5 ละคร ‘ประเทศไทย’ ที่เราอยากให้ลุงเขียนบท

ประเทศไทยเรานี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 800 ปี มีวัตถุดิบมากมายที่น่าทำหนัง-ละคร ก็น่าสนใจว่าคำประกาศของนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดถึงโครงการสร้างละครไทยเรื่อง ‘ประเทศไทย’ นี้จะออกมาในรูปแบบไหน ท่านยังอาสาจะเป็นที่ปรึกษาในการเขียนบทด้วย เราชาว WAY มีไอเดียนำเสนอว่า ควรหยิบ ‘ประเทศไทย’ ช่วงไหนมาเป็นหนังหรือละครดี

 

1. กรุงศรีฯ ถูกปิดล้อมยาวนาน 14 เดือน

เหตุเกิด: กุมภาพันธ์ 2309 – 7 เมษายน 2310

เหตุผล: หนังไทยหลายเรื่องชอบอ้างอิงถึงเหตุการณ์คราว ‘เสียกรุงฯ ครั้งที่ 2’ ว่าเป็นเพราะเหตุนั้นนี้ (บางระจัน 1-2, นายขนมต้ม, ทองดี ฟันขาว ฯลฯ) แต่คนไทยไม่เคยเห็นเหตุการณ์คราวเสียกรุงฯ บนจอเงินเลย จะว่าไปแล้วยุทธการ ‘ตั้งรับในกรุงฯ รอน้ำท่วมทุ่งหลากมา’ เพื่อหวังให้กองทัพพม่าถอยทัพกลับไปนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้เสียกรุงครั้งนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานมากมายอีกหลายประการ อาทิ การเกิดกบฏภายในกรุงศรีฯ ทว่าทุกอย่างไม่เคยถูกทำให้กระจ่าง น่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ล้วนมีบทบาทในคราวเสียกรุงศรีฯ ครั้งนี้ไม่มากก็น้อย

ตัวละคร: พระเจ้าเอกทัศ, พระยาพลเทพ, เนเมียวสีหบดี, มังมหานรธา, พระยาพิชัยดาบหัก, นายขนมต้ม, พระยาตากสิน ฯลฯ

References: Troy (2004) และ Kingdom of Heaven (2006) ต้องเล่าทั้งสภาพภายในเมืองกรุงศรีฯ และสภาพนอกเมืองที่เกิดเหตุการณ์มากมาย ก่อนจะถึงไคลแมกซ์คือการรบพุ่งครั้งสุดท้ายก่อนเสียกรุงศรีฯ ใครที่ยังอยู่และใครที่เลือกตีแหกหนีออกไป

2. ปารีส 2462

เหตุเกิด: มิถุนายน 2461 – 14 กรกฎาคม 2462

เหตุผล: นี่คือหนังที่เหมาะกับท่านอย่างที่สุด เล่าวีรกรรมทหารไทยกลุ่มแรกที่เดินทางไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังประเทศฝรั่งเศส เผชิญความลำบากทั้งการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม, ผู้คนและภาษาที่แตกต่าง นอกสนามรับยังโดนเหยียดเชื้อชาติอีกต่างหาก ยังมีวีรกรรมของทหารอีก 19 นายที่สละชีพในสนามรบอีกด้วย

ภาพแห่งประวัติศาสตร์ที่คนไทยอยากเห็นในหนังเรื่องนี้ คือภาพทหารไทยเดินสวนสนามผ่านประตูชัย กรุงปารีส ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2462 อย่างทรงเกียรติ

ตัวละคร: พลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์, พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาฎ, หลวงรามฤทธิรงค์ ฯลฯ

References: The Longest Day (1962) หรือ Saving Private Ryan (1998) ขึ้นอยู่กับว่าอยากเล่าภาพรวมใหญ่ๆ กองทหารทั้งกองพัน หรือเล่าแค่หน่วยเล็กๆ หน่วยหนึ่งเป็นตัวแทนของทหารทั้งกองพันในสงครามนอกบ้านครั้งนี้

 

3. นางสาวสยาม

เหตุเกิด: 10 ธันวาคม 2477

เหตุผล: หนังฮอลลีวูดมักหยิบเรื่องคนตัวเล็กๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่มาทำหนังชีวิต (biopic) เราคิดว่าชีวิตของ ‘กันยา เทียนสว่าง’ ที่พ่อเป็นคนงานท่าเรือ แม่มีเชื้อสายมอญ แต่เห็นเค้าหน้าลูกสาวคมคายจมูกโด่งเหมือนฝรั่ง กันยาจึงมีชื่อเล่นว่า ‘ลูซิล’ น่าสนใจและเป็นคนเล็กๆ หลังฉากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ในไทยได้เช่นกัน

กันยาเริ่มต้นวัยสาวด้วยการทำงานเป็นครูโรงเรียนประชาบาลทารกานุเคราะห์ ก่อนชีวิตพลิกผันได้เป็น ‘นางสาวสยาม’ หรือ นางสาวไทยคนแรกเมื่ออายุ 21 ปี ในการประกวดงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2477 หลังจากนั้นได้แต่งงานกับ ดอกเตอร์สุจิต หิรัญพฤกษ์ นักการทูตหนุ่ม ติดตามสามีไปกับคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นสามีกลับไทยมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงปี 2502 แต่กลับเผชิญวิบากกรรมทางการเมือง ถูกใส่ร้ายป้ายสีให้มีความผิดฐานทุจริตเรื่องการพิมพ์ธนบัตร

จากนั้นกันยาป่วยหนักเป็นมะเร็ง ต้องเลือกระหว่างอยู่ต่างประเทศต่อเพื่อหาหนทางรักษาโรคร้าย หรือกลับไทยมาเพื่อเคียงข้างสามีในช่วงเวลาวิกฤติที่สุดในชีวิตเขา

ตัวละคร: กันยา เทียนสว่าง, ดอกเตอร์สุจิต หิรัญพฤกษ์, ดิเรก ชัยนาม

References: Jackie (2016) กันยามีชีวิตผ่านช่วงเวลาสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ มีชีวิตตั้งแต่สมัยประเทศยังชื่อ ‘สยาม’ จนกลายเป็น ‘ไทย’ ผ่านทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง, สงครามโลกครั้งที่ 2 และ ‘ยุคทมิฬ’ ของประเทศนับจาก 2490 เป็นต้นมา จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 2503 ไม่มีแม้โอกาสจะเห็นสามีพ้นมลทินในปี 2508 ด้วยซ้ำ

 

4. ถนน ‘มิตรภาพ’

เหตุเกิด: 2498 – 2508

เหตุผล: ถ้าจะทำหนังไทยทั้งที ควรทำให้โกอินเตอร์ไปเลย ฉะนั้นควรเลือกประเด็นที่ต่างชาติสนใจ มีส่วนร่วมและเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย การก่อสร้างถนน ‘มิตรภาพ’ เปิดเส้นทางกรุงเทพฯ สู่ภาคอีสานในช่วงต้นทศวรรษ 2500 คือการก่อสร้างที่สำคัญสุดแห่งยุคสมัยสงครามเย็นในไทย การก่อสร้างถนนมิตรภาพทำให้ความเจริญไหลบ่าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างรวดเร็ว เชื่อมต่อไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน

แต่อีกเหตุผลสำคัญคือการเป็นเส้นทางให้กองทัพอเมริกาสามารถขนส่งยุทโธปกรณ์ได้สะดวก ตามฐานทัพอเมริกาที่กระจายอยู่ในเส้นทางหลักๆ ของถนนมิตรภาพในจังหวัดนครราชสีมา นครพนม  อุดรธานี และอุบลราชธานี เพื่อใช้ในการทำสงครามเวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง

ถนนมิตรภาพยังนับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างโดยใช้ผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟอลต์คอนกรีต ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นและเผชิญความสาหัสสากรรจ์ในการสร้างไม่น้อย เนื่องจากอุปสรรคในเรื่องสภาพภูมิประเทศที่คดเคี้ยวและอากาศที่ร้อนจัด จึงเป็นงานหินที่องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (USOM) ต้องลงมาดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดการสร้าง

ตัวละคร: มีทั้งฝ่ายไทยและฝรั่งอเมริกัน ตั้งแต่ระดับนักการเมือง, ทหาร จนถึงชาวบ้านตามรายทาง

References: Always: Sunset on Third Street (2005) เชื่อว่าท่านทำเรื่องเครียดๆ ให้มีอารมณ์ละมุนละไม สนุก และมีชีวิตชีวาได้

 

5. เลือกตั้ง 2562

เหตุเกิด: กุมภาพันธ์ 2562??

เหตุผล: เราเองก็ยังมองภาพไม่ออกว่าอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าหนังว่าด้วยประเทศไทยมีเป้าหมายต้องการทำให้คนไทยดู นี่คือหนังที่คนไทยทุกคนตั้งตารอดูมากที่สุด

ตัวละคร: คนไทยทุกคน

References: เรื่องไหนก็ได้ แต่เชื่อว่าหลายคนไม่อยากดู ‘หนังม้วนเดิม’ แน่ๆ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า