10 เมืองปนเปื้อนสารพิษที่สุดในโลก

kids1  toxic city

เรื่อง : บุญชัย แซ่เงี้ยว

 

จากแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกานา สู่เขตเหมืองทองในอินโดนีเซีย ถึงย่านโรงฟอกหนังในบังกลาเทศ  “10 เมืองปนเปื้อนสารพิษ” ที่ว่านี้ เลือกมาจากแหล่งมลพิษกว่า 3,000 แห่งทั่วโลก ผู้จัดทำรายงานคือสถาบันแบล็คสมิธ องค์กรไม่แสวงกำไรด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้ตัวชี้วัดจากระดับความเป็นพิษของสารพิษ เส้นทางที่สารพิษแพร่กระจาย และจำนวนประชากรที่อาจได้รับอันตราย

 

มองมลพิษทั่วโลก

มลภาวะสารพิษ (toxic pollution) สร้างภัยสาหัสให้แก่มนุษย์ ก่อให้เกิดมะเร็ง สูญเสียการรับรู้ ร่างกายทรุดพัง และปัญหาด้านการหายใจ ประมาณการกันว่ามลภาวะสารพิษเข้าคุกคามประชาชนมากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก

“ในฐานข้อมูลของเรา (จากแหล่งมลพิษ 3,000 แห่ง) การถลุงแบตเตอรีนอกระบบคือตัวการสร้างปัญหามากสุด” เบรต อีริกสัน ผู้อำนวยการโครงการอาวุโสแห่งสถาบันแบล็คสมิธกล่าว รองลงมาอันดับสองคือการทำเหมืองทองที่เน้นการใช้แรงงาน (artisanal gold mining)

ที่เมืองดเซียร์จินสค์ ประเทศรัสเซีย อุตสาหกรรมเคมีและการจำกัดของเสียด้วยวิธีไม่เหมาะสมในเมืองส่งผลร้ายแรงยิ่ง อายุขัยของคนที่นั่นถ้าเป็นหญิงจะอยู่ที่ 47 ปี ชายอยู่ที่ 42 ปี ส่วนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ประเทศไนจีเรีย น้ำมันที่ปนเปื้อนตั้งแต่ปี 1976 ยังผลให้เกิดโรคมะเร็งและโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับการหายใจสูงขึ้น เด็กๆ แถบนั้นเจ็บป่วยกันเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนใหญ่แหล่งสารพิษปนเปื้อนจะอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำหรืออยู่ในขั้นปานกลาง พบเจอได้ในโซนที่อุดมด้วยเขตอุตสาหกรรมและงานเหมือง ข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมหละหลวม และขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม “โดยทั่วไป ประเทศที่มีรายได้จะจัดการกับปัญหาพวกนี้” อีริกสันเสริมอีกว่า  “(ในสหรัฐ) เราทึกทักกันเองว่ามีการจัดการปัญหาเพราะเรามีสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA)”

“อย่างไรก็ตาม เราตามรอยมลภาวะสารพิษในประเทศร่ำรวยได้จากอุปสงค์ของผู้บริโภค (ในสหรัฐ) ตัวคุณตั้งแต่หัวจรดเท้าเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารเคมีซึ่งดูเหมือนว่าจะมาจากต่างประเทศ” ดร.แจ็ค คาราวานอส ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกวิจัยจากสถาบันแบล็คสมิธตั้งข้อสังเกต “และสารพิษปนเปื้อนก็อยู่ในประเทศเหล่านั้นนั่นแหละ”

 

Delhi

 

การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในแหล่งมลพิษนั้นเกิดขึ้นได้ยาก นั่นเพราะไม่มีแหล่งทุนมาสนับสนุน “เงิน (สำหรับฟื้นฟู) ไม่ได้มาจากในประเทศ” ดร.คาราวานอสอธิบาย “ด้วยความสัตย์จริง  พวกเขาไม่มีเงินทุนมากพอ” แต่แหล่งทุนนั้นมาจากหน่วยงานอย่างธนาคารโลก องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียต่างหาก

“อุปสรรคใหญ่ในข้ออื่นๆ ก็คือ (ไม่มี) ที่ฝังสารพิษ” และในบางกรณี การฟื้นฟูจำต้องใช้เวลา “พื้นที่ปนเปื้อน (รอบๆ เชอร์โนบิล) จะใช้อยู่อาศัยหรือทำมาค้าขายไม่ได้เลยอีกนานกว่า 200-300 ปี”

ถึงอย่างนั้นยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง หลายเหมืองที่เคยติดอันดับเมืองปนเปื้อนสารพิษ ปี 2007 หลุดออกจากโผในปีนี้ อย่างน้อยแหล่งรีไซเคิลแบตเตอรีตะกั่วในสาธารณรัฐโดมินิกัน ก็ได้รับการฟื้นฟูสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งสุขภาพของเด็กแถวนั้นก็ดีขึ้นด้วย

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลบางประเทศประกาศตนตั้งใจมั่นจะแก้ปัญหามลภาวะสารพิษ ดังเช่นอินเดียที่เริ่มงานฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และตั้งกองทุนพลังงานสะอาดแห่งชาติเพื่อช่วยบูรณะพื้นที่ปนเปื้อน หรือในอินโดนีเซีย ได้กู้เงิน 500 ล้านดอลลาร์จากธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย เพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำซิตารัม

 

10 อันดับเมืองเป็นพิษ

1. ที่ทิ้งขยะในย่านอักบูบลูชี (Agbogbloshie) กานา

กิจกรรมที่สร้างของเสียอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายในย่านนี้คุกคามผู้คนกว่า 250,000 คน

 

dhaga2

 

2. เชอร์โนบิล ยูเครน

เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในปี 1986 ยังผลให้ประชาชนกว่า 4,000 คน เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ถึงวันนี้ก็ยังตรวจจับกัมมันตรังสีปนเปื้อนรอบๆ โรงไฟฟ้าได้

3 ลุ่มน้ำซิตารัม อินโดนีเซีย

เหตุปนเปื้อนในลุ่มน้ำเกิดจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน จนระดับปนเปื้อนต่ำกว่ามาตรฐานน้ำดื่มตามเกณฑ์ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา ถึง 1,000 เท่า

4. ดเซียร์จินสค์ รัสเซีย

โรงงานเคมีเป็นสาเหตุให้เกิดการปนเปื้อนในอากาศและน้ำ ลดอายุขัยของประชาชนในเมืองกว่า 245,000 คนให้เหลือต่ำกว่า 50 ปี

5. ฮาซาริบัก บังกลาเทศ

ฮาซาริบักเป็นย่านที่อยู่อาศัยของประชาชนราว 185,000 คน มีโรงฟอกหนังมากกว่า 200 โรง งานฟอกหนังสร้างมลพิษทางอากาศและทางน้ำ แหล่งทิ้งขยะสารพิษทำให้คนเป็นมะเร็ง โรงผิวหนัง และโรคที่เกี่ยวกับการหายใจ

 

Hazaribagh -  Most Polluted Places
ฮาซาริบัก บังคลา่เทศ

 

6. คับเบ แซมเบีย

เหมืองตะกั่วและกระบวนการถลุงแร่ได้ปล่อยสารโลหะหนักขึ้นไปในอากาศ ก่อนที่จะสะสมรวมตัวกันอยู่บนผิวดิน เด็กๆ ที่เล่นกันอยู่บนดิน รวมทั้งผู้ใหญ่ที่ทำงานในเหมือง เสี่ยงอย่างมากที่ตะกั่วในเลือดจะสูงจนถึงขั้นเสียชีวิต

7. กาลิมันตัน อินโดนีเซีย

เหมืองทองขนาดเล็กสร้างรายได้ให้กับผู้คน 43,000 คนในแถบนั้น และเพราะการถลุงแร่เกิดขึ้นในครัวเรือน สารปรอทที่ใช้ในการสกัดทองจึงสร้างภัยให้กับทั้งคนเหมืองและครอบครัวของพวกเขา

8. มาตันซา-รีอาชวยโล อาร์เจนตินา

ในย่านนี้มีโรงงานอยู่กว่า 15,000 โรง รวมทั้งโรงงานเคมีด้วย โรงงานปล่อยของเสียออกสู่ลุ่มน้ำมาตันซา-รีอาชวยโล แม่น้ำนี้ไหลผ่านพื้นที่ที่ประชากรอยู่กันหนาแน่น รวมถึงเมืองหลวงบัวโนสไอเรส ประชาชนกว่า 20,000 คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำรู้สึกว่าถิ่นแถวนี้ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยเอาเสียเลย

 

hazaribagh2

 

9. สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ไนจีเรีย
ครอบคลุมพื้นที่กว่า 70,000 ตารางกิโลเมตร น้ำมันที่ปนเปื้อนอยู่ในแม่น้ำปะปนอยู่ในดิน อากาศ และน้ำบาดาล จนส่งผลกับความปลอดภัยด้านอาหารในท้องที่เพราะปนเปื้อนอยู่ในกิจกรรมการเกษตร

10. โนริลสค์ รัสเซีย
เหมืองโลหะหนักและงานถลุงแร่สร้างมลพิษในอากาศ ในแต่ละปีปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมา 2 ล้านตัน ส่งผลกับประชาชน 130,000 คน

 

****************************

(ที่มา: alternet.org)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า