ฝันคนละใบในความตายที่เทียนอันเหมิน “พวกเขาถูกชักจูง” และ “รัฐบาลจีนทำถูกต้องแล้ว”

วันที่ 4 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันครบรอบเหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง ปี 2019 ครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศจีน

การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15 เมษายน – 4 มิถุนายน 1989 กลุ่มนักศึกษาชาวจีนร่วมชุมนุมเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์และเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การประท้วงนั้นได้ดำเนินสู่เหตุการณ์การนองเลือด โดยผู้นำจีนประณามการประท้วงว่าเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านการปฏิวัติ พร้อมส่งทหารและรถถังออกมาปราบปรามผู้ประท้วงทั้งหมด

กระบวนการทางประชาธิปไตยในประเทศจีนหยุดชะงักลงนับตั้งแต่การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน การปฏิรูปภายในพรรคคอมมิวนิสต์ถูกขัดขวางกีดกัน ไม่มีความพยายามที่จะขับเคลื่อนระบบการเมืองของประเทศจีนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งทางพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ไม่ทีท่าว่าต้องการเอ่ยถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้น ราวกับอยากให้เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนหลงลืมไป เหมือนการสังหารหมู่นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้น ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต รายละเอียดต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ และไม่มีการเผยแพร่ออกมาจากรัฐบาล

ปี 2016 นักวาดการ์ตูนนามว่า ‘ปา ติว ฉ่าว (Badiucao)’ แต่งกายให้ตนเองกลายเป็น ‘มนุษย์รถถัง’ (Tank Man) และยืนประท้วงอยู่บนเก้าอี้ในที่สาธารณะ เขาเลือกใช้ ‘มนุษย์รถถัง’ สัญลักษณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงการสังหารหมู่เทียนอันเหมิน เพื่อคอยย้ำเตือนความทรงจำของเหตุการณ์ที่เลวร้ายเมื่อครั้งอดีต และพยายามสร้างให้สังคมตระหนักรู้ถึงความโหดร้ายของการกระทำของรัฐบาล ณ เวลานั้น

ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศจีน นามว่า หลี่ หง เหวย (Li Hongwei) และ ยู่ ซิง ย่ง (Yu Xinyong) ถูกรัฐบาลจีนเข้าควบคุมตัว ก่อนหน้าการจัดกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพียงหนึ่งเดือน ด้วยเหตุผลว่าทั้งคู่อาจก่อความไม่สงบและปลุกปั่นให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ในอนาคต

หลี่ หง เหวย และ ยู่ ซิง ย่ง มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีน ทั้งสองคนเป็นผู้นำนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินมาก่อน

แม้ว่าการสังหารหมู่เทียนอันเหมินจะผ่านพ้นมาเนิ่นนานเกือบสามทศวรรษ แต่ก็ยังถูกจารึกไว้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่อยู่เสมอ

สำหรับคนจีนรุ่นใหม่ อะไรคือ Tank Man

‘Tank Man’ ภาพถ่ายชายไม่ทราบชื่อ โดย เจฟฟ์ ไวด์เนอร์ (Jeff Widener) บรรจุอยู่ในหนังสือหลายเล่มทั่วโลก เป็นภาพที่มีความเป็นสากล หาง่ายบนอินเทอร์เน็ต เพียงแค่เสิร์ชในกูเกิล – แต่ไม่ใช่ที่จีน

30 ปีผ่านไป นักเรียนนักศึกษาจีนจำนวนมากไม่เคยเห็นภาพประวัติศาสตร์นี้ เพราะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่รัฐบาลอยากทำให้หายไป พูดให้ง่ายกว่านั้น ต้องการลบ ต้องการให้ลืม และไม่อยากให้ใครจดจำ หรือใครที่เคยเห็นก็ยากที่จะเอาเรื่องนี้มาถกกันในที่สาธารณะ

ในปี 1989 กลุ่มนักศึกษาที่มาร่วมประท้วงส่วนใหญ่มาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง พื้นที่ที่คนมีความตื่นตัวด้านการเมืองกันมาก แต่ทุกวันนี้นักเรียนนักศึกษาเติบโตขึ้นภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่ไม่มีการสอนประวัติศาสตร์การลุกฮือที่เทียนอันเหมิน หรือเหตุการณ์ ‘4 มิถุนา’

นอกจากความรู้ในตำรา การปิดกั้นการรับรู้ของรัฐบาลยังหมายถึงการควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต

“ฉันคิดไม่ออกเลยว่าเหตุการณ์นั้นเป็นยังไง หรือจริงๆ แล้วมีอะไรเกิดขึ้นกันแน่ ฉันรู้แค่รัฐบาลจีนอาจทำบางอย่างที่เลวร้ายต่อผู้ชุมนุม ฉันรู้ว่าเหตุการณ์ 4 มิถุนาน่าจะเป็นประมาณนี้ ถูกต้องไหม?” นักศึกษาจีนวัย 24 ปีที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC และแน่นอนเธอไม่แน่ใจว่าเคยเห็น ‘Tank Man’ หรือเปล่า

“ฉันเคยได้ยินมาบ้าง แต่ไม่เคยเห็นหรอก ถ้ามันเป็นภาพผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่หน้ารถถัง บางทีฉันอาจจะเคยเห็นมันสักครั้งนะ”

เพื่อนนักศึกษาสามคนจากมหาวิทยาลัย China’s University of Mining and Technology มีความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ครบรอบ 30 ปี 4 มิถุนาต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นตอบว่าไม่รู้เรื่องนี้ อีกคนหนึ่งอ้างว่าไม่รู้ แต่แสดงท่าทีหวาดๆ ที่จะตอบคำถาม

คนที่สามคือนักศึกษาวัย 20 ปี ที่บอกว่า “ถ้าคุณเป็นเด็กที่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้น คุณก็สามารถหาทางที่จะอ่านเรื่องเกี่ยวกับมันได้ทางออนไลน์นะ” แต่…เขาก็เชื่อว่า การกระทำของรัฐบาลจีนในปี 1989 นั้นเป็นสิ่งที่ “ถูกต้องแล้ว”

“นักศึกษาพวกนั้นยังเด็กมาก มันง่ายที่พวกเขาจะถูกชักจูง บางทีพวกเขาอาจจะพยายามทำบางอย่าง แต่แล้วก็ถูกล่อลวงให้ไปทำอีกอย่าง

“สิ่งที่พวกเขาต้องการสำหรับประเทศชาติของพวกเขา มันไม่เหมือนกับสิ่งที่ผมต้องการสำหรับประเทศชาติของผม”

การเสิร์ช ‘June 4th’ สามารถทำได้ และเป็นคำค้นที่ถูกใช้เยอะมากใน Baidu ซึ่งปลายทางที่ Baidu พาไปคือข้อมูลจากสื่อของรัฐที่ใช้คำว่า ‘ความวุ่นวายทางการเมืองในวันที่ 4 มิถุนายน’ คำตอบที่พบมากในปี 2001 คือข้อมูลเอกสารทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ความยาวหนึ่งย่อหน้าว่ามีอะไรเกิดขึ้น อ้างว่า มีปัญญาชนเสรีนิยมจำนวนหนึ่ง พยายามเข้ามาล่อลวงเหล่านักศึกษาที่ดีให้ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์และแนวคิดสังคมนิยม

เมื่อ Tank Man ไม่สามารถหาได้บนโลกไซเบอร์ ปี 2013 จึงมีคนนำรูปนี้ไปทำเป็นมีม โดยเปลี่ยนให้รถถังเป็นเป็ดยางสีเหลือง

หลังจากนั้นในวันที่ 4 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ทางการต้องทำการเซ็นเซอร์อย่างหนักกับคำว่า ‘today’, ‘anniversary, ‘remember’, ‘tank man’ และ ‘candlelight’ จึงต้องเพิ่มคำว่า ‘Big yellow duck’ เข้าไปด้วย

“ผมเคยเห็นภาพ Tank Man นะ แต่จำไม่ได้ว่าเห็นยังไง มันนานมาแล้วน่ะ นักศึกษาวิชากฎหมายในกรุงปักกิ่งบอกว่าเขาไม่ได้ใช้ VPN เพื่อหลบระบบป้องกันทางอินเทอร์เน็ตของจีน เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

“ผมไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เพื่อนๆ ของผมและอีกหลายคนรู้เรื่องปี 1989 ทุกคนดูต่างออกไป และผมก็ไม่ค่อยได้พูดเรื่องนี้กับพวกเขามากนักหรอก”

ยังมีนักเรียนนักศึกษาอีกหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศในวันครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลจีนถึงต้องการลบเหตุการณ์ในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 ออกไปจากความทรงจำและรับรู้ของคนรุ่นหลัง

ลำดับเหตุการณ์

15 เมษายน 1989 – หู เย่า ปัง (Hu Yaobang) อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เสียชีวิต ซึ่งหูถือเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูปประชาธิปไตย เขามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการขับคลื่อนให้ประเทศจีนมีระบอบทางการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้น

18 เมษายน 1989 – นักเรียนนักศึกษานับพันคนเดินขบวนผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนประชาธิปไตย และไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ประชาชนทั่วไปก็เริ่มหันมาเข้าร่วมกลุ่มนักศึกษาเพื่อประท้วงต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน

13 พฤษภาคม 1989 – นักเรียนนักศึกษามากกว่า 100 คนประท้วงโดยการอดอาหาร และเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

19 พฤษภาคม 1989 – การชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินมียอดผู้เข้าร่วมสูงขึ้น 1.2 ล้านคน

19 พฤษภาคม 1989 – นายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง (Li Peng) ประกาศกฎอัยการศึก

1 มิถุนายน 1989 – ประเทศจีนระงับการถ่ายทอดสดของสื่อต่างประเทศ อีกทั้งผู้สื่อข่าวยังไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพหรือถ่ายทำวีดีทัศน์ใดๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสิ้น

2 มิถุนายน 1989 – ผู้คนจำนวนนับแสนคนเข้าร่วมคอนเสิร์ตในจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีนักร้องชื่อว่า โฮว เต๋อ เจี้ยน (Hou Dejian) เป็นผู้ร้องเพลงสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง

4 มิถุนายน 1989 – กองทัพทหารเดินทางถึงจัตุรัสเทียนอันเหมินช่วงเวลาประมาณตีหนึ่ง ก่อนเปิดฉากกราดยิงพลเรือนและนักศึกษาเพื่อยุติการประท้วงตลอดทั้งวัน โดยทางการไม่ได้แถลงการณ์ระบุยอดจำนวนผู้เสียชีวิตหลังจากการสลายการชุมนุมครั้งนั้น

5 มิถุนายน 1989 – ชายไม่ทราบชื่อยืนอยู่บนถนนเพื่อขัดขวางไม่ให้ขบวนรถถังกองทัพสามารถเดินทางต่อไปได้ เขาเผชิญหน้ากับขบวนรถถังอย่างลำพังหลายนาที ก่อนที่ถูกพาตัวออกโดยผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เขากลายเป็นภาพจำเหตุการณ์เทียนอันเหมินในชื่อ ‘Tank Man’

5 มิถุนายน 1999 – ผู้คนประมาณ 70,000 คนในเกาะฮ่องกงร่วมแสดงความอาลัยถึงการสูญเสียในจัตุรัสเทียนอันเหมิน

1 มิถุนายน 1999 – แหล่งข้อมูลจากหน่วยรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เผยแพร่ข้อมูล จัตุรัสเทียนอันเหมิ 1989: ประวัติความลับ (Tiananmen Square, 1989: The Declassified History) เอกสารเหล่านั้นยังไปรวมถึงเอกสารกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการประท้วงอีกด้วย

มกราคม 2001 – นักวิชาการชาวจีนสองคนตีพิมพ์บทความเรื่อง ‘เอกสารจากเทียนอันเหมิน’ (The Tiananmen Papers) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เอกสารเหล่านั้นมีนำเสนอเอกสารลับต่างๆ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นทั้ง เสียงบันทึก บทสัมภาษณ์ รวมไปถึงคำอธิบายของพยานที่อยู่ในเหตุการณ์จริง

กุมภาพันธ์ 2006 – อดีตนักข่าว ยู่ ตง ยเว (Yu Dongyue) ได้รับการปล่อยตัวจากคุก หลังจากถูกกุมขังมาอย่างยาวนานนับ 17 ปี ด้วยข้อหาทำร้ายภาพของอดีตผู้นำ เหมาเจ๋อตง

4 มิถุนายน 2009 – ผู้คนจำนวนนับหมื่นคนร่วมชุมนุมรำลึกการครบรอบ 20 ปีของสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินที่เกาะฮ่องกง ขณะที่ผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่งถูกสั่งห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมรำลึกที่จัตุรัส และทางรัฐบาลจีนสั่งปิดเว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก

เมษายน 2011 – พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนในจัตุรัสเทียนอันเหมินได้รับการปรับปรุงใหม่ แต่ว่าการนำเสนอประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์นั้นไม่ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินแต่อย่างใด

ข้อมูลเพิ่มเติม

จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นจัตุรัสสาธารณะด้านหน้าประตูเทียนอันเหมิน หรือ มีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า ‘ประตูแห่งสรวงสวรรค์อันสงบสุข’ ซึ่งจัตุรัสเทียนอันเหมินถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 หลังจากการบุกรุกของราชวงศ์ชิง ก่อนจะได้รับการต่อเติมในช่วงเวลาของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน

จัตุรัสแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศจีน อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์จีนในอีกหลายเหตุการณ์

อ้างอิงข้อมูลจาก:
edition.cnn.com
rfa.org
bbc.com
bbc.com
abcnews.go.com
abc.net.au

 

Author

พชรกฤษณ์ โตอิ้ม
WAY Team Junior นิสิตจากรั้วจามจุรีผู้ชื่นชอบการเขียน แม่นยำเรื่องภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ยอดเยี่ยมเมื่อโอบกอดกีตาร์ แต่อย่าให้เปล่งเสียงร้องออกมาจะดีที่สุด

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า