7-Eleven ดันอาเซียนเป็นฮับแห่งอาหารขยะ

junk empire , global post

เรื่อง: กำพล พกนนท์

 

เว็บไซต์ข่าวสัญชาติอเมริกันอย่าง Globalpost จัดทำซีรีส์ข่าวชิ้นพิเศษชื่อ The World is Fat หนึ่งในนั้นกล่าวถึงประเด็นการกระจายอาหารขยะผ่านร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศไทยเป็นกรณีศึกษา

แฟรนไชส์ของร้านสะดวกซื้อซึ่งมีต้นกำเนิดจากบริษัทผลิตน้ำแข็งเมืองดัลลัส เท็กซัส สหรัฐอเมริกา อย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น กำลังแผ่ขยายเครือข่ายสาขาไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ตอบรับร้านสะดวกซื้อไม่มีเวลาปิดทำการนี้เป็นอย่างดี จนทำให้เกิดความกังวลว่า บรรดาอาหารสำเร็จรูปด้อยคุณค่าทางโภชนาการเหล่านี้กำลังบ่อนทำลายสุขภาพของผู้คน

ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สามารถพบเห็นได้ทุกหนทุกแห่งตามแหล่งชุมชน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 จนปัจจุบันมีให้บริการทั้งหมดในเมืองไทยประมาณ 6,800 สาขา และตั้งเป้าจะขยายสาขาเพิ่มอีกปีละ 500 สาขา เมื่อเทียบกับเจ้าถิ่นสหรัฐที่มีเพียง 6,900 สาขา ขณะที่ประชากรของเมืองลุงแซมมีมากกว่าแดนสยามราว 5 เท่าตัว ทั้งนี้ในมาเลเซียนั้นก็มีเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดให้บริการกว่า 1,300 สาขา และในฟิลิปปินส์อีกกว่า 700 สาขา

 

junk food

 

อย่างไรก็ตาม ทางร้านได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับชุมชนในแต่ละท้องถิ่นเสมอ เพื่อการเข้าครองใจผู้คนแถบนั้น เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น ในเมืองมุสลิมอย่างมาเลเซียก็จะมีแต่อาหารฮาลาล สำหรับเมืองไทยก็จะมีพิซซ่าหน้าต้มยำหรือไม่ก็แฮมเบอร์เกอร์ที่ใช้ข้าวเหนียวแทนขนมปัง ที่สำคัญคือ แม้จะมีสาขาและสินค้ามากมาย แต่เซเว่น อีเลฟเว่น เองก็ทำหน้าที่เป็นแหล่งเผยแพร่วัฒนธรรม ‘อาหารขยะ’ ไปในตัวด้วย

ธนาคารโลกยกให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในภูมิภาคที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และมีอัตราการขยายตัวของชนชั้นกลางที่รวดเร็ว สอดคล้องกับการขยายกิจการของร้านสะดวกซื้อแบบนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WTO เผยว่า ร้อยละ 30 ของประชากรไทยมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ของมาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 48 เปอร์เซ็นต์ และฟิลิปปินส์อยู่ที่ร้อยละ 25

การที่ผู้คนมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานนั้น อาจกล่าวโทษไปถึงปัจจัยหลักจากอาหารจานด่วนที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายมากในปัจจุบัน และเซเว่น อีเลฟเว่น ถือเป็นหนึ่งในต้นตอหลักของปัญหานี้ ผ่านสินค้าขายดีอย่างน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน

 

7-Eleven

 

ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ หนึ่งในทีมวิจัยโครงการ ‘ไม่กินหวาน’ กล่าวว่า “ปัญหาคือผลิตภัณฑ์ที่ผสมน้ำตาลนั้นมีขายทุกหนทุกแห่ง ถ้าคุณดูส่วนแบ่งการตลาดของพวกน้ำอัดลม จะเห็นว่ามันเพิ่มขึ้นตลอด” ซึ่ง Asia Pacific Journal of Clinical Nutrition ได้เปิดเผยผลวิจัยออกมาว่า เยาวชนของไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 17 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งถือว่ามากเกินกว่าในปริมาณที่แพทย์แนะนำไว้ที่ 6 ช้อนชาต่อวัน

ปัญหาหลักอีกประการคือการโฆษณาอย่างไม่บันยะบันยัง โดยเฉพาะประเทศไทย รายการซิทคอมที่ชื่อว่า Sausage Mansion มีโฆษณาแฝงเป็นไส้กรอกและสินค้าที่ขายอยู่ในเซเว่น อีเลฟเว่น ตลอดทั้งรายการ ซึ่งในเมืองไทยนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ผู้เป็นเจ้าของเซเว่น อีเลฟเว่น ฟาร์มสัตว์ และสื่อขนาดใหญ่ จึงมีทุนมากพอที่จะทำการโฆษณาชวนเชื่อผู้คนได้อย่างสบาย อีกประการหนึ่งคือ อาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายอยู่ในร้านนั้นยังทำลายวัฒนธรรมการกินที่พิถีพิถันของชาวอาเซียน ซึ่งปัจจุบันนี้หนีไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือไส้กรอกกินเป็นอาหารกันเกือบหมดแล้ว

 

(แปลและเรียบเรียงจาก globalpost.com)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า