“ใหม่สูงค่า เชียงตุง”

บึงน้ำใหญ่ เมืองเชียงตุง

เรื่อง+ภาพ : เสี้ยวจันทร์ แรมไพร

ผมเคยนั่งนึกย้อนกลับไปแต่ละปี ช่วงปีใหม่ปีที่แล้วผมอยู่ที่ไหน อย่างมากก็ย้อนไปได้แค่ปีเดียว อายุมากขึ้นความทรงจำคงหายไปส่วนหนึ่ง ทุกอย่างเลือนรางไปตามวันเวลา…

เวลาในความหมายของคนเดินทาง มันจะช้าหรือเร็ว ไม่สามารถกำหนดได้ ไม่ว่าจะเดินทางโดยพาหนะแบบไหน รถไฟ เครื่องบิน แท็กซี่ จักรยาน มอเตอร์ไซค์ สุดท้ายเมื่อสังเกตดู ใจนั่นแหละคือพาหนะที่ไปเร็วที่สุด

ผมยังหลงใหลในเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ ตามขอบชายแดน หากมีโอกาสดี ผมไม่รีรอเลยที่จะไปพบเห็น เมื่อข้ามฝั่งจากแม่สายเข้าสู่ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เวลาก็เดินถอยหลัง

เด็กๆ ทำหน้าทะเล้นเข้ากล้อง

“คำว่า สวัสดี ออกเสียงว่ายังไง” ผมเอ่ยถามเพื่อนร่วมเดินทาง ซึ่งพูดภาษาไทใหญ่ได้อย่างคล่องแคล่ว

“ใหม่สูงค่า” เธอตอบชัดถ้อยชัดคำ

“ไม่สูงนั่นเหรอ” ผมทวนอีกครั้ง อดอมยิ้มไม่ได้ เมื่อนึกถึงคำว่าเตี้ย

“ใหม่สูงค่า” เธอบอกพยัญชนะทีละคำว่าสะกดยังไง แล้วให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่เชียงตุงนี่สามารถพูดคุยภาษาไทยได้เลย สื่อสารกันรู้เรื่อง

โชเฟอร์เล่าให้ฟังว่า ถนนหนทางเดี๋ยวนี้สะดวกสบาย ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องใช้เวลาในการเดินทางหลายชั่วโมง แต่ปัจจุบันประมาณ 4 ชั่วโมงก็ถึงเชียงตุงแล้ว

แท็กซี่มาส่งเราที่แฮรี เกสต์เฮาส์ เจ้าของเดินออกมาทักทาย ยิ้มแย้ม เหมือนยังกับเราเดินทางกลับมาบ้านตัวเอง เธอพูดภาษาไทยชัดเจน แล้วบอกเด็กให้พาเดินไปยังห้องพัก…

. . .

สถาปัตยกรรมแบบเชียงตุง

เหมือนกับทุกครั้งที่เดินทาง ผมกับคนรักมีข้อตกลงกันว่า ผมชอบเดินตลาด ชอบนั่งเรื่อยๆเอื่อยๆ แหมะๆ อยู่กับที่ ชอบดื่มเบียร์ ชอบเตะตะกร้อ ถ้าชอบอย่างไหนที่ไม่ตรงกัน ก็แยกย้ายกันเดินเป็นส่วนตัว ซึ่งพอเอาเข้าจริง โดยส่วนมากเราก็อยู่ข้างกันตลอดนั่นแหละ

แฮรี่ เกสต์เฮาส์จึงเป็นที่พักของเรา เพราะข้างหน้าคือตลาดเช้านั่นเอง ตรงปากทางเข้ามีร้านกาแฟ มีของกินเล่นซึ่งต้องสั่งต่างหาก เรียกว่า พาราทา กินกับถั่วบด อร่อยมาก

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือคุณป้าที่มาตลาดจับจ่ายซื้อผักปลาอาหาร ทุกคนใช้ตะกร้ากันหมด น้อยมากที่จะเห็นใครใช้ถุงพลาสติก

บรรยากาศเนิบๆ แถวตลาดเช้า

วันแรกเราเช่าจักรยานขี่เข้าไปในเมือง…

“บึงใหญ่ตรงนี้ทำให้นึกถึงแม่ฮ่องสอนนะ วัดวาอารามดูยิ่งใหญ่อลังการ รู้เลยว่าที่นี่เคยรุ่งเรือง แล้วพวกตึกรามบ้านช่องก็มีระเบียงยาว บ้านก็ทาสีสวย สถาปัตยกรรมเชียงตุงนี่โดดเด่นจริงๆ ทำให้นึกถึงหลวงพระบางนะ” ผมเปรยให้กับคนรักฟัง

เราขี่รถเที่ยวรอบเมืองจนเพลิน เริ่มหิว จึงขี่หาร้านอาหาร นับว่าเป็นโชคดี ที่เจอะเจอร้านริมทาง พวกปิ้งๆ ย่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพวกกุ้ง เนื้อ ไก่ ผัก มัน ฯลฯ เขาจะเสียบกับไม้ย่างลงบนเตา มันทำให้ผมนึกไปถึงร้านสไตล์แบบนี้ที่สิบสองปันนา

ความคล้ายคลึงกันของสถานที่ เข้ามาสู่ความคิดของผมได้ยังไงก็ไม่รู้ มันเหมือนการปะติดปะต่อของความทรงจำเล็กๆ ซึ่งมันเกิดขึ้นนานแล้ว

(ตาก)ตกแต่งฝาบ้านด้วยสีสัน

วัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่การกิน สถานที่ คงเชื่อมโยงถึงกันหมด คนเราสมัยก่อนคงค้นหาดินแดน หาที่หาทางเป็นของตัวเอง การอพยพ เร่ร่อน น่าจะเป็นสัญชาตญาณของคนดึกดำบรรพ์ ถึงที่สุดแล้ว คนทุกคนบนโลกใบนี้ก็คงต้องการความสุขและสันติสุข

นั่งนานจนลืมเวลา เราขี่จักรยานกลับเกสต์เฮาส์ ขี่ไปขี่มาก็ยังหาทางกลับไม่เจอ เชียงตุงมีเวลาดับไฟเร็ว ถนนหนทางตกอยู่ในความมืด

“เราจำคุณได้ หลงทางใช่ไหม พักอยู่ที่ไหน ขี่ไปทางนั้นนะ” คุณลุงกระโจนออกจากร้านน้ำชา ดิ่งตรงมาหาเราที่ยังงงอยู่กับทิศทาง ลุงพูดกับเราด้วยภาษาอังกฤษชัดแจ๋ว

วันถัดมา เราเลือกเช่ามอเตอร์ไซค์ เพื่อที่จะได้ขี่ไปนอกเมือง การขี่ไปเรื่อยไม่มีเป้าหมายก็สนุกไปอีกแบบ อากาศโล่งๆ นอกเมือง ทุ่งนา หายใจเข้าไปเต็มที่

แล้วเราก็หลงเข้าไปในหมู่บ้าน…

ผู้เฒ่าล้อมวงใต้ร่มไม้ใหญ่

ใต้ต้นไม้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งล้อมวงดูเรา พอรู้ว่าเราเป็นคนไทย เขาก็เล่าให้ฟังว่า วัดที่นี่คนไทยก็มาสร้าง มองไปมองมาเหมือนคนผุดขึ้นมาจากรากไม้

ตรงใกล้ๆ กับต้นไม้มีร้านที่ไม่เหมือนกับร้าน คล้ายๆ ร้านที่ทำกินกันเอง ขายกันเอง เป็นพวกขนมเบื้อง ผมปรึกษากับคนรักว่า วันนี้ขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงชาวบ้านก็แล้วกัน เหมือนมาทำบุญ

เราบอกลาคนเฒ่าคนแก่ ขี่มอเตอร์ไซค์กลับที่พัก วันนี้ใกล้วันปีใหม่ มีการจัดงานที่โบสถ์ มีการแข่งขันฟุตบอล มีการแข่งขันวิ่ง มีการเชิดสิงโต และที่หาดูยากแล้วนั่นก็คือ การปีนเสาน้ำมัน

“การที่เราได้เห็นอะไรที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนนี่ มันตื่นเต้นดีนะ” ผมพูดกับเธอ แล้วก็ออกไปเอาเด็กขึ้นขี่คอ เต้นรำกับชาวบ้าน

. . .

ตู้ไปรษณีย์สีแดง

 

 

เสียงพลุบนท้องฟ้า เสียงเพลงปีใหม่ล่องลอยมาจากโบสถ์ เสียงสรวลเสเฮฮามาจากโต๊ะกินเลี้ยงของเกสต์เฮาส์ บรรยากาศงานรื่นเริงมีแต่ความสนุกสนาน

ขณะหนึ่งในช่องว่างของเวลานั้น มีความคิดหนึ่งแวบขึ้นมาเงียบๆ เหงาๆ

ผมสงสัยตัวเอง เหตุใดหลายปีที่ผ่านมาจึงชอบใช้เวลาช่วงปีใหม่อยู่ในเมืองอื่น

เสียงรื่นเริงในใจตอบว่า หากมีความสุข เราอยู่ที่ไหนก็มีความสุข

แต่เสียงหม่นเศร้าอีกด้านหนึ่งถามผมขึ้นมาว่า แล้วบ้านของเราจะเหงาแค่ไหน…

ในเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า