จริงหรือเด็กสมัยนี้ชอบอ่าน e-book มากกว่า?

ดูเหมือนความเชื่อที่ว่าเด็กชอบอ่าน e-book ผ่านไอแพดหรือแทบเล็ต จะเป็นความเชื่อผิดๆ ไปเสียแล้ว เมื่อผลการวิจัยเปิดเผยว่า นั่นไม่ใช่เรื่องจริงอีกต่อไป

ผลวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเมอร์ดอคห์ (Murdoch University) และมหาวิทยาลัยเอดิธโคแวน (Edith Cowan University) ในประเทศออสเตรเลีย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี MARA (Universiti Teknologi MARA) จากมาเลเซีย อธิบายว่า เด็กอายุ 4-6 ขวบที่สามารถเข้าถึงและอ่าน e-book ผ่านแทบเล็ตหรือไอแพดได้ มักไม่ค่อยนิยมอ่าน e-book และยังค้นพบว่า ยิ่งเด็กเข้าถึงเทคโนโลยีมากเท่าไร เด็กก็จะอ่านหนังสือน้อยลง

นักวิจัยแนะนำอีกว่า การให้เด็กอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ จะยิ่งยับยั้งนิสัยการอ่านของพวกเขา แต่หนังสือที่สามารถจับต้องได้ต่างหากที่ดึงดูดใจให้เจ้าตัวจิ๋วมีความรู้สึกอยากอ่านมากกว่า

ผลวิจัยดังกล่าวตรงกับผลวิจัยก่อนหน้านี้ที่ปรากฏอยู่ในนิตยสารเชิงวิชาการของออสเตรเลีย English in Australia ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่วัยรุ่นชอบอ่าน โดยผลสรุปออกมาว่า ถึงแม้จะมีนักเรียนที่ชื่นชอบการอ่าน e-book แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่ได้เข้าถึงอุปกรณ์ทันสมัยเหล่านั้นเพื่อการอ่านโดยเฉพาะ กลายเป็นว่า พวกเขาไม่ค่อยได้อ่านหนังสือบนหน้าจอทัชสกรีนกันจริงๆ

ทำไมผู้ใหญ่จึงคิดว่าเด็กชอบอ่านผ่านหน้าจอทัชสกรีน

เป็นสมมุติฐานที่โด่งดังมากว่า ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่นิยมอ่านผ่านหน้าจอทัชสกรีน โดยแนวคิดหลักๆ เกิดจากนักการศึกษาที่ชื่อ มาร์ค เพรนสกี (Marc Prensky) เมื่อปี 2001 เขาได้บัญญัติศัพท์ว่า ‘digital native’ ขึ้น โดยแปลเป็นไทยหมายถึง ผู้ที่เกิดในยุคดิจิตอล (ปัจจุบันอายุ 10-29 ปี) แต่ความเป็นจริงที่ผ่านมาสอนให้เรารู้ว่า เด็กรุ่นใหม่ยังไม่มีทักษะในการอ่านที่ดีพอ รวมถึงวลีที่กล่าวว่า การอ่านผ่านหน้าจอทัชกรีนเป็นที่นิยม ก็ไม่ได้ถูกรับรองโดยงานวิจัยใดๆ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวสร้างผลกระทบกระจายไปทั่ววงการหนังสือ ทั้งในโรงเรียนและห้องสมุดสาธารณะ ส่งผลให้บางห้องสมุดสาธารณะในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียตัดสินใจขนหนังสือออกไป เพราะความรับรู้ที่ว่า ต่อไปนี้คนจะนิยมอ่าน e-book กันมากกว่า กลายเป็นข้อจำกัดต่อการเข้าถึงการอ่านของคนรุ่นใหม่ และทำให้พวกเขาอ่านหนังสือกันน้อยลง

ส่วนหนึ่งของเรื่องนี้มาจากการสนับสนุนของโรงเรียนที่ต้องการให้เด็กๆ เข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการอ่าน ส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่จนถึงผู้ปกครองที่ต้องเผชิญกับการตลาดเชิงรุกที่เร่งเร้าให้ผู้ใหญ่ต้องเท่าทันกับเทคโนโลยีทางการศึกษาต่างๆ ตามลูกของพวกเขา

ทำไมเด็กๆ ชอบอ่านหนังสือกระดาษมากกว่า

เพราะการอ่าน e-book ผ่านสมาร์ทโฟน แทบเล็ต ไอโฟน ไอแพด ทำให้เด็กๆ ไม่มีสมาธิในการอ่าน พวกเขาไม่สามารถใจจดใจจ่อกับการอ่านได้นานๆ และมักเผลอเปิดหน้าจอแอพพลิเคชั่นอื่นแทน

อีกประเด็นคือ พวกเขาจำเป็นต้องรู้วิธีที่จะใช้เทคโนโลยีพวกนั้น รวมถึงรู้ว่าแหล่ง e-book ฟรีมีอะไรบ้าง เช่น Overdrive หรือ Project Gutenburg เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว การเข้าถึงแหล่งข้อมูลและวิธีการใช้อุปกรณ์ทันสมัยประเภทนั้นก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะรู้เหมือนกันหมด และอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กบางคนไปทันที

ทำอย่างไรให้เด็กรักในการอ่าน

ผลวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า การอ่านหนังสือมีประสิทธิภาพในการพัฒนาและรักษาทักษะการรู้อ่านรู้เขียน (literacy skill) เพราะเราทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่า การอ่านเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่ผลวิจัยนานาชาติกลับกล่าวว่า เด็กสมัยนี้อ่านกันน้อยลง

การต่อสู้กับการอ่านยุคดิจิตอลที่ใช้วิธีจัดหาอุปกรณ์ให้เด็กเข้าถึงการอ่าน e-book ได้นั้น ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่แก้เกมที่ผิดทาง อีกทั้งไม่คงทนถาวรและไม่ก่อให้เกิดนิสัยรักการอ่าน

โดยวิธีต่อไปนี้เป็นวิธีที่ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยแล้วว่า สามารถช่วยให้เด็กๆ ตัดสินใจหยิบหนังสือบนชั้นของคุณมาอ่านได้

  • ทำให้เห็นว่าการอ่านมันสนุกขนาดไหน: งานวิจัยจาก National Association for the Teaching of English เปิดเผยว่า คุณครูคนไหนที่เป็นนักอ่านที่ชาญฉลาดจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนของพวกเขาอยากอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น และทำให้เด็กสนใจที่จะอ่านหนังสือหลายประเภทอีกด้วย
  • สรรค์สร้างให้พื้นที่สำหรับการอ่านดูเป็นมิตร: ไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือที่บ้าน พื้นที่ในการอ่านไม่ควรมืดเกินไป ไม่สว่างเกินไป ไม่มีเสียงดังรบกวน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีสมาธิในการอ่านมากขึ้น
  • ให้เวลาสำหรับวิชาการอ่าน: ให้เวลาพวกเขาได้อ่านหนังสือที่พวกเขาชอบ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ให้เวลาพวกเขาเป็นประจำทุกวันเพื่อสร้างนิสัยการอ่าน
  • คุณครูและผู้ปกครองคือตัวละครที่สำคัญ: ทั้งคู่อาจลองชวนพวกเขาคุยเกี่ยวกับหนังสือ เป็นหนังสืออะไรก็ได้ แชร์ไอเดีย แชร์ความคิดกับพวกเขา เพื่อให้พวกเขารู้จักต่อยอดความคิด
  • ส่งเสริมให้การอ่านกลายเป็นงานอดิเรกแสนสนุก: เรารู้กันว่า เด็กมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถจดจ่ออยู่กับหนังสือได้ตลอดเวลา ในบางกรณีจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กถอดใจ เมื่อพวกเขาไม่สามารถอ่านได้ด้วยตนเอง และชี้นำให้พวกเขาเข้าใจผิดคิดว่า การอ่านไม่สำคัญสำหรับพวกเขา เราขอย้ำอีกครั้งว่า การอ่านเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อที่จะรักษาทักษะรู้อ่าน-รู้เขียน ให้สดใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จงอ่านเพื่อความสนุกและความสุขต่อไป
  • จงค้นหาว่าเด็กชอบอ่านอะไร: และสนับสนุนให้พวกเขาอ่านเป็นประจำ จะที่ไหนก็ได้ ให้พวกเขาอ่านในสิ่งที่เขาชอบ แม้ว่าคุณจะเกลียดการ์ตูนแค่ไหน แต่เชื่อในพลังแห่งการอ่านเถอะ

อ้างอิงข้อมูลจาก: theconversation.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า