11 ไอเดียถุงยางสุดล้ำ

condoms-2

 

จากสถิติการใช้ถุงยางอนามัยทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 5 และจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ทั่วโลกจากการสำรวจโดยโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (Joint United Nations Programs on HIV/AIDS: UNAIDS) รายงานว่าอยู่ที่ 34 ล้านราย ถุงยางอนามัยจึงกลายเป็นอาวุธต่อสู้กับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ต้องกลับมารณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิบิลแอนด์เมลินดาเกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) เป็นตัวตั้งตัวตีเปิดโครงการ ‘Develop the Next Generation of Condom’ โดยมีนักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์และนักพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 800 ทีมจากทั่วโลกเข้าร่วม

จาก 800 ผลงาน ถูกคัดจนเหลือ 11 โครงการในรอบสุดท้ายที่จะได้รับงบไปพัฒนาต่อทีมละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

1. ถุงยางคอลลาเจน

มาร์ค แม็คโกลธลิน หัวหน้าทีมจากบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์เอเพ็กซ์ (Apex Medical Technologies) ในซานดีเอโก สหรัฐ ให้ข้อมูลว่าทีมได้ผสมผสานวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างเอ็นวัว ที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง และมีความทนทาน ทำให้ผิวสัมผัสของถุงยางชนิดนี้พิเศษตรงที่สามารถถ่ายเทความร้อนระหว่างกันและให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น

 

2. ฟรีไซส์

เป็นถุงยางที่สามารถปรับขนาดให้เหมาะกับผู้สวมใส่ได้โดยอัตโนมัติ ด้วยวัสดุ composite anisotropic ถูกออกแบบมาให้กระชับขึ้นระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ พัฒนาโดย เบนจามิน สตรัทท์ บริษัทเคมบริดจ์ดีไซน์พาร์ทเนอร์ชิป จากอังกฤษ

 

3. โปร่งใส

แม้ลักษณะภายนอกจะดูใสเหมือนกับพลาสติกแรบ (plastic wrap) ที่ใช้ห่อหุ้มอาหารตามบ้านทั่วๆ ไป แต่ถุงยางชนิดนี้ผลิตจากพลาสติกชนิดโพลีเอธิลีน ซึ่งเป็นคนละชนิดกับที่ใช้ใน wrap  จึงสามารถรีดจนบางเฉียบแต่ยังรักษาความทนทานเอาไว้ได้ รอน เฟรเซียร์ส คณะกรรมการสุขภาวะครอบครัวในแคลิฟอร์เนีย อธิบายเพิ่มเติมว่า ถุงยางดังกล่าวจะมีแถบสองด้านสำหรับดึงเพื่อความสะดวกเวลาสวมใส่

 

4. ทันใจ

โปรเจ็คท์ Rapidom ไม่ใช่ไอเดียของถุงยางโดยตรง แต่เป็นการจัดส่งถุงยางให้ถึงมือผู้ใช้อย่างทันท่วงที ออกแบบระบบโดย วิลเลม ฟาน เรนส์เบิร์ก จากบริษัท Kimbranox (Pty) Limited จากเมืองสเตลเลนบอส์ช แอฟริกาใต้

 

5. บันดาลใจจากชีวภาพ

แพทริก ไกเซอร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐ นำเสนอแนวคิดในการออกแบบถุงยางรุ่นนี้ว่า มาจากความต้องการเลียนแบบเนื้อเยื่อและเมือกซึ่งเป็นสารหล่อลื่นที่ผลิตจากร่างกายตามธรรมชาติ โดยวัตถุดิบหลักที่ใช้คือสารประกอบพอลิเมอร์พลาสติกที่มีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษ

 

6. ส่งผ่านความร้อนด้วยแกรฟีน

ถุงยางรุ่นบางเฉียบ แข็งแรง แต่ยืดหยุ่นได้ดี โดยการค้นคว้าของ ลักษมีนารายัน รากูปาธี นักวิจัยอาวุโสจากบริษัท HLL Lifecare ในอินเดีย โดยส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติดังกล่าว คือ แกรฟีน (Graphene) เป็นผลึกคาร์บอนรูปแบบหนึ่ง ขึ้นชื่อเรื่องความทนทาน น้ำหนักเบา และเป็นวัสดุที่นิยมใช้ในแผงโซลาร์เซลล์

 

7. ถุงยางนาโนฯ 1

ถุงยางชนิดบางเป็นพิเศษที่เพิ่มกรรมวิธีเคลือบอนุภาคนาโนเพิ่มการดูดซึมน้ำ ร่วมพัฒนาโดย แคเร็น บุช และดักซู คิม จากมหาวิทยาลัยบอสตัน แม้จะดูบางจนไม่น่าไว้ใจ แต่ทีมวิจัยรับประกันในแง่ความทนทานระหว่างการใช้งาน และความสามารถในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

 

8. ถุงยางนาโนฯ 2

ด้วยวัสดุนาโนเทคโนโลยีอย่าง แกรฟีน ซึ่งแข็งแรงกว่าโลหะ 100 เท่า อาราวินด์ ไวจารยะกาวาน และทีมจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ อังกฤษ อยู่ระหว่างพัฒนาคุณภาพถุงยางและกระบวนการผลิตให้เป็นไปได้ในระดับอุตสาหกรรม

 

9. บางเฉียบ

ริชาร์ด ชาร์ตอฟฟ์ จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐ พัฒนาถุงยางด้วยการใช้โพลียูรีเทน เสริมความแข็งแรง ริชาร์ดอ้างว่าถุงยางตัวใหม่ที่พัฒนามีความบางกว่าถุงยางลาเท็กซ์ปกติที่ใช้กันในปัจจุบันครึ่งหนึ่ง

 

10. มาพร้อมตัวช่วย

เป็นอีกบริการจัดส่งถุงยางและตัวช่วยเวลาสวมใส่ โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใส่ด้วยมือเปล่า หรือเสี่ยงระหว่างการฉีกอีกต่อไป ถุงยางและตัวช่วยจะมาพร้อมกันในแพ็คเกจเดียว โปรเจ็คท์ Condom Applicator Pack (CAP) ได้รับการพัฒนาโดย ไมเคิล รัทเนอร์ และรัสเซลล์ เบอร์ลี จากบริษัท  House of Petite Pty ในเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย

 

11. ใส่แล้วเหมือนไม่ใส่

Superelastomer ถือเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการคิดค้นและอาจนำมาใช้แทนซิลิโคนในระยะเวลาอันใกล้ จิมมี่ เมย์ส นักเคมีจากมหาวิทยาลัยเทนเนสซี สหรัฐ ให้ข้อมูลว่ามีความพยายามในการออกแบบให้ใกล้เคียงผิวหนังมนุษย์ที่สุด จนผู้ใช้ไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังสวมถุงยางอยู่

 

ที่มา: alternet.org

สนับสนุนโดย

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า