โยคะสมาธิแบบคนไม่มีเวลา

เรื่อง : ธนิษฐา แดนศิลป์
ภาพ : อนุช ยนตมุติ

โยคะสมาธิแบบคนไม่มีเวลา

แน่นอนว่าถ้าพูดถึงโยคะ คนไทยเราอาจจะคุ้นเคยแค่การฝึกหัฐโยคะ ที่เป็นการดัดตน ดัดร่างกาย ซึ่งน้อยสำนักในเมืองไทยที่จะสอนเข้าไปลึกถึงขั้นสมาธิและการสังเกตจักระ ต่างๆ ภายในกาย อันจะนำไปสู่สภาวะแห่งสมาธิ ขณะเดียวกันโยคะก็เนื่องเกี่ยวเป็นเรื่องเดียวกับชีวิต ที่สำคัญโยคะมิอาจแยกออกจากสมาธิ สังเกตดูง่ายๆ หากการฝึกหัฐโยคะที่ปราศ-จากการสังเกตสภาวะข้างใน การฝึกนั้นก็ไม่ต่างไปจากการออกกำลังยืดเส้นยืดสายธรรมดา ไม่นานมานี้นับว่าเป็นโอกาสดี ที่ท่านสวามี เวทะ ภารตี (Swami Veda Bharati) ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้ง Swami Rama Sadhaka Grama (SRSG) ที่เมือง Rishikesh ประเทศอินเดีย ได้มาบรรยาย อบรมการภาวนาและเทคนิคโยคะต่างๆ ในวิถีทางหิมาลายันโยคะสมาธิ ที่จัดโดย สถาบันโยคะวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ให้ผู้ที่สนใจด้านโยคะได้ฟัง

ท่านสวามีเวทะ เป็นกูรูผู้สอนโยคะสมาธิระดับแนวหน้าของประเทศอินเดีย และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังได้รับฉายาว่าเป็นนักบุญผู้ทรงความรู้ ปัจจุบันสวามีเวทะ อายุได้ 71 ปี ท่านได้ใช้เวลา 58 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2490) เดินทางไปทั่วโลกเพื่อให้ความรู้และให้การชี้นำทางด้านจิตวิญญาณแก่ สานุศิษย์และผู้สนใจในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
หลากหลายเรื่องราวที่ท่านบอกเล่าในวันนั้น ล้วนแล้วแต่ให้แง่คิดกับผู้ที่สนใจฝึกโยคะอย่างมากมาย  ทำอย่างไรจะดำเนินชีวิตไปอย่างเป็นปกติในสังคมที่เราอยู่ ทว่ายังคงรักษาความสมดุลและความสงบนิ่งภายในไว้ได้ หรือแม้แต่คำแนะนำในการนำโยคะสมาธิมาใช้กับชีวิตประจำวันที่แสนจะยุ่ง วุ่นวายของเรา

ประหนึ่งท่านจะรู้ว่าพวกเรานั้นจะต้องอ้างว่า ‘ไม่มีเวลา’ ด้วยทั้งรูปแบบวิถีชีวิต และการจราจรที่ติดขัดอย่างไม่เหมือนที่ใดในโลก ท่านสวามีรีบหาทางออกให้เสร็จสรรพ อีกทั้งยังสอดคล้องกับชีวิตคนกรุงเป็นอย่างยิ่ง โดยแนะนำว่าช่วงเวลารถติดสัญญาณไฟ อย่าไปนั่งรอนับเวลาไฟแดง แต่ให้นับลมหายใจแทน และไม่ต้องหลับตา ให้ลืมตา แต่ทว่าแทนที่จะเอาจิตไปจดจ่อกับไฟแดง แล้วหงุดหงิดอยากที่จะให้เป็นไฟเขียวเร็วๆ ก็ให้เอาจิตมาจดจ่อกับลมหายใจแทน

โยคะ สมาธิ และลมหายใจเข้าออก นั้นล้วนแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน ยังไม่ต้องก้าวไปถึงการยกขา ปักหัว ไขว้ขาให้พิสดารอะไรมากมาย แค่หายใจได้ หายใจเป็น และรู้ลมหายใจนี้เพียงเท่านี้ท่านก็อยู่ไม่ไกลจากวิถีแห่งโยคะแล้ว โยคะสมาธิ ก็คือ การรับรู้ข้างใน สร้างทักษะในการฟังเสียงร่างกาย และเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง

โยคะ สมาธิ และชีวิต
คือ สิ่งเดียวกัน ดังนั้นโยคะสมาธิ
คือ สิ่งที่เราจะต้องฝึกไปทั้งชีวิต

“ลองดูว่า เวลาตื่นนอน ก่อนลุกจากที่นอน สองนาที ก่อนนอนสองนาที ก่อนกินข้าวสองนาที หลังกินข้าวเสร็จอีกสองนาที ระหว่างรอไฟแดงอีกหลายๆ นาที คอยรถเมล์อีกสองนาที รวมๆ แล้วเป็นกี่นาที” ท่านสวามีย้อนถามทุกคนในห้องเหมือนจะชี้ให้เห็นว่าเวลานั้นมีมากมาย ถ้าเราจะรีบฉวยไว้เพื่อปฏิบัติ หลักการนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรมของชีวิต ไม่ว่า บนรถไฟ ในรถเมล์ เวลาคอยเพื่อน คอยแฟน คอยฟ้า คอยฝน สามารถใช้หลักการนี้ได้ ปล่อยให้ร่างกายเราเคลื่อนไหวไป แต่รักษาจิตใจให้สงบนิ่งไว้ ท่านว่าเช่นนั้น

ลมหายใจเข้าออกเป็นสิ่งที่เราจะต้องกำหนดรู้ และทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราถึงจะเห็นผล และจะต้องทำด้วยจิตใจที่สงบสุข ผ่อนคลาย ให้มีความสุขไปกับการปฏิบัติ ท่านบอกว่าความสุขของการกินช็อกโกแลตนั้นจะอยู่กับเราอย่างมากก็แค่ 2 นาที แต่ความสุขที่ได้จากการปฏิบัติสมาธินั้นจะคงอยู่นานเท่านาน โยคะ สมาธิ และลมหายใจเข้าออก นั้นล้วนแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน ยังไม่ต้องก้าวไปถึงการยกขา ปักหัว ไขว้ขาให้พิสดารอะไรมากมาย แค่หายใจได้ หายใจเป็น และรู้ลมหายใจนี้เพียงเท่านี้ท่านก็อยู่ไม่ไกลจากวิถีแห่งโยคะแล้ว

อีกข้อแนะนำสำหรับคนที่ต้องการนั่งสมาธิอย่างถูกท่าตามหลักโยคะ นั่นก็คือการจัดวางท่านั่งของร่างกายให้ถูกต้อง เพื่อที่จะช่วยให้ระบบการหายใจและอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างสะดวกไม่ติดขัด ซึ่งนอกจากหลังตรง คอตรงแล้ว เข่าทั้งสองข้างจะต้องแนบติดพื้นคือสังเกตได้ว่าถ้าเข่าเราสูงขึ้นมาจากพื้นมาก เวลาเรานั่ง หลังก็จะงอทำให้ปวดหลัง เพราะเราใช้กระดูกสันหลังนั่งแทนที่จะใช้ก้นกบนั่ง  เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าว เราจึงใช้หมอนรองเพิ่มตรงระหว่างก้นกบอีกทีหนึ่ง เท่านี้ก็จะช่วยให้เรานั่งสมาธิได้ง่ายขึ้นสบายขึ้นแล้ว สุดท้ายสิ่งสำคัญสำหรับการกระทำทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็เพื่อ การกลับเข้าสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง นี่คือวิถีที่งดงามแห่งโยคะสมาธิ ดังที่สวามีได้กล่าวไว้ว่า

“ให้เป็นผู้รู้การกระทำในการกระทำ เป็นผู้รู้สิ่งที่ตนเองกระทำในการกระทำ
    รู้การไม่กระทำในขณะที่กระทำ  และเป็นผู้สามารถรู้ความสงบแห่งการกระทำ”

หมายเหตุ สามารถอ่านคำสอนของท่านสวามีเวทะเพิ่มเติมได้จาก www.swamiveda.org

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า