โลกร้อนขึ้น สารอาหารลดลง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ภาวะโลกร้อนสร้างความเป็นกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น เมื่อผลการวิจัยล่าสุดยืนยันว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อสารอาหารในพืชเกษตรกรรมหลายชนิด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงปัญหาการขาดแคลนสารอาหารที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นอีกมากในอนาคต และอาจทำให้มนุษย์ต้องมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ศาสตราจารย์ซามูเอล ไมเยอร์ส หัวหน้าทีมคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำการทดลองเพื่อหาคำตอบว่า หากพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวโพด และถั่วเหลือง ถูกปลูกภายใต้สภาวะที่มีก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศในปริมาณที่ถูกคาดการณ์ไว้ภายในปี 2050 จากภาวะโลกร้อน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของพืชเหล่านี้อย่างไร

โดยซามูเอลและทีมนักวิจัยทดลองปลูกพืชทั้ง 4 ชนิดในที่เปิดโล่งทั้งในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบกันระหว่างพืชที่ปลูกในสภาวะที่มี CO2 ในปริมาณที่เป็นอยู่ปัจจุบัน (CO2 ประมาณ 380-390 ส่วนในล้านส่วน) กับพืชที่ปลูกในสภาวะของ CO2 ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2050 (CO2 ประมาณ 545-585 ส่วนในล้านส่วน)

ผลการทดลองพบว่า พืชที่ปลูกภายใต้สภาวะของปี 2050 มีปริมาณสารอาหารลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะธาตุเหล็ก สังกะสี รวมถึงโปรตีน โดยในข้าวสาลีมีปริมาณธาตุเหล็กลดลงร้อยละ 5 สังกะสีลดลงร้อยละ 9 โปรตีนลดลงร้อยละ 6 ในข้าวเจ้าและข้าวโพดก็ลดลงในปริมาณใกล้เคียงกัน ส่วนในถั่วเหลืองมีปริมาณเหล็กและสังกะสีลดลงแต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเหตุใดปริมาณ CO2 จึงส่งผลต่อปริมาณสารอาหารและแร่ธาตุในพืช

ปัญหาการขาดแคลนธาตุเหล็กและสังกะสีอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของผู้คนที่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์อื่นๆ ทดแทนได้ แต่คนอีกกว่า 2,400 ล้านคน ได้รับสารอาหารจำนวนมากกว่าครึ่งของที่ร่างกายต้องการจากพืชเกษตรกรรมเหล่านี้ และในปัจจุบัน ผู้คนกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกได้รับสารอาหารเหล่านี้ในปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งภาวะขาดแคลนเหล็กและสังกะสีจะทำให้ร่างกายของทารกและหญิงมีครรภ์เสี่ยงต่ออันตรายได้ง่าย

ซามูเอลกล่าวว่า วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่อาจทำได้ด้วยการให้คนที่ขาดแคลนสารอาหารรับประทานอาหารในปริมาณมากขึ้นเป็นการทดแทน เพราะนอกจากการรับประทานแป้งมากๆ จะทำให้มีพลังงานที่ใช้ไม่หมดซึ่งจะนำไปสู่โรคอ้วนและโรคอื่นๆ อีกมากแล้ว ภายในปี 2050 ที่จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มมากขึ้นยังทำให้การรับประทานเพื่อรับสารอาหารเพิ่มขึ้นเป็นไปได้ยาก เพราะการผลิตอาหารเพื่อให้คนทั้งโลกบริโภคอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากต้องเพิ่มจำนวนผลผลิตให้มากขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน

 

ที่มา: theguardian.com

 

 logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า