ชีวิตออกแบบได้ (เหรอ?) ไปเลือกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนที่เหมาะกับสไตล์คุณ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 นอกจากจะเป็นกติกาการปกครองสูงสุดที่ได้ออกแบบโดยคณะรัฐประหารแล้ว ในแง่ปริมาณ (ไม่นับคุณภาพ) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเกื้อบุญหนุนส่งให้ประเทศไทยขึ้นเป็นประเทศแถวหน้าของโลกอีกครั้ง (ฮากันสิ) โดยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้มากที่สุดในโลก (น่าภูมิใจลิงโลดกันไหมเล่า!)

รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของไทย ล้วนสะท้อนลักษณะเฉพาะของแต่ละยุคได้เป็นอย่างดี ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของผู้เขียนและเงื่อนไขทางสังคมในเวลานั้น

มาลองเปรียบเทียบกันว่า คาแรคเตอร์เฉพาะของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของไทยเป็นอย่างไร และฉบับไหนกันที่จะเหมาะกับนิสัยใจคอของเราๆ ท่านๆ ซึ่งก็ไม่อยากอ่านรัฐธรรมนูญยาวๆ กันสักเท่าไร (ก็แหงล่ะ จะเลือกอ่านฉบับไหนกันดี เยอะแยะสับสนไปหมด)

หลังจากคุ้ยโกดังรัฐธรรมนูญ เราได้คัดสรรคาแรคเตอร์ของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมาให้เลือกดูกันว่า ฉบับไหนโดนใจคุณที่สุด

รัฐธรรมนูญ

1. รธน. 2475/1 ฉบับฉับพลัน

รัฐธรรมนูญฉบับ ‘ชั่วคราว’ คือข้อความที่ถูกเติมโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนจะทูลเกล้าถวายแก่ ร.7 เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีตัวบทอยู่เพียง 30 กว่ามาตรา อีกทั้งยังมีอายุสั้นที่สุดเพียง 5 เดือน หัวใจสำคัญคือการพยายามวางรากฐานเรื่องความเสมอภาคทางการเมืองไว้เป็นลำดับสำคัญ

หากใครที่ชื่นชมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตีความได้ว่า คุณต้องเป็นคนที่ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และมีความเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า ความเสมอภาคทางการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ ‘อำนาจสูงสุดต้องอยู่ที่ราษฎรทั้งหลาย’

 

2. รธน. 2475/2 ฉบับรอมชอม

ฉบับนี้มีอายุยาวนานกว่า 14 ปี เป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุยืนยาวที่สุด และวันประกาศใช้ยังถูกทำให้เป็นวันรัฐธรรมนูญ (10 ธันวาคม) จนถึงปัจจุบันอีกด้วย

สาระสำคัญของฉบับนี้ คือการรอมชอมทางอำนาจกันระหว่างคณะราษฎรและฝ่ายอนุรักษนิยม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน  โดยสร้างกลไกให้มีผู้แทน 2 ประเภท คือ 1. มาจากการ ‘เลือกตั้ง’ ของประชาชน และ 2. มาจากการ ‘แต่งตั้ง’ ของพระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นการรอมชอมเพื่อหาจุดสมดุลทางการเมืองระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษนิยม

 

3. รธน. 2489 ฉบับสามัคคีธรรม

ฉบับนี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ขบวนการเสรีไทยขึ้นมามีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคนสำคัญ

‘สามัคคีธรรม’ เป็นคำที่ปรีดีย้ำในการเขียนเนื้อหารัฐธรรมนูญ โดยออกแบบให้รัฐสภามีอำนาจสูงสุด มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและพฤฒิสภา (คล้ายกับ สว. ที่เราเข้าใจกัน) ให้มีที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากประชาชนเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังห้ามข้าราชการประจำเป็นข้าราชการการเมือง

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุขัยเพียง 1 ปี 5 เดือน 28 วันเท่านั้น หลังจากสิ้นสุดลงด้วยการทำรัฐประหารในปี 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้สะท้อนภาพการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปอย่างกว้างขวาง จนนั่นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกฉีกอย่างรวดเร็วตั้งแต่ยังไม่เริ่มคลานด้วยซ้ำไป

 

4. รธน. 2490 ฉบับใต้ตุ่มแดง

ที่เรียกกันว่า ‘รัฐธรรมนูญใต้ตุ่มแดง’ เพราะหนึ่งในผู้ก่อการรัฐประหารในปี 2490 คือ หลวงกาจสงคราม เอากระดาษหนาๆ นี้ไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มแดง เพื่อไม่ให้แผนยึดอำนาจนั้นรั่วไหล นี่เป็นครั้งแรกที่เนื้อหารัฐธรรมนูญสไตล์อนุรักษนิยมมาปรากฏในยุคที่มีรัฐธรรมนูญถือเอาเป็นกติกา

จุดเด่นสำคัญคือ การสร้างกลไกที่เรียกว่า ‘คณะอภิรัฐมนตรี’ ขึ้นมาทำหน้าที่ และให้อำนาจนายกรัฐมนตรี (ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง) ไว้สูงมาก รวมถึงการให้อำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง สว. ถึงกระนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีอายุไม่ยืนยาว เนื่องจากกลุ่มอนุรักษนิยมต้องปรับตัวให้เข้าสู่โหมดใหม่

 

5. รธน. 2492 ฉบับประชาธิปัตย์ผลัดแรก

การผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นโดยพรรคอนุรักษนิยมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวเรือใหญ่ เนื้อหาแสดงให้เห็นการปรับตัวของฝ่ายอนุรักษนิยมเข้าสู่โหมดประชาธิปไตย โดยมีการบรรจุ ‘องคมนตรี’ เข้ามาไว้ในรัฐธรรมนูญ แทนอภิรัฐมนตรีสภา โดยให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้ง สว. พร้อมกับกำหนดบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพ ให้ชัดเจนขึ้น โดยรัฐสภา ให้มีวุฒิสภาที่ยังคงแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์และสภาผู้แทนราษฎร และมีส่วนที่ก้าวหน้านั่นคือ ฝ่ายบริหาร ห้ามรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจำ

นี่เป็นการก้าวขึ้นมามีบทบาทนำของความคิดอนุรักษนิยมสายปฏิรูป แต่ถึงกระนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีอายุได้เพียงไม่นาน

 

6. รธน. 2495 เวอร์ชั่นจอมพล ป.

เมื่อนายกรัฐมนตรีอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามหวนกลับไปหาอุดมการณ์แบบ ‘คณะราษฎร’ อีกครั้ง จึงนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475/2 กลับมาใช้ใหม่ โดยเลือกระบบสองสภาของรัฐธรรมนูญ 2492 มาใช้ แต่นำระบบเลือกตั้งและแต่งตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2475/2 มาใช้ใหม่ เพื่อให้สะดวกต่อการกำหนดทิศทางโดยฝ่ายบริหาร

หลังจากนั้นได้มีการปรับตัวเป็นประชาธิปไตยขึ้นเรื่อยๆ เช่น การจัดเลือกตั้ง การอนุญาตชุมนุมทางการเมือง ท่ามกลางการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างฝ่ายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่นั่นก็นับว่าเป็นสิ่งที่สายเกินไป เพราะเพียงไม่นานก็เกิดการรัฐประหารขึ้นในต้นพุทธทศวรรษที่ 2500 จึงนำมาสู่การสิ้นสุดอำนาจของจอมพล ป. และรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่นจอมพล ป. ในที่สุด

 

7. รธน. 2502 เผด็จการเบ็ดเสร็จ

แน่นอน ถ้าคุณชอบความเด็ดขาด ฉบับนี้ตอบโจทย์คุณแน่นอน เมื่อ ‘นายพลผ้าขาวม้า’ ขึ้นมามีอำนาจเป็นคณะผู้รักษาพระนคร ท่านก็ให้หลวงวิจิตรวาทการเขียนกฎหมายสักมาตราหนึ่งที่ให้ท่านจอมพลสามารถใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ ทัดทาน เพียงท่านผู้นำบอกว่า ‘นั่นเป็นเรื่องความมั่นคงและศีลธรรมของชาติ’

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งสิ้นเพียง 20 มาตรา โดยมาตราที่สำคัญที่สุดคือมาตรา 17 ที่ให้อำนาจของนายกรัฐมนตรีทั้งในทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เป็นต้นแบบให้กับรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารในยุคหลังๆ หลายฉบับ เช่น ในปี 2515 2519 2520 และรัฐธรรมนูญของ คสช. ในปี 2557 โดยฉบับนี้ถูกใช้อย่างยาวนานกว่า 9 ปี

 

8. รธน. 2511 ฉบับยืดยาววววว

ถือเป็นฉบับที่ใช้เวลาการเขียนยาวนานที่สุดกว่า 9 ปี เบี้ยประชุมผู้ร่างอาจใช้ซื้อเรือดำน้ำได้หลายลำ (แฮ่ๆ แต่ก็โชคร้าย เพราะเวลาที่ได้ใช้ก็แสนสั้นเพียง 4 ปีเท่านั้น)

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อระบอบเผด็จการทหารต้องการปรับตัวใหม่อีกครั้ง โดยให้ สว. มีจำนวน 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของ สส.

ที่มาของ สว. คือ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 120 คน เมื่อเลือกตั้ง สส. แล้วก็ให้เพิ่มหรือลด สว. ให้ได้ 3 ใน 4 ของจำนวน สส.

จะเห็นได้ว่า สว. มีอำนาจสูง โดยนอกจากมีสิทธิร่าง พ.ร.บ. เองได้ ยังมีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดินได้ เช่น สามารถเปิดอภิปรายทั่วไป ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือคณะได้ ถึงกระนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็สิ้นลงด้วยการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร

 

9. รธน. 2515 ถนอมเป็นใหญ่ (ไม่นาน)

หลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการยึดอำนาจรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ในเดือนพฤศจิกายน 2514 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกร่างออกมา โดยมีเนื้อหาใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมีทั้งสิ้นเพียง 23 มาตรา

จอมพลถนอมต้องการมีอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นเดียวกันกับสฤษดิ์ในรัฐธรรมนูญปี 2502 ที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรี และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ การใช้มาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ 2515 ยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการฉ้อฉลของจอมพลสฤษดิ์เอง วิธีการคงเดิม แต่เงื่อนเวลาเปลี่ยนแปลง ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับถนอมเป็นใหญ่ก็ต้องอันตรธานไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มาถึง

 

10. รธน. 2517 ฉบับหลัง 14 ตุลาฯ

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ขบวนการนิสิต นักศึกษา ประชาชน ร่วมกันขับไล่รัฐบาลทหาร ออกจากตำแหน่ง ประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยฉบับนี้ประกอบด้วย 2 สภา คือ สส. และ สว.

วุฒิสภามีจำนวน 100 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ขณะที่ สส. มาจากการเลือกตั้ง มีจำนวนไม่น้อยกว่า 240 คน แต่ไม่เกิน 300 คน และยังมีการตราบทบัญญัติที่ก้าวหน้าในหลายจุด เช่น การห้ามข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ และให้การรับรองการรวมกลุ่มทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมืองเอาไว้ เหมาะสำหรับคนที่ชอบสิทธิ เสรีภาพ และการกระจายความเท่าเทียมในสังคม

 

11. รธน. 2519 ฉบับ ‘guide democracy’

ผลจากการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังการปราบปรามนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้นสิ้นสุดลง คณะรัฐประหารได้ออกรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีเพียงสภาเดียว คือ สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จำนวน 300-400 คน มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่ออกกฎหมาย และยังมีลักษณะเด่นอีกหนึ่งอย่างคือ กำหนด ขั้นตอนการปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้ 3 ระยะ ระยะละ 4 ปี หรือเรียกกันอีกอย่างว่า ประชาธิปไตยที่ต้องการการจูง หรือ ‘guide democracy’ และยังก็อปปี้อำนาจเบ็ดเสร็จเลียนแบบเผด็จการรุ่นพี่ ด้วยมาตรา 21 ที่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเด็ดขาด ทั้งการปิดหนังสือพิมพ์ กวาดจับประชาชนผู้เห็นต่าง ฯลฯ

 

12. รธน. 2520 ฉบับกระชับอำนาจใหม่

เมื่อคณะรัฐประหารชุดเดิม ที่นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ กลับมารัฐประหารอีกครั้ง ในปี 2520 จึงเขียนรัฐธรรมนูญให้ประธานสภานโยบายแห่งชาติมีอำนาจในการแต่งตั้ง ครม. และ สนช. โดยยังคงกำหนดให้มีสภาเดียวคือ สนช. มีสมาชิก 300-400 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภานโยบายแห่งชาติ ขณะที่ฝ่ายบริหาร ได้แก่ คณะรัฐมนตรี และสภานโยบายแห่งชาติ เป็นบุคคลในคณะรัฐประหารทั้งหมด

แม้จะมีลักษณะเผด็จการเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 9 และ 11 แต่ยังมีความกระมิดกระเมี้ยนอยู่บ้างคือ ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 27 แต่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และยังเปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2521

 

13. รธน. 2521 ฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ

ที่เรียกกันว่า ‘ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ’ หรือใครจะเรียก ‘เผด็จการครึ่งตัว’ ก็ล้วนเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้นี่เอง เพราะให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับนี้จึงเป็นการผสานประโยชน์ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มทุน กับกองทัพที่มีอำนาจสูง

บางคนอาจจะสงสัยว่า “พรรคประชาธิปัตย์เคยชนะเลือกตั้งบ้างหรือเปล่า?” คำตอบที่ได้คือ “ก็ชนะในยุคนี้นี่แหละ” แต่น่าเสียดายที่หัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะต้องยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่ผู้นำกองทัพ กล่าวโดยสรุปคือ แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่สมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งต้องมาจากการแต่งตั้ง

 

14. รธน. 2534/1 ฉบับ จปร.5

การรัฐประหารหวนกลับมาอีกครั้งในกลางทศวรรษ 2530 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่น 5 ได้ร่วมกันยึดอำนาจและออกแบบรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่คณะรัฐประหารอย่างมาก

รสช. แต่งตั้งให้มี สนช. เพื่อเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญและออกกฎหมาย พร้อมกับมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงให้นายกรัฐมนตรีร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปได้ด้วยในกรณีที่ สนช. ไม่สามารถทำหน้าที่ได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ซึ่งสร้างปมประวัติศาสตร์การเมืองไทยในเวลาต่อมา นั่นคือ เหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535

 

15. รธน. 2534/2 ฉบับหมกเม็ด

ที่เรียกเช่นนี้ก็เนื่องมาจาก ตัวบทที่ซ่อนเร้นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารชุด รสช. ในเวลานั้นเอาไว้ โดยให้คณะรัฐประหารมีอำนาจต่อไปแม้ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว นี่จึงเป็นที่มาของวลีอันโด่งดังว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของพลเอกสุจินดา คราประยูร ก่อนที่จะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมครั้งสำคัญอีกครั้งของสังคมไทย คือเหตุการณ์ ‘พฤษภา 2535’ นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในหมวดสำคัญของรัฐธรรมนูญอย่างที่ไม่เคยเป็นมา

 

16. รธน. 2540 ฉบับฮีโร่คนชั้นกลาง

เป็นที่ยอมรับกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง จากเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยหลายเรื่อง เช่น นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง วุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็แฝงไปด้วยการให้คุณค่าแบบคนชั้นกลาง เช่น  สส. ต้องจบปริญญาตรี หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยใช้เขตประเทศเป็นตัวคำนวณ ที่เรียกกันว่า ปาร์ตี้ลิสต์’ มีการให้อำนาจฝ่ายบริหารที่สูง ขณะเดียวกันก็มีการออกแบบกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลจากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น การให้มีองค์กรอิสระจำนวนมาก การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในด้านต่างๆ ไว้อย่างครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ได้เพียง 9 ปีเท่านั้น ก็ถูกฉีกอีกครั้ง

 

17. รธน. 2549 ฉบับ คมช.เกียร์ว่าง

หลังรัฐประหารในปี 2549 คณะรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็เขียนรัฐธรรมนูญที่คล้ายๆ กับ รสช. ในปี 2534 นั่นคือ มีภารกิจในการร่างกติกาใหม่ภายใน 1 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 39 มาตรา โดยให้มี สนช. ทำหน้าที่แทนรัฐสภา ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ส.ร. ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (ท่านอยากให้ถาวร) และมีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คอยทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินอดีตคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยครองอำนาจในกลางทศวรรษที่ 2540

ท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นไปตามภารกิจ เพราะหลังจากที่มีการประชามติ รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับนี้ก็สิ้นสุดไปตามเงื่อนไข ถึงกระนั้นกองเชียร์คณะรัฐประหารก็วิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ฟังก์ชั่นเพียงพอ เพราะไม่สามารถยึดทรัพย์ใครได้ บ้างก็ว่าเกียร์ว่าง บ้างก็ว่าเสียของ บ้างก็เสียคน ไม่โดนใจสายฮาร์ดคอร์เอาเสียเลย

 

18. รธน. 2550 ฉบับตุลาการเป็นใหญ่

ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ชี้ให้เห็นเป้าหมายของการร่างว่า ต้องการป้องกันคนแบบทักษิณ (ชินวัตร) แม้จะไม่ได้บอกว่าคนอย่าง ‘ทักษิณ’ เป็นแบบไหน แต่เอาเป็นว่าเนื้อหาของฉบับนี้ให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการอย่างกว้างขวาง ในการคัดเลือกบุคคลเข้าไปมีอำนาจในการองค์กรอิสระและตำแหน่งทางการเมืองอื่น และขยายอำนาจชี้ขาดและวินิจฉัยคดีสำคัญหลายคดี จนเกี่ยวพันกับปัญหาการเมืองสีเสื้อ (เหลือง-แดง) ยาวนานกว่าทศวรรษ

 

19. รธน. 2557 ฉบับอะไรก็ได้ให้ ม.44

ใครที่เกิดร่วมสมัยกับยุค คสช. คงจะคุ้นเคยกันดีกับรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งมีมาตราหนึ่งที่สำคัญคือ มาตรา 44 ที่ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งได้ตามอำเภอใจ ตั้งแต่บังคับไม่ให้ประชาชนนั่งท้ายรถกระบะ ไปจนถึงย้ายที่นั่งคณะรัฐมนตรี อธิบดีกรม ลงไปจนย้ายครูใหญ่บ้านหนองหมาว้อ

สำหรับใครที่ชื่นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องพออกพอใจที่จะสนับสนุนให้ ‘ลุงตู่’ ใช้ ม.44 กับเรื่องอะไรก็ได้ ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือดำน้ำ เฮ้ย! เรือรบ

 

20. รธน. 2560 ฉบับ คสช. Forever

คุณต้องเป็นแฟนนานุแฟนของ คสช. ตัวจริง และเกลียดกลัวการเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตามคุณก็อยากให้ คสช. อยู่ประคับประคองบ้านเมืองต่อไปให้ยาวนานที่สุด เพราะสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะยังมีการเลือกตั้ง แต่ก็ได้ลดความสำคัญของการเลือกตั้งลงอย่างกว้างขวาง และถ่ายโอนอำนาจในการเลือกวุฒิสภาของประชาชน ให้แก่ ‘คณะบุคคล’ อย่างเช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ สภาจริยธรรม องค์การอิสระ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็นับว่าเป็นไปได้ยากลำบากภายใต้กลไกที่ถูกออกแบบไว้ และเป็นไปได้สูงว่าเราจะได้อยู่กับท่านผู้นำแบบนี้ไปอีกอย่างน้อย 25 ปี (ตามที่ลุงเคยกล่าวไว้)

เผยแพร่ครั้งแรก 7 เมษายน 2560 ปรับปรุงใหม่ 10 ธันวาคม 2561

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า