มาตรา 116 ในประวัติศาสตร์ของการยุยงปลุกปั่น

นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน ข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คือหนึ่งในข้อหายอดนิยมที่ถูกนำมาใช้กับผู้ชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหารหรือรัฐบาล เนื่องด้วยเป็นกฎหมายที่ตีความได้กว้าง มีโทษสูง อีกทั้งการใช้ข้อหาดังกล่าวยังส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการเร่งรัดออกหมายจับ รวมถึงการสร้างเงื่อนไขเพื่อยุติการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล

มาตรา 116 มรดกจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จากงานศึกษาของ นพพล อาชามาส ที่ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การบังคับใช้ข้อหายุยงปลุกปั่นในประเทศไทย พบว่า ข้อหายุยงปลุกปั่นเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งข้อหาดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเมื่อเจ้าผู้ปกครองเห็นว่าการแสดงออกนั้นเป็นภัยต่อตนเอง

หากย้อนกลับไปในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ข้อหายุยงปลุกปั่นมีไว้เพื่อเอาผิดกับผู้ที่ยุยงส่งเสริมให้ประชาชนขาดความ ‘จงรักภักดีหรือดูหมิ่น’ ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือรัฐบาล หรือการยุยงส่งเสริมให้ประชาชน ‘กระด้างกระเดื่อง’ ถึงขั้นก่อให้เกิดเหตุร้ายขึ้นในแผ่นดิน หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ข้อหาดังกล่าวถูกนำมาใช้จัดการกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเจ้าผู้ปกครองอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น ฎีกาที่ 445/2462 ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการแจกใบปลิวเรื่อง ‘สงบอยู่ไม่ได้’ โดยเนื้อหาใบปลิวบางส่วนระบุว่า “ท่านที่กินเงินเดือนเงินปีทราบความเดือดร้อนของไพร่บ้านพลเมืองหรือไม่ ไม่เห็นเอาใจใส่ดูแลแก้ไขหรือหมดความสามารถจึงปล่อยให้หนังสือพิมพ์จิกขม่อมสับเล่นไม่ได้ลืมตาบ้างเลยจะลาออกก็ยิ่งดีเรื่องพุทธศาสนาก็ยิ่งพากันโง่งมงายและหลงประพฤติตามๆกันว่าตนนับถือ” ซึ่งศาลเห็นว่าข้อความอาจทําให้ผู้ได้ยินขาดความนับถือดูหมิ่นต่อรัฐบาลหรือราชการแผ่นดินตามกฎหมายจึงเห็นว่า จําเลยมีความผิด

ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ที่ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตย ข้อหายุยงปลุกปั่นถูกแก้ไขให้สอดรับกับความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มบทบัญญัติคุ้มครองการแสดงออกเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือคุ้มครองการติชมตามปกติวิสัย หรือการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ถึงกระนั้น บทบัญญัติก็ยังเปิดช่องให้ใช้กับความผิดฐานดูหมิ่นรัฐบาลได้อยู่

จนมาในปี 2499 ที่มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่ ได้มีการแก้ไขข้อหายุยงปลุกปั่นเดิม โดยแยกความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ออกไปอยู่ในมาตราอื่น และได้มีการยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นรัฐบาลหรือราชการแผ่นดิน แต่ทว่า ในกฎหมายก็ยังมีถ้อยคำที่สามารถนำมาใช้จัดการกับการแสดงออกของประชาชนได้ เช่น การกำหนดความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องจนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้นในแผ่นดิน” เป็นต้น

กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127
(ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง)
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณอาญา พ.ศ. 2478
(หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง)
ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499
ผู้ใดกระทําให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยประการใดใดโดยเจตนาต่อผลอย่างหนึ่งอย่างใดที่ว่าต่อไปในมาตรานี้คือ

 

  1. เพื่อให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่นต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดีต่อรัฐบาลก็ดีต่อราชการแผ่นดินก็ดี
  2. เพื่อให้คนทั้งหลายเกิดความเดือดร้อนแลกระด้างกระเดื่องถึงสามารถอาจจะเกิดเหตุร้ายขึ้นในแผ่นดินของท่านได้ก็ดี
  3. เพื่อให้คนทั้งหลายกระทําการล่วงละเมิดต่อพระราชกําหนดกฎหมายก็ดี

ท่านให้เอามันผู้กระทําการอย่างใดใดโดยเจตนาเช่นว่ามานี้ลงอาญาจําคุกไม่เกินกว่าสามปีแลให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง

ผู้ใดกระทําการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรหรือเอกสารตีพิมพ์หรือด้วยอุบายอย่างใดๆดังต่อไปนี้

 

  1. ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์หรือรัฐบาลหรือราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี
  2. ที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลหรือในกฎหมายแผ่นดินโดยใช้กําลังบังคับหรือกระทําร้ายก็ดี
  3. ที่จะให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้นในแผ่นดินก็ดี
  4. ยุยงประชาชนให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินก็ดี

ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินกว่า 7 ปีและให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง

แต่ถ้าวาจาหรือลายลักษณ์อักษรหรือเอกสารตีพิมพ์หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทําไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือเพื่อสาธารณประโยชน์หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัยในบรรดาการกระทําของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดินการกระทํานั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด

ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

 

  1. เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
  2. เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
  3. เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

 

มาตรา 116 กับการตั้งข้อหาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

หลังการแก้ไขบทบัญญัติในปี 2499 เป็นต้นมา

ก่อนการรัฐประหาร มาตรา 116 ถูกใช้ไม่บ่อยและใช้ไม่ค่อยได้ผล ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ติดตามบันทึกข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาตั้งแต่ปี 2553 หากนับถึงช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบการดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 4 คดี

หากพิจารณาจากบทบัญญัติของ ‘มาตรา 116’ หรือข้อหายุยงปลุกปั่น จะพบว่า บทบัญญัติของกฎหมายก็ยังเต็มไปด้วยความ ‘คลุมเครือ’ เนื่องจากถ้อยคำตามกฎหมายต้องอาศัยการตีความ ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 116 (2) ที่กำหนดให้การกระทำในลักษณะที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

จากบทบัญญัติข้างต้น จะพบว่า คำว่า ‘ความปั่นป่วน’ ‘กระด้างกระเดื่อง’ หรือ ‘ก่อความไม่สงบ’ ล้วนเป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นอัตวิสัยหรือขึ้นกับผู้ตีความ หรืออีกนัยหนึ่งคือ บทบัญญัติดังกล่าวได้ยกอำนาจให้กับรัฐเป็นผู้ตีความการกระทำของประชาชนว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้น ข้อหาตามมาตรา 116 จึงเปิดช่องให้รัฐใช้ตั้งข้อหาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองได้

จากสถิติการบังคับใช้กฎหมาย ‘มาตรา 116’ ตั้งแต่หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 20 สิงหาคม 2563 จะพบว่า มีการนำข้อหายุยงปลุกปั่นมาใช้จัดการกับกลุ่มที่แสดงออกในเชิงต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างน้อย 89 ราย ยกตัวอย่างเช่น คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง คดีกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร หรือ คดีล่าสุดอย่าง คดีกลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคามประชาชน เปิดทางให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ และขอให้รัฐบาลประกาศยุบสภา

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากการตั้งข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ กับการจัดการชุมนุม จะพบว่า หลายคดีไม่มีความคืบหน้า ส่วนคดีที่ศาลมีคำพิพากษา แทบทุกคดี ศาลจะ ‘ยกฟ้อง’ และศาลยังรับรองว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เช่น คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ราชดำเนิน ดังนั้น เหตุผลของการดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมชุมนุมจึงไม่ใช่การกระทำไปเพื่อยุติการกระทำผิดเป็นสำคัญ ในทางกลับกันการดำเนินคดียังทำให้รัฐได้ประโยชน์ทางการเมืองอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

(1) ใช้ข้อหาหนักเพื่อเร่งรัดออกหมายจับ-หยุดความเคลื่อนไหว

เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 (1) กำหนดให้ตำรวจสามารถออกหมายจับได้ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวถูกตั้งข้อหาในอัตราโทษจำคุกสูงเกินสามปี ดังนั้น การที่ตำรวจตั้งข้อหาต่อผู้จัดและผู้ร่วมชุมนุมด้วยข้อหาที่มีโทษสูง เช่น ความผิดฐาน ‘ยุยงปลุกปั่นฯ’ ซึ่งโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จึงเปิดช่องให้ตำรวจออกหมายจับแทนการใช้การออกหมายเรียก ซึ่งทำให้ผู้ต้องหามีข้อจำกัดในการออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่า

อีกทั้ง หลังการจับกุมและสอบปากคำในเบื้องต้น ตำรวจจะนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลเพื่อขอฝากขังระหว่างการสอบสวน และหากผู้ต้องหายื่นประกันตัว ก็จะทำให้ศาลมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขประกันตัว เช่น คดีกลุ่มผู้จัดและผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก จะถูกศาลสั่งห้ามกระทำความผิดซ้ำ นั่นหมายความว่า หากพวกเขาออกไปชุมนุมและถูกตั้งข้อหาเหมือนเดิม ก็จะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นการวางเงื่อนไขห้ามออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยปริยาย

(2) ใช้เพิ่มภาระให้จำเลย ต้องหาหลักทรัพย์ประกันตัวสูงขึ้น

เนื่องจากมาตรา 116 มีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี ทำให้ตำรวจและอัยการสามารถขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ก่อนฟ้องคดีมีระยะเวลาสูงสุดได้ 48 วัน ในระหว่างการฝากขังนั้นจำเลยต้องยื่นขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ต่อศาล ซึ่งศาลมักจะตีราคาหลักทรัพย์ตามอัตราโทษสูงสุดในคดีนั้นๆ ซึ่งหากพิจารณาจากการประกันตัว ผู้ต้องหา 9 คน จากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก จะพบว่า ผู้ต้องหาจะต้องใช้วงเงินประกันสูงถึงคนละ 100,000 บาท

(3) ใช้ลดความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน

เนื่องจาก มาตรา 116 อยู่ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การที่รัฐเลือกใช้กฎหมายดังกล่าวกับผู้ชุมนุมก็คือการกล่าวหาว่า ผู้ชุมนุมได้กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือทำให้ดูเหมือนผู้ต้องหากระทำการที่มีลักษณะร้ายแรง จนทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญถูกทำให้แปดเปื้อนและถูกลดความชอบธรรมในการออกมาเคลื่อนไหว และในขณะเดียวกันก็เปิดช่องให้รัฐมีเหตุในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ง่ายขึ้น

บทเรียนจากต่างประเทศ คือ แก้กฎหมายให้เข้ากับยุคสมัย

ในหนังสือคำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 1 ของ จิตติ ติงศภัทิย์ นักกฎหมายคนสำคัญ ได้ระบุว่า ข้อหายุยงปลุกปั่นถูกบัญญัติขึ้นตามนัยแห่งความผิดฐาน Sedition ในกฎหมายของสหราชอาณาจักร แต่ทว่า ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน จะพบว่า หลายประเทศที่เป็นรากฐานของกฎหมายดังกล่าวมีการปรับปรุงกฎหมาย ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

  • สหราชอาณาจักรที่มีการยกเลิกข้อหายุยงปลุกปั่นในปี 2552 ได้มีการยกเลิกข้อหายุยงปลุกปั่นในปี 2552 โดยระบุเหตุผลในการยกเลิกว่า ข้อหายุยงปลุกปั่นไม่มีความจำเป็นและมีกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้ การคงกฎหมายไว้นอกจากจะสร้างความสับสนและไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการพูดและเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ ในการใช้ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นจำกัดการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
  • ประเทศออสเตรเลีย มีการแก้ไขบทบัญญัติและความหมายของข้อหายุยงปลุกปั่นให้จำกัดเฉพาะการแสดงออกที่มีลักษณะจะก่อให้เกิดความรุนแรง ซึ่งการผลักดันให้มีการยกเลิกสืบเนื่องมาจากความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายของออสเตรเลียได้ให้ความเห็นในเชิงว่า กฎหมายยุยงปลุกปั่นของออสเตรเลียขาดความชัดเจนและเปิดช่องให้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย
  • ประเทศนิวซีแลนด์ มีการเสนอให้ทบทวนกฎหมายข้อหายุยงปลุกปั่นในปี 2549 หลังมีการนำมาดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมือง ก่อนที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะเสนอให้มีการยกเลิก เนื่องจากกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก และรัฐบาลได้มีการดำเนินการยกเลิกในปี 2550
  • ประเทศมาเลเซีย มีกฎหมายยุยงปลุกปั่นที่ออกในยุครัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษ และถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างกว้างขว้าง จนในปี 2561 พรรคของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้สัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะยกเลิกกฎหมายยุยงปลุกปั่น

Author

ณัชปกร นามเมือง
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี และเลือกหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า