ในน้ำมีปลา ในโรงงานมีเด็ก

gray1q

เรื่อง: วรณัน รอดนิตย์

illustration: Eif

ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในปลายทศวรรษ 2520 สภาพสังคมและเศรษฐกิจเกิดความเปลี่ยนแปลงโดยไม่อาจเลี่ยงได้ และมีการก่อเกิดภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวทางการผลิตและการส่งออกของประเทศจำนวนมาก สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ จึงได้ถูกยกให้เป็นแหล่งธุรกิจประมงที่สำคัญ  ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย และมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลมากที่สุดของประเทศ

กิจกรรมการผลิตภายใต้อุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง โดยเฉพาะการแปรรูปกุ้งจากประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน หลั่งไหลเข้ามาทำงานเพื่อสนองการเติบโตขยายตัวทางการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้แรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นแรงงานผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นเด็กที่ติดตามแรงงานข้ามชาติเข้ามาอาศัยในประเทศไทยนี้ด้วย สิ่งที่น่ากังวลใจอาจจะไม่ใช่ที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติ แต่เป็นความเสี่ยงที่เด็กเหล่านั้นจะกลายมาเป็นแรงงานเด็ก เข้าสู่วงจรการเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเฉกเช่นกับครอบครัวของเขา จนอาจก่อให้เกิดกิจกรรมที่เข้าข่ายแรงงานบังคับหรือแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ยิ่งไปกว่านั่นเด็กที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม มีอายุที่ไม่เหมาะไม่ควรกับการเป็นแรงงานอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวหรือกระทั่งกิจการอื่นๆ

gray2

จากข้อมูลพื้นที่ฐานเบื้องต้นแสดงให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่เด็กข้ามชาติอาจเปลี่ยนสถานภาพสู่การเป็นแรงงานเด็กข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง โดยเด็กที่ไม่อยู่ในระบบของการศึกษามีความเสี่ยงสูงในการเข้าสู่สภาวะการเป็นแรงงานก่อนวัยที่เหมาะสม(อายุ 18 ขึ้นไป) เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่มีพื้นฐานความรู้มากพอ ขาดการพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างถี่ถ้วน

สำหรับเด็กที่ไม่มีเอกสารประจำบุคคลมีความเสี่ยงสูงมากในการเป็นแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและอาจตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถต่อรองสิ่งใดๆได้เลย จนอาจถูกละเมิดโดยเพื่อนร่วมงาน นายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งที่สามารถทำให้เด็กเข้าสู่การเป็นแรงงานภายใต้ห่วงโซ่อุปทานของการผลิต เนื่องด้วยเด็กบางคนมีบิดาหรือมารดาที่ได้ทำอาชีพนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม

gray3

จากรายละเอียดของข้อมูลพบว่าสภาพการทำงานและเงื่อนไขของการทำงานของแรงงานเด็กข้ามชาติ มีลักษณะงาน สภาพแวดล้อม และเงื่อนไขต่างๆที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่ต้องกลายเป็นแรงงานในกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงหรือกิจการอื่นๆ

++++++++++++

กรณีศึกษา

1.กรณีศึกษาศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติที่ทำงานภาคประมง

เด็กชาย พอจี (นามสมมติ) อายุ 13 ปี เกิดที่เมืองทวาย ประเทศพม่า อพยพมาจังหวัดสมุทรสาครพร้อมกับบิดามารดาและพี่สาว พ่อและแม่มีอาชีพเป็นแรงงานทั้งหมด พอจีเคยเรียนหนังสือที่ประเทศพม่าจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พอที่จะพูด อ่าน เขียนภาษาพม่าได้

เด็กชายพอจีเริ่มต้นทำงานด้วยการช่วยแม่แกะกุ้งที่ล้งกุ้งใกล้บ้านย่านวัดน้อยนางหงส์ ด้วยความที่พอจีอายุยังไม่ถึง 15 ปี ทำให้การแกะกุ้งของเขาต้องคิดรวมบัญชีเดียวกับแม่ ( บัญชีในที่นี้คือสมุดบันทึกน้ำหนักหรือปริมาณของสัตว์น้ำ) พอจีทำงานแกะกุ้งเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะย้ายไปลงเรือประมงหาปลาทะเลกับพ่อของเขา

  • ล้ง หมายถึง สถานที่แปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น อยู่ในการควบคุมดูแลของกรมประมง เป็นโรงงานประเภท ที่ไม่มีเครื่องจักร

เขาเล่าถึงการทำงานในล้งกุ้งว่าเริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึง 1 ทุ่ม การทำงานที่นี่ไม่มีวันหยุด “แล้วแต่ว่าจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ บางครั้งถ้าเหนื่อยและไม่อยากทำ ก็จะขอแม่กลับไปนอน ส่วนใหญ่หลังเที่ยงก็จะกลับไปนอนบ่อยๆ” พอจีแกะกุ้งได้ประมาณ 30 กิโลกรัมต่อวัน ได้รับค่าแรงระบบเหมาคิดตามน้ำหนัก พอจีเคยถูกหักค่าแรงเพราะทำกุ้งเสียแต่เขาไม่รู้ว่าลักษณะใดที่เรียกว่าแกะเสีย “แต่เราก็ไม่รู้เลยว่ากุ้งแบบไหนที่เรียกว่ากุ้งเสีย จะรู้ก็เมื่อเขามาตรวจ”

ส่วนงานในเรือประมง เขารับหน้าที่ลากอวนในทะเลเข้ามาที่เรือ ก่อนที่ลูกเรือคนอื่นจะใช้เครื่องทุ่นแรงยกอวนขึ้นแล้วเอาปลาออกจากอวน จากนั้นพอจีจะช่วยขนปลาออกจากเรือใส่ในถังน้ำแข็ง ถึงการทำงานในเรือประมงจะมีเวลาพักผ่อน แต่เขาไม่สามารถไปเที่ยวเล่นเหมืนเด็กคนอื่นๆ เขายังบอกอีกว่าเขาเองก็อยากเรียนหนังสือโดยเฉพาะเรียนภาษาไทยมากกว่าไปทำงาน

เด็กชายพอจีเป็นตัวอย่างของเด็กข้ามชาติที่กลายมาเป็นแรงงานเด็กในกิจการประมงและต่อเนื่องประมง โดยที่บิดาและมารดาทำงานอยู่ก่อนในกิจการดังกล่าว ทำให้ให้เด็กชายพอจีก้ามเข้าสู่การเป็นแรงงานเด็กข้ามชาติได้โดยง่าย ปัจจัยเสี่ยงข้างต้นที่บิดาและมารดานำพาเด็กเข้าสู่สถานประกอบการหรือแหล่งงานด้วยตนเอง สนับสนุนให้เด็กชายพอจีเริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยทั้งงานแกะกุ้งและงานลูกเรือ ซึ่งเป็นการกีดกั้นโอกาสทางการศึกษา ซึ่งตัวของพอจีเองกำลังอยู่ในเกณฑ์เข้าเรียน และเด็กชายพอจียังคงต้องการเรียนหนังสือต่อ

การที่เข้าสู่วัยของการทำงานเร็วกว่าเกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานตามกฎหมายที่กำหนดที่อายุ 15 ปี การที่เด็กยอมรับการเป็นแรงงานเนื่องมาจาก การตัดสินใจของผู้ปกครอง จึงมีลักษณะการจ้างงานที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมสำหรับเด็ก และทำให้กีดขวางการพัฒนาการตามวัยของเด็กอีกด้วย

2.กรณีศึกษาศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติที่ทำงานเต็มเวลา

ธานีโพ (นามสมมติ) อายุ 15 ปี เชื้อชาติมอญ ครอบครัวและญาติพี่น้องของธานีโพเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยเพื่อต้องการเก็บเงินไว้รักษาป้ากับยายที่อาศัยอยู่ประเทศพม่า เขาเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 และออกจากโรงเรียนที่ประเทศพม่า เพราะพ่อแม่เป็นห่วงและกังวลที่จะต้องอยู่ห่างกัน เขาจึงต้องอพยพมาพร้อมกับครอบครัวเมื่ออายุ 14 ปี โดยเดินทางมาพร้อมกับลุง

ธานีโพเริ่มทำงานแกะกุ้งพร้อมกับแม่ในล้งแห่งหนึ่งที่ลุงทำงานอยู่ พ่อและแม่ไม่ได้บังคับให้เขาทำงาน แต่เขาตัดสนใจทำเอง เพื่อต้องการช่วยเหลือครอบรัว “ไม่ได้แนะนำและสนับสนุนให้ลูกทำงาน แต่ความสมัครใจของลูก ลูกบอกว่าเขาจะช่วยทำด้วย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ” แม่ของธานีโพกล่าว นอกจากความรับผิดชอบต่อครอบครัวแล้ว ธานีโพหวังว่าการทำงานของเขาจะช่วยให้น้องชายได้เรียนหนังสือสูงๆ เพื่อไม่ต้องทำงานแบบเขา เพราะงานบางอย่างไม่เหมาะกับเด็ก

ค่านิยมเรื่องความกตัญญูที่ปลูกฝังกันในหมู่แรงงานข้ามชาติ ด้วยการที่ธานีโพแบกรับความคาดหวังหรือความรับผิดชอบต่อสมาชิกในครอบครัว ด้วยความกตัญญูนี้เองจึงทำให้พ่อแม่มองเขามองข้ามบริบทอื่นๆ เช่น สิทธิเด็กในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

3.กรณีศึกษาศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติที่กำลังศึกษาและทำงานบางเวลา

นีมู (นามสมมติ) อายุ 15 ปี เด็กสาวคนนี้กำลังเรียนหนังสืออยู่ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สถานศึกษาแห่งหนึ่ง เธอเริ่มเรียนในเมืองไทยตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังจากย้ายมาเมืองไทยเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเธออาศัยอยู่กับแม่ พี่สาวสองคน พี่เขย และหลานรวม 6 คน ในหอพักใกล้กับล้งและโรงงานที่สมาชิกในครอบครัวทำอยู่ เด็กสาวทำงานครั้งแรกเมื่ออายุ 10 ปีจากการตามแม่มาที่ล้ง “แม่ไม่ดีใจที่ลูกทำงานได้ตั้งแต่เด็ก แม่ก็สงสาร แต่ว่าอยากรู้ว่าลูกทำงานได้แค่ไหน เลยให้ทำ เพราะลูกต้องดูแลตัวเอง” โดยความฝันของนีมูคือการช่วยแม่ทำงานเก็บเงินให้ครอบครัวสำหรับซื้อบ้านที่ประเทศพม่า และเก็บเงินไว้เรียนหนังสือในระบบการศึกษานอกโรงเรียน โดยความคาดหวังเธอจะมีโอกาสศึกษาถึงระดับปริญญาตรี

นีมูเรียนหนังสือวันจันทร์ถึงศุกร์และไปทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ งานที่เธอทำคือการแกะกุ้งในล้งแห่งหนึ่ง โดยคิดค่าแรงตามน้ำหนักกุ้งที่แกะได้และราคาตามขนาดของกุ้ง ที่นี่ไม่มีวันหยุด เธอจึงสามารถมาทำงานเฉพาะวันเสาร์ได้ ที่ล้งแห่งนี้มีเวลาเลิกงานที่ไม่แน่นอน หากวันไหนกุ้งน้อยจะเลิกงานประมาณบ่ายสาม แต่ถ้ามีกุ้งมากอาจเลิกงานช่วงหัวค่ำ โดยปกติแรงงานเข้างานตั้งแต่ 04.00 น.

นีมูเป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาครที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวเป็นจำนวนมาก มีโอกาสและสามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาของไทยแต่ไม่สามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับชั้นสูงสุดอย่างที่เด็กปรารถนา เนื่องมาจากเงื่อนไขทางครอบครัว “เพราะที่บ้านฐานะไม่ดี อยากช่วยแม่ทำงานหาเงิน” โดยสิ่งที่น่าห่วงใยจากกรณีศึกษา หากเมื่อใดที่เด็กข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการเป็นแรงงานแล้ว ทำให้มีแนวโน้มที่เด็กจะหลีกลี้หรือหลุดพ้นจากวงจรของแรงงานเด็กข้ามชาติได้ยากยิ่ง เพราะเด็กจำเป็นที่จะต้องรับบทบาทการเป็นแรงงานเต็มตัวอย่างยาวนาน

4.กรณีศึกษาศึกษาแรงงานเด็กข้ามชาติที่มีสภาพการทำงานที่เลวร้าย

แจม (นามสมมติ) อายุ 17 ปี เดินทางเข้ามาภายในประเทศไทยพร้อมพ่อและแม่เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยผ่านนายหน้า แจมเคยเรียนหนังสือที่ประเทศพม่าจบชั้นประถมศึกษาแต่ไม่ได้เรียนหนังสือต่อที่เมืองไทย เธอพูดไทยได้บ้างแต่ไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้เลย แจมทำงานครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี เป็นงานแกะกุ้งกับพ่อแม่ที่ล้งกุ้งแห่งหนึ่ง ต่อมาล้งกุ้งเลิกกิจการ เธอจึงไปสมัครงานที่โรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง เธอทำงานผลิตปลาซาบะ รับหน้าที่ถอดก้างปลา ซึ่งปลาจะถูกแบ่งครึ่งแล้วส่งมายังแผนกนี้ ปลาครึ่งตัวมีก้างปลาที่ต้องถอดออกจำนวน 15 ก้าง ในวันหนึ่งหัวหน้างานได้กำหนดไว้ว่าจะต้องถอดก้างปลาให้ได้ 8 กระบะ (1 กระบะ = 24 ซีกหรือ 12 ตัว)

สภาพการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาเช่นนี้ ทำให้แจมยอมรับว่าเป็นงานที่หนักและเธอไม่เคยทำจำนวนตามที่กำหนดไว้ได้ เมื่อถอดก้างปลาไปถึงตัวที่ 8 เธอก็ทำต่อไม่ไหว แต่หากไม่สามรารถทำครบจำนวน 8 กระบะตามที่สถานประกอบการตั้งเป้าหมายไว้ แรงงานจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน

นอกจากนี้เธอยังต้องทำงานกะดึกช่วงเวลาห้าโมงเย็นจนถึงตีหนึ่ง แจมและเพื่อนที่ทำอยู่ด้วยกันจึงหนีงานกลับบ้านมาก่อนบ่อยครั้งและในที่สุดเธอก็ลาออกจากงาน ปัจจุบันแจมออกมาทำงานที่โรงงานแปรรูปอาหารทะเลอีกแห่งหนึ่งและอาศัยอยู่กับน้าในจังหวัดสมุทรสาคร

แจมเป็นตัวอย่างการละเมิดข้อปฏิบัติสากลหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างเด็กที่อายุไม่ถึง 15 ปี ของสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำขั้นปฐมภูมิหรือล้ง การให้แรงงานเด็กทำงานในเวลากลางคืนของโรงงานแปรรูอาหารทะเล รวมไปถึงมาตรฐานของการผลิต แปรรูปสัตว์น้ำที่ถูกกำหนดขึ้นโดยสถานประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง อาทิ ยอดการผลิตในแต่ละวัน(คิดเป็นน้ำหนัก/ปริมาณ) ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพสูง เช่น เนื้อปลาที่ไร้ก้าง เป็นต้น โดยการทำงานของแจมอยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่แตกต่างไปจากแรงงานผู้ใหญ่ และอยู่ในสภาพที่ถือเป็นการบังคับใช้แรงงาน

  • พรบ.คุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ว่าด้วยการมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในงานบางประเภท
  • อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำในการทำงาน ระบุมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในสภาพการทำงานที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือศีลธรรมอันดี

++++++++++

จากรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพการทำงานและเงื่อนไขการทำงานของแรงงานเด็กข้ามชาติสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะงาน สภาพแวดล้อม หรือเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กที่เป็นแรงงานทั้งในกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง รวมถึงการทำงานในกิจการอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หากพิจารณาสภาพการทำงานของแรงงานเด็กข้ามชาติแล้วพบว่ามีเด็กหลายคนเข้าสู่ช่วงวัยของการเป็นแรงงานโดยมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งถือเป็นอายุตัวเลขที่น้อยมากสำหรับการเข้าเป็นแรงงาน และถึงแม้เด็กบางคนจะมีอายุที่สามารถเข้าทำงานตามสถานประกอบการได้แล้วนั้น สิ่งที่แรงงานเยาวชนข้ามชาติควรจะได้รับ คือความคุ้มครองตามที่กฎหมายได้ระบุเอาไว้ เพื่อความอยู่รอดและรอดพ้นจากความเสี่ยงอันตรายจากการทำงาน

นอกจากนี้หลายฝ่าย ทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการเข้าสู่วงจรการเป็นแรงงานเด็กก่อนวัยอันควร และตระหนักถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติ รวมถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประสานความร่วมมือเพื่อสร้างกลไกป้องกันไม่ให้เด็กเข้าสู่การเป็นแรงงานเด็กข้ามขาติหรือตกอยู่ในสถานการณ์วังวนที่เลวร้าย

อ้างอิงจากรายงานวิจัย: มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) สนับสนุนโดย องค์กรแตร์ เดอ ซอมม์ เยอรมันนี (terre des hommes Germany). (พฤษภาคม 2558), รายงานสถานการณ์เด็กข้ามชาติและแรงงานเด็กข้ามชาติ ในกิจการอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมง พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า