ความอับจนของตลก

chaiyan-jun2016

ภาพประกอบ: พีรเวทย์ กระแสโสม

 

ชื่อเรื่องนี้ ผมได้อิทธิพลมาจากหนังสือสามเล่ม เล่มแรกเป็นข้อเขียนของ คาร์ล มาร์กซ ชื่อ The Poverty of Philosophy เขียนเมื่อปี 1847 ส่วนเล่มที่สองคือ ความอับจนของลัทธิมาร์กซ ผู้แต่งคือ ปรีดี บุญซื่อ พิมพ์ครั้งที่ 2  ปี พ.ศ. 2524 และเล่มที่สามคือ ความอับจนของลัทธิเหมา โดย สุวินัย ภรณวลัย ซึ่งตีพิมพ์ไล่เลี่ยกันกับของปรีดี

ผมเข้าใจว่า แนวการตั้งชื่อหนังสือโดยขึ้นต้นว่า ‘the Poverty’ หรือที่ปรีดีและสุวินัยนำมาใช้ตั้งชื่อภาษาไทยหนังสือของเขาว่า ‘ความอับจน’ น่าจะเริ่มต้นที่มาร์กซเป็นคนแรก แต่ผมรู้จักการตั้งชื่อหนังสือแบบนี้จากหนังสือของปรีดีก่อน แล้วก็ค่อยตามด้วยหนังสือของสุวินัย และไปลงเอยที่การอ่านงานของมาร์กซตอนเรียนปริญญาโท และเข้าใจว่า เวลาใครตั้งชื่อหนังสือแบบนี้ พวกเขาน่าจะกำลังบอกถึงความอับจนของสิ่งที่เขากำลังจะกล่าวถึง และผมก็กำลังจะกล่าวถึงความอับจนของ ‘ตลก’

ในเบื้องแรก ความอับจนของตลกน่าจะหมายถึงอาการหมดมุก คือคิดมุกไม่ออก ปล่อยมุกซ้ำๆ จนคนเบื่อ หรือไม่ก็ไปไม่เป็นยามเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการที่คนดูป่วน หรือไม่ก็เจอตลกที่ตลกกว่า และตอกกลับจนไปไม่เป็น ที่กล่าวมานี้ก็ถือว่าเป็น ‘ความอับจน’ ของตลกอย่างหนึ่ง

แต่อีกความหมายหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายที่ผมรู้สึกขึ้นมาเองไม่นานมานี้ และคงไม่ใช่ผมคนแรกที่รู้สึกอย่างนั้น น่าจะมีคนที่เคยรู้สึกและเคยอยู่ในสถานการณ์อับจนที่ว่านี้มาไม่น้อยในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ที่เริ่มมีตลก

ความหมายของความอับจนของตลกหรือตลกถึงคราวอับจนนี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่มีอาชีพตลก พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องหากินจากการเอาความตลกไปแลกข้าวหรือแลกเงิน หรืออาจจะถึงกับแลกกับชีวิตก็ตาม แต่ไม่ว่าจะแลกหรือขายเพื่อให้ได้อะไร ที่แน่ๆ คือ อีกฝ่ายหนึ่งต้องการหัวเราะ ต้องการขบขัน เพราะการหัวเราะ และการรู้สึกขำขันหรือขบขันมันทำให้มีความสุข และผมเข้าใจว่า ความสุขแบบนี้น่าจะเกิดได้แต่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ถ้านักสัตววิทยาท่านใดจะแย้งว่า มีสิ่งมีชีวิตอื่นที่สามารถมีความสุขจากการหัวเราะขบขัน ก็ช่วยเมตตาให้วิทยาทานผมและ อริสโตเติลด้วย (ส่งมาได้ที่ [email protected] ส่วนที่อยู่ติดต่อหรือ email ของอริสโตเติลผมไม่ทราบ)

คนที่หากินกับการขายหรือแลกความตลกมีหลายรูปแบบ ที่ชัดเจนคือ ตัวตลก ดาราตลก ที่แสดงความตลกออกมาจากกิริยาท่าทาง การแต่งหน้าแต่งตัว คำพูด ร้องเพลง ฯลฯ  ตลกแบบนี้ในบางกรณีเป็นแนว ‘ตลกเจ็บตัว’ นั่นคือ แสดงตลกโดยการให้ผู้ร่วมงานทำร้ายเขาต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นกายกรรมหรือวจีกรรม เราจะเห็น ‘ดาราตลกแนวเจ็บตัว’ นี้บ่อยๆ พวกเขามักจะถูกถีบ ตี ให้กินอะไรที่ไม่ควรกิน ฯลฯ  นอกจากแสดงตลกแล้ว ก็ยังมีเขียนตลก อันได้แก่ เขียนเรื่องชวนหัว เขียนบทตลก และวาดการ์ตูนตลก

แน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นตลกแบบไหน ถ้าเกิดหมดมุกเมื่อไร ก็ถือว่าเข้าข่ายอับจนตลกแน่นอน แต่ความอับจนของตลกอีกแบบหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่นานมานี้ก็คือ เขาไม่ได้หมดมุก แต่เขาไม่อยู่ในช่วงเวลาที่ควรจะแสดงมุกตลกออกมา ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือการเขียน แต่มีความจำเป็นบางอย่างที่บีบคั้นให้เขาต้องแสดงออกมา ทั้งๆ ที่เขาไม่อยากจะแสดงหรือเขียนออกมา ขอย้ำว่า-เขาไม่ได้หมดมุก แต่เขาไม่ได้อยู่ในอารมณ์!

ตัวอย่างแรกคือ ในกรณีที่จอมเผด็จการทรราชคนหนึ่งต้องการมีความสุขจากการรู้สึกขำ (แต่ก็มีผู้นำที่ต้องการคืนหรือให้ความสุขแก่ผู้ใต้ปกครองด้วย ซึ่งไม่รู้ว่าผู้นำนั้นจะเข้าข่ายเป็นตัวตลกหรือเปล่า??!!) เพราะรู้สึกเซ็งกับการฆ่าคนตายเป็นเบือตามอำเภอใจ ไม่รู้สึกสนุกตื่นเต้นกับการฆ่าคนเล่น อยากรู้สึกขบขัน เพราะขำกับภาพที่คนวิ่งหนีตายแต่หนีไม่ทัน จนไม่รู้สึกขำอีกต่อไป จึงสั่งให้ลูกน้องไปตามตัวตลกที่มือดีที่สุดในปฐพีมาแสดงให้ดูต่อหน้า ถ้าแสดงดีจะมีรางวัล ถ้าไม่ตลก ต้องถูกทรมานอย่างน่าสยดสยองจนตาย หรือไม่ก็ต้องทนดูลูกสาววัย 3 ขวบถูกทารุณกรรม!

ในสถานการณ์แบบนี้ แม้ตัวตลกชื่อดังที่สุดในปฐพีมีมุกตลกเต็มตัว แต่คุณว่า เขาจะมีอารมณ์แสดงตลกต่อหน้าทรราชนั้นได้กี่มากน้อย!??

ในแง่นี้ ตัวตลกจะต่างจากมือขมังธนู เพราะหากมือขมังธนูถูกทรราชทดสอบเพื่อความเพลิดเพลินในอารมณ์ของตน โดยการวางแอปเปิลบนหัวลูกสาววัย 3 ขวบ และให้จอมขมังธนูยิงธนูให้ถูกลูกแอปเปิล ถ้าพลาดไม่ถูกลูกแอปเปิล ก็อาจจะถูกลูกกะตาของลูกตัวเองได้  หากยิงไม่ถูกลูกแอปเปิลและไม่ถูกลูกสาวด้วย นั่นคือ พลาดอย่างแรง ทรราชจะลงโทษจอมขมังธนูว่าอวดอ้างลวงโลกว่าแม่นธนู โดยการให้มือธนูของทรราชยิงธนูใส่ลูกกะตาลูกสาว

แต่การที่ลูกสาวไร้เดียงสาจะรอดปลอดภัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของทรราช แต่ขึ้นอยู่กับความแม่นยำของตัวจอมขมังธนูเอง คนที่ยิงแม่นอย่างจับวางอยู่แล้ว ย่อมไม่มีปัญหาอะไรมากนักกับการยิงลูกธนูไปให้ถูกลูกแอปเปิลที่วางอยู่บนหัวลูกตัวเอง

แต่การที่จะทำให้คนขำหรือหัวเราะ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวตลกแต่ถ่ายเดียว แต่ขึ้นอยู่กับตัวคนที่ดูเป็นสำคัญ ซึ่งในกรณีนี้ คนดูคือทรราช-และตัวตลกอาจจะกำลังอยู่ในสภาวะอับจน

อีกตัวอย่างหนึ่งของความอับจนของตลก ก็คือ ในกรณีที่ตลกยากจน ต้องเล่นหรือแสดงหรือเขียนเรื่องตลกแบบหาเช้ากินค่ำ ถ้าวันไหนไม่เล่น หรือไม่ส่งต้นฉบับหรือการ์ตูน จะไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ที่ว่าไม่มีกินนี่ไม่ใช่เฉพาะตัวเองไม่มีกิน แต่รวมถึงเมียและลูกเล็กๆ อีกด้วย ตลกจนๆ มีเยอะแยะในโลกนี้ และพวกเขาก็ต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขที่ว่านี้อยู่แล้ว

แต่ถ้าวันหนึ่ง พ่อเขาตายไปต่อหน้าต่อตา เงินจะซื้อโลง ทำบุญและเผาศพก็ยังไม่มี สิ่งที่เขาต้องทำก็คือ ต้องพยายามขายความตลกออกไปให้มากกว่าปกติ ทั้งเพื่อหาเงินมายาไส้ตัวเองและคนในครอบครัว และรวมทั้งทำศพพ่อของเขาด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น…เป็นค่าใช้จ่ายส่วนเกินกว่าปกติ

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า