เยอรมนี ตุรกี และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

The_Eternal_Flame_-_Armenian_Genocide_Memorial_in_Yerevan

อนุสรณ์รำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกรุงเยเรวาน ประเทศอาร์เมเนีย

 

พฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐสภาเยอรมนีได้ลงมติร่วมกันว่า การสังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียน1.5 ล้านคน และชนกลุ่มน้อยคริสเตียน ในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยจักรวรรดิออตโตมัน ควรถูกเรียกว่าเป็นการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (genocide)

เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ทั้งพรรค Christian Democrats (CDU) ของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล พรรคร่วมรัฐบาล Social Democrats (SPD) และพรรค German Greens ต่างเห็นพ้องต้องกันในมติที่ว่า เยอรมนีจะเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 101 ปีที่แล้วว่าเป็นการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

ที่ผ่านมา กว่า 20 ประเทศ ทั้งฝรั่งเศส รัสเซีย ออสเตรีย ลงมติเห็นชอบเรื่องนี้ ขณะที่พระสันตะปาปาฟรานซิส ก็ยอมรับว่า การสังหารหมู่ในปี 1915-1916 เป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งแรกของศตวรรษที่ 20’

ตัวเลขของอาร์เมเนียระบุว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.5 ล้านคน แต่ตุรกีปฏิเสธเรื่องนี้มาตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า ผู้เสียชีวิตมีจำนวนน้อยกว่านั้นมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงไม่ควรถูกเรียกว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

หลังผ่านการลงมติ รัฐบาลตุรกีได้เรียกทูตประจำเยอรมนีกลับประเทศ โดยประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน กล่าวว่า การเรียกทูตกลับเป็นเพียงมาตรการตอบโต้ขั้นต้น รวมถึง เดฟเลท บาห์เชลี แกนนำพรรคชาตินิยม Nationalist Movement Party ที่เรียกร้องให้ตุรกียกเลิกข้อตกลงเรื่องผู้อพยพที่ทำไว้กับ EU ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างตุรกีกับเยอรมนีตึงเครียดมากขึ้น

รัฐบาลอันคารายังตอบโต้อีกว่า เยอรมนีพยายามยกประวัติศาสตร์อันเลวร้ายของคนอื่นมาปิดบังประวัติศาสตร์นาซีของตนเอง พร้อมทั้งกล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อปี 1915-1916 เป็นโศกนาฏกรรมของทั้งชาวเติร์กและอาร์เมเนียน ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้น คำว่า ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ที่ถูกลงมติโดยเยอรมนีและนานาชาติ จึงเต็มไปด้วยอคติ และสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับประวัติศาสตร์

ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาเยอรมนีให้ความเห็นว่า ในฐานะพันธมิตรของจักรวรรดิออตโตมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 พวกเขารู้เห็นกับการสังหารหมู่ครั้งนั้น แต่ไม่ได้พยายามหยุดยั้งมัน ดังนั้น ผลการลงมติครั้งนี้ของเยอรมนีคือการยอมรับผิดและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ในอดีต ไม่ใช่เพื่อเจตนาทำลายความสัมพันธ์กับตุรกี

เจม ออซเดมีร์ ตัวแทนจากพรรค German Greens ชาวเตอร์กิช-เยอรมัน ให้ความเห็นว่า การลงมติยอมรับว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ใช่การชี้นิ้วกล่าวหาว่าใครผิดหรือถูก แต่เป็นหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างตุรกีและอาร์เมเนียขึ้นมา

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
theguardian.com
rt.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า