry Plus, Sliming Diet Coffee, หมอยันฮี แคปซูลผงบุก, T-shape, Berry Sliming Plus, Slim Plus Coffee, Slim Fiber, Slim Perfect Arm, Lipo 8 coffee plus, Raspberry Extra Slim, Fuco Extra Burn, แคบซูล plus ผงบุก, แคปซูล ผงบุก (ผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักสูตร 2 สำหรับคนดื้อ ลดยาก), แคปซูล ผงบุก (ผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก ไม่ yo-yo effect แน่นอน) และ Perfect Slim Detox
  3. อวดอ้างทำให้หน้าอกโต 5 ยี่ห้อ ได้แก่ Sliming DOOMZ, BOOMZ by secret pretty white, Big Bloomz fit closely, CUP D และ BOOMZ all in 1
  4. อ้างทำให้ผิวขาวเนียน 5 ยี่ห้อ ได้แก่ Super Aura Whitening, แคปซูล คอลลาเจน 30,000 มิลลิกรัม, Wonderful Perfect Gluta DARA 40000, Wonderful Perfect Gluta DARA ALA เร่งขาว และ Collagen Gluta Like

ทั้งหมดนี้ อย. ได้ทำการสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่า ไม่มีการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร มีการใช้เลขสารบบอาหารปลอม หรือมีการนำเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้ อย. จึงขอแจ้งเตือนว่าอย่าซื้อมาบริโภคเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้ ทั้งจากสารอันตรายที่ลักลอบใส่ หรือจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน

ผลพลอยได้จากการใช้มาตรการเปิดโปงรายชื่อสินค้าอันตรายเช่นนี้ ยังผลให้ผู้บริโภคมีการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลกันเป็นทอดๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นเสมือนระบบการเตือนภัยในหมู่ผู้บริโภคด้วยกันเอง

 

+ เครือข่ายผู้บริโภคจี้รัฐคุมมาตรฐานสินค้าสุขภาพ

อีกด้านหนึ่ง ในนามของเครือข่ายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน มีข้อกังวลต่อสถานการณ์ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุผู้บริโภคเสียชีวิตหลังจากรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแทนยา เพราะเข้าใจผิดว่ามีผลทางการรักษาโรค หลังจากได้รับชมหรือฟังโฆษณาจากวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ซึ่งเป็นผลจากการโฆษณาที่ไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ยังไม่นับด้วยว่า ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและสุขภาพอาจมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคได้ แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ยังลอยนวล

เครือข่ายองค์การอิสระฯ ภาคประชาชน ชี้ว่า ลักษณะของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยมักพบเห็นได้ในหลายรูปแบบ อาทิ ฉลากไม่ชัดเจน ทำให้อ่านไม่ออก มองไม่เห็น อ่านไม่รู้เรื่อง หรือเขียนเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ข้อมูลโอ้อวดเกินจริง แม้ประเทศไทยจะมีการบังคับใช้กฎหมายมาแล้วกว่า 30 ปี ว่าฉลากอาหารต้องเป็นภาษาไทย แต่ผู้บริโภคเกินครึ่งก็ยังประสบปัญหาเรื่องฉลากสินค้า

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอาหาร 11 กระทรวง และ 30 หน่วยงาน และมีคณะกรรมการอาหารแห่งชาติตั้งแต่ปี 2551 แต่ก็ยังพบปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหารอยู่ และยังมีการโฆษณาอาหารผิดกฎหมายตลอดเวลา แต่กลับไม่สามารถระงับการโฆษณาและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภคได้

ที่ผ่านมา แม้ทาง อย.เองจะมีการดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติและประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น ประกาศเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ประกาศเรื่องฉลากอาหาร รวมถึงการเพิ่มความรุนแรงของบทลงโทษ แต่ภาคประชาชนก็มิได้นิ่งนอนใจ โดยมีการจัดตั้งเครือข่ายการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคคู่ขนานไปกับหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งพัฒนาระบบเตือนภัย ระบบการร้องเรียน และเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร จัดตั้งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฏร์ธานี สงขลา และสตูล

ทั้งนี้ เครือข่ายองค์การอิสระฯ ภาคประชาชน ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งจะติดตามตรวจสอบสอบการทำงานของภาครัฐว่าได้มีการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนอย่างจริงจังหรือไม่

 

+ ยกระดับศักยภาพผู้บริโภค

การขับเคลื่อนของเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน แม้จะไม่สามารถผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายให้บรรลุเป้าหมายได้ทั้งหมด แต่ก็มีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับหนึ่ง

SareeAongsomwangสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเลขานุการคณะกรรมการองค์การอิสระฯ ภาคประชาชน เผยว่า การทำงานของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคนับว่ามีความก้าวหน้าพอควร หลายประเด็นที่เครือข่ายเสนอไปได้รับการแก้ไขโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น การจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง อย. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการแก้ปัญหาที่ได้รับร้องเรียนภายใน 7 วัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวยอมรับว่า การจัดการปัญหาต่างๆ เหล่านี้อาจไม่หมดสิ้นไปโดยง่าย ในขั้นต่อไปจะต้องพยายามจัดการกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดต่อไป

“ที่จริงแล้วปัญหาเหล่านี้ถ้าทำแค่หน่วยงานรัฐคงไม่มีวันสำเร็จ แต่ต้องมาทำงานร่วมมือกับผู้บริโภคด้วย ขณะเดียวกัน ตัวของผู้บริโภคเองก็ต้องพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็ง รู้เท่าทันต่อผู้ประกอบการ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ”

กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดจึงขึ้นอยู่กับความตื่นตัวของผู้บริโภค เมื่อประสบปัญหา ถูกละเมิดสิทธิ์ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องลุกขึ้นมาจัดการภายใต้สิทธิของผู้บริโภคเอง

 

 

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า