4 ยาฆ่าแมลงต้องห้าม!

2

 

จากข้อสงสัยเคลือบแคลงในโครงการรับจำนำข้าวที่มีการเก็บสต็อกในโกดังเป็นจำนวนมาก นำไปสู่ข่าวลือแพร่สะพัดในโซเชียลมีเดียว่าข้าวไทยบรรจุถุงอาจมีการปนเปื้อนสารเคมีในระดับสูง ส่งผลให้ประชาชนเกิดความหวาดวิตกว่าข้าวสารที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดสามารถบริโภคได้หรือไม่

ไม่เพียงแต่ ‘ข้าว’ ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยจะถูกตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ปลอดภัยแล้ว ยังมีพืชผลทางการเกษตรอีกมากมายหลายชนิดที่ควรได้รับการตรวจสอบและเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการปนเปื้อนของสารเคมีร้ายแรง 4 ชนิดที่นานาประเทศประกาศให้เป็น ‘สารต้องห้าม’ ได้แก่ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) เมทโทมิล (Methomyl) อีพีเอ็น (EPN) และไดโครโตฟอส (Dicrotophos) ขณะที่ประเทศไทยกลับยังมีการพึ่งพายาฆ่าแมลงเหล่านี้อย่างแพร่หลายโดยไม่รู้สึกสะทกสะท้าน

ข้าวไทยไม่ผ่านมาตรฐานจีน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าวไทยถูกตกอยู่ในฐานะจำเลยสังคม แต่ความหวาดระแวงสงสัยได้เกิดขึ้นมาเป็นระลอกและเริ่มกระพือขึ้นอีกครั้งสืบเนื่องจากความไม่ไว้วางใจในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลพวงของความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้เกิดการปล่อยข่าวลือ ข่าวลวง เพื่อสร้างกระแสโจมตีรัฐบาล แต่ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาแต่ละครั้งก็ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่าข้าวไทยปนเปื้อนสารพิษจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือมั่วนิ่ม

กระทั่งวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ข้อเท็จจริงจึงเริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเปิดโปงผลการตรวจพิสูจน์ข้าวสารบรรจุถุง พร้อมทั้งเปิดเผยชื่อยี่ห้อ ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย เพื่อให้ประชาชนหูตาสว่างและนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาก่อนเลือกซื้อเลือกหามาบริโภค

ผลการตรวจพิสูจน์ข้าวถุงจำนวน 46 ยี่ห้อ พบว่า มีมากถึง 34 ยี่ห้อ หรือร้อยละ 73.9 ที่มีสารรมควันข้าว ‘เมธิลโบรไมด์’ ตกค้าง ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง คือ 0.9-67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (codex) ที่กำหนดไว้ให้มีการตกค้างได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ขณะที่มีเพียง 12 ยี่ห้อ หรือร้อยละ 26.1 เท่านั้นที่ไม่พบสารตกค้าง โดยทั้งหมดไม่พบการตกค้างของยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต รวมทั้งไม่พบการตกค้างของยากันรา (fungicide)

 


วิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า แม้ข้าวถุงของไทยส่วนใหญ่จะมีสารเมธิลโบรไมด์ตกค้างไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน codex แต่ก็สูงเกินกว่าที่จะส่งออกไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของไทย เนื่องจากจีนกำหนดปริมาณการตกค้างของสารเมธิลโบรไมด์ไว้ไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมเท่านั้น โดยที่ไทยไม่เคยมีข้อกำหนดเรื่องเกณฑ์เมธิลโบรไมด์ ทั้งๆ ที่เป็นประเทศผู้ผลิตข้าวส่งออกลำดับต้นๆ ของโลก ส่งผลเสียต่อตลาดส่งออกข้าวและมาตรฐานข้าวในประเทศอย่างมาก

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถียังได้เรียกร้องว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบโรงสีและผู้ประกอบการที่มีปัญหาการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน หากตรวจพบก็ควรมีการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อรักษาชื่อเสียงของข้าวไทยและสุขภาพของประชาชน

ด้านสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอว่า รัฐบาลควรเร่งผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยรายละเอียดชื่อยี่ห้อของข้าวที่พบการปนเปื้อน เพื่อกำหนดทิศทางการผลิตสินค้าและการบริโภค โดยมีภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบด้วย

ในเวลาไล่เรี่ยกัน ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เชิญตัวแทนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาให้ข้อมูลว่าข้าวไทยปลอดภัยจากสารเคมีปนเปื้อนจริงหรือไม่ ซึ่งตัวแทนจากแต่ละหน่วยงานต่างให้การยืนยันว่า จากการสุ่มตรวจข้าวกว่า 50 ตัวอย่าง ไม่พบสารรมควันข้าวตกค้างในทุกตัวอย่างตามมาตรฐานประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้กำหนดไว้ และขอให้ประชาชนอย่าได้วิตกกังวล เพราะสารเคมีดังกล่าวจะระเหยไปเองและหากมีการซาวข้าวหรือผ่านความร้อนจากการหุง สารเหล่านี้ก็จะหายไป

อย่างไรก็ดี แม้หน่วยงานภาครัฐจะออกมาประสานเสียงพร้อมกันว่า ข้าวไทยไม่มีสารรมควันปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตราย แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาระบุให้ชัดลงไปว่า ข้าวและพืชผลทางการเกษตรของไทยเจือปนสารเคมีชนิดอื่นๆ ในปริมาณมากหรือน้อยเพียงใด

 

photof


ในน้ำมีปลา…ในไร่นามีสารพิษ

ปี 2554 ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอันดับที่ 5 ของโลก คือ 0.86 กิโลกรัมต่อเฮกเตอร์ โดยอันดับที่ 1-4 ได้แก่ ฝรั่งเศส เวียดนาม สเปน และบราซิล

ส่วนรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ระบุว่า ไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่นำเข้าสารเคมีทางการเกษตรสูงเป็นอันดับ 1

เดือนกรกฎาคม 2554 มีการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในผักและผลไม้จาก 70 ประเทศที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ปรากฏว่าสินค้าจากประเทศไทยมีสารพิษตกค้างสูงสุดเป็นอันดับ 1 และถูกตรวจพบบ่อยครั้งที่สุดในโลก

ณ ปัจจุบันไทยยังไม่มีการกำกับควบคุมปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างจริงจัง และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นแทบทุกปี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว กล่าวคือ ในปี 2542 มียอดนำเข้าประมาณ 6,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2554 ตัวเลขการนำเข้าพุ่งขึ้นเป็นกว่า 22,000 ล้านบาท หรือประมาณ 164 ล้านกิโลกรัม (สำนักควบคุมพืชและวัสดุทางการเกษตร, 2555)

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ไทยกำลังประสบวิกฤติการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงหลายด้าน ทั้งร่างกายของเกษตรกร ความปลอดภัยของผู้บริโภค คุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และผืนแผ่นดินที่แทบจะกลายเป็น ‘ไร่นาเคมี’ ไปทั้งประเทศ

ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้าผู้ภักดีต่อสินค้าเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร และตกอยู่ใต้อาณัติของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เพียง 6 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ครอบครองส่วนแบ่งของตลาดสารเคมีการเกษตรโลก นั่นคือ ไบเออร์ (เยอรมนี) ซินเจนทา (สวิตเซอร์แลนด์) บีเอเอสเอฟ (เยอรมนี) ดาวน์ อะโกรไซแอนซ์ (สหรัฐอเมริกา) มอนซานโต (สหรัฐอเมริกา) และดูปองท์ (สหรัฐอเมริกา) เมื่อนำเข้าสารเคมีเข้ามาแล้ว บริษัทท้องถิ่นของไทยก็ดำเนินธุรกิจหากินบนหลังคนด้วยการจัดจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าต้นทุนวัตถุดิบอีกหลายเท่าตัว ทั้งๆ ที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแม้แต่บาทเดียว โดยอ้างว่าเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับการเกษตร จึงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

c


ขนาดแมลงยังตาย แล้วคนจะไปเหลืออะไร

พิษภัยของการใช้ยาฆ่าแมลงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และกำลังเข้าขั้นวิกฤติ ดังเห็นได้จากสถิติการตรวจเลือดของเกษตรกรเพื่อวัดระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พบว่า เกษตรกรมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในร่างกายในระดับเสี่ยงสูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 29.41 ในปี 2545 เพิ่มเป็นร้อยละ 39 ในปี 2554 โดยไม่มีแนวโน้มลดลง

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขประมาณการว่า มีเกษตรกรที่เสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยถึง 6 ล้านคน โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยจากยาฆ่าแมลงประมาณ 200,000-400,000 คน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆ อาทิ มะเร็ง เบาหวาน โรคของต่อมไร้ท่อ ฯลฯ (แผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ, 2548)

ไม่เว้นกระทั่งตัวของผู้บริโภคเองที่ย่อมตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ดังผลการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN: Thailand Pesticide Alert Network) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ ที่ได้สุ่มตรวจผักยอดนิยม 7 ชนิด คือ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา ที่วางขายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ตลาดสด และรถเร่ในเขตกรุงเทพฯ พบปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 40 โดยได้รับคำยืนยันจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555

สอดคล้องกับผลสำรวจของ อย. ที่พบว่าผักสดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 359 ตัวอย่าง มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรงตกค้างทั้งในผักที่มีเครื่องหมายปลอดสารพิษและที่ไม่มีเครื่องหมาย ร้อยละ 51.8 และ 63.7 ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระแสรณรงค์ขององค์กรภาคประชาชนและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ให้เลิกใช้สารเคมีร้ายแรงทั้ง 4 ชนิด ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน และกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และห้ามมีไว้ในครอบครอง

 

เกษตรเคมี4_resize

 

หยุดขึ้นทะเบียน 4 สารเคมี

ทำไมจึงต้องจำเพาะเจาะจงสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิด ให้เป็นวัตถุอันตราย?

เหตุเพราะว่า แม้แต่ประเทศต้นทางการผลิตอย่างสหรัฐและเยอรมันยังรู้ซึ้งถึงพิษร้ายของสารเคมีที่ว่านี้เป็นอย่างดี จนต้องสั่งระงับการใช้โดยเด็ดขาด โดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (Environmental Protection Agency: EPA) ได้มีการประเมินผลการตกค้างของสารคาร์โบฟูรานในปี 2549 พบว่า การตกค้างของคาร์โบฟูรานในอาหารมีความเสี่ยงร้ายแรง ‘เกินระดับที่ EPA จะยอมรับได้’

จนกระทั่งปี 2551 EPA ได้ข้อสรุปจากผลการวิจัยทั้งหมดว่า ‘คาร์โบฟูรานที่ตกค้างในอาหารไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น’ จึงมีการยกเลิกการใช้สารเคมีชนิดนี้ในผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดของสหรัฐตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

เช่นนี้แล้วประเทศปลายทางอย่างไทยจะยังดึงดันฝืนใช้ต่อไปอีกทำไม

สำหรับแนวทางที่สามารถควบคุมการใช้สารเคมีร้ายแรงทั้ง 4 ชนิดได้อย่างเห็นผลก็คือ การประกาศห้ามใช้และไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยกรมวิชาการเกษตรในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงควรออกประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีผลตามกฎหมายทันทีคือ ห้ามการนำเข้า จำหน่าย หรือใช้ รวมทั้งการไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเมื่อพบว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าวมีผลการศึกษาและข้อมูลหลักฐานว่าเกิดพิษภัยต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันสารเคมีอันตรายทั้ง 4 ชนิด ถูกจัดให้อยู่ใน ‘บัญชีวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง’ เท่านั้น แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว ทั้งที่นานาประเทศได้กำหนดให้เป็นสารเคมีต้องห้ามแล้ว

ทั้งหมดทั้งมวลนี้มีข้อสังเกตหนึ่งว่า เหตุที่ไทยไม่สามารถยกเลิกสารเคมีทั้ง 4 ชนิดได้ เป็นเพราะมีเงื่อนงำ ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ อยู่เบื้องหลังหรือไม่

 

 

*********************************************

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า