ข้อสังเกตจากที่ประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 35 เมื่อเข็มทิศอาเซียนเบนเข้าหาปักกิ่ง

หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานประธานการประชุมอาเซียนซัมมิท (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ได้ทำพิธีมอบค้อนให้ เหงียน ซวน ฟุก (Nguyễn Xuân Phúc) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ก็นับเป็นสัญลักษณ์ทางการทูตแล้วว่า ประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อไปในปี 2020 คือ เวียดนาม

การประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ก็ยังคงความได้รับการติดตามเพราะเป็นการรวมตัวผู้นำนานาชาติเข้าร่วม โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติเข้าร่วม และยังมีผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียนที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี และรัสเซีย รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ ที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 

นอกจากข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศที่น่าสนใจนอกเวที เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่เดินทางมาประชุมด้วยตนเอง ท่าทีหันเข้าหาปักกิ่งแนบชิดยิ่งขึ้นทั้งไทยและอาเซียน หรือประเด็นร้อนเหนือทะเลจีนใต้ของเหล่าชาติอาเซียน คำถามคือยังมีโจทย์ที่น่าสนใจอะไรบ้างที่ชวนคิดกันต่อหลังการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 ผ่านพ้นไป เราคัดสรรประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ประเด็นที่ 1

อินเดียตัดสินใจไม่ลงนามในความตกลง RCEP

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) 15 ประเทศยังคงดำเนินต่อไป ยกเว้นอินเดียอีก 1 ประเทศ ที่ยังตัดสินใจไม่ได้เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยต้องไปเจรจากันต่อจำนวน 20 ข้อตกลง เพื่อเปิดตลาดเสรี 100 เปอร์เซ็นต์ของรายการสินค้า ประเด็นนี้อินเดียกังวลว่าสินค้าจากจีนจะหลั่งไหลเข้าไปยังอินเดีย

การมาเยือนที่ประชุมอาเซียนซัมมิทอีกครั้งของผู้นำจากประเทศ ถูกเปิดด้วยภาพของที่ประชุมได้แสดงความยินกับนายกรัฐมนตรีอินเดียในโอกาสชนะเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย รวมทั้งยินดีต่อนโยบายมุ่งตะวันออกของอินเดีย (India’s Act East Policy) และการที่อินเดียให้การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและร่วมมือในกลไกความร่วมมือที่อาเซียนมีบทบาทนำ (ASEAN-led mechanisms) 

อย่างไรก็ตาม ความใกล้ชิดระหว่างอาเซียนอินเดียจะมีความก้าวหน้าขึ้นไป ทั้งการให้ความสำคัญเรื่องการรับมือการก่อการร้าย การต่อต้านแนวคิดนิยมความรุนแรงและสุดโต่ง และอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางทะเล และความมั่นคงไซเบอร์ ทั้งนี้ ผู้นำเห็นว่าอาเซียนและอินเดียต่างมีมุมมองต่ออินโด-แปซิฟิกที่สอดประสานกัน

ทว่าในมิติเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุมมุ่งหวังที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างอินเดียและอาเซียนถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ และจะเปิดการเข้าถึงตลาดระหว่างกันมากขึ้นภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP แต่อินเดียยังไม่มีการตัดสินใจลงนามในความตกลงหุ้นส่วนนี้ ดังที่ เล่อ อวี้เฉิง (Le Yucheng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่เปิดเผยว่า ประเทศคู่เจรจา RCEP จำนวน 15 ประเทศ ตัดสินใจเดินหน้าข้อตกลงไปก่อน โดยกำหนดจะลงนามความตกลงในปี 2020 ซึ่งทุกประเทศเห็นพ้องกันที่จะเปิดกว้างให้อินเดียสามารถเข้าร่วมได้ทุกเมื่อ เมื่อมีความพร้อมเต็มที่ 

สำหรับเหตุผลที่อินเดียตัดสินใจไม่ลงนามในความตกลง RCEP เพราะยังมีความเห็นต่างเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีศุลกากร การขาดดุลการค้า และการตั้งกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

ประเด็นที่ 2

ผู้นำ 7 ประเทศส่งเพียงตัวแทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วม

สำหรับการประชุมครั้งนี้พบว่า ผู้นำสูงสุดของประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และจีน ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุม ยกเว้นเพียง ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางมาร่วม ขณะที่ประเทศอื่นๆ เลือกส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมเท่านั้น ในกรณีของสหรัฐ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แต่งตั้ง โรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน (Robert C. O’Brien) ผู้ช่วยประธานาธิบดีฝ่ายกิจการความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ เป็นผู้แทนพิเศษเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน 

โอไบรอันตอบคำถามผู้สื่อข่าวในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ โดยระบุว่า ประเทศขนาดใหญ่ไม่ควรรังแกประเทศขนาดเล็ก และทรัพยากรต่างๆ ในทะเลจีนใต้ล้วนเป็นของแต่ละประเทศที่เป็นเจ้าของน่านน้ำ ซึ่งควรจะสืบทอดไปยังลูกหลาน และตนไม่มองว่าสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ เพราะทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิกที่สหรัฐอเมริกามีส่วนถือครองน่านน้ำเช่นกัน  

ประเด็นที่ 3

ญี่ปุ่นใกล้ชิดมากขึ้น ขณะที่จีนรุกเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ที่เดินหน้ามาถึงความสัมพันธ์ในระดับไว้วางใจกัน (heart to heart) และนับเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (equal partnership) จนสามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันประกาศความตกลงร่วมกันทั้งในแง่อัตลักษณ์และวิสัยทัศน์ในการกำหนดนโยบาย รวมถึงความร่วมมือกันทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้ายสากล การเพิ่มเงินกู้และการลงทุนของญี่ปุ่นต่ออาเซียน และอาเซียนยังชื่นชมญี่ปุ่นต่อบทบาทในกลไกต่างๆ ของอาเซียน เช่น เวทีอาเซียนบวก 3 (ASEAN Plus Three: APT) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) และเวทีภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Forum: ARF)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จะไม่เดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ แต่ได้ส่ง หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความขอบคุณที่จีนสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และทราบความคืบหน้าในการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติ (code of conduct) ในทะเลจีนใต้ 

สำหรับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทั้งสองฝ่ายได้เน้นการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี โดยยึดถือกฎเกณฑ์ทางการค้าเป็นพื้นฐานสำคัญ การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน และการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคผ่านการสอดประสานแผนแม่บทเพื่อความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ปี 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity (2025) ) และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative: BRI)

และที่ประชุมได้ออกถ้อยแถลงประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 (Chairman’s Statement of the 10th ASEAN: China Summit) รับรองถ้อยแถลงส่งเสริม การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียน-จีน ริเริ่มความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะ และถ้อยแถลงอาเซียน-จีนว่าด้วยการสอดประสานแผนแม่บทเพื่อความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดให้ปี 2020 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน

ประเด็นที่สำคัญมากที่สุดคือ จีนได้รับสถานะคู่เจรจาของอาเซียนในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 29 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 1996 และได้รับการยกระดับสถานะขึ้นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพ และความมั่งคั่งในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 เมื่อปี 2003 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ต่อมาเมื่อปี 2018 อาเซียนและจีนได้ฉลองการครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน และได้รับรองวิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ปี 2030

ประเด็นที่ 4

GSP ยังมีเวลาเจรจาใหม่ใต้ประเด็นสิทธิแรงงาน

อีกประเด็นที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะไทยกับสิทธิพิเศษทางการค้าแบบปลอดภาษีภายใต้ระบบ GSP (Generalized System of Preferences) ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐเคยให้แก่ประเทศไทย กำลังจะหมดลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยอ้างเหตุผลว่าไทย “ยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องสิทธิแรงงานให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล”

กรณนี้สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานความเห็นของ วิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ซึ่งรับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ กล่าวว่า รัฐบาลไทยยังมีเวลาสำหรับการเจรจาใหม่อีกครั้งกับรัฐบาลสหรัฐ หลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในโครงการ GSP แก่สินค้าไทยราว 1 ใน 3 คิดเป็นมูลค่าราว 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 39,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากไทยไม่ดำเนินการปกป้องแรงงานตามมาตรฐานสากล และจะมีผลบังคับใน 6 เดือนข้างหน้า[1]

รัฐบาลไทยมีแผนที่จะขอประชุมนอกรอบกับทางสหรัฐ ในประเด็นที่ประเทศไทยโดนระงับข้อตกลงตามมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐ แก่ประเทศไทยในสินค้า 573 รายการ ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมเกือบ 40,000 ล้านบาท

[1] ‘Still time’ for Thailand to solve U.S. duty-free issue: U.S. commerce secretary เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมสารสนเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า