รัก ลวง หลอน ที่ทัชมาฮาล

เรื่อง/ภาพ: บดินทร์ เทพรัตน์

_IGP0464

ก่อนออกเดินทาง

ทัชนั้นเปรียบดุจวงแหวนอันมีหัวเป็นมณีประมาณค่ามิได้ ที่กาลเวลาได้สวมไว้ในนิ้วนางของมันด้วยความหวงแหนและรักเป็นที่สุด” อาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร อ้างอิงจากหนังสือของ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’

“ทัชมาฮาล คือหยาดน้ำตาแห่งความรักบนแก้มของกาลเวลา” รพินทรนาถ ฐากูร

“ไม่มีสักภาพเดียวเลยที่พอจะทัดเทียมกับภาพทัชมาฮาลที่แต่ละคนได้มาสัมผัสด้วยตาตัวเอง” ธีรภาพ โลหิตกุล จากหนังสือ รักเดินทาง

นี่คือบางส่วนของคำนิยมนับแสนล้านชิ้น (เยอะไปไหม) ที่มีต่อ ‘ทัชมาฮาล’ สิ่งก่อสร้างที่ทำจากหินอ่อนสีขาวขนาดใหญ่อายุเกือบ 400 ปี ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่สถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในอันสวยงามยิ่งใหญ่อลังการ โดยใช้ช่างฝีมือและแรงงานมากกว่า 20,000 คนจากหลายประเทศ (ความน่าสนใจคือทีมงานเหล่านี้ล้วนได้รับการว่าจ้าง ไม่ได้ใช้แรงงานทาสเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งอื่นๆ) รวมเวลาการสร้างนานถึง 22 ปี (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1632 – 1654)

นอกจากนั้น เบื้องหลังการสร้างก็มีความ epic ไม่แพ้กัน กล่าวคือ มันเป็นสุสานและอนุสรณ์แห่งความรักที่จักรพรรดิชาห์ จาฮัน สร้างให้กับ มเหสีมุมตัส มาฮาล ที่เสียชีวิตจากการคลอดลูก แต่ด้วยเหตุที่กษัตริย์มัวแต่ผลาญเงินและเวลาไปกับการก่อสร้างจนไม่เป็นอันบริหารบ้านเมือง ทำให้โอรสของพระองค์ทำการรัฐประหาร แล้วจับพระองค์ไปขังในป้อมอักรา ในห้องที่สามารถมองเห็นทัชมาฮาลอย่างชัดเจน จวบจนเขาสิ้นลมหายใจในแปดปีต่อมา

ความยิ่งใหญ่ดังกล่าว ทำให้มันติดอันดับ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างไม่มีใครตั้งข้อกังขา และทำให้เมืองอักรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของทัชมาฮาล สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจากทุกมุมโลก ขนาดผมกับเพื่อนที่เป็นนักท่องเที่ยวแนวหลีกเลี่ยงแลนด์มาร์ค ยังอดไม่ได้ที่จะใส่ทัชมาฮาลลงไปในแผนการเที่ยวอินเดียของเราด้วย

หากการเดินทางไปทัชมาฮาลของเรามีแรงจูงใจจากคำนิยม มันก็ถูกทัดทานด้วย ‘คำไม่นิยม’ จากเหล่ามิตรสหายที่เคยไปเยือนเมืองนี้ เช่น “พี่ไปมาหลายเมืองแล้ว แขกที่เมืองนี้โหดสัสที่สุด” “ซื้อทัวร์ไปเถอะ อย่าไปเองเลย” “โดนพ่อค้าที่นั่นหลอกแล้วหลอกอีก จนมองเป็นเรื่องขำไปเลย” “ข้อดีของที่นั่นคือสถาปัตยกรรมสวยมาก แต่โดยรวมแล้วมันเป็นเมืองที่ไม่เวิร์คเท่าไรจนจ้างให้ก็ไม่ไปอีกแล้ว ทั้งขยะเกลื่อน ถนนแย่ จราจรวุ่นวาย ตึกทรุดโทรม ส่วนพ่อค้ากับแท็กซี่ก็บุกเข้าหานักท่องเที่ยวแบบจัดหนักมาก”

20150312_150245

แต่ของแบบนี้สิบปากว่าก็ไม่เท่าตาเห็น ต้องขอไปพิสูจน์กันให้เห็นสักตั้ง ซึ่งพอได้ไปเห็นจริงๆ ก็ต้องบอกว่าแม้จะมีความลำบากและวุ่นวายหลายอย่าง แต่โดยรวมแล้วมันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ส่วนคนที่นี่แม้จะหน้าดุแต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นคนน่ารักจิตใจดี ส่วนเหตุที่พวกเขา aggressive กับนักท่องเที่ยวเป็นเพราะอักราเป็นเมืองที่อยู่ได้ด้วยเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก (เช่นเดียวกับเมืองเสียมเรียบที่หาเงินได้จากนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่มานครวัด) ทำให้การแย่งกันเข้าหานักท่องเที่ยวจึงมีมาก ความโหดของพ่อค้าขายของ ขายทัวร์ และแท็กซี่ จึงมากกว่ามาตรฐานของอินเดีย (ซึ่งก็มีมากอยู่แล้ว) แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะถ้าหากเราปลงให้มากขึ้น และทำความเข้าใจว่ามันคือลักษณะเฉพาะของบ้านเมืองเขา ก็พอจะทำให้หายเซ็งและเที่ยวด้วยความสนุกมากขึ้น

เพราะคิดว่าเรามีทักษะหลบเลี่ยงการถูกหลอกได้เก่งพอตัว จึงชะล่าใจ เอาเข้าจริงๆ แล้วเราก็ทำได้แค่หลบการจู่โจมได้แบบเฉียดฉิวเท่านั้น เหมือนนักมวยที่เอาหัวหลบหมัดได้ในระยะไม่กี่เซนติเมตร

รถไฟสู่เมืองอักรา

เราเดินทางไปอักราด้วยรถไฟจากเดลีในช่วงบ่าย เนื่องจากกลัวว่าจะหลงทางหรือเกิดเหตุผิดแผน (ซึ่งเรื่องผิดแผนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติในทริปอินเดียประมาณวันละ 10 รอบ) ทำให้เราไปที่สถานีรถไฟล่วงหน้าเป็นชั่วโมง ในขณะที่เราเดินเข้าไปในสถานีอย่างสบายอารมณ์ ก็มีเจ้าหน้าที่ขอดูตั๋วและเรียกเราไปคุยด้วย

“ตอนนี้หิมะที่เทือกเขาเอเวอเรสต์ถล่ม ทำให้เที่ยวรถไฟของคุณถูกยกเลิก คุณต้องไปติดต่อเรื่องขอเปลี่ยนตั๋วตรงจุดทำการ เดี๋ยวคุณขึ้นริกชอว์คันนี้ไปได้เลย” พูดจบออโต้ริกชอว์ หรือสามล้อเครื่อง ก็เข้ามาจอดตรงหน้าเราอย่างรู้งาน แต่แผนการตื้นๆ แค่นี้หรือจะหลอกเราได้ เราจึงเดินไปถามเจ้าหน้าที่อีกคนที่ยืนอยู่ไม่ไกล ซึ่งเขาก็พูดเหมือนคนเมื่อกี๊ทุกประการ เราเลยเชื่อใจยอมขึ้นรถโดยดี (สำหรับผู้อ่านที่สงสัยว่าแผนการแค่นี้พวกเราเชื่อไปได้อย่างไร นั่นก็เป็นคำถามที่เราถามตัวเองจนถึงตอนนี้เช่นกัน)

ออโต้ริกชอว์พาเรามาส่งยังจุดหมายซึ่งดูยังไงก็เป็นเอเจนซีทัวร์ พอเราเดินเข้าไปก็ได้พบเจอกับการเสนอขายแพ็คเกจท่องเที่ยว ทั้งรถไฟ รถบัส พร้อมด้วยโรงแรม แบบครบเซ็ต หลังจากฟังอยู่สักพักเราก็ตัดบทเขาด้วยคำถามว่า “ขอดูแพ็คเกจที่ถูกที่สุดหน่อยครับ เพราะเราไม่มีเงินเหลือแล้ว” พนักงานเห็นหน้าเราแล้วคงเชื่อว่าพวกมึงจนกันจริงๆ ไม่ได้พูดเล่น เขาก็เลยเสนอแพ็คเกจในราคาถูกที่สุดซึ่งเราพอจ่ายไหว แต่ในขณะที่ผมกำลังลังเลว่าจะซื้อดีไหม เพื่อนผมที่เห็นอะไรบางอย่างในแววตาคนขาย ก็จัดการดึงมือผมออกมาจากเอเจนซีทัวร์ทันที

“เรากลับไปที่สถานีรถไฟก่อนดีกว่า ถ้ารถไฟยกเลิกจริงเราก็น่าจะพอหาทางอื่นไปได้ ดีกว่าเสียเงินให้กับบริษัทที่ดูไม่ชอบมาพากลแบบนี้” คำพูดของเพื่อนทำให้ผมตัดสินใจเดินทางกลับไปยังสถานีรถไฟ เพื่อที่จะพบว่าสิ่งที่พนักงานสองคนนั้นพูดเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เพราะรถไฟสายของเรายังไม่ถูกยกเลิก เพียงแต่เลทไปหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของรถไฟอินเดีย)

เราแค้นเสียจนอยากร้องตะโกนว่า “หิมะถล่มพ่องงงง” พร้อมกระโดดถีบขาคู่ใส่ทุกคนที่หลอกเราแบบเรียงตัว แต่เหมือนพวกเขาจะรู้ตัว เพราะพอเราเดินออกไปจุดเกิดเหตุ ก็พบว่าพวกเขาหายไปโดยไร้ร่องรอย ราวกับสิ่งที่เราได้พบเจอเมื่อกี๊เป็นเพียงแค่ความฝัน

โดนหลอกครั้งที่ 1: รอดมาได้อย่างหวุดหวิด

_IGP0503

ในร้านอาหาร

ใช้เวลาเดินทางห้าชั่วโมง ในที่สุดเราก็มาถึงอักราในช่วงพระอาทิตย์ตก ในเมืองนี้เรามองเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหลากหลายและคึกคักกว่าเมืองอื่นๆ ในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นแบ็คแพ็คเกอร์ยุโรปกับญี่ปุ่น คนดำ ทัวร์ฝรั่งสูงอายุ ทัวร์จีน (สถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนไม่มีทัวร์จีน ถือว่าไม่ดังจริง)

อักราเคยเป็นเมืองหลวงของอินเดียในยุคที่ปกครองโดยราชวงศ์โมกุล แต่เสื่อมโทรมลงเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เดลี เราสามารถมองเห็นถึงร่องรอยความเจริญในอดีตของเมืองนี้ได้จากสถาปัตยกรรมแบบอิสลามที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นวัง ป้อมปราการ มัสยิด บ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ต่อมาภายหลังเมืองนี้ได้กลับมาคึกคักอีกครั้งเพราะการท่องเที่ยว เห็นได้จากธุรกิจที่ทำเงินจากนักท่องเที่ยวผุดขึ้นมามากมายราวกับดอกเห็ด ส่วนคนในเมืองก็พูดภาษาอังกฤษกันคล่องปร๋อ

เมืองนี้อยู่ไม่ไกลนักจากเมืองหลวงอย่างเดลี ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลายคนเดินทางมาแบบเช้าไปเย็นกลับ แต่เราเลือกที่จะนอนค้าง เพื่อที่จะได้เที่ยวอย่างไม่รีบร้อน และมีโอกาสสัมผัสบรรยากาศของเมืองอักรา ทั้งในยามเช้าและยามเย็น ซึ่งการหาที่พักที่นี่ไม่ใช่เรื่องยากลำบาก เพราะมีมากมายหลายแบบให้เลือก แถมราคายังสบายกระเป๋าอย่างเหลือเชื่อ อย่างโรงแรมที่ผมอยู่นั้นหารกับเพื่อนแล้วตกคนละไม่ถึง 100 บาทต่อคืน!

ข้อดีของโรงแรมนี้คือ มีแอลกอฮอล์แอบขาย (ด้วยเหตุผลเรื่องศาสนา ทำให้แอลกอฮอล์ เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นของที่หากินยากมากในอินเดีย) แต่ข้อเสียคือ พนักงานโรงแรมมักจะเปิดประตูเข้ามาแบบพรวดพราดโดยไม่เคาะประตูเตือนก่อน เพื่อเข้ามาถามเราว่าจะสั่งอาหารไหม จะเอาชากาแฟไหม (ซึ่งเราเจอแทบทุกครั้งตอนพักอยู่โรงแรมท้องถิ่น ราวกับว่า privacy ไม่มีความหมายในดินแดนนี้) เรียกได้ว่าถ้าเกิดเปิดมาในจังหวะที่เรากำลังทำอะไรลับๆ ล่อๆ ก็คงเห็นหมด

ด้วยความเหนื่อยล้าทำให้เราหลับเพลินจนตื่นมาตอนตะวันสายโด่ง (ทำให้แผนการเดินสำรวจเมืองอักรายามเช้าเป็นอันล่มสลาย) เรากินข้าวเช้าที่ร้านอาหารหน้าโรงแรม ระหว่างนั้นเจ้าของร้านอาหารก็มาชวนคุยด้วย พอรู้ว่าเรามาจากเมืองไทย ท่าทีเขาก็ดูกระตือรือร้นอย่างเห็นได้ชัด

“ผมชอบเมืองไทยมาก เคยไปอยู่ที่นั่นหนึ่งเดือน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผมรักมากที่สุด” แล้วเขาก็พูดถึงคุณงามความดีของเมืองไทยมากเสียจนเราคิดว่า ที่พูดมานั่นใช่ประเทศเดียวกับที่เรารู้จักหรือเปล่า

“คุณมีเงินไทยหรือเปล่า ผมอยากขอแลกกับเงินอินเดียได้ไหม เพราะผมรักเมืองไทยมาก แต่ยังไม่มีเงินไทยเก็บไว้เลย” เจ้าของร้านกล่าว เราตอบตกลงอย่างไม่คิดมากจนกระทั่งเขาบอกอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเราเป็นฝ่ายขาดทุนย่อยยับ เราจึงเจรจาขอปรับอัตราแลกเปลี่ยนกับเขาอยู่นาน แต่ก็ตกลงกันไม่ได้สักที จนเขายื่นข้อเสนอว่า “คุณเห็นพวงกุญแจนี่ไหม ผมจะมอบให้ ถ้าคุณแลกเงินกับผม” พอเห็นพวงกุญแจที่หาความสวยงามแทบไม่เจอ เราก็ใช้เวลาคิดประมาณ 0.5 วินาที ก่อนจะปฏิเสธอีกครั้ง

“นี่ฟังนะ” เขาเริ่มพูดจริงจัง “พวงกุญแจนี้มันมีคุณค่ามากกว่าเงิน เพราะมันจะทำให้คุณจดจำได้ว่าครั้งหนึ่งคุณเคยมาที่อินเดีย และครั้งหนึ่งคุณเคยเจอกับผม” ถือเป็นคำพูดที่ชวนให้เคลิ้มราวกับกำลังอยู่ในหนังโรแมนติก ติดตรงที่คนที่อยู่ข้างหน้าผมนั้นไม่ใช่หญิงสาวหน้าตาเหมือน ยู อาโออิ หรือ จวนจีฮุน แต่เป็นคุณพี่หน้าแขกพุงโตหนวดเฟิ้ม ในขณะที่ผมกำลังลังเล เพื่อนผมก็สัมผัสได้ถึงความไม่ชอบมาพากล จึงตัดบทว่าขอคิดดูก่อน แล้วพาผมออกจากร้านอาหาร

เราสอบถามผู้รู้ในภายหลัง ซึ่งได้ความว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าของร้านอาหารหรือโรงแรมจะชอบผูกมิตรกับนักท่องเที่ยว จากนั้นจึงขอแลกเงินในอัตราถูกๆ โดยใช้คำพูดยั่วใจและเอาของมาแลก เพื่อนำเงินนั้นไปทำกำไรต่อ ด้วยเหตุนี้คำบอกรัก (ประเทศ) ที่เขาบอกจึงน่าจะเป็นคำหลอกลวงเสียมากกว่า

โดนหลอกครั้งที่ 2: รอดมาได้อย่างหวุดหวิด

_IGP0437

สู่ทัชมาฮาล

เราใช้เวลาในช่วงเที่ยงไปกับสถานที่สำคัญอย่างป้อมอักรา ก่อนจะมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายที่เรารอคอยอย่างทัชมาฮาล เนื่องจากเขาไม่อนุญาตให้นำรถเข้าไป ทำให้ริกชอว์ส่งเราข้างนอก แล้วเราต้องเดินเข้าไปเองอีกระยะหนึ่ง แดดช่วงบ่ายของที่นี่ร้อนจัดเสียจนอยากร้องขอชีวิต มันทำให้เราถกกันว่า เคยมีใครตายเพราะแดดร้อนในอินเดียหรือเปล่าหนอ-ก่อนที่จะได้รู้ข่าวในอีกไม่กี่เดือนต่อมาว่า เกิดคลื่นความร้อนจัดในอินเดียช่วงมิถุนายน 2015 จนมีคนตายเกือบ 2,000 คน

การเดินบนท้องถนนในอินเดีย เราอาจหยิบยืมสโลแกนของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่ว่า ‘You’ll never walk alone’ มาใช้ได้อย่างไม่ขัดเขิน เพราะจะมีเพื่อนร่วมเดินทางไปกับเรามากมายไม่ว่าจะเป็นคนขายของ ขอทาน แท็กซี่ ริกชอว์ คนขายทัวร์ หรือพนักงานขายของที่ดึงลูกค้าเข้าร้านกับแบบถึงเนื้อถึงตัว เทียบแล้วพนักงานขายประกันบ้านเรายังต้องชิดซ้าย แต่ละคนพยายามพูดจาทักทาย ผูกมิตร แนะนำข้อมูล และขายของแบบรวบรัดภายใน 15 วินาที เราก็กล่าวตอบไปว่า ถ้าได้กลับมาทางเดิมจะแวะมาอุดหนุนนะ-แน่นอนว่าสุดท้ายเราเลือกออกอีกทาง

ที่จุดขายตั๋วมีคนต่อคิวเยอะมากทั้งชาวต่างชาติและคนอินเดียท้องถิ่น ซึ่งค่าตั๋วคนท้องถิ่นถูกกว่าคนต่างชาติหลายเท่า โดยค่าตั๋วคนอินเดียอยู่ที่ 20 รูปี คนต่างชาติ 750 รูปี ส่วนประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือแห่งอ่าวเบงกอล หรือ BIMSTEC อยู่ที่ 510 รูปี (1 รูปี เท่ากับ 0.55 บาท) ในตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่ากลุ่ม BIMSTEC มีไว้ทำไม แต่พอรู้ว่าไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิก เราก็เลยยื่นพาสปอร์ตแสดงความมีส่วนร่วมกับกลุ่มนี้เพื่อส่วนลดทันที

เราเดินตามฝูงชนไปที่ทางเข้า ทัชมาฮาลค่อยๆ ปรากฏให้เห็นตรงซุ้มประตูราวกับเป็นอินโทรก่อนเข้าสู่หนังเรื่องยาว พ้นจากซุ้มประตูเป็นสวนและน้ำพุอันกว้างใหญ่ซึ่งมีนักท่องเที่ยวหามุมถ่ายรูปกันมากมาย ท่าฮิตที่สุดคงหนีไม่พ้นเอาสองนิ้วคีบทัชมาฮาลซึ่งออกมาเป๊ะบ้างไม่เป๊ะบ้าง ส่วนท่ายืนนิ่งๆ หน้าเด้ด ถ่ายไกลๆ แบบฮิปสเตอร์ยังไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไร เห็นได้จากเวลาที่เราถ่ายรูปสไตล์นี้ มักจะมีคนอินเดียมองด้วยความงุนงงว่าพวกแกทำอะไรกัน

จุดเด่นของทัชมาฮาลไม่ได้อยู่ที่ความใหญ่โตเหมือนพีระมิด นครวัด หรือพระราชวังต้องห้าม ที่จริงมันเล็กมากกว่าที่คิดไว้ด้วยซ้ำ แต่จุดเด่นของมันอยู่ที่ความสวยงาม ความลงตัว รายละเอียดยิบย่อยมากมาย และมีเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องมาเห็นด้วยตาตัวเองเท่านั้น ถึงจะสัมผัสความยิ่งใหญ่ของมันได้

สิ่งที่ช่วยขับเน้นให้ทัชมาฮาลโดดเด่นเกิดจากสามข้อ ข้อหนึ่ง-เนื่องจากทัชมาฮาลตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา ซึ่งไม่มีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ตั้งอยู่เคียงข้าง ทำให้มันเหมือนโดมสีขาวที่ลอยอยู่บนอากาศโดยไม่มีสิ่งใดเบียดบัง ข้อที่สอง-มันเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสมมาตรในทุกด้าน ซึ่งความสมมาตรเป็นลักษณะของสวรรค์ที่ได้รับการบรรยายไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ตั้งแต่ตัวทัชมาฮาลจนถึงสวนและอาคารโดยรอบ จนถ้าเราจับทัชมาฮาลมาหั่นครึ่งก็จะพบว่าทั้งสองข้างเท่ากันเป๊ะ! ข้อที่สาม-การฝังอัญมณีและหินสีลงไปในหินอ่อนให้เป็นลวดลายต่างๆ ทั่วทั้งบริเวณ เป็นเทคนิคชั้นสูงซึ่งยากจะเลียนแบบได้

หลังจากเบียดเสียดกับฝูงชนเพื่อเข้าไปดูในอาคารจนแทบขาดอากาศหายใจ เราก็ออกมานั่งเล่น โดยรอบทัชมาฮาลมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อนมากมาย ที่จุดพักริมแม่น้ำ เรามองเห็นฝรั่งสูงอายุคนหนึ่ง ซึ่งเราจำได้ว่าเคยเจอเขาที่เมืองพาราณสีช่วงต้นทริป เราจึงชวนเขาคุย เขาบอกว่าเดินทางจากเยอรมนีมาเที่ยวคนเดียวเพราะแฟนเขาเพิ่งตายไป ที่จริงเขาเคยมาที่นี่เมื่อหลายปีก่อนกับแฟน จึงรู้สึกเศร้าอยู่บ้างเวลาเจอสถานที่เก่าๆ ที่เคยไปด้วยกัน แต่อีกด้านมันก็ทำให้มีความสุขตรงที่ทำให้เขาได้ระลึกว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยมีช่วงเวลาดีๆ กับคนที่เขารักมากที่สุด

ฟังแล้วถือเป็นเรื่องราวความรักที่ชวนให้รู้สึกซาบซึ้งไม่แพ้เรื่องราวของผู้สร้างอนุสรณ์ความรักที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างหลังเราตอนนี้เลย

_IGP0466

เราเดินออกจากทัชมาฮาลด้วยความอิ่มใจ แต่จุดหมายของเรายังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะเรายังต้องไปที่ ‘เบบี้ทัช’ สถานที่ขึ้นชื่อของอักราอีกแห่ง ตรงทางออกยังคงมีพ่อค้าเข้ามารุมล้อมและตามตื๊อเรามากมายไม่แพ้ตอนขาเข้า พ่อค้าคนหนึ่งถามเราว่าจะไปไหนกัน พอเราตอบว่า เบบี้ทัช เขาก็ทำเสียงตกอกตกใจ “ตอนนี้ 4 โมงครึ่งแล้ว ที่นั่นปิด 5 โมง ยังไงคุณก็ไปไม่ทัน” พอเห็นเราอ้ำอึ้งเขาก็พูดต่อ “ยังไงก็ไม่ทันแล้ว คุณมาเดินดูของในร้านเราดีกว่า”

เรารีบเดินหนีจากกลุ่มพ่อค้าอย่างรวดเร็ว แต่คำพูดดังกล่าวก็ทิ้งข้อสงสัยในใจเราว่า ตกลงเบบี้ทัชมันปิดหรือยัง จะเช็คข้อมูลก็ทำไม่ได้ เพราะเราไม่มีหนังสือไกด์บุ๊คหรือซิมที่ต่ออินเทอร์เน็ตติดมือมา (ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของนักท่องเที่ยวที่ไม่ยอมเตรียมข้อมูลอะไรเลย) จะวัดใจเดินทางไปเลยก็ไม่กล้า เพราะมันก็ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ เสียด้วย

“ฉันว่ายังไม่ปิดหรอก ดูจากแววตาแล้วพ่อค้าคนนั้นไม่น่าพูดความจริง วัดดวงนั่งรถไปกันเลยดีกว่า” เพื่อนผมตัดสินใจจากการดูแววตาอีกครั้ง ซึ่งพอเรานั่งรถไปถึง ก็พบว่ามันยังเปิดทำการอยู่! โดยป้ายตรงทางเข้าเขียนไว้ว่า “เวลาทำการ: ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก” ถือเป็นการแจ้งเวลาที่นามธรรมมาก

โดนหลอกครั้งที่ 3: รอดมาได้อย่างหวุดหวิด (อีกแล้ว)

_IGP0488

เบบี้ทัช

ที่จริงสถานที่นี้มีชื่อเรียกว่า สุสานอิติหมัด-อุด-ดาอุลาห์ (Itimad-ud-Daulah’s Tomb) ส่วน ‘เบบี้ทัช’ เป็นชื่อไม่เป็นทางการที่นักท่องเที่ยวเรียกจนติดปาก เนื่องจากมีลักษณะคล้ายทัชมาฮาลแต่เล็กกว่า (ซึ่งเข้าใจได้ว่าทำไมเรียกแบบนั้น เพราะถ้าให้เรียกชื่อเต็มคงไม่มีใครเรียกถูก) เป็นสุสานที่ ราชินีจาฮานกิร์ แห่งราชวงศ์โมกุลสร้างถวายบิดา โดยสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1622 – 1628

ที่จริงเบบี้ทัชถูกสร้างขึ้นก่อนทัชมาฮาลเกือบ 20 ปี แต่ด้วยความที่มันอลังการน้อยกว่า และไม่มีเรื่องเล่าระดับตำนานเป็นแบ็คกราวด์ ทำให้นักท่องเที่ยวมักจะมองข้าม ทั้งที่มีความสวยงามเฉพาะตัว อาจจะมีขนาดเล็ก แต่มีรายละเอียดแทรกอยู่ทุกๆ ตารางเซนติเมตร บวกกับมีบรรยากาศที่เงียบสงบกว่าทัชมาฮาล เนื่องจากคนวุ่นวายน้อยกว่า ทำให้หลายคนประทับใจที่นี่ไม่แพ้ทัชมาฮาล ซึ่งรวมถึงเราด้วย

เรานั่งมองเบบี้ทัชโดยมีฉากหลังเป็นพระอาทิตย์กำลังตก เป็นภาพที่ไม่ต่างจากความฝัน และถือเป็นการปิดโปรแกรมการท่องเที่ยวในเมืองอักราของเราอย่างสมบูรณ์แบบ

_IGP0479

เรากลับมาที่โรงแรมเพื่อนั่งรอเวลา 4 ทุ่ม ซึ่งเรานัดออโต้ริกชอว์ที่จะพาเราไปขึ้นรถบัสรอบดึกเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองชัยปุระ ระหว่างที่รถกำลังพาเราฝ่าความมืดมิดของท้องถนน อยู่ดีๆ ก็มีแบ็คแพ็คเกอร์ญี่ปุ่นโผล่จากความมืดโบกให้รถเราจอด “ช่วยด้วย ผมหารถไปขึ้นรถบัสรอบดึกไม่ได้ ผมขอติดรถคุณไปด้วยได้ไหม” เขาบอก

คนขับยอมให้เขานั่งข้างๆ โดยดี ผมกับเพื่อนแอบคุยกันว่า “เอาล่ะมึง ไม่ยอมถามราคาค่าโดยสารก่อนแล้วขึ้นรถมาแบบนี้ โดนเรียกเก็บเงินกระเป๋าฉีกแน่นอน” นั่งไปสักพักก็ถึงจุดจอดรถบัสของเขา ขณะที่หนุ่มญี่ปุ่นคนนั้นกำลังจะควักกระเป๋าหยิบค่าโดยสาร คนขับก็ยกมือสื่อว่าไม่เอาเงิน แล้วขับรถพาพวกเราออกไปทันที

พวกเราที่หลอนกับการโดนหลอกมาตลอด พอเห็นการกระทำของคนขับแล้ว หากพูดเว่อร์ๆ ก็ต้องบอกว่าความเชื่อมั่นในมนุษยชาติได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง แม้จะเข้าใจว่าคนขับได้เงินจากการเหมารถมาส่งเราแล้ว จะรับเงินคนอื่นมาอีกก็น่าเกลียด แต่การที่เขาไม่รับเงินเลย ก็ทำให้เรารู้สึกผิดที่ไปเหมารวมว่าคนอินเดียที่หากินกับนักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องโหด เขี้ยว ขี้โกง ตื๊อ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความจริงเสมอไป

มีคนเคยบอกว่า การเดินทางทำให้เรามองโลกกว้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้บางคนยิ่งมองโลกแคบลง แม้เราจะเป็นนักเดินทางที่ไม่ชอบตั้งปณิธานอะไร แต่อย่างน้อยเราก็แอบหวังว่า ขอให้เราเป็นนักท่องเที่ยวแบบอย่างแรก ไม่ลงเอยแบบประเภทหลังก็พึงใจแล้ว

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า